Workshop Keep Calm: เปิดเทอมแล้ว ทำไงให้รอด
จบไปแล้วกับ Workshop Keep Calm : เปิดเทอมแล้ว ทำไงให้รอด สุด Exclusive (วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม 2021 เวลา 10.00-12.00) ที่น้องๆ ทั้ง 11 คนได้มาเปิดอก บอกเล่าเรื่องราวความไม่พร้อม ปัญหาต่างๆกับพี่นีท เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นแม้ว่าชื่อหัวข้อกิจกรรมจะพาดูเครียด แต่ต้องยอมรับความน่ารักของพี่วิทยากรที่มาแจกความสดใส จนทำให้น้องๆ เครียดน้อยลง และได้แนวทางต่างๆ ไปใช้ในชีวิต
เริ่มแรก พี่นีทก็เริ่มต้นโดยการเล่นเกม กับน้องๆ ให้หายง่วงกับเกมเซียนเพลง และเซียนซีรีย์ พี่เขาต้องเข้าใจแน่ๆ เลยว่า เวลาที่วัยรุ่นอย่างพวกเราอยู่บ้าน แล้วไม่มีอะไรทำ ส่วนใหญ่ก็มักจะใช้วิธีการฟังเพลงหรือ ดูซีรีย์ เมื่อเรา Warm-up แก้ง่วงกันเสร็จแล้วพี่นีทก็เริ่มเข้าสู่โหมดจริงจัง คือ พาน้องๆ มาเข้าใจเรื่องของความเครียด และการรับมือกับความเครียดในเรื่องต่างๆ
ทำไมเรื่องของความเครียดถึงสำคัญ
ความเครียดเกิดมาจาก การประเมินสถานการณ์ของคนเราว่า สิ่งนั้นเข้ามาคุกคามเราไหม หากสิ่งนั้นเข้ามาคุกคามเรามาก และรู้สึกว่าจัดการไม่ได้ จะทำให้เราเครียดมาก หรือสิ่งนั้นเข้ามาคุกคามเราไม่มาก เราก็จะเครียดน้อย ซึ่งความเครียดก็ส่งผลต่ออารมณ์ของเรา
ในเรื่องของความเครียด และอารมณ์นั้นดูเป็นสิ่งที่จับต้องยาก พี่นีทเลยชวนน้องๆ ทุกคนเปรียบเทียบอารมณ์ของตนเองว่าเหมือนกับอาหารอะไร เพื่อทำให้สิ่งที่จับต้องยากดูเป็นนามธรรม และเข้าใจมากขึ้น ซึ่งคำตอบก็ออกมาน่ารักมากๆเลยนะคะ เช่น เปรียบได้กับอาหารกล่องเบนโตะ คือ มันมีปัญหาเยอะมาก เหมือนกับประเภทอาหารนั้นเลย แต่ว่าตนเองก็สามารถค่อยๆ จัดการปัญหาที่มีอยู่เยอะๆ นั้นออกไปได้ เหมือนกับการจัดเรียงอาหารที่สวยงามของชุดเบนโตะนั่นเอง หรือน้องบางคนก็บอกว่า ชีวิตเหมือนกับมาม่าต้มยำกุ้งเวอร์ชั่นเผ็ดมาก เพราะปัญหามันเยอะและหนักพอๆกับความแซ่บของต้มยำกุ้ง เป็นต้น
พี่นีทบอกว่า การที่เราสามารถระบุอารมณ์ มองเห็นปัญหาของตนเอง คือจุดเริ่มต้น ที่ทำให้เราเริ่มเข้าใจปัญหา เข้าใจสถานการณ์ของตนเองว่าในตอนนี้ เรารู้สึกอย่างไร เราเครียดมากแค่ไหน ปัญหาที่เจอมีอะไรบ้าง
หัดเริ่มประเมินสถานการณ์
ต่อมาสิ่งที่พี่นีทได้สอนน้องๆ ก็คือ การประเมินสถานการณ์ว่า “ฉันสามารถรับมือ หรือจัดการเรื่องนี้ได้มากน้อยแค่ไหน” โดยพี่นีทให้น้องๆ เปรียบความสามารถในการรับมือนี้ เหมือนกับ สัญญาณไฟจราจร เช่น แดง (ไม่รู้จะแก้อย่างไร เครียดมาก) เหลือง (เราเริ่มจะรู้ๆแล้วว่า ฉันจะต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีอะไร แต่ยังไม่แน่ใจว่าวิธีนั้นจะแก้ได้ไหม) เขียว ( ฉันเชื่อว่า ฉันน่าจะรับมือกับปัญหานี้ได้อยู่นะ แบบเอาอยู่)
ซึ่งพี่นีทก็บอกว่าจุดตรงนี้ เป็นจุดที่ทำให้มองเห็นวิธีการแก้ปัญหา และรับมือได้ดีมากขึ้น เช่น หากมันเป็นสีเขียว ก็แปลว่าวิธีที่เราทำอยู่มันโอเคแล้วทำต่อไป ถ้ามันอยู่ในจุดสีเหลือง ก็แบบว่า เราอาจจะลองทำวิธีนี้ไปก่อนแล้วคอยดูว่า มันได้ผลไหม หากไม่ได้ผลเราอาจจะต้องเปลี่ยนวิธี หรือหากเป็นสีแดง เราอาจจะต้องไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เป็นต้น
มาช่วยกันคิด แก้ปัญหา
หลังจากที่น้องๆ สำรวจตนเองกันเสร็จแล้ว ก็เข้ามาสู่ช่วงสุดท้าย ที่เรียกได้ว่าเป็นสีสันของงานนี้เลย นั่นคือช่วง Open วีรกรรมแก้ปัญหาที่น้องๆ ทุกคนจะถามปัญหาของตนเอง และทุกๆคน รวมถึงพี่นีท จะช่วยกันระดมแนวทางการแก้ปัญหา หรือการให้กำลังใจแก่กัน เพื่อทำให้เรื่องหนักมันเบาลง เพื่อทำให้เราพอจะมองเห็นวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งปัญหาที่น้องๆ มักจะถามกันคือ ไม่สามารถบริหารเวลาตนเองได้เพราะงานเยอะมาก เรียนไม่ทัน กังวลเรื่องการทำแฟ้มสะสมผลงาน มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ เป็นต้น
ในกิจกรรมก็มีแนวทางแก้ปัญหาไว้มากมายเลย แต่เราขอรวบรวมคำพูดเด็ดๆ ของพี่นีทมาไว้ล่ะกันนะคะ
“การแก้ปัญหาชีวิตก็เหมือนการแก้ปัญหาวิชาเลข คือ มันมีขั้นตอน และลำดับของมัน อย่างวิชาเลข เวลาเจอโจทย์ยาวๆ เราก็ต้องตั้งสติก่อนใช่ไหม แต่ก็ค่อยๆ มองหาวิธีการแก้ เช่น เจอวงเล็บทำตรงวงเล็บก่อน จากนั้นก็ทำในที่ที่ใกล้กับวงเล็บแล้วก็ไกลออกมา ปัญหาชีวิตก็เหมือนกัน พอเจอปัญหาเยอะๆ ก็ต้องมาเรียงก่อนว่า มีกี่ปัญหา จะแก้อะไรก่อน 1 2 3”
และอีกหนึ่งประโยคที่สำคัญคือ
“การที่เราคิดว่า ถ้าฉันทำแบบนี้แล้วมันจะได้ผล แต่สุดท้ายมันไม่ได้ผล พี่คิดว่า เราไม่ต้องโทษตนเอง พี่ว่ามันไม่เป็นไรนะ ผิดก็ลองใหม่! เพราะเราอาจจะยังไม่เจอวิธีที่ได้ผลดีที่สุด”
ต้องเรียกได้ว่าน้องๆ ทุกคนจบ Workshop นี้ไปกันอย่างมีความสุขมากขึ้น และเครียดน้อยลง เพราะทุกคนได้สำรวจตนเอง และร่วมกันคิดหาทางออกของปัญหา ใครที่เข้ามาอ่าน แล้วพบว่าตนเองมีความเครียดหรือมีปัญหา ลองนำเทคนิคการสำรวจตนเองไปใช้ดูนะคะ
Related Courses
Applications เพื่อสร้างงานกราฟิกอย่างง่าย
ตัวช่วยดี ๆ สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังสนใจในการทำอาชีพบนโลกออนไลน์ และต้องการสร้างความโดดเด่นให้กับผลงานของตัวเอง เพื่อเพิ่ม ...
วัยรุ่นยุคใหม่ ต้องรู้เท่าทันโลกโซเชียล (Media Literacy)
ถึงเวลาที่น้องๆ ต้องรู้เท่าทันโลกโซเชียล เมื่อโลกอินเทอร์เน็ตทำให้เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและสะดวกต่อการเข้าถึ ...
วัยรุ่นยุคใหม่ ต้องรู้เท่าทันโลกโซเชียล (Media Literacy)
ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ฝึกกันได้ในวัยรุ่น
ทักษะความคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตน้องๆ วัยรุ่นในปัจจุบันนี้ หากน้องๆ ได้รับการฝึกการคิดสร้างสรรค์ ตั้งแต่เ ...
ทักษะความเป็นผู้นำในวัยรุ่น ฝึกกันได้อย่างไร
ลักษณะของการเป็นผู้นำที่ดี ต้องสามารถโน้มน้าวหรือจูงใจให้ผู้อื่นยอมรับแล้วเกิดพฤติกรรมที่ทำตามด้วยความยินดีและเต็มใจ ซึ่งเป็นทักษ ...