อ่านสีหน้าคนไม่ออก ดูนาฬิกาไม่เป็น กะระยะไม่ได้ ลูกเราเป็นอะไร รักษาให้หายได้หรือไม่?
อ่านเข็มนาฬิกาไม่ออก กะระยะใกล้ไกลไม่ได้ มีปัญหาเรื่องการอ่านสีหน้าของผู้คน เด็กๆ ที่บ้านมีปัญหาประมาณนี้บ้างหรือเปล่าคะ และปัญหาเหล่านี้กระทบการเรียนรู้ และการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กๆ หรือไม่ หากคำตอบคือใช่ นั่นอาจหมายความว่าเด็กๆ กำลังเผชิญกับภาวะบกพร่องการเรียนรู้อวัจนภาษา ซึ่งถือเป็นการบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านหนึ่ง ที่แม้พบไม่บ่อยนัก แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้
บทความนี้ Starfish Labz จะพาไปรู้จักภาวะ Nonverbal Learning Disorder(NVLD) กันค่ะ
NVLD มีด้วยหรือภาวะไม่เข้าใจอวัจนภาษา
หากเปรียบเทียบกันแล้ว อาการที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้บกพร่องอย่าง Dyslexia หรือความผิดปกติด้านการเรียนรู้ภาษาที่ไม่สามารถอ่าน สะกดคำ หรือเขียนหนังสือได้ น่าจะเป็นที่รู้จักมากกว่า NVLD หรือ ความบกพร่องการเรียนรู้อวัจนภาษา เพราะอาการของ NVLD มักไม่เด่นชัด บางรายอาจไม่ได้แสดงอาการทั้งหมด และผู้มีอาการ NVLD แต่ละคนก็อาจมีอาการแตกต่างกันไป นอกจากนี้ ภาวะบกพร่องการเรียนรู้อวัจนภาษายังไม่ถูกระบุไว้ในคู่มือ DSM-V ซึ่งเป็นไกด์บุ๊คส์สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่นิยมใช้ในสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายเห็นว่าควรระบุภาวะความบกพร่องนี้ไว้ด้วยก็ตาม
กระนั้นถึงแม้ว่าภาวะนี้จะไม่ถูกบัญญัติว่าเป็นความผิดปกติอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจริง โดยพบว่าเด็กและวัยรุ่น 1 ใน 25 คน ประเทศสหรัฐฯ และแคนาดา มีภาวะบกพร่องการเรียนรู้ทางอวัจนภาษา ที่ส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถเข้าใจการแสดงออกทางสีหน้าท่าทางของผู้คน ไปจนถึงมีปัญหาทำความเข้าใจเรื่องมิติสัมพันธ์ อันได้แก่ เรื่องพื้นที่ รูปทรง ระยะทาง และตำแหน่ง
การศึกษาในต่างประเทศระบุว่า เด็กวัยเรียนอาจเผชิญกับภาวะบกพร่องการเรียนรู้ อวัจนภาษา มากกว่าที่ผู้ใหญ่ตระหนัก เพราะเด็กที่มีภาวะ NVLD มักไม่มีปัญหาการสื่อสารทางวาจา สามารถพูดจาได้คล่องแคล่วฉะฉาน มีทักษะทางการพูดเป็นอย่างดี ทั้งยังอ่านและเขียนได้ปกติ จึงสามารถเรียนรู้กับเด็กทั่วไปได้ แต่เมื่อไรก็ตามที่เป็นเรื่องของการตีความ หรือสิ่งที่ไม่อาจบอกเป็นคำพูดได้ พวกเขาก็จะไม่เข้าใจสิ่งเหล่านั้น
ดังนั้น NVLD จึงส่งผลกระทบต่อทักษะที่ใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่าในห้องเรียน โดยอาการของ NVLD ที่พบบ่อย ได้แก่
- ไม่เข้าใจเรื่องที่ไม่อาจสื่อสารด้วยคำพูด เช่น สีหน้าท่าทาง หากคู่สนทนาหน้าบึ้ง ก็มักไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร แต่หากคู่สนทนาพูดว่า “กำลังโกรธ” พวกเขาก็จะเข้าใจได้จากคำพูด
- ไม่เข้าใจมิติสัมพันธ์ ทั้งเรื่องระยะทาง ขนาด ตำแหน่ง เช่น หากมีลูกบอล 2 ลูก และบอกให้หยิบลูกที่ใหญ่กว่า พวกเขาอาจไม่รู้ว่าควรหยิบลูกไหน
- มักถามคำถามซ้ำๆ บ่อยๆ ถึงรายละเอียดของสิ่งต่างๆ เพราะพวกเขาเข้าใจสิ่งต่างๆ ผ่านคำพูดและการอ่าน มากกว่าการมองเห็นที่ต้องตีความ
ผลกระทบของ NVLD ในวัยรุ่น
แม้ว่า NVLD จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้มากเท่า Dyslexia แต่ในแง่การเข้าสังคมแล้ว ภาวะ NVLD ก็ส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนและการทำความเข้าใจคนรอบตัวไม่น้อยทีเดียว
โดยทั่วไปคนในสังคมจะทำความเข้าใจคู่สนทนา ผ่านการตีความทั้งทางวัจนภาษาคือคำพูด และ อวัจนภาษาคือท่าทางและสีหน้า แต่ในเมื่อผู้มีภาวะ NVLD ไม่ได้สามารถตีความ อวัจนภาษาได้ ก็อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดและนำมาซึ่งการขัดแย้งในความสัมพันธ์กับคนรอบตัวได้ บ่อยครั้งผู้ที่มีภาวะ NVLD มักถูกมองว่า ไม่มี Common Sense นั่นเป็นเพราะพวกเขาไม่สามารถตีความสิ่งต่างๆ ได้อย่างครบถ้วนรอบด้านเหมือนคนทั่วไป เมื่ออยู่รวมกับเพื่อนๆ อาจทำให้คนอื่นๆ ไม่พอใจเพราะพวกเขาไม่เข้าใจเรื่องพื้นที่ส่วนตัว และ ไม่รู้ว่าเมื่อไรควรหยุด จึงดูคล้ายว่าพวกเขาไม่ค่อยรู้กาลเทศะ กลายเป็นปัญหาการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ
ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงมักไม่ค่อยมีเพื่อนสนิท ไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน ซึ่งการถูกยอมรับเป็นเรื่องสำคัญของวัยรุ่น เมื่อวัยรุ่นที่เป็น NVLD ไม่ได้รับการยอมรับจึงมีความเสี่ยงการเป็นโรควิตกกังวล ส่งผลกระทบต่อผลการเรียน แม้ว่าพวกเขาจะมีสติปัญหาอยู่ในระดับสูงก็ตาม
พ่อแม่ช่วยอย่างไรหากสงสัยว่าลูกเป็น NVLD
เนื่องจาก NVLD อาจเกิดจากการขาดสมดุลของสมองซีกขวา ที่ทำหน้าที่ตีความ อวัจนภาษา การวินิจฉัยโรคนี้จึงอาจทำได้โดยการพบนักประสาทวิทยา ที่จะประเมินทักษะทางภาษา การมองเห็น ทักษะมิติสัมพันธ์ และการเคลื่อนไหว รวมถึงวัดไอคิว ว่าเข้าข่ายภาวะ NVLD หรือไม่ หากพบว่าลูกเผชิญกับภาวะ NVLD สิ่งที่พ่อแม่ทำได้คือ จัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับบทเรียนเพื่อช่วยสร้างความมั่นใจในการเรียนรู้เรื่องอวัจนภาษาให้กับลูก ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพจิตใจของลูก เนื่องจากปัญหาด้านการตีความอวัจนภาษา อาจทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจ เสียความภาคภูมิใจในตนเอง ทำให้วัยรุ่นกลุ่มนี้เสี่ยงต่อโรคหวาดกลัวสังคมสูง การทำงานรวมกับนักจิตบำบัด จึงอาจเป็นประโยชน์ต่อวัยรุ่นที่มีภาวะ NVLD
นอกจากนี้ พ่อแม่ควรแจ้งให้โรงเรียนของลูกทราบ เพื่อวางแผนการเรียนการสอนร่วมกันให้เหมาะกับลูก เช่น อาจมีคลาสพิเศษเพื่อฝึกฝนทักษะการจดจำรูปแบบ จัดระเบียบความคิด หรือให้คำปรึกษาเพื่อให้ลูกเข้าใจเรื่องทักษะทางสังคมมากขึ้น
สุดท้ายแล้ว พ่อแม่ควรเข้าใจว่าการหาสาเหตุพฤติกรรมหรือภาวะผิดปกติต่างๆ ของลูก ไม่ได้เป็นไปเพื่อตีตราหรือแปะป้ายตอกย้ำว่าลูกแตกต่างจากคนอื่น แต่ควรระลึกอยู่เสมอว่าการวิเคราะห์หาสาเหตุพฤติกรรมนั้น เป็นไปเพื่อทำความเข้าใจ และช่วยเหลือให้ลูกอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขที่สุดต่างหาก
แหล่งอ้างอิง (Sources):
Nonverbal Learning Disability Is More Common Than Previously Thought
Nonverbal Learning Disorder: Answers to Common Questions
Nonverbal Learning Disorder
Related Courses
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...