Starfish Talk คุยสบายๆ สไตล์ Starfish : Unlock Happy Workplace by CEO of Starfish Education
ปัจจุบันเราต่างพบเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ค่อนข้างจะวิกฤต การทำงานหรือการใช้ชีวิตแบบปกติของเรานั้นก็เป็นไปได้ยากมาก เช่น อยากไปเที่ยวไหนก็ไปไม่ได้ ต้องใช้วิธีการ “เที่ยวทิพย์” หรือจินตนาการว่าตัวเองได้เที่ยว เพื่อรักษาจิตใจของตัวเองไปชั่วขณะ หรือการที่เราต้องทำงานอยู่บ้าน (Work From Home) เป็นเวลานานก็อาจจะทำให้เกิดสภาวะเครียด ส่งผลให้ความสุขในชีวิตอาจจะลดน้อยลงได้
ถ้ามองในมุมขององค์กร การส่งเสริมให้ทีมงานเกิดความสุขในการทำงานและการใช้ชีวิตจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อให้ทีมงานสามารถก้าวข้ามสถานการณ์ที่วิกฤตเช่นนี้ไปให้ได้
Starfish Education จึงมาแบ่งปันแนวทางการ Unlock Happy Workplace จากมุมมองของคุณแพร หรือ ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ซึ่งเป็น ผู้บริหารของ Starfish Education ในประเด็นที่สำคัญๆ ดังนี้ค่ะ
1. ความคิดและความเชื่อของ Happy Workplace หรือ Workplace Well-being
หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กร คือ คนทำงาน ซึ่งคนทำงานมีทั้งชีวิตส่วนตัว และชีวิตการทำงาน หากทุกคนสามารถแบ่งแยกระหว่างเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวได้คงเป็นเรื่องที่ดี แต่ในความเป็นจริงนั้นเป็นไปได้ยาก เวลาที่เรามีความเครียดหรือไม่มีความสุขในชีวิตส่วนตัวก็อาจจะส่งผลให้การมาทำงานของเราไม่ค่อยมีความสุขไปด้วย
ดังนั้น การส่งเสริมให้ทีมงานมี Well-being หรือสุขภาวะที่ดี จึงเป็นเรื่องที่องค์กรควรให้ความสำคัญ เพื่อสร้างความสมดุลให้กับทีมงานทั้งชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว
2. ความแตกต่างระหว่างคำว่า Happy กับ Well-being
คำว่า Happy คือ การที่เรามีความสุข ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของอารมณ์ ณ ขณะนั้น แต่คำว่า Well-being มีความหมายที่กว้างและลึกซึ้งกว่านั้น เพราะเป็นเรื่องของการมีสุขภาวะที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ดีกินดี และอีกหลายๆ องค์ประกอบในชีวิต เพราะฉะนั้น การมี Well-being ที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ทำงาน อาจจะต้องมองเข้าไปถึงปัจจัย ที่ทำให้คนในองค์กรมีความสุข ณ ขณะนั้น รวมไปถึงความสุขที่มาจากการมีสุขภาวะที่ดีในระยะยาวอีกด้วย ตัวอย่างเช่น คนในองค์กรมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์พร้อมทำงาน, มีความรู้สึกปลอดภัย, มีความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ หรือมีความสุขกับสังคมที่ทำงาน เป็นต้น
3. เหตุผลที่ Starfish Education ให้ความสำคัญในเรื่อง Happy Workplace หรือ Workplace Well-being
จากการที่ทุกคนต้องเจอกับสถานการณ์โรคระบาด ที่วิกฤตและซ้ำซ้อนหลายระลอก ทำให้ Starfish Education ต้องกลับมาใส่ใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น อีกทั้งวิถีชีวิตของทุกคนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในฐานะองค์กร และผู้บริหารจึงต้องกลับมาคิดว่า อะไรเป็นสิ่งที่ทีมงานทุกคนกำลังหนักใจหรือรู้สึกกังวลใจอยู่
เพราะในความเป็นจริงแล้ว “Well-being ของทีมงานก็คือ Well-being ขององค์กร” เป็นไปไม่ได้ที่องค์กรจะสุขสบาย หากทีมงานป่วย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ Starfish Education ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
4. ตัวอย่างกิจกรรมของ Starfish Education ในการสร้าง Well-being
ผู้บริหารและทีมบริหาร ได้วางแผนให้มีการจัดกิจกรรมสนุกๆ เพื่อสร้างความผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดจากการทำงานของคนในองค์กร โดยเปิดโอกาสให้ทีมงานเข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่การออกแบบกิจกรรม หาอาสาสมัครมาเป็นผู้นำกิจกรรม และให้ทีมงานทุกคนสามารถเลือกเข้ากิจกรรมได้ตามความชอบ และความสนใจของตนเอง เช่น กิจกรรมร้องเพลง, กิจกรรมเล่าเรื่องผี, กิจกรรมเชิงจิตวิทยา รวมไปถึงการเชิญชวนให้ทีมงานมานั่งทานข้าว และพูดคุยกันผ่านทางออนไลน์ เพื่อให้ทุกคนได้มีปฎิสัมพันธ์กันมากขึ้นนอกเหนือจากการทำงาน เป็นต้น
5. ผลลัพธ์เมื่อพนักงานมี Happy Workplace
- หากทีมงานมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง การขาดงานหรือลางานก็จะลดลง อีกทั้งยังช่วยให้องค์กรประหยัดค่าใช่จ่ายในการจัดจ้างคนนอกมาทำงานแทน หากมีทีมงานที่ป่วยหนักต้องลางานในระยะยาว
- ทีมงานมีความสุขในการทำงานมากขึ้น ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น
- เมื่อทีมงานมีความสุขมากขึ้น อัตราการลาออกก็จะลดน้อยลง ส่งผลให้องค์กรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดจ้าง และเทรนด์ทีมงานขึ้นมาใหม่
- ภาพลักษณ์ขององค์กรดีขึ้น เป็นองค์กรที่มีความสุข เวลาที่เปิดรับสมัครงานหรือหาทีมงานเพิ่มเติม ทำให้มีคนอยากเข้ามาสมัครงานเยอะขึ้น ทำให้องค์กรมีโอกาสได้เลือกทีมงานที่มีคุณภาพมาทำงานในองค์กร
6. การมีส่วนร่วมในองค์กร คือ หัวใจสำคัญของการทำ Workplace Well-being
“งานที่ดีที่สุด คือ งานที่ทำแล้วมีความสุข สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ รวมถึงสามารถที่จะดูแลตัวเอง และดูแลครอบครัวได้”
จะเห็นได้ว่าการทำเรื่อง Well-being มีทั้งข้อดีต่อตัวทีมงานเอง และตัวองค์กร ดังนั้น องค์กร และผู้บริหารควรใส่ใจในเรื่องของ Well-being อย่างน้อยให้กลับมามองว่า ทีมงานของเรากำลังเจอกับปัญหาอะไร และทีมงานต้องการอะไร
การทำเรื่อง Well-being จึงมีความสำคัญมากกว่าการทำกิจกรรมปกติทั่วไป เพราะเป็นกิจกรรมที่ออกแบบมาจากพื้นฐานของการทำงาน และพื้นฐานของทีมงาน รวมถึง วัฒนธรรมของแต่ละองค์กร ในการนำมาต่อยอดเป็นกิจกรรม เพราะฉะนั้น การทำเรื่อง Well-being ควรมองในระยะยาว และมองถึงวัฒนธรรมขององค์กรด้วยว่าอยากให้เป็นไปในแบบไหน
อีกทั้ง การทำเรื่อง Well-being ที่ดี จะต้องมาจากเสียงของคนที่ทำงานจริง ดังนั้น วิธีการออกแบบกิจกรรม จึงต้องให้ทุกคนในองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมคิด และร่วมทำ
สุดท้าย เรื่องของ Well-being จึงไม่ได้เป็นเรื่องขององค์กรอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคน หากองค์กรวางแผนดี แต่ทีมงานไม่มีใครอยากทำด้วย Happy Workplace ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะไหน องค์กร ผู้บริหาร หรือทีมงาน ทุกคนในองค์กรต้องรวมพลังกัน เพื่อจะก้าวข้ามสภาวะวิกฤตแบบนี้ไปให้ได้
Related Courses
ออกกำลังกายอย่างไรดีต่อสุขภาพ
การเรียนรู้เรื่องการออกกำลังกายอย่างไรดีต่อสุขภาพจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ เริ่มต้นออกกำลังอย่างไรให้ถูกต้อง ประเภทการออกกำลังกา ...
การดูแลสุขภาพให้ดีต้องทำอย่างไร?
ใน Course เรื่องการดูแลสุขภาพให้ดีต้องทำอย่างไร?จะนำเสนอความรู้เกี่ยวกับสุขภาพดีเพราะกินเป็น สุขภาพจิตดีต้องทำอย่างไร ออก ...
เจลล้างมือมีความจำเป็นอย่างไร
การเรียนรู้ 7 ขั้นตอนล้างมือด้วยสบู่เมื่อเด็กๆอยู่ที่บ้าน ความจำเป็นที่ต้องใช้เจลล้างมือ ขั้นตอนการผลิตเจลล้างมือแบบง่ายๆ และประ ...
การดูแลสุขภาพฉบับคนเมืองกรุง
การดูแลสุขภาพสำหรับคนเมืองกรุง ที่มีวิถีชีวิตที่ถูกจำกัดด้วยเวลา ซึ่งเล็งเห็นแล้วว่าคนเมืองกรุงจะมีปัญหาสุขภาพในด้านต่างๆ จึงได้มีแ ...