5 คำพูดดีต่อใจที่ลูกวัยทีนอยากได้ยิน
คนเป็นพ่อแม่บางครั้งก็คิดไปเองว่าลูกๆ ย่อมรับรู้ถึงความรักความห่วงใยที่มีให้อยู่แล้ว จึงมักไม่ค่อยบอกรักด้วยวาจาเท่าใดนัก โดยเฉพาะพ่อแม่ชาวไทย ที่การบอกรัก กอด สัมผัสร่างกาย อาจเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคยทำแล้วรู้สึกเคอะเขิน แต่รู้ไหมว่า จริงๆ แล้ว เด็กๆ ก็ต้องการคำชม เพื่อเป็นแรงเสริมทางบวกให้พวกเขามีกำลังใจทำสิ่งดีๆ ต่อไป
บทความนี้ Starfish Labz ชวนคุณพ่อคุณแม่มารู้จัก 5 คำพูดดีต่อใจ ที่ลูกวัยทีนอยากได้ยิน ลองมาดูกันว่าแต่ละคำพูดนั้น สร้างกำลังใจให้ลูกวัยรุ่นได้อย่างไรบ้าง
แรงเสริมทางบวก สร้างกำลังใจลูก
คุณพ่อคุณแม่อาจเคยได้ยินคำว่าแรงเสริมทางบวกกันมาบ้างแล้ว ว่าแต่แรงเสริมทางบวกคืออะไร และสำคัญอย่างไรกับการเลี้ยงลูก Starfish Labz มีคำตอบมาให้ค่ะ
แรงเสริมทางบวก คือ พฤติกรรมที่เสริมแรงเมื่อบุคคลทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามที่กำหนด(หรือที่ต้องการ) เช่น เมื่อเด็กๆ ทำงานบ้านเรียบร้อย ได้รับค่าขนมเพิ่ม ค่าขนมนี่เองที่เป็นแรงเสริมทางบวกให้เด็กๆ อยากทำงานบ้านในครั้งต่อๆ ไป
อย่างไรก็ตาม แรงเสริมทางบวกไม่ได้หมายถึงการให้รางวัลด้วยสิ่งของหรือเงินตราเท่านั้น แต่การเอ่ยคำชื่นชม ให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่รับรู้ถึงความพยายามทำสิ่งดีๆ ก็เป็นแรงเสริมทางบวกให้ลูกทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์นั้นต่อไป
บ่อยครั้งพ่อแม่ อาจคุ้นเคยกับการดุ ตำหนิ หรือวิจารณ์เมื่อลูกทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ แต่เมื่อลูกทำดี กลับลืมหรือไม่รู้วิธีที่จะชื่นชม ซึ่งการดุ ตำหนิ วิจารณ์นั้นเรียกได้ว่าเป็นแรงเสริมทางลบ ซึ่งไม่ช่วยให้เกิดพฤติกรรมดีๆ ทั้งยังบั่นทอนกำลังใจของลูกอีกด้วย
เลี้ยงลูกอย่างไรให้ IQ ดี EQ เด่น
5 คำพูดดีต่อใจลูกวัยทีน
1. พ่อ/แม่ ภูมิใจในตัวลูก
ข้อมูลจาก psychologytoday.com ระบุว่า เมื่อพ่อแม่หมั่นบอกกับลูกว่า พวกเขาภูมิใจในตัวลูก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เด็กๆ จะรู้สึกว่าพวกเขามีความสำคัญต่อครอบครัว และสิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือ พ่อแม่กำลังทำให้วัยรุ่นรู้ว่าพวกเขาสามารถภูมิใจในตัวเองในสิ่งที่ทำสำเร็จได้
ยิ่งได้ยินคำว่า พ่อ/แม่ภูมิใจในตัวลูกบ่อยเท่าไร ความรู้สึกภูมิใจในตัวเองของลูก ก็จะยิ่งฝังลึกอยู่ในจิตใจ กลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความมั่นใจที่รอวันเติบโต
เมื่อวัยรุ่นต้องออกไปใช้ชีวิตในโลกกว้างด้วยตัวเอง ความภูมิใจ ที่พ่อแม่เคยพร่ำบอกนี้เอง คือรากฐานที่ทำให้ลูกเกิดความรู้สึกเชื่อมั่น กล้าเรียนรู้ ทดลองสิ่งใหม่ๆ ที่จะพาลูกไปพบกับความสำเร็จในชีวิตได้
2. พ่อ/แม่รักลูก
แน่นอนว่าพ่อแม่ทุกคนย่อมรักลูก แต่คุณบอกรักลูกบ่อยแค่ไหน?
งานวิจัยในต่างประเทศ เรื่อง When do adolescents feel loved? โดย American Psychological Association พบว่า เมื่อวัยรุ่นถูกถามว่ารู้สึกว่าเป็นที่รักของพ่อแม่หรือไม่ คำตอบของวัยรุ่นส่วนใหญ่ อยู่ที่ระดับปานกลางถึงสูง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความขัดแย้งที่วัยรุ่นมีกับพ่อแม่ในขณะนั้น
แต่สำหรับวัยรุ่นที่พ่อแม่หมั่นบอกรักอย่างสม่ำเสมอ แม้จะเกิดความขัดแย้งกัน แต่ระดับความรู้สึกเป็นที่รักกลับไม่ได้ลดลงตามความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น
สิ่งที่งานวิจัยนี้บอกเราก็คือ การบอกรักลูกอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้ลูกรับรู้ว่าเขาเป็นที่รัก แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นกันชน เมื่อความสัมพันธ์เผชิญกับความขัดแย้งด้วย
3. ลูกทำได้
ตอนที่ลูกยังเป็นเด็ก พ่อแม่มักจะกระโดดเข้าไปช่วยเสมอเมื่อลูกเผชิญกับปัญหา แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น พวกเขาคงไม่พอใจนัก หากพ่อแม่รีบกระโจนเข้าไปช่วยในทันที เพราะนั่นอาจหมายความว่าพ่อแม่ไม่เชื่อมั่นในตัวของพวกเขา
สิ่งที่พ่อแม่ทำได้ก็คือ การให้ความมั่นใจ เสริมความเชื่อมั่นให้กับลูกด้วยการบอกว่า “ลูกทำได้” มองลูกด้วยความเชื่อมั่นและปล่อยให้พวกเขาลองทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง
เมื่อวัยรุ่น รู้สึกว่าพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ พวกเขามักมีแรงจูงใจทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เพราะพวกเขารู้ว่าหากผิดพลาดล้มเหลว ก็ยังมีไหล่ของพ่อแม่ให้คอยรองรับประคับ
ประคอง ต่างจากวัยรุ่นที่พ่อแม่ไม่เคยแสดงความเชื่อมั่นในตัวพวกเขา วัยรุ่นกลุ่มนี้มักกังวลไม่กล้าทำสิ่งใหม่ๆ เพราะกลัวว่าหากผิดพลาดจะถูกพ่อแม่ซ้ำเติม
ความเชื่อมั่นจากพ่อแม่ด้วยประโยคที่ว่า “ลูกทำได้” ช่วยให้เด็กๆ มีความสามารถที่จะลุกขึ้นจากความผิดพลาดและเริ่มใหม่ต้นใหม่ได้เสมอ
Unlock ศักยภาพของลูก กุญแจสำคัญที่พ่อแม่ต้องมีคืออะไร
อย่าเร่งเรียน จนลืมสอนทักษะชีวิตให้ลูก
4. ขอโทษนะ
การยอมรับว่าตัวเองทำผิดพลาด อาจเป็นเรื่องยากสำหรับคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะหากเป็นผู้อาวุโส ยอมรับต่อคนที่อายุน้อยกว่าว่าตนเองผิดพลาดนั้น ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นนักในสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม การยอมรับผิดกับลูกๆ หากพ่อแม่ทำผิดพลาด ไม่เพียงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกแข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการสอนให้ลูกรู้ว่า การยอมรับผิด ไม่ใช่เรื่องน่าละอายแต่อย่างใด
พ่อแม่ส่วนใหญ่มักไม่กล้ายอมรับความผิดพลาดของตนเอง เพราะเชื่อว่าจะทำให้เสียอำนาจการปกครอง ทำให้เด็กๆ ไม่เชื่อถือ แต่ความจริงแล้ว หากพ่อแม่ยอมรับผิดต่อหน้าลูกๆ พ่อแม่ไม่ได้สูญเสียอำนาจการปกครอง แต่เป็นการแสดงให้ลูกเห็นว่าคุณมีความเข้มแข็งทางจิตใจมากพอ ที่จะยอมรับผิดไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม
นอกจากนี้ เมื่อพ่อแม่ยอมรับผิด วัยรุ่นยังได้เรียนรู้ว่า ทุกความผิดพลาดคือโอกาสของการเรียนรู้ และความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นใครอายุเท่าไร ซึ่งพ่อแม่ที่ทำผิดพลาดและกล้ายอมรับ ย่อมทำให้ลูกรู้สึกเข้าถึงได้ง่ายกว่า พ่อแม่ที่พยายามสมบูรณ์แบบตลอดเวลา ซึ่งจะสร้างความกดดันให้ลูกไม่กล้าทำผิดในชีวิต
5. ลูกคือคนพิเศษ
คนเรามีความปรารถนาที่จะเป็นที่รัก เป็นที่ยอมรับ และมีคนรับฟัง โดยเฉพาะจากคนสำคัญในชีวิต แต่น่าเสียดาย ที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ มักคิดว่าเด็กๆ รู้อยู่แล้วว่าตนเองสำคัญกับพ่อแม่แค่ไหน พ่อแม่จึงไม่ค่อยบอกลูกด้วยวาจา
การไม่เคยบอกว่าลูกมีความสำคัญ เป็นคนพิเศษของพ่อแม่นั้น อาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะเมื่อเด็กๆ ไม่ได้รับรู้จากคำพูดของพ่อแม่ว่าพวกเขามีความสำคัญ พวกเขาอาจขาดความภาคภูมิใจในตนเอง และรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าได้
เมื่อเป็นเช่นนี้พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรหาโอกาสในแต่ละวันเพื่อบอกลูกวัยรุ่นว่าพวกเขามีความสำคัญแค่ไหนสำหรับคุณ ลูกอาจจะตอบรับด้วยท่าทีเขินอาย เมินเฉย หรือทำเป็นไม่สนใจ
แต่ลึกๆ แล้วคำพูดนี้มีคุณค่าทางใจต่อวัยรุ่น เมื่อได้รับรู้ว่าตนเองเป็นที่รักอยู่เสมอ ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ให้ลูกเข้มแข็ง แม้ว่าต้องเผชิญเหตุการณ์เลวร้ายในอนาคตก็ตาม
แหล่งอ้างอิง (Sources):
https://doi.apa.org/doiLanding?doi=10.1037%2Femo0000767
https://www.moms.com/encouraging-things-teens-need-hear-from-parents/
Related Courses
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...