เป็นแม่ไม่ง่าย ดูแลลูกซึมเศร้าให้ก้าวผ่านอย่างเข้าใจ
วัยรุ่นกับการมีปัญหาชีวิตนั้นถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นวัยที่กำลังปรับตัวเรียนรู้บทบาทและขอบเขตของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ความเครียดในวัยรุ่นทั่วไป กับ ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นนั้น เป็นสองสิ่งที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หากลูกได้รับการวินิฉัยจากแพทย์ว่ามีอาการซึมเศร้า พ่อแม่อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู รวมทั้งปรับ mindset ของตัวเอง เพื่อดูแลลูกให้ได้ดีที่สุด
เข้าใจโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น
เพื่อที่จะดูแล และเป็นกำลังใจวัยรุ่นที่เผชิญกับภาวะซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ พ่อแม่จำเป็นต้องเข้าใจโรคซึมเศร้าในวัยรุ่นเสียก่อนว่า โรคซึมเศร้าในวัยรุ่นนั้น แตกต่างจากพฤติกรรมวัยรุ่นโดยทั่วไป ที่มักแสดงอาการต่อต้านพ่อแม่ มีโลกส่วนตัวสูง ขณะที่โรคซึมเศร้านั้น เป็นความเศร้าซึมลึก โดยไม่มีสาเหตุ มีความรู้สึกเศร้าต่อเนื่องยาวนาน ไม่หายไป
อย่างไรก็ตาม การแสดงออกของอาการซึมเศร้าอาจแตกต่างกันไปในแต่ละราย เช่น บางรายอาจมีความวิตกกังวลมาก เก็บตัว ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่สุงสิงกับเพื่อนๆ หรืออาจจะโมโหร้าย เถียงพ่อแม่อย่างหัวชนฝา ไม่นอนหลับตลอดทั้งคืน แต่นอนตอนกลางวัน ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ อาจคล้ายกับพฤติกรรมของวัยรุ่นทั่วไป ทำให้สังเกตได้ยาก ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นจุดสังเกตที่สำคัญคือ ระยะเวลา ความถี่ และความรุนแรงของพฤติกรรมนั้นๆ
วัยรุ่นทั่วไป อาจมีพฤติกรรมบางอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เป็นพักๆ แล้วหาย และมักไม่รุนแรงมากนัก ในขณะที่วัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้าพฤติกรรมต่างๆ จะมากกว่าวัยรุ่นทั่วไป ซึ่งหากสงสัยว่าลูกอาจมีภาวะซึมเศร้าควรพาลูกพบจิตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ พ่อแม่ควรเข้าใจว่า อาการซึมเศร้าในวัยรุ่น เป็นอาการป่วยชนิดหนึ่ง เหมือนกับเวลาที่ลูกป่วยกาย ก็ต้องดูแลให้กินยา เช็ดตัว พักผ่อนให้เพียงพอ แต่เมื่อลูกป่วยทางใจ ก็ต้องดูแลจิตใจของลูก ไม่ควรชี้นิ้วหาคนผิด หรือกล่าวโทษลูก เพราะนอกจากไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นแล้ว ยังอาจทำให้ลูกรู้สึกแย่กว่าเดิมได้
6 แนวทางช่วยลูกซึมเศร้า ก้าวผ่านความเศร้าโศก
การดูแลลูกที่มีภาวะซึมเศร้าอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก พ่อแม่อาจมีความวิตกกังวล กลัวว่าสิ่งที่ทำหรือพูด จะส่งผลต่อสภาพจิตใจของลูก พ่อแม่จึงอาจไม่เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งจะยิ่งสร้างความอึดอัดภายในครอบครัว ลองดูคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อช่วยลูกซึมเศร้าให้ก้าวผ่านความเศร้าโศกไปได้ในที่สุดค่ะ
1. ใส่ใจและรับฟัง
ไม่มีวิธีการเยียวยาจิตใจวิธีใดจะดีไปกว่าการรับฟังค่ะ ยิ่งหากผู้ที่รับฟังเป็นพ่อแม่ด้วยแล้ว ลูกก็คงรับรู้ได้ถึงความรักและความห่วงใย แต่ทั้งนี้ การฟังที่ดีควรเป็นการฟังอย่างตั้งใจ ใส่ใจ และกำจัดสิ่งรบกวนรอบข้าง ออกไปให้หมด รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ แม้จะเปิดระบบสั่นก็ตาม ในแต่ละวันควรหาเวลานั่งพูดคุยสบสายตากับลูกอย่างน้อยๆ สัก 30 นาที โดยไม่มีสิ่งใดมาขัดจังหวะ พ่อแม่ควรฟังโดยไม่ต้องคิดว่าจะตอบโต้อย่างไร ฟังโดยไม่ตัดสินว่าลูกเป็นอย่างนี้เพราะอะไร ฟังโดยไม่ต้องคิดหาคำแนะนำทางออกของปัญหา เพียงแค่ฟังและแสดงความเข้าใจ ทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่จะอยู่เคียงข้างลูกตลอดบนเส้นทางนี้ เชื่อเถอะว่าไม่มีอะไรบำบัดความโศกเศร้าได้ดีไปกว่าการที่พ่อแม่มีตัวตนอยู่ข้างๆ ลูกอย่างแท้จริง
2. กำลังใจต้องดี
พ่อแม่จะต้องคอยเป็นกำลังใจให้กันและกัน เพราะวัยรุ่นที่มีอาการซึมเศร้า อาจปฏิเสธการพูดคุยกับพ่อแม่ เกิดช่องว่างระหว่างเรากับลูกขึ้น ทำให้พ่อแม่เองก็เครียดได้ง่ายซึ่งต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า เป็นปกติที่จะถูกปฏิเสธ เพราะส่วนมากผู้ป่วยจะเก็บตัวอยากอยู่คนเดียว ซึ่งหากมีโอกาสเหมาะ แค่ได้นั่งอยู่ข้างๆ กัน โดยไม่ต้องพูดอะไร ก็อาจช่วยให้ลูกรู้สึกดีขึ้นได้
แน่นอนว่าพ่อแม่จะต้องพยายามมากขึ้น ยุ่งยากลำบากใจกว่าเดิม และระยะเวลาก็ยาวนานเหมือนไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดด้วย ก็ต้องขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่อย่ายอมแพ้ คอยฝึกฝนจิตใจตนเองให้สงบนิ่งสบาย แสดงให้ลูกเห็นวันละนิดว่าคุณพร้อมเสมอที่จะอยู่เคียงข้างและรับฟังเขา
สักวันหนึ่งเมื่อลูกวางใจในตัวคุณอย่างเต็มที่ พร้อมจะเปิดรับ และให้ความร่วมมือตามข้อปฏิบัติในการบำบัดรักษา อะไรๆ ก็จะค่อยๆ มีแนวโน้มดีขึ้นเอง
3. ทำกิจกรรมบำบัดใจ
กิจกรรมที่เขาเคยชื่นชอบอย่างการท่องเที่ยว ปั่นจักรยาน ดูหนัง อ่านนิยาย หรือแม้แต่ความอยากกินอาหารก็ลดลงไปหมด จนแทบไม่น่าเชื่อ ไม่เหลือสิ่งที่ลูกรู้สึกสบายใจที่จะทำ เนื่องจากอาการซึมเศร้าอาจทำให้พวกเขาปฏิเสธสิ่งที่เคยชอบทำทั้งหมด แล้วเอาแต่นอน หรืออยู่เฉยๆ เป็นวันๆ ไม่ทำอะไรเลย พ่อแม่จะต้องเข้าใจความยากจะโฟกัสของเขา อย่าคอยกดดัน หรือฝืนบังคับให้เขารีบลุกมาทำอะไรๆ เร็วเกินไป รอเวลาให้ลูกค่อยๆ เริ่มมองหาสิ่งใหม่ที่พวกเขาพอจะทำได้ในแต่ละวันด้วยตัวเขาเอง ระหว่างนี้ให้คอยมองหาความสำเร็จเล็กๆ ในแต่ละวันแล้วกล่าวชื่นชม หรือชี้ให้เห็นสิ่งเล็กๆ ที่ดูธรรมดา แต่ก็มีคุณค่าทำให้เราสุขใจได้ ต้องอดทนจนกว่าลูกจะหาแรงจูงใจที่อยากทำงานอดิเรกสนุกๆ ดูอีกครั้ง อย่างเช่น หัดนวดแป้งทำขนมปัง ทำงานศิลปะหรือหัตถกรรม ปลูกต้นไม้หรือเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะต้องอาศัยความพิถีพิถันใส่ใจ สิ่งเหล่านี้จะช่วยฝึกสมาธิไปในตัว ซึ่งจะช่วยบำบัดอาการซึมเศร้าทางอ้อมให้เขาดีขึ้นได้
4. เปิดใจคุยเรื่องพูดยากๆ
อย่าหลีกเลี่ยงหรือกลัวที่จะพูดคุยหัวข้อยากๆ เช่น การใช้ยาเสพติด หรือการทำร้ายตัวเอง ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นการชี้นำ เพราะหากลูกมีความคิดนี้อยู่แล้ว การพูดคุยอย่างเข้าใจ อาจมีผลดีมากกว่า เพราะทำให้ลูกเข้าใจว่าพ่อแม่พร้อมเปิดใจคุยทุกเรื่อง ซึ่งทำให้ลูกรู้สึกสบายใจมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น หากคุณคิดว่าลูกมีแนวโน้มใช้กัญชาเพื่อทำให้รู้สึกดีขึ้น ลองอธิบายว่ากัญชามีฤทธิ์เป็นยากดประสาท ที่อาจทำให้อาการซึมเศร้ารุนแรงขึ้น หรือหากสงสัยอาจถามลูกว่าเคยมีความคิดทำร้ายตัวเองบ้างหรือไม่ ระวังน้ำเสียงไม่ให้เป็นการตำหนิหรือตัดสิน
หากลูกตอบว่าเคย อธิบายให้ลูกเข้าใจว่า หลายคนก็เคยมีความคิดทำร้ายตัวเอง แต่หลายคนก็พบทางออกจากความคิดนี้ได้ พ่อแม่ควรระวังที่จะไม่รีบแก้ปัญหาให้ลูกด้วยคำแนะนำต่างๆ แต่ควรรับฟังอย่างใจเย็น อาจถามต่อไปว่า ลูกคิดวิธีทำร้ายตัวเองไว้แล้วหรือเปล่า หากลูกวางแผนล่วงหน้า ก็เป็นไปได้ว่าลูกมีความเสี่ยงสูงที่จะทำร้ายตัวเอง หากเป็นเช่นนี้ อาจต้องดูแลและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่งต้องหมั่นปรึกษาจิตแพทย์ประจำตัวลูก เพื่อขอคำแนะนำแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับพ่อแม่เอง ไว้คอยรับมืออาการของลูกได้
5. เข้ารับการรักษาอย่าได้ขาด
ลูกวัยรุ่นมักรู้สึกลำบากใจที่จะพูดคุยเรื่องละเอียดอ่อนตรงๆ กับพ่อแม่ เพราะบางครั้งอาการซึมเศร้าทำให้ความคิดของเขาบิดเบี้ยวไป อาจตีความอะไรในแง่ลบได้ง่ายๆ เช่น มองว่าตนเองเป็นภาระของพ่อแม่ เลยไม่อยากให้พ่อแม่เป็นห่วง หรือพ่อแม่อาจต้องยอมรับก่อนว่าตนเองก็อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ลูกมีภาวะซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว พ่อแม่ควรพาลูกไปปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด ผู้เชี่ยวชาญที่จะรู้วิธีรับมือ และใช้ถ้อยคำที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกสบายใจ และกล้าเปิดเผยก้นบึ้งของความรู้สึกทุกข์ทรมานใจของเขา โดยพ่อแม่ต้องไม่เก็บมาคิดเล็กคิดน้อยว่า ทำไมลูกถึงไม่ยอมบอกเรา หรือจัดการความรู้สึกรับไม่ได้ อับอายสังคมที่ลูกต้องมาพบจิตแพทย์
ในความเป็นจริง แผนกจิตเวชไม่ใช่พื้นที่ของคนบ้าเท่านั้น นั่นเป็นความเชื่อผิดๆ ที่ต้องปรับเปลี่ยนทำความเข้าใจเสียใหม่ อย่าปล่อยให้ความคิดนี้ออกมาตอกย้ำอาการซึมเศร้าของลูกให้หนักมากไปกว่าเดิม สิ่งสำคัญที่ควรโฟกัสตอนนี้คือ ควรทำทุกทางเพื่อช่วยให้ลูกก้าวผ่านอาการซึมเศร้าให้ได้ต่างหาก
6. ไม่โทษตัวเอง
การดูแลลูกที่มีภาวะซึมเศร้าย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย บ่อยครั้งพ่อแม่อาจเผลอโทษตัวเองว่าเป็นสาเหตุในอาการป่วยของลูก ไม่ว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร แต่การโทษตัวเองย่อมไม่ใช่ทางออกของปัญหา
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีวุฒิภาวะเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก หากรู้สึกว่าเครียดหรือกดดันเกินไป ลองปรึกษาจิตแพทย์เพื่อหาวิธีปรับตัวให้เหมาะสม หาเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อนบ้าง เพราะการจะดูแลลูกได้ดี พ่อแม่ต้องดูแลตัวเองพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจให้มีพลังงานบวกเสียก่อน
Related Courses
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
How to Play : กลเม็ดพิชิตใจเด็ก
“เล่นให้เด็กติดใจ”จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปถ้าหากเรารู้เคล็ดลับบทเรียนนี้จะช่วยให้คุณ “เป็นคนที่ เล่นอย่างสนุก”“เข้าใจวิธีการเ ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...