ไอเดียพ่อแม่ How to ฟังอย่างไรให้ได้ใจลูกวัยทีน
เมื่อวัยรุ่นเป็นช่วงวัยการเปลี่ยนผ่านระหว่างเด็ก และวัยผู้ใหญ่ ทั้งด้านร่างกาย ความคิด และอารมณ์ ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการของวัยรุ่นปกติ เป็นสัญญาณการก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ในอนาคต หากผู้ใหญ่เข้าใจ และสำหรับกิจกรรมสัมมนาออนไลน์สำหรับพ่อแม่ครั้งนี้ เป็นการแชร์ประสบการณ์ ร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ ในหัวข้อ “ไอเดียพ่อแม่ How to ฟังอย่างไรให้ได้ใจลูกวัยทีน” ด้วย 12 ปัจจัยที่นำไปสู่การรับฟังที่ดีของครอบครัว
1) เข้าใจว่า...อะไรคือลูกวัยรุ่น มีคนกล่าวว่า วัยรุ่นคือเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปถึง 18 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุวัยรุ่น แต่ต้องรู้ว่าเด็กแต่ละคนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นไม่พร้อมกัน สัญญาณการเข้าสู่วัยรุ่นหลายครั้งจะเริ่มจากอุปลักษณะนิสัยและความคิดของเด็กที่เปลี่ยนแปลงก่อนฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยน ทั้งนี้ ทำไมความคิดของเด็กวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากสิ่งเร้าจากสภาพแวดล้อมภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร ความสำเร็จของคนอื่นผ่านโซเซียลมีเดีย การเปรียบเทียบตัวเองกับบุคคลอื่น ในขณะเดียวกันยังมีสิ่งล่อใจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกมส์ ยาเสพติด หรือการพนัน ซึ่งถือว่าวัยรุ่นในยุคปัจจุบันมีการปรับตัวใช้ชีวิตที่ยากกว่าเดิม เพราะฉะนั้น สิ่งที่บอกคือเราเข้าใจอะไรในวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ต้องกลายเป็นผู้ใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องการการดูแลจากพ่อแม่อยู่ ดังนั้น การรับฟังที่ดีคือการเข้าใจลูกวัยรุ่นว่าลูกวัยรุ่นคือสิ่งมีชีวิตรูปแบบไหน
2) ต้องมีความสัมพันธ์ต้องดี การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรัก เห็นใจซึ่งกันและกัน ให้การยอมรับและเคารพซึ่งกันและกัน การใช้เวลาที่มีประโยชน์ การทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวอย่างมีความสุขเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาทั้งหมด
3) บรรยากาศต้องปลอดภัย เป็นการสร้างบรรยากาศระหว่างการสนทนาพูดคุย แล้วให้ความรู้สึกปลอดภัย ไม่ถูกต่อว่า โดยการที่พ่อแม่เปิดใจพร้อมที่จะรับฟัง ทำให้เด็กรู้สึกไม่กลัวในการที่จะพูดกับพ่อแม่ ฉะนั้น สิ่งที่พ่อแม่ทำได้ในการสร้างบรรยากาศให้รู้สึกปลอดภัย คือ การเริ่มจากตัวเองในการจัดการด้านอารมณ์ก่อน
4) เริ่มด้วยตั้งใจฟังและให้เวลา การฟังลูกไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าอยากให้ลูกเล่าต้องตั้งใจฟังและให้เวลา ทั้งนี้ จะตั้งใจฟังอย่างไรนั้น พ่อแม่ต้องมีสติทั้งการควบคุมอารมณ์ และการตั้งใจฟัง เมื่อเด็กเกิดความรู้สึกว่าพ่อแม่ตั้งใจฟัง และให้เวลาในการรับฟังจะก่อให้เกิดบรรยากาศในการต้อนรับ เริ่มการพูดคุยมากขึ้น
5) รู้สึกภูมิใจในเกียรติของผู้ฟัง เมื่อลูกเล่าบางอย่างให้พ่อแม่ฟัง นั่นแสดงว่า ลูกเชื่อว่าพ่อแม่จะรับและเคารพในความเป็นตัวตนของเขาได้ อย่ามองว่าการเล่าให้ฟังคือเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต แต่จงภูมิใจที่ลูกเล่าให้ฟังไม่ว่าเรื่องใดใดก็ตาม เพราะถือว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ดีในระดับหนึ่งและเป็นเกียรติของผู้ที่ได้รับฟัง
6) อย่าเริ่มจากการมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา เพราะบางคนไม่ได้ต้องการให้เราแก้ปัญหา พ่อแม่หลายคนกลัวเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดี จึงรีบด่วนในการแก้ปัญหาแทนลูก โดยไม่ได้รับฟังสิ่งที่ลูกกำลังพูดหรือคิดถึงวิธีการแก้ไข และจากการที่พ่อแม่คิดและไม่ได้พูดคุยกับคนที่อยู่ข้างหน้า สุดท้ายแล้วก็จะทำให้ลูกคิดว่าพ่อแม่ไม่ได้ตั้งใจฟัง ฉะนั้น เมื่อเกิดปัญหาพ่อแม่ยังไม่ต้องคิดแก้ปัญหาใดใดทั้งสิ้นให้ลูก ตั้งใจฟัง พยายามทำความเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด และให้เขาได้แก้ปัญหาด้วยตัวเอง
7) อย่ากลัวความเงียบ การที่ลูกเล่าไปได้สักพักแล้วเกิดความเงียบ ร้องไห้ และไม่พูด ในบางครั้งพ่อแม่สามารถนั่งอยู่กันเงียบๆ ได้โดยไม่ต้องรีบพูด หรืออาจจะถามเขาได้ เช่น ที่หนูเงียบไปหนูกำลังคิดอะไรอยู่, ที่หนูเงียบไป หนูร้องไห้ หนูเสียใจมากใช่มั้ย เป็นต้น เนื่องจากการที่คนพูดแล้วเงียบ อาจเพราะคิดเยอะ ไม่รู้จะพูดอะไร รู้สึกอาย เศร้า และการที่พ่อแม่ให้เวลา ไม่เร่งรัด เป็นการบ่งบอกถึงการเคารพอารมณ์ของลูกและเปิดโอกาสให้เขาได้คิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้น ถ้าลูกเงียบพ่อแม่ต้องพยายามจับอารมณ์ลูกว่ารู้สึกอย่างไร และอย่ากลัวกับความเงียบที่เกิดขึ้น
8) ถ้าไม่รู้ให้ถามต่อไป ถามจนเข้าใจปัญหา อย่าเอาปัญหาของลูกมาแก้เอง อาจจะใช้คำถามที่ว่า “แล้วมันเกิดอะไรขึ้นอีก” “แล้วเป็นอย่างไร” “ทำอย่างไรต่อไป” สุดท้ายอาจจะจบด้วยคำถามที่ว่า “คิดอย่างไรกับเรื่องนี้” เด็กก็จะบอกความคิดของเขาและได้วิธีในการแก้ปัญหาหรือได้คำตอบด้วยตัวของเขาเอง ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ตรงใจพ่อแม่ แต่บางครั้งกับลูกวัยรุ่นพ่อแม่ก็ไม่จำเป็นต้องแนะนำ และสุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เขาจะได้ทักษะในการแก้ปัญหา คือหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหากับลูก
9) เปิดและปิดด้วยบรรยากาศที่ดีเสมอ ในการสนทนาทุกครั้งการที่พ่อแม่บอกความรู้สึก หรือขอบคุณลูกที่เล่าเรื่องราวให้พ่อแม่ฟังแทนการทะเลาะเบาะแว้งหลังจากจบบทสนทนา จะทำให้ลูกรู้สึกว่าการเล่าเป็นสิ่งที่ทำได้และพ่อแม่ดีใจ ลูกก็จะเกิดความรู้สึกอยากพูดให้พ่อแม่ฟังอีก
10) การมองปัญหาของลูกเป็นปัญหาของบ้าน นี่คือสิ่งที่สำคัญ นี่คือปัญหาหลายครั้งที่คนมาปรึกษาจิตแพทย์แล้วชี้ว่าลูกคือตัวปัญหา เด็กที่ถูกชี้ว่าตัวปัญหา สุดท้ายเขาจะรู้สึกว่านี่ไม่ยุติธรรม เพราะปัญหาทั้งหมดทุกคนในบ้านต้องร่วมความรับผิดชอบเท่าๆ กัน หลายครั้งพ่อแม่มักมีข้ออ้างว่า
“ฉันไม่มีเวลา” และมีเวลาตอนที่ลูกมีปัญหาแล้ว เพราะฉะนั้น ใช้เวลากับลูกให้เต็มที่ และอย่ามองปัญหาของลูกเป็นปัญหาของลูกให้มองเป็นปัญหาของบ้าน และทุกคนมีส่วนรับผิดชอบและแก้ปัญหาเท่าๆ กัน
11) I Message เป็นประโยคการพูดที่บอกความรู้สึกที่ขึ้นต้นด้วยตัว “ฉัน” โดยเริ่มต้นจากพ่อแม่ คือการชี้มาหาตัวเองและบอกความรู้สึก เช่น แม่รู้สึกกังวลที่หนูไม่ได้อ่านหนังสือ หรือแม่ภูมิใจ แม่ดีใจที่หนูช่วยงานบ้าน เป็นต้น ซึ่งเป็นประโยคที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกดีม และทำให้เด็กเข้าใจมากขึ้น
12) จับผิด จับถูก การที่พ่อแม่ชอบจับผิดลูก เฉพาะในช่วงเวลาที่ลูกมีปัญหาหรือเฉพาะช่วงที่ลูกทำผิด แต่ในช่วงที่ไม่เกิดปัญหาพ่อแม่มักไม่ใส่ใจ หรือให้ความสนใจ กลายเป็นว่าเวลาที่ลูกทำผิด เราจับผิด แต่เวลาที่ลูกทำถูก พ่อแม่ไม่เคยจับถูก เพราะฉะนั้น อยากเน้นว่าลูกทุกคนมีพฤติกรรมที่ดี แต่พ่อแม่ได้มองข้ามหรือไม่ อยากให้ได้ Mindset นี้ในการจับถูก สุดท้ายถ้าพ่อแม่เติมพลังในการจับถูกเรื่อยๆ จะส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
จะเห็นได้ว่า ในการดูแลเด็กไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าพ่อแม่มีแนวคิดที่ดี เข้าใจในสิ่งที่ทำ ด้วยการให้แรงเสริมทางบวกบ่อยๆ มีความมั่นใจในตัวเอง มีความสุขกับการทำ อีกทั้งในการเรียนรู้ทุกคนย่อมมีครั้งแรก ถึงแม้ว่าผลที่ตามมาจะผิดพลาดไม่มากก็น้อย อย่างน้อยก็ถือว่าได้ทำอย่างตั้งใจและมีความสุข
ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นและโฆษกกรมสุขภาพจิต
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...