Starfish Trend Talk | EP.1 | : ครู VS พ่อแม่ แท็กทีมสื่อสารอย่างไร ? ดีต่อใจเด็ก
การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต และถ้ายิ่งต้องสื่อสารกับเด็กๆ ด้วยแล้ว จะทำอย่างไรถึงเข้าใจเขา และเขาก็เข้าใจเรา
จึงเป็นความท้าทายของคุณพ่อคุณแม่ และคุณครูที่ต้องฟังให้เป็น และไม่รีบตัดสินหรือสั่งสอนเด็กๆ ในทันที ไม่เช่นนั้นเขาก็คงไม่อยากเล่าอะไรให้เราฟังอีกเลย
วันนี้ Starfish Labz ชวนแขกรับเชิญชื่อดังอย่าง คุณอั๋น ภูวนาท คุนผลิน และ คุณหนิง ศรัยฉัตร กุญชร ณ อยุธยา พิธีกรมืออาชีพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร ร่วมด้วย Expert ด้านการศึกษา ดร.แพร นรรธพรจันทร์เฉลี่ย เสริบุตร มาตั้งวงเสวนา พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงลูกของแต่ละท่านผ่านรายการ Starfish Trends Talk Ep.1 ‘ครู VS พ่อแม่ แท็กทีมสื่อสารอย่างไร? ดีต่อใจเด็ก’ จะมีคำแนะนำดีๆ อะไรบ้าง
การสื่อสารเริ่มต้นจากความสัมพันธ์ในครอบครัว
ฐานความสัมพันธ์ของครอบครัวที่มั่นคง ทำให้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน บางทีสื่อสารผิดถูกกันนิดหน่อย ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดฐานไม่มั่นคง พูดถูกก็ยังว่าผิดเลย
เพราะฉะนั้นเรื่องของการสื่อสาร มันต่อยอดมาจากเรื่องของความสัมพันธ์ ดร. แพรเล่าว่า ตั้งแต่ลูกเล็ก ๆ พยายามให้เวลาเขาเยอะมาก Create Quality Time ตอนเช้าตื่นมาก็กอดกัน Good Morning มาหอมกัน
ก่อนนอนลูกก็จะมาที่ห้อง เราจะมีอธิษฐานด้วยกัน เราเป็นคริสเตียน มากอดกัน ทุกวันนี้ยังทำอยู่นะคะ ทำจนเราตกใจ เพราะลูกโตขึ้นมากแล้ว แต่เรารู้สึกว่าการทำแบบนี้ มันทำให้เราสื่อสารกันได้
ถามว่าพอลูกเป็นวัยรุ่นมันทะเลาะกันไหม มันมีจุกจิกไหม มี แต่ว่าพอมี แล้วก็กลับมาคุยกัน โดยที่เราและลูก ไม่รู้สึกว่ามันค้างคาใจ แต่ถ้าถามว่าเหมือนลูกตอนเล็ก ๆ ไหม ไม่เหมือนนะคะ
ให้เวลากับลูกมอบความอบอุ่นเต็มที่
หนิงให้ความรัก ให้เวลา ความอบอุ่น ให้ลูกเต็มที่ สูตรการเลี้ยงลูกของหนิงคล้าย ดร.แพร เลยค่ะ บางครั้งหนิงอุ้มลูกไปทำงาน ให้เขาไปเห็นเรา มีเวลาพาลูกเข้านอน ทุกคืนเราอ่านนิทานด้วยกัน
คุณแม่สามีเคยบอกว่า ช่วงเวลาก่อนนอนมันเป็น Golden Time คือช่วงที่ลูกอยากจะพูดคุยกับเรา และเป็นช่วง Bonding ทุกความลับที่เขามี มันจะหลุดออกมาตรงนั้น
ตั้งแต่เด็ก หนิงมีอะไร หนิงถามความเห็นลูกเสมอ เพราะอยู่บนฐานการเคารพซึ่งกันและกัน หนิงตอนเด็กถูกสอนมาว่า ห้ามเถียง แต่ตอนนี้หนิงให้ลูกเถียงได้ แล้วเรามาสู้กัน ด้วยเหตุและผลนะคะ
พอเราสื่อสารแบบนี้กันมาตั้งแต่เด็ก ทุกอย่างเราคุยกันด้วยเหตุผล ความสัมพันธ์เราแน่นมาก ลูกเปิดใจให้เรา
สื่อสารกับลูกวัยเบบี้ผ่านการเล่าเรื่อง
ลูกผมยังเล็ก คุณอั๋นเล่าให้ฟังว่า ใช้วิธีการสื่อสาร แบบพูดข้างหูเขาไปเรื่อย ๆ เล่าให้เขาฟัง อันนี้คือต้นไม้ ตรงนั้นมีคนเดิน เห็นไฟแดงมั้ย อธิบายให้ฟังหมดเลย
วิธีการสอนของผมคือ การใช้สิ่งที่อยู่ตรงหน้า ใช้มันเป็นสื่อกลาง ในการสื่อสารกับลูก และพยายามเข้าไปอยู่ในโลก ของเขาให้ได้
ตอนนี้ลูกผม 4 ขวบแล้ว ผมแทบจะไม่ห้ามอะไรเขาเลย ตามสบายเลย
แต่เราลงไปสอนด้วย ใช้เวลาเยอะเท่าที่มี เหนื่อยไหมเหนื่อย แต่ผมว่า เวลาเราเหนื่อยกับคนที่เรารัก มันจะไม่ค่อยเหนื่อย เหนื่อยเฉพาะโมเมนต์นั้น แต่แป๊ปเดียวก็หาย
คุยอย่างไรให้ถูกคอ เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น
ปัญหาธรรมชาติ เรื่องของฮอร์โมน เรื่องของเพศ บางวันหนิงไปรับลูกที่โรงเรียน เขาเงียบ ไม่พูดอะไรเลย แต่หนิงแนะนำคุณพ่อคุณแม่ เราไม่ต้องไปเค้นเขาค่ะ เพราะวัยรุ่นจะพูดเมื่อเขาพร้อม แต่เมื่อคุณพร้อมและเขาพร้อม เราต้องเปิดใจรับฟัง
สุดท้ายคุณจะได้เจอโมเมนต์แบบหนิง ลูกเดินมาหาเราเองและบอกว่า ‘Mom I wanna talk to you’ เป็นความสุข ความสำเร็จของหนิงเลยนะ ว่าเขามีปัญหา เขาเดินมาหาเรา ไม่ใช่เขาเก็บไว้คนเดียว
เราเป็นแม่วัยรุ่นเราต้องเข้าใจรับฟัง พอเขาบอกปัญหา เราไปแนะนำต้องทำแบบนี้ลูก สรุปแล้วเราต้องตั้งต้นใหม่ วันนี้โมเมนต์ฟังเขา วันนี้เราเก็บประสบการณ์ที่เขาเล่า หาทางในการสอนเขาทางอ้อมว่าผลของมันต้องเป็นยังไง
หนิงมั่นใจ ต่อให้วันหนึ่งลูกมีแฟน ลูกอยากท้าทายสิ่งอะไรที่มันไม่ดี มาบอกแม่ก่อน เดี๋ยวแม่ช่วย หนูอยากเที่ยวหรอ ได้เดี๋ยวแม่พาไป ขอแม่รับส่งนะ ในยุคนี้ เราต้องเลี้ยงเขาแบบเพื่อน
ถ้าลูกไม่อยากคุยด้วย อย่าเค้น เว้น space ให้เขา
เราคงไม่ฝืน ไม่อยากคุย ก็ไม่เป็นไร ถ้าอยากคุย ก็อยู่ตรงนี้ มี space เหมือนกับวันที่เราเศร้า เราไม่ได้อยากระบายทันทีนะ บางทีเราอยากอยู่เฉย ๆ บางเรื่องมันตกตะกอนได้ด้วยตัวเอง ถือว่าเป็น process ของการเติบโตของเขา
บางครั้งลูกดื้อกับบางเรื่อง เช่น ไม่อยากกินข้าวเที่ยงเพราะไม่หิว เขาพูดความต้องการออกมาชัดเจน แต่เราอยากให้เขากิน เราต้องเคารพด้วยการฟังเขา ทุกอย่างมัน compromise ได้หมด
การสื่อสารที่ดีต้องรู้เท่าทันอารมณ์
เรามีความคาดหวังกับลูก เรากลัวเขาเสียใจ กลัวจะอย่างนั้นอย่างนี้ แต่คุณพ่อคุณแม่ ต้องอย่าเผลอปล่อยความคิดไปตามอารมณ์ เรื่องของการสื่อสาร บางครั้งเราไม่ต้องพูดก็ได้ ไม่ต้อง verbal เสมอไป บางที non-verbal บ้างก็ได้
ลูกรู้สึกเจ็บช้ำมา เราอาจจะแค่กอดเขา เราแค่นั่งฟังเขาเงียบ ๆ ครั้งหน้าเราอาจจะค่อย ๆ คุย หลายครอบครัว มีลูกวัยรุ่น แล้วเขาไม่พูดด้วย หรือในครอบครัวไม่ยอมสื่อสารกัน อยากให้ทุกคนเปิดใจ คุณพ่อคุณแม่ต้องปรับตัวลูก ๆ ก็ปรับเข้าหาด้วยเช่นกัน
ใช้ความเห็นอกเห็นใจนำทาง
เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวคุณครูพูดจาไม่สุภาพกับนักเรียน ถ้าเราสื่อสาร ด้วยความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และความเคารพเขา มันจะไม่มี คำพูดแบบนั้นออกมาเลย
คำบางคำผู้พูดรู้สึกเฉย ๆ แต่มันรุนแรงสำหรับผู้อื่น อาจจะต้องฝึกให้พูดเพราะ ๆตามธรรมชาติมนุษย์ พอเรามีอารมณ์โมโห เราคงไม่ได้พูดภาษาดอกไม้ตลอด แต่ว่า ถ้าเราอยากจะให้ครอบครัวของเรา ลูกของเรา เติบโตมากับบรรยากาศแบบไหน คำพูดสำคัญมาก
บางครั้งวัยรุ่นพูดคำหยาบบ้าง ในสมัยนี้ ก็อาจจะไม่ได้หยาบมาก คือเหมือนวัยรุ่นเขาพูดกัน หรือเราเอง ก็คุยกับเพื่อนแบบนี้ตอนเด็ก แค่ต้องเข้าใจกาลเทศะ อะไรพูดได้ อะไรพูดไม่ได้
เพราะลูกอยากได้คนรับฟัง ที่เข้าใจเขาจริง ๆ
บางทีลูกมาเล่าอะไรให้เราฟัง เขาแค่อยากระบาย เขาต้องการคนรับฟัง ส่วนการแนะนำ การสอน เก็บไว้ก่อน รอเขา calm down แล้วค่อยคุยกันจะดีกว่าค่ะ
เราทุกคนพึ่งเป็นคุณพ่อคุณแม่ครั้งแรก
คุณพ่อคุณแม่หลายท่าน คาดหวังว่าฉันจะต้องรู้ทุกอย่าง ฉันต้องทำได้ทุกอย่าง ฉันจะต้องดีทุกอย่าง บางทีเราก็บอกลูกนะ ขอโทษ mommy ไม่เคยมีลูกวัยรุ่น เป็นแม่ครั้งแรกเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นเนี่ย ถ้าเราถ่อมตัวลงมาว่า เราไม่ได้รู้ทุกอย่าง เว้นจังหวะให้แต่ละคน ทำผิดทำถูกได้บ้าง สื่อสารผิด สื่อสารถูกสลับกันไป เป้าหมายคือ เราอยากจะมีครอบครัวที่มีความสุขใช่ไหม
เราอยากให้มีครอบครัวที่กลับมา แล้วทุกคนเป็นที่พึ่งให้กันและกันได้ใช่ไหม เราต้องการจะเติมพลังในบ้านกันใช่ไหม ถ้าอันนี้มันเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในบ้านเรา อย่างอื่นมันไม่ matter
Ego เราจะลดลง ความรู้สึกที่ฉันต้องถูก ฉันไม่อยากขอโทษ จะเปลี่ยน เป็นต่างคนต่างขอโทษ และมูฟออน เริ่มใหม่ บางครั้งการเป็นพ่อเป็นแม่ ก็ผิดได้ ทำอะไรบางทีเราก็ไม่รู้ได้บ้างไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือร้ายแรง
อย่าดุลูก จนเขาไม่มีทางออก
ในครอบครัว บทบาทแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าคุณจ๋าดุ ผมจะไม่ดุซ้ำแล้ว ผมจะเหลือทางออกไว้ให้ลูก ถ้าไม่ไหวหนีมาตรงนี้ได้นะ แต่ผมจะไม่ไปขัด กับสิ่งที่คุณจ๋ากำลังสอน
บางสถานการณ์ที่เด็กก็มี Ego เรามี Ego เรายังรู้ว่านี่คือ Ego แต่บางทีเขายังไม่รู้เลยว่า มันคืออะไร แล้วทำไม เขาถึงไม่ยอมขอโทษ ขอบคุณก็ไม่ขอบคุณ คือเขายังไม่รู้จักอารมณ์ เราต้องอย่าลืมว่า เขาเป็นเด็กนะ
บางทีผมก็จับมือลูก งั้นเราไปขอโทษคุณแม่กัน งั้นเราไปขอบคุณด้วยกัน เรากระโดด ลงไปอยู่กับเขาเลย
ลูก ๆ จ๋า อย่าใช้โซเชียลมีเดียเป็นไดอารี่
หนิงบอกลูกเสมอ เราไม่จำเป็นต้องสื่อสารผ่านการ post โซเชียลมีเดีย ไม่ใช่ไดอารี่ของลูก สมมติเขาใช้ระบายความในใจ หรือมีปัญหาติดค้าง แม้กระทั่ง drama case ลูกไปโพสต์ลงโซเชียล สรุปหลายฝ่าย ไม่ได้สื่อสารกันเองเลย ไม่ได้ร่วมกันแก้ปัญหา
เด็ก ๆ เติบโตมาพร้อมโซเชียลมีเดีย เพราะฉะนั้นต้องสอนเขา ให้กลั่นกรองทุกสิ่ง ก่อนออกจากปาก คิดก่อนพูด และควรจำกัดเวลาในการใช้ หนิงเอง กำหนดเวลาชัดเจน เพราะไม่อยากให้เขามองว่า นี่คือสิ่งจำเป็นในชีวิต
โซเชียลมีเดียกับการสื่อสารหลายเวย์
ตอนนี้ ทุกคนกระโดดลงโซเชียลหมด เมื่อก่อนสื่อมวลชน คือสื่อมวลชน แต่ตอนนี้ ทุกคนทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชน ทุกคนพร้อมมานำเสนอข่าวใน version ของตัวเอง มีความคิดเห็นของตัวเอง ทำอะไรเองทั้งหมด
คนธรรมดาบางคน มีอิทธิพลมากกว่าสื่อหลักเสียอีก แต่ต้องระวังการสื่อสารที่ผิด บางคนใช้การดราม่า คำรุนแรง เรียกยอดไลก์ ยอดแชร์ เพื่อพาตัวเอง ไปสู่การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ บังเอิญ มันดันใช้ได้ในโลกของโซเชียลมีเดียซะด้วย
อยากบอกว่า เราควรถอยมาเป็นผู้ชม ในทุกเรื่องให้ได้ เหมือนกัน กับเรื่องของคนในครอบครัว แม้แต่กับตัวเราเอง เราต้องถอยแล้วลองมาดู สิ่งที่เราทำอยู่ สิ่งที่เราคิดอยู่ มันเป็นยังไง
คุณแม่หนิงฝากถึงครู พ่อแม่ และเหล่าลูก ๆ ทั้งหลาย
คุณครูต้องสำรวจตัวเอง อย่างสม่ำเสมอ การสอนของเราสนุกไหม เด็กอยากเรียนกับเราหรือเปล่า พ่อแม่ก็ต้องเช็กตัวเอง ว่าทำไมลูกไม่ฟังเราเลย ทำไมลูกไม่บอกอะไรเราเลย ต้องย้อนมาดูว่า เราเป็นพ่อแม่ ที่เปิดใจให้ลูกหรือเปล่า
ส่วนลูกทั้งหลาย คุณพ่อคุณแม่ และคุณครู กำลังพยายามปรับตัวอยู่ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราต้องหาทางประนีประนอมกัน และการพูดคุยกับการสื่อสาร จะทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมาได้
คำพูดทุกคำ มันอาจจะเป็นรางวัลหล่อเลี้ยงจิตใจ หรืออาจเป็นยาพิษก็ได้ สามารถสร้างความพังพินาศ ให้กับชีวิตหนึ่งได้
ก่อนจะพูดอะไรสักอย่าง คิดก่อน แล้วมันจะทำให้โลกเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ตอนนี้ คนเราใช้คำพูดรุนแรงมาก เพื่อที่จะให้เกิดดราม่า หรือฉันต้องชนะ ลองลด ego ลง มานึกถึงอนาคตไกล ๆ กันดีกว่า
ครูยุคใหม่สวมหมวกหลายใบ สื่อสารคล่องแคล่ว
ครูไม่ใช่ตำแหน่ง แต่ครู คือคนที่นักเรียนถาม แล้วเราชี้นำได้ และมีความรู้หลากหลายด้าน เป็นได้หลายบทบาท เด็กเดี๋ยวนี้รู้กว่านั้น สร้างสรรค์กว่านั้น กว้างไกลกว่านั้น เหมือนที่ยุคหนึ่งเขาใช้คำว่า student centered ครูเดินเข้ามา
เรื่องที่เราจะคุยกันครั้งหน้า แต่ละคนไปทำการบ้านมา แล้วเรามา discuss กัน ในยุคนี้สิ่งที่เป็นทฤษฎี ครูแทบไม่ต้องสอน เพราะเด็กเขารู้หมดแล้ว ครูแค่ประคับประคอง เพื่อให้เด็กไปสู่เป้าหมาย และช่วยเด็กตกตะกอน
วิดีโอใกล้เคียง
Starfish Trend Talk | EP.2 | : คำพูดกดทับที่ครูและผู้ปกครองไม่ควรใช้กับเด็ก
สิทธิในร่างกายแบบไหนที่เรียกว่าอยู่ในขอบเขต
เราควรเลี้ยงลูกแบบไหน? แบบเพื่อน vs แบบพ่อแม่
108 ปัญหาพ่อแม่ และลูกวัยรุ่น
คอร์สใกล้เคียง
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
Micro Learning - เทคนิคการสื่อสาร และดูแลลูก
เทคนิคการสื่อสาร และดูแลลูก เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับผู้ปกครองในปัจจุบันที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อนำไปใช้กับลูกหลานของตนเอง และเ ...