ซึมเศร้าซ่อนเร้น ลูกเราเป็นหรือเปล่า
เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ฮอร์โมนและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในร่างกาย ทำให้สภาวะอารมณ์ของลูก มีการเปลี่ยนแปลง จนทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นกังวล จากเด็กน้อยช่างพูด อาจเริ่มเก็บตัวมากขึ้น จากที่มีเรื่องเล่าหลังกลับจากโรงเรียน ก็กลายเป็นว่า ถ้าไม่ถามก็ไม่ตอบ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องธรรมดาที่พบบ่อยในวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม ยังมีภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น ที่ไม่แสดงอาการให้เห็นเด่นชัด จนพ่อแม่อาจไม่ทันสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง ยิ่งในสภาพสังคมปัจจุบันที่ลูกไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ เนื่องจากโควิด-19 สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว วิตกกังวล อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจลูกวัยรุ่น จนกลายเป็นภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นได้
ซึมเศร้าซ่อนเร้น เป็นอย่างไร?
โรคซึมเศร้า เป็นสภาวะทางจิตใจ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งกรรมพันธุ์ สารเคมีในสมอง รวมถึงลักษณะนิสัยของผู้ป่วยเอง เช่น ขาดการเห็นคุณค่าในตนเอง มองตนเองแง่ลบ ทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ โดยอาการที่เห็นได้ชัดคือ เบื่อหน่าย ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบ นอนไม่หลับ รู้สึกไร้ค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจค่อยๆ เกิดขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือใช้เวลานานเป็นเดือนก็ได้ ซึ่งคนใกล้ชิดอาจสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ง่าย
ขณะที่โรคซึมเศร้าซ่อนเร้น บางครั้งเรียกว่า Masked Depression หรือ Smiling Depression มักไม่แสดงอาการชัดเจน ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นยังคงรับผิดชอบหน้าที่ ทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ยิ้มแย้มพูดคุยได้เหมือนไม่มีอะไร แต่ภายใต้รอยยิ้มนั้น กลับมีความวิตกกังวล ขาดความสุขในชีวิต โดยทั่วไปแทนที่จะมีอาการทางอารมณ์หรือพฤติกรรม ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น อาจมีอาการทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ ฯ โดยไม่มีสาเหตุ
เมื่อซึมเศร้า ทำไมต้องซ่อน
โรคซึมเศร้า และซึมเศร้าซ่อนเร้นนั้น มักมีสาเหตุเหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือการแสดงออก กล่าวคือ ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าซ่อนเร้น มักดำเนินชีวิตได้ปกติ และเลือกแสดงออกแต่อารมณ์เชิงบวก กดเก็บความเศร้าของตนเองไว้ในใจ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ต้องซ่อนเร้นความเศร้า อาจมีหลายประการ คือ
- ไม่อยากถูกตัดสิน : บางครอบครัวเลี้ยงลูกด้วยความกดดัน ต้องการให้ลูกเข้มแข็ง อดทน เมื่อลูกแสดงอารมณ์เศร้า ร้องไห้ พ่อแม่ก็มักตัดสินว่าลูกอ่อนแอ เรียกร้องความสนใจ หรือบางครอบครัว มีแนวคิดว่า ลูกผู้ชายห้ามร้องไห้ ทำให้ลูกเก็บกดความรู้สึกไว้ เมื่อเศร้าจึงไม่อยากแสดงออก
- ไม่อยากเป็นภาระ : เด็กๆ ที่ถูกพ่อแม่คาดหวังให้ประสบความสำเร็จ หรือเป็นที่พึ่งของครอบครัว เช่น พี่คนโต เป็นที่พึ่งพิงทางอารมณ์ให้กับแม่เลี้ยงเดี่ยว และน้องๆ หรือลูกคนเดียวที่แบกความหวังของพ่อแม่ เมื่อรู้สึกเศร้า อาจไม่กล้าแสดงอารมณ์จริงๆ ออกมา เพราะกลัวว่าจะเป็นภาระของครอบครัว
- เสพติดความสมบูรณ์แบบ : คนที่เสพติดความสมบูรณ์แบบหรือ Perfectionist มักยอมรับความรู้สึกเชิงลบของตนเองไม่ได้ เพราะทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่ดีพอ เมื่อมีความเศร้า จึงกดเก็บอารมณ์ไว้ไม่แสดงออกมา เพราะพวกเขารู้สึกว่าอารมณ์เชิงลบ ทำให้ตัวเองมีข้อบกพร่อง
- อาย : เด็กที่ถูกล้อเลียน กลั่นแกล้ง บูลลี่ อาจไม่แสดงอาการซึมเศร้าออกมา เพราะกลัวว่าจะถูกล้อ บางครั้งผู้ใหญ่ที่หยอกล้อเด็กๆ เวลาที่เด็กร้องไห้ เช่น แหย่ว่าขี้แย หรือเห็นว่าการร้องไห้ของเด็กๆ เป็นเรื่องตลก อาจทำให้เด็กรู้สึกอายที่จะแสดงความเศร้าออกมา จึงเก็บซ่อนความเศร้านั้นไว้ภายใต้รอยยิ้ม
สังเกตอาการซึมเศร้าซ่อนเร้น
เนื่องจากผู้ที่มีอาการซึมเศร้าซ่อนเร้น มักไม่แสดงอาการชัดเจน แต่บุคคลใกล้ชิดอาจสังเกตุอาการเบื้องต้นได้ คือ
- รับประทานอาหารน้อยลง ไม่มีความอยากอาหาร
- เลี่ยงที่จะพูดคุยเรื่องความรู้สึกของตนเอง
- มีอาการป่วยทางกายที่ไม่ทราบสาเหตุ เช่น ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม
- มีอาการย้ำคิดย้ำทำ เพราะลึกๆ ในใจรู้สึกไม่มั่นคง ไม่มั่นใจในคุณค่าของตัวเอง จึงพยายามทุ่มเท ทำทุกอย่างให้ดีตามมาตราฐานของตนเอง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ
- รู้สึกหงุดหงิดง่าย เมื่อผลงานหรือเหตุการณ์ต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่หวัง
- ทุ่มเทกับงานมากเกินไป แบบหามรุ่งหามค่ำ
- นอนไม่หลับ
ช่วยลูกรับมือซึมเศร้าซ่อนเร้น
คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง ที่สงสัยว่าลูกหลานของเราอาจมีอาการซึมเศร้าซ่อนเร้น สิ่งแรกที่ควรทำคือ หาคนที่สนิท และเด็กมีความเชื่อใจ ให้ลองพูดคุยถามไถ่ความเป็นไปในชีวิตของเด็กๆ หากไม่ได้รับคำตอบตรงๆ ควรบอกเด็กว่า เขาไม่ได้อยู่ลำพัง ทุกคนพร้อมที่จะรับฟังทุกเรื่องเสมอ
กรณีที่เด็กมีอาการเจ็บป่วยทางกาย ควรพาไปพบแพทย์ แต่ส่วนใหญ่มักไม่พบสาเหตุของอาการป่วยทางกาย เนื่องจากความเจ็บป่วยนี้เป็นผลมาจากจิตใจ ผู้ที่ใกล้ชิด สนิทและเด็กมีความเชื่อใจ ควรทำหน้าที่เกลี้ยกล่อม โน้มน้าวให้เด็กเข้าพบจิตแพทย์ บอกให้พวกเขาเข้าใจว่า การพบจิตแพทย์ไม่ได้แปลว่าพวกเขาอ่อนแอ และไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่จะช่วยให้อาการป่วยทางกายของพวกเขาดีขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม การรักษาอาการซึมเศร้าซ่อนเร้น แต่ละรายอาจไม่เหมือนกัน ประการแรกต้องทำให้ผู้ป่วยเข้าใจบุคลิกภาพของตนเองก่อน เพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองในชีวิต เพราะการรักษาจำเป็นต้องใช้กลไกทางจิตใจของตนเองเพื่อนำไปสู่การบำบัด ไม่ว่าจะเป็นศิลปะบำบัด จิตบำบัด หรือใช้ยาแก้ซึมเศร้าเพื่อให้อาการดีขึ้น
เหนือสิ่งอื่นใด หากพ่อแม่เข้าใจและยอมรับตัวตนของลูก ก็จะเป็นอีกแรงใจสำคัญที่ช่วยให้อาการของลูกค่อยๆ ดีขึ้นได้ในที่สุดค่ะ
Related Courses
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
สิ่งเล็กๆที่สร้างลูกคุณ
การจะเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยากเสมอไป ลูกๆ ต้องการแค่แบบอย่างที่ดี เพราะพ่อแม่คือต้นแบบในการดำเนินชี ...
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...