11 สัญญาณเตือนภาวะป่วยใจในลูกวัยรุ่นที่พ่อแม่ควรรู้
บ่อยครั้งลูกวัยรุ่นอาจมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดง่าย แต่หากว่าอารมณ์ของลูกสวิงขึ้นลงบ่อยครั้งและรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด นั่นอาจเป็นสัญญาณของภาวะป่วยทางใจ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่อาจรับไม่ค่อยได้ หรือไม่อยากจะเชื่อว่าลูกของตนจะเผชิญกับอาการป่วยทางใจ แต่เราจำเป็นต้องเริ่มจากการยอมรับถึงปัญหาเสียก่อนจึงจะแก้ไขได้
บทความนี้ Starfish Labz จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปทำความเข้าใจ 11 สัญญาณเตือนของภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น ที่มีโอกาสเกิดมากขึ้นจากสภาพสังคมในปัจจุบัน และสื่อโซเชียลที่ส่งผล
กระทบต่อจิตใจวัยรุ่นได้ง่าย
Mental Illness คืออะไร ลูกเราเข้าข่ายหรือเปล่า?
Mental Illness หรือภาวะป่วยทางใจนั้น หมายถึงภาวะสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความคิด หรือพฤติกรรม ที่เกิดจากความเจ็บป่วยทางใจ อาจมีสาเหตุมาจากความเครียด ปัญหาการเข้าสังคม หรือความขัดแย้งในครอบครัว อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายสาเหตุรวมกันก็ได้
สำหรับผู้ใหญ่ที่มีภาวะเจ็บป่วยทางใจ แพทย์มักวินิจฉัยจากภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างมาก ละเลยการดูแลตัวเอง ไม่สนใจทำกิจกรรมที่ชอบเหมือนเคย
อาการในวัยรุ่นมักแสดงออกให้เห็นจากผลการเรียนที่ตกลงอย่างมาก เก็บตัว ไม่สนใจคบหาเพื่อน และมีอารมณ์ขึ้นลงรุนแรงอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ถือเป็นสัญญาณที่ลูกควรได้รับคำแนะนำจากจิตแพทย์
11 สัญญาณเตือนภาวะป่วยใจในวัยรุ่น
โดยส่วนมากพ่อแม่ที่ใส่ใจใกล้ชิด สนิทสนมคุ้นเคยกับลูกดี มักทราบถึงนิสัยใจคอ และพฤติกรรมของลูกที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ โดยสามารถประเมินได้เองเบื้องต้นตามอาการต่อไปนี้
- ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ผลการเรียนตกต่ำ ทำอะไรไม่แล้วเสร็จ ขาดความรับผิดชอบผิดจากปกติ
- นอนไม่หลับกระสับกระส่าย หรือนอนมากกว่าปกติ
- ใจลอย หลุดโฟกัสง่าย ไม่มีสมาธิจดจ่อ หลงลืม จดจำรายละเอียดไม่ค่อยได้ และโลเลไม่ยอมตัดสินใจ
- มีความรู้สึกผิด รู้สึกหมดหวัง รู้สึกไร้ค่าอยู่ตลอดเวลา
- มีความรู้สึกเจ็บปวดร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ ไปตรวจรักษาหาไม่พบอาการผิดปกติทางร่างกาย
- มองโรคในแง่ร้าย ครุ่นคิดถึงปัญหาต่างๆ วกวนอยู่ในหัวไม่รู้จบ
- ปลีกตัวอยู่คนเดียวผิดวิสัย หมดความสนใจในเรื่องที่เคยชื่นชอบ
- พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมาก
- หมดแรงบันดาลใจ อ่อนล้า พูดจาเนือยกว่าปกติ ขาดความกระตือรือร้น ไม่มีแก่ใจลุกมาทำอะไร
- อารมณ์เปราะบาง เศร้า ร้องไห้ หงุดหงิดง่าย โมโหร้าย
- คิดทำร้ายตนเอง
หากลูกมีอาการข้างต้นเกิน 5 ข้อ ติดต่อกันทุกวันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ถือว่าเข้าข่ายมีอาการของภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้า ซึ่งมักเป็นจุดเริ่มต้นของโรคทางใจอื่นๆ ที่อาจมีอาการร่วมด้วย เช่น
สัญญาณเตือนโรควิตกกังวล อาการที่พบได้บ่อยคือ
- รู้สึกกระสับกระส่าย
- อ่อนล้าง่าย
- ขาดสมาธิ
- หงุดหงิดง่าย
- รู้สึกตึงกล้ามเนื้อ
- มีปัญหาในการควบคุมระดับความวิตกกังวล
- มีปัญหาการนอนหลับ
สัญญาณเตือนโรคกลัวสังคม เกิดความรู้สึกประหม่า และไม่ปลอดภัยอย่างรุนแรงเมื่อเข้าสังคม อาการที่พบบ่อยคือ
- รู้สึกวิตกมาก เพียงคิดว่าตนเองต้องรายล้อมด้วยผู้คน มีปัญหาการคุยกับคนอื่น
- เผชิญกับอาการประหม่าอย่างสุดขีด กลัวอับอาย กลัวถูกปฏิเสธ หรือกลัวทำให้ผู้อื่นขุ่นเคือง
- กลัวถูกคนอื่นตัดสิน
- กังวลล่วงหน้าก่อนร่วมกิจกรรมทางสังคมเป็นวันๆ หรือเป็นสัปดาห์
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนเยอะ
- มีปัญหาในการหาเพื่อนใหม่ และรักษาเพื่อนเก่า
- หน้าแดง เหงื่อออก ตัวสั่น เมื่อต้องอยู่กับคนอื่น
- รู้สึกเวียนหัว คลื่นไส้ เมื่อต้องเข้าสังคม
สัญญาณเตือนโรคไบโพลาร์ อาการที่พบได้บ่อยคือ
- อารมณ์ดีเกินเหตุสลับไปมากับอารมณ์เศร้าหดหู่
- มีปัญหาการเรียน ควบคุมตัวเองไม่ได้ ส่งงานไม่ทัน
- ไม่ค่อยกินข้าว
- พูดฟุ้งซ่าน จับใจความไม่ได้
- โมโหง่าย ไม่มีเหตุผล
- นอนน้อย หรือนอนมากผิดปกติ ดูอ่อนเพลียตลอดเวลา
ยิ่งสังเกตเห็นอาการผิดปกติวิสัยของลูกได้เร็ว ก็ยิ่งตัดสินใจพาลูกเข้ารับคำปรึกษาและรักษาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ อาการก็จะไม่ทรุดหนักจนถึงขั้นคิดจากโลกนี้ไป
หากยังไม่แน่ใจ ให้ลองปรึกษาแพทย์ประจำตัวที่ลูกคุ้นเคยดีตั้งแต่เด็ก ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยแพทย์จะสอบถามอาการและให้คำแนะนำเบื้องต้นได้เพื่อลดความกังวลของพ่อแม่ พร้อมทำนัดจิตแพทย์ให้หากโรงพยาบาลแห่งนั้นมีแพทย์เฉพาะทางด้านนี้
แนวทางการรักษาโรคป่วยใจในวัยรุ่น
หลังได้รับคำวินิจฉัยยืนยันว่าลูกป่วยเป็นโรคทางใจ จิตแพทย์มักจะเริ่มกระบวนการรักษา ดังนี้
- สืบหาสาเหตุ เริ่มต้นจะใช้เวลาพูดคุยสอบถามผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อรับฟังสะท้อนความคิดและปัญหาจากมุมมองของเขา เพื่อค้นหาสาเหตุของความวิตกกังวลที่ทำให้นอนหลับไม่เพียงพอ ความเศร้าจนไม่อยากรับประทานอาหาร หรือความกลัวสังคมจนมีปัญหาในชีวิตประจำวัน จนกว่าจะระบุความเครียดได้ชัดเจน
- ให้คำปรึกษา ค่อยๆ ปรับความคิดและพฤติกรรม โดยควบคู่ไปกับการใช้ยา
- จ่ายยาเบาใจ ตามอาการของโรคจิตเวช เช่น ยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ ที่ช่วยเพิ่มระดับสารเซโรโทนินในสมอง เป็นยาที่ใช้อย่างแพร่หลาย ปลอดภัย แต่อาจมีผลข้างเคียงไม่เท่ากันในแต่ละคน จึงต้องใช้เวลาปรับยาเพื่อประคับประคองจิตใจให้กลับมามั่นคงอีกครั้ง
จิตแพทย์มักจะให้คำแนะนำกับพ่อแม่และคนใกล้ชิดพร้อมกันด้วย เพื่อพ่อแม่จะได้ปฏิบัติตัวกับลูกใหม่ ซึ่งต้องใช้ความใจเย็นมากกว่าเดิม เน้นรับฟัง แล้วค่อยๆ หาทางสื่อสารกับลูกเพื่อให้ลูกเปิดใจพูดความในใจออกมา
พ่อแม่จะต้องคอยระมัดระวังคำพูด ไม่ใช้อารมณ์ หรือตัดสินลูกไปก่อนจะทราบสาเหตุของอารมณ์และพฤติกรรมไม่ดีที่เกิดขึ้น
ซึ่งโรคทางใจส่วนใหญ่ หากได้รับการดูแลใส่ใจ ได้รับความเข้าใจจากคนรับข้าง และผู้ป่วยมีกำลังใจต่อสู้กับสารสื่อสมองที่ทำให้ความรู้สึกนึกคิดผิดเพี้ยนไป โดยหมั่นฝึกฝนจิตใจ เพื่อต่อต้านกระบวนการคิดมากคิดวกวนที่เป็นมลพิษต่อจิตใจ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้สภาพแวดล้อมที่ดีและกิจกรรมบำบัดร่วมด้วย ปฏฺิบัติตามคำแนะนำของจิตแพทย์อย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถฟื้นฟูจิตใจกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ยิ้มได้ และหายขาดอย่างแน่นอน
แหล่งอ้างอิง (Sources):
Related Courses
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
How to Play : กลเม็ดพิชิตใจเด็ก
“เล่นให้เด็กติดใจ”จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปถ้าหากเรารู้เคล็ดลับบทเรียนนี้จะช่วยให้คุณ “เป็นคนที่ เล่นอย่างสนุก”“เข้าใจวิธีการเ ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...