คุยกับลูกวัยรุ่น ไม่ยากอย่างที่คิด
ถ้าถามว่าการเลี้ยงลูกวัยไหนจะยากที่สุด น่าจะไม่พ้นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างช่วงวัยรุ่นนี่ล่ะคะ เป็นช่วงวัยที่ปราบเซียนคุณพ่อคุณแม่เลยทีเดียว เพราะถ้าดูแลไม่ดี ก็มีสิทธิ์ที่จะไขว้เขวไปได้ การเลี้ยงลูกวัยรุ่นจึงเป็นอีกหนึ่งช่วงที่สำคัญของชีวิตเลยค่ะ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการพูดคุยกันนี่ล่ะค่ะ วันนี้เราจึงมีหลักในการคุยกับลูกวัยรุ่นมาฝากกัน
ฟังอย่างเข้าใจ
สิ่งที่วัยรุ่นเบื่อที่สุด คือการถูกสั่งสอนจากคุณ เพราะไม่ว่าคุณจะมองว่าเป็นการพูดคุย หรือสั่งสอนอะไรก็ตาม เด็กๆ จะคิดว่าคุณ “บ่น” อยู่ดี เพราะฉะนั้นข้อแรก เราจึงขอให้ “ตั้งใจฟัง” (active listening) ลูกก่อน คือ ฟังด้วยใจเป็นกลาง ไม่อคติ ที่สำคัญคือต้องฟังให้จบ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่บวก หรือลบก็ตาม
แม้บางเรื่องจะดูไร้สาระ ในความคิดคุณก็ตาม แต่การที่ลูกมาพูดคุยด้วย ถือเป็นโอกาสทอง เพราะส่วนใหญ่วัยรุ่นมักปรึกษาเพื่อนหรือรุ่นพี่ นั่นแสดงถึงว่าเขาต้องการความช่วยเหลือ และการฟังจนจบ จะทำรู้จักลูกได้มากขึ้นกว่าเดิม และเข้าใจปัญหาเขาได้ดีขึ้น
ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ
สำหรับวัยรุ่น Keyword ต้องห้ามเลยคือคำว่า “ห้าม” และคำว่า “ไม่” เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่ชอบความท้าทาย แต่ไม่ชอบการออกคำสั่ง เป็นวัยต่อต้าน รักอิสระ และ จะทำตามในสิ่งที่พวกเขาอยากจะทำ เพื่อแสดงความเป็นตัวของตัวเอง
แต่ถ้าจะอยากเตือนลูก เราแนะนำให้แชร์ประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้น แนะนำอ้อมๆ แทนการสั่งห้ามไม่ให้ทำ จะดูจริงใจมากกว่า และไม่ได้เป็นการบังคับใดๆ แต่เปิดโอกาสให้เขาได้หาทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง (โดยมีคุณชี้นำแบบอ้อมๆ)
วางอคติลงก่อน
เวลาเราคุยกับใครก็ตามทั้งภาษากายและคำพูด ฝ่ายตรงข้ามรับรู้ได้เสมอค่ะ ลูกก็เช่นกัน เขาจะสัมผัสกับสิ่งนี้ได้ ถ้าคุณตั้งธงไว้แล้ว มีอคติกับเขาแล้ว การพูดคุยย่อมไม่สำเร็จแน่นอน แถมบางครั้งอาจจะลงเอยด้วยการโต้เถียงกัน หรือลูกไม่อยากจะฟังคุณ
ย้อนนึกถึงตัวเองในวัยรุ่น
การได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนไปสมัยที่คุณเป็นวัยรุ่น จะช่วยดึงสติคุณให้เข้าใจการ
กระทำ หรือพฤติกรรมของลูกว่าเป็นไปตามวัย เพื่อที่จะสามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสม ผ่านประสบการณ์ที่เคยประสบมาก่อนนั่นเอง
เรื่องบางเรื่องที่เราทำในช่วงวัยรุ่นแล้วได้รับประสบการณ์ดี หรือไม่ดีก็ตาม นำมันมาเป็นบทเรียนดูค่ะ แต่อย่าลืมว่ามันไม่ใช่สูตรสำเร็จเสมอไป บางครั้งในช่วงเวลานั้น ทำวิธีการนี้อาจจะดี แต่อาจจะไม่ใช่เรื่องดีในช่วงอายุของลูกก็ได้ เพราะฉะนั้นประสบการณ์ของคุณ ควรเป็นเพียงสิ่งที่จะมีไว้เพื่อแชร์ให้ลูกได้รู้ แต่ไม่ได้ต้องปฎิบัติตาม
น้ำเสียงและบรรยากาศ
สิ่งแวดล้อมก็มีส่วนช่วยให้การคุยกันเป็นไปอย่างราบรื่นค่ะ บางช่วงเวลาที่มาคุยกันแต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนควรเลี่ยงไปก่อน เพราะความโกรธทำให้เราฟังอะไรหรือเข้าใจอะไรได้ช้าลง แต่ปากกลับพูดไปไวขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีแน่นอน
พยายามสงบใจ ทำความเข้าใจ ให้โอกาส อย่าพูดขัด และสรุปประเด็นให้ตรงกัน โดยใช้น้ำเสียงที่น่าฟัง แต่ต้องไม่ดูจงใจเกินไป หากก่อนหน้านี้คุณกับลูกไม่สนิทกัน ไม่ค่อยมีเวลาด้วยกัน ทะเลาะกันบ่อย อาจจะลำบากหน่อย เพราะเมื่อจู่ๆ คุณมาพูดดีด้วย ลูกอาจจะเริ่มระแวง ว่าพ่อแม่จะมาจับผิดอะไร จะทำให้ลูกรู้สึกแปลกใจ รวมถึงไม่รู้สึกถึงความจริงใจในการพูดคุยนั้น ที่สำคัญควรพูดคุยในท่าทีสบายๆโดยใช้บรรยากาศดีๆ ช่วยให้อารมณ์ของทั้งคุณ และลูกผ่อนคลาย
วัยรุ่นยุคออนไลน์นี้ อาจจะเข้าใจยากก็จริง แต่อย่าลืมว่าคุณพ่อคุณแม่เองก็เคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน ขอให้ฟังอย่างเข้าใจและไม่ตัดสิน แนะนำแต่ไม่บังคับ เมื่อเขามีปัญหา และแม้บางครั้งการพูดคุยไม่สำเร็จ ก็ไม่ต้องเสียความมั่นใจ เพราะความคาดหวังต่อลูกในฐานะพ่อแม่ ย่อมจะมากกว่าปกติอยู่แล้ว ลองตั้งสติ แล้วถอยออกมาวงนอกดู บางครั้งการมองปัญหาจากที่ไกล จะเห็นได้ชัดเจนกว่าเสมอค่ะ
Related Courses
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...