จะชวนวัยรุ่นคุยเรื่องเพศอย่างไรดี
พ่อแม่หลายท่านคงกังวลว่า จะชวนวัยรุ่นพูดคุยเรื่องเพศอย่างไรดี จะสอนให้เด็กๆ เข้าใจและหัดระวังตัวเรื่อง “การล่วงละเมิดทางเพศอย่างไรดีนะ” เพราะบางครั้งพ่อแม่อาจจะรู้สึกว่า มันยากจังที่จะชวนคุยเรื่องนี้ เราอาจจะรู้สึกว่า
- เดี๋ยวเขาจะไม่อยากฟังหรือเปล่า เพราะรู้สึกว่า โดนเรียกไปสอนอีกแล้ว
- เขาจะรู้สึกว่า เราชวนคุยมุมลามกหรือเปล่า
- เราเขินที่จะพูดเรื่องพวกนี้ และไม่รู้วิธีการเริ่มต้นของบทสนทนา
- และเหตุผลอื่นๆ เต็มไปหมด
วันนี้ นีทจะมาแนะนำเทคนิคที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่สบายใจ และรู้วิธีเปิดบทสนทนาเรื่องเพศ และสิทธิเรื่องเพศ ด้วยกันอยู่ 2 คำ คือ รู้ให้ได้ และ เริ่มจากหนัง เรามาเริ่มต้นกันที่คำแรกก่อนนะคะ “รู้ให้ได้”
นีทอยากชวนพ่อแม่ไปหาคำตอบค่ะว่า ช่วงนี้ลูกของเรากำลังชอบดูซีรีย์ อนิเมะ หรือหนัง เรื่องอะไร
หลายๆ ท่านอาจจะงงว่า การรู้ว่าเด็กๆ กำลังดูซีรีย์ อนิเมะ หรือหนัง เกี่ยวอะไรกับการสอนเรื่องเพศศึกษา ? นีทขอตอบแบบนี้ค่ะว่า การที่เราจะชวนเด็กๆ พูดคุยอย่างไม่เขิน หรือทำให้เด็กๆ รู้สึกว่า เราไม่ได้ไปสอนเขา( เพื่อสร้างบรรยากาศที่สบายๆ ในการพูดคุย) เราจำเป็นตัวมีตัวกลางค่ะ และนีทคิดว่า ตัวกลางที่พูดคุยได้ง่าย และต้องมีเรื่องเพศอยู่แน่นอนคือ กลุ่มซีรีย์ อนิเมะและละครดังนั้น ขั้นแรก คือการต้องได้คำตอบว่า ตอนนี้เด็กชอบดูเรื่องอะไร อาจจะผ่านการพูดคุยกันว่า ช่วงนี้มีซีรีย์ อนิเมะ หรือหนัง อะไรหรอที่วัยรุ่นหรือหนูกำลังดู หรือ โห ช่วงนี้พ่อ/แม่เจอแต่ข่าวเรื่อง XXX บน facebook ตลอดเลย แบบว่า มันดังใช่ไหม? แล้วหนูได้ดูหรือเปล่า? ขั้นที่ 2 คือให้เราลองไปดูซีรีย์ อนิเมะ หรือหนัง ที่เด็กชอบค่ะ เพื่อหาฉากที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ ทั้งทางบวกและลบ เช่น
- ฉากที่พระเอกกับนางเอก โดนตัวกัน แล้วเขิน และรีบถอดห่าง
- ฉากที่พระเอกกับนางเอก ไปเที่ยวกัน (จะกลางวันหรือกลางคืนก็ได้)
- ฉากที่พระเอกใช้กำลัง ดึงนางเอกมากอด (มันเป็นทางลบ แต่เอามาพูดได้ค่ะ)
พอเราได้ฉากต่างๆ แล้ว อาจจะไม่ต้องเยอะนะคะ เอาสัก 1-2 ฉากพอ จากนั้นก็สู่การปฏิบัติการขั้นต่อไปได้เลยค่ะ นั่นคือคำว่า “เริ่มจากหนัง” มันคือสถานการณ์ที่ให้พ่อแม่ เปิดประเด็นการคุยเรื่องเพศศึกษา โดยเริ่มจากฉากเรื่องเพศ (ที่เราไปหามา) ของซีรีย์ อนิเมะ หรือหนังที่ลูกเราชอบค่ะ โดยเราจะมีขั้นตอนดังนี้ เปิดด้วยฉาก ตามด้วยความรู้
เปิดด้วยฉาก คือ การเริ่มต้น เปิดบทสนทนา ชวนลูกคุยๆ ค่ะว่า พ่อแม่ไปเจอฉากนั้น ในเรื่องนี้ แล้วรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ แล้วโยนกลับไปที่ลูกว่า แล้วลูกคิดอย่างไรกับฉากนั้นบ้าง จากนั้น เราก็เข้าสู่ ตามด้วยความรู้ คือ การพูดคุยกับเด็กๆ ว่าในฉากนั้น มีเรื่องเพศศึกษา สิทธิเรื่องเพศเป็นอย่างไรบ้าง ดีหรือไม่ดี ต้องป้องกันตนเองอย่างไร ดังบทสนาสมมตินี้เลยค่ะ
แม่: แม่มีโอกาสไปดูอนิเมะเรื่อง “เรื่องเล่าของสาวน้อยในยุคไทโช” แล้วนะ มีฉากหนึ่งที่แม่ชอบมาก รู้สึกตนเองย้อนวัยไปสมัยวัยรุ่น ฉากที่พอพระเอกกับนางเอกเขาโดนตัวกันแล้วเขิน แล้วรีบถอยห่าง แม่ว่าน่ารักดี ลูกล่ะชอบฉากนั้นไหม (เป็นขั้น เปิดด้วยฉาก)
ลูก: ชอบๆ มีโมเมนต์เขิน อยากเชียร์ต่อ
แม่: เหมือนกันๆ ซึ่งแม่ว่า ผู้ชายที่เป็นพระเอก เขาวางตัวและให้เคารพผู้หญิงมากเลยนะ ที่ไม่อยากถูกเนื้อถูกตัวผู้หญิงมาก แต่ผู้ชายแย่ๆที่ชอบคุกคามผู้หญิงก็มีนะ เห้ออ....... (เป็นขั้น ตามด้วยความรู้)
ลูก: จริงๆ
แม่: แล้วลูกรู้ไหมว่า เราต้องระวังตัวหรือส่วนไหนบ้างที่ห้ามให้ใครมาสัมผัส (หากเป็นคำถามสำหรับน้องผู้ชาย อาจจะเป็น เราไม่ควรไปสัมผัสหรือเราต้องเคารพผู้หญิงอย่างไร)
นีทมองว่า หากคุณพ่อคุณแม่ ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ ก็จะทำให้เราสามารถพูดคุยเรื่องเพศได้อย่างสบายใจ และไหลลื่นมากขึ้นค่ะ นีทอยากชวนคุณพ่อคุณแม่นำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ดูนะคะ เพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องพูดคุยกันได้ค่ะ
อ้างอิง
หนังสือ guidelines for comprehensive sexuality education 3rd edition
Related Courses
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...