5 เคล็ดลับ การพัฒนาทักษะเด็กออทิสติก ทั้งทางร่างกายสู่ทางปัญญา
ออทิสติก (Autistic) หรือที่รู้จักกันในชื่อกลุ่มอาการออทิสติก (Autism Spectrum Disorders: ASD) คือ ภาวะระบบประสาททำงานซับซ้อน ผู้ที่เป็นออทิสติกจะมีความสามารถเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม พัฒนาการทางภาษา และทักษะการสื่อสารด้อยกว่าคนปกติ ทั้งนี้ ผู้ป่วยออทิสติกมักมีพฤติกรรมทำอะไรเหมือนเดิมซ้ำ ๆ เช่น โยนของไปมา สะบัดมือซ้ำ ๆ หรือชอบพูดเลียนแบบ โดยอาการอาจรุนแรงหรือไม่รุนแรงก็ได้ เพราะผู้ป่วยออทิสติกแต่ละคนมีปัญหาและความรุนแรงที่แตกต่างกัน
ปัจจุบันยังไม่มีการระบุสาเหตุ หรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดออทิสติกอย่างเป็นทางการ เบื้องต้นสันนิษฐานว่าโรคนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของยีน บางรายอาจเสี่ยงเป็นออทิสติกได้สูงหากบุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นออทิสติก อย่างไรก็ตาม ยังปรากฏเด็กออทิสติกอีกหลายรายที่บุคคลในครอบครัวไม่ได้มีปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ งานวิจัยบางเรื่องได้ทำการศึกษาและแสดงให้เห็นว่าหากพ่อแม่มีอายุมากทั้งคู่หรือมีช่วงอายุห่างจากลูกตัวเองมาก เด็กที่เกิดออกมาก็จะเสี่ยงเป็นออทิสติก โดยผลการศึกษาดังกล่าวเป็นเพียงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้อื่น ๆ ที่อาจทำให้เด็กเสี่ยงเป็นออทิสติก ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเสพติดขณะตั้งครรภ์อย่างการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ใช้ยาต้านอาการชัก หรือป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วน ในบางราย การติดเชื้อหัดเยอรมัน หรือป่วยเป็นฟีนิลคีโตนูเรีย แล้วไม่ได้รับการรักษานั้น อาจเกี่ยวข้องกับอาการออทิสติกในเด็ก ที่สำคัญ แม้จะมีการกล่าวว่าการฉีดวัคซีนเสริมภูมิต้านทานโรคต่าง ๆ จะก่อให้เกิดอาการออทิสติกในเด็ก แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าวัคซีนทำให้เด็กเป็นออทิสติกได้
อย่างไรก็ดี แม้ในเรื่องของการรักษา จะยังไม่มียา หรือวิธีทางการแพทย์ที่สามารถช่วยให้อาการออทิสติกของเด็กหายขาด แต่มีหลากหลายสิ่งมากมาย ที่คุณพ่อคุณแม่และทีมที่ดูแลเด็ก ๆ ออทิสติก ตั้งแต่แพทย์จนถึงคุณครู สามารถช่วยกันทำ ช่วยกันเอาใจใส่ สนับสนุน ประยุกต์ใช้สื่อการสอน และส่งเสริมจนเด็กสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น และดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติได้ และในบรรดาเทคนิค วิธี หรือเคล็ดลับมากมายในการพัฒนาทักษะของเด็กออทิสติกที่ Starfish Labz ได้ไปใช้เวลาสำรวจและศึกษามาในวันนี้ เทคนิคหรือเคล็ดลับสำคัญที่ Starfish Labz อยากหยิบยกนำมาฝากคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ตลอดจนคุณครูทุกคนก็คือบรรดา 5 กระบวนการด้านล่างนี้เองค่ะ
5 กระบวนการสำคัญ พัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ของเด็กออทิสติก
1. ทักษะทางการรับรู้และการเคลื่อนไหว
การเคลื่อนไหวร่างกายของบุคคลออทิสติก จะมีความผิดปกติในการเคลื่อนไหวอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจจะมีหลายๆด้าน ดังนั้นการฝึกทักษะการรับรู้ และการเคลื่อนไหวสำหรับบุคคลออทิสติก เพื่อช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาศักยภาพทางด้านร่างกาย กล้ามเนื้อมัดเล็กกล้ามเนื้อมัดใหญ่ การรับรู้ประสาทสัมผัส การประสานสัมพันธ์กับส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
(ตา มือ เท้า แขน ขา) รวมไปถึงการออกกำลังกายจึงจำเป็นสำหรับบุคคลออทิสติก
2. ทักษะการใช้ชีวิตประจำวันเด็กออทิสติก
การใช้ชีวิตประจำวันของเด็กออทิสติก ก็เหมือนกับการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กปกติทั่วไป เพียงแต่เด็กออทิสติก มีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้น้อยกว่า หรือไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ถ้าเทียบกับเด็กปกติในช่วงวัยเดียวกัน และมักจะมีการแสดงอารมณ์ที่แตกต่างจากเด็กปกติทั่วไป จึงควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากบุคคลรอบข้างเพื่อให้เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้นทั้งด้าน ร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา แล้วสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข
3. พัฒนาการทางสติปัญญา
หลายคนมักเข้าใจว่าเด็กออทิสติกกับปัญญาอ่อนเป็นภาวะเดียวกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วออทิสติกเป็นคนละภาวะกับปัญญาอ่อน สามารถแยกจากกัน โดยการส่งประเมินระดับสติปัญญา อย่างไรก็ตาม โรคออทิสติกสามารถพบร่วมกับภาวะปัญญาอ่อนได้ถึงร้อยละ 50 ในบางกรณีโรคออทิสติกสามารถมีระดับสติปัญญามากกว่าคนปกติ และมีความสามารถพิเศษในระดับอัจฉริยะ เช่น ความสามารถในการวาดรูปหรือความสามารถในการจำปฏิทิน ครูและผู้ปกครองจำเป็นต้องให้เด็กออทิสติกได้เรียนรู้ในวิชาพื้นฐาน ได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ เช่น การรู้จักตัวเลข บวก ลบ จำนวน วิชาภาษาไทย เช่น การรู้จักชื่อ การเขียนชื่อ รู้จักอักษร และคำพื้นฐานที่ใช้ในการใช้ชีวิต เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ช่วยเหลือตัวเองได้
4. การรับรู้การแสดงออกด้านภาษาและอารมณ์
โรคออทิสติกเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมองที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ 3 ด้านใหญ่ๆ ได้แก่ ด้านภาษา การสื่อสาร ทักษะทางสังคม และเกิดพฤติกรรมซ้ำ ๆ โดยสามารถสังเกตพบได้ก่อนอายุ 3 ขวบ รวมถึงมีพฤติกรรมที่มีขีดจำกัด มีการแสดงออกที่ผิดปกติจากเด็กทั่วไป เด็กออทิสติกสามารถเรียนรู้ มีความรู้สึกที่จะรัก ผูกพัน มอบความห่วงใยให้คนอื่นที่เขารักได้ เพียงแต่การแสดงออกของความรักของเด็กออทิสติกอาจจะมีน้อยหรือมากไม่เท่ากันและอาจแสดงออกมาแตกต่างจากคนทั่วไป พฤติกรรมน่าสงสัยว่าเด็กๆ อาจเป็นโรคออทิสติก สังเกตจากความผิดปกติ ดังนี้
- ความผิดปกติด้านสังคม ได้แก่ ไม่สบตา ชอบเล่นคนเดียว สนใจสิ่งของมากกว่าคน ไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกผู้อื่น เฉยเมยไม่แสดงอารมณ์
- ความผิดปกติด้านภาษา ได้แก่ พูดช้า หรือไม่พูดเลย มีภาษาแปลกๆ ไม่ชี้นิ้วบอกเวลาอยากได้อะไร
- ความผิดปกติด้านพฤติกรรม ได้แก่ ทำอะไรซ้ำ ๆ ปรับตัวยาก ทำกิจวัตรต้องมีขั้นตอนเหมือนเดิม
ดังนั้น เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้สามารถแสดงออกด้านภาษาและอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม ครู ผู้ปกครอง หรือผู้ใกล้ชิดดูแลเด็กกลุ่มนี้ จึงต้องฝึกให้เด็กได้เรียนรู้การแสดงออกเช่น การดีใจ เสียใจ ร้องไห้ หิว และการฝึกการพูดการออกเสียง ให้สัมพันธ์กับการแสดงความรู้สึก เพื่อการสื่อสารและช่วยเหลือเด็กออทิสติกให้ใช้ชีวิตประจำวันได้
5. การประยุกต์ใช้สื่อการสอนที่เหมาะสม
นอกเหนือจากกระบวนการดังที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว อีกหนึ่งกระบวนการหรืออาจใช้คำว่าเป็นเทคนิคเสริมสำคัญก็คือการประยุกต์ใช้สื่อการสอนศึกษาพิเศษ หรือสื่อการสอนเด็กออทิสติกที่เหมาะสมนั่นเองค่ะ สื่อการสอน อันหมายถึง ของเล่น วัสดุอุปกรณ์ วิธีการหรือเทคนิคต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบในกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็ก นับว่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่มีความสำคัญและมีประสิทธิภาพมาก ๆ ในการช่วยฝึกให้เด็ก โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่มีข้อกำจัดในการเรียนรู้และจดจำอย่างเด็กออทิสติก สามารถเรียนรู้และจดจำสิ่งที่เขาควรทำหรือไม่ควรทำในแต่ละวันได้ด้วยตัวเอง อย่างแทบไม่ต้องพึ่งพาผู้ปกครองในระยะยาว ซึ่งสื่อการสอนเด็กออทิสติก ในปัจจุบัน มีหลากหลายชิ้นมากมายที่ได้รับการประดิษฐ์คิดค้นและถูกทดลองใช้มาแล้วว่ามีประสิทธิภาพ สามารถนำมาใช้งานได้จริง ๆ เพื่อส่งเสริมทักษะพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของเด็กออทิสติก
ในประเทศไทยเรา ที่ครอบคลุมและสามารถประดิษฐ์ตามได้อย่างง่ายที่สุด ก็คือบรรดารายการสื่อการสอนพิเศษสำหรับเด็กออทิสติกที่ได้รับการจัดทำขึ้นมาอย่างเป็นกรณีพิเศษโดยกรมสุขภาพจิตนั่นเองค่ะ (คลิกเพื่อดู: คู่มือการผลิตสื่อการสอน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติก สำหรับครูและผู้ปกครอง โดยกรมสุขภาพจิต) ในคู่มือนี้ มีกว่า 30-40 สื่อการสอนการศึกษาพิเศษที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาเด็กออทิสติกในด้านต่าง ๆ ตลอดจนสื่อการสอนในรูปแบบของแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น ชุดแอปพลิเคชันสื่อการสอนสำหรับเด็กออทิสติกโดยเฉพาะซึ่งได้รับการศึกษา วิจัย และพัฒนาโดย True Cooperation ประกอบด้วย 2 แอปพลิเคชันหลัก ๆ ได้แก่ Daily Tasks สื่อการสอนและเสริมสร้างพัฒนาการด้านกิจวัตรประจำวัน เช่น แปรงฟัน อาบน้ำ ให้เด็กออทิสติกได้ฝึกฝนทักษะการเลียนแบบ ทักษะความสนใจและพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และ Track and Share สื่อการสอนเสริมสร้างทักษะการลากเส้น วิชาการเบื้องต้นเพื่อพัฒนาการด้านการรอคอย การแบ่งปัน และการเข้าสังคม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่และคุณครูก็สามารถโหลดมาใช้งานกันได้ทั้งทาง iOS และ Android เลยค่ะ
อ้างอิง
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
การสอนภาษาไทย (3R)
การสอนภาษาไทยของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมได้ออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างเป็นระบบเข้าใจง่ ...
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...