ลูกดึงผมตัวเอง อาจไม่ใช่เรื่องเล็ก
เจ้าตัวเล็กบ้านไหนมีพฤติกรรมซ้ำๆที่ติดเป็นนิสัยบ้างคะ? อย่างการดึงผมหรือถอนผม ที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่กว่าจะมารู้ตัวอีกที ผมลูกก็หายเป็นหย่อมๆ หรือ “หัวล้าน” ไปเสียแล้ว แล้วเราจะหยุดพฤติกรรมนี้ได้อย่างไร? เป็นอาการทางจิตไหม? เรามาหาคำตอบร่วมกันค่ะ
โรคดึงผมตัวเองคืออะไร?
โรคดึงผม หรือ โรคทิโชทิโลมาเนีย (Trichotillomania) คือ โรคที่ไม่สามารถควบคุมความต้องการที่พุ่งขึ้นมาจากภายในได้ ซึ่งพบได้ตั้งแต่เด็กวัยเรียนไปจนถึงผู้ใหญ่ทีเดียว
โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นโดยรู้ตัว หรือไม่รู้ตัวก็ได้ โดยการกระทำขณะที่รู้ตัวอาจจะเกิดจากความรู้สึกไม่สบายหนังศีรษะ คัน หรือรู้สึกยุกยิก ๆ รวมไปถึงรู้สึกว่าเส้นผมไม่ตรง ไม่เรียบทำให้อยากดึงออก เมื่อดึงออกแล้วจะรู้สึกสบายใจขึ้น รู้สึกโล่งขึ้น ขณะที่การดึงผมโดยไม่รู้ตัว มักจะดึงระหว่างทำกิจกรรมอื่นๆ อยู่ เช่น ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ ทำงาน เป็นต้น เป็นการกระทำแบบเผลอที่ไม่รู้ตัว และไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งทั้งสองแบบนี้อาจจะเกิดขึ้นในคนๆ เดียวกันได้
แก้อย่างไร ไม่ให้ลูกดึงผมตัวเอง
ก่อนอื่นเราต้องคอยสังเกตเพื่อหาสาเหตุกันก่อน เพราะปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคดึงผม อาจมีโรคทางจิตเวชบางอย่าง เช่น วิตกกังวลประเภทย้ำคิดย้ำทำ หรือการเป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงพันธุกรรมก็มีส่วนร่วมด้วย เด็กอาจจะเห็นคนในบ้านทำพฤติกรรมนี้ แล้วเลียนแบบสมาชิกในครอบครัว ที่เป็นโรคดึงผมเหมือนกันก็เป็นได้ หรือแม้กระทั่งความผิดปกติทางสมอง และสารเคมีในสมอง สมาธิสั้น มีความเครียด หรือมีปัญหาทางด้านการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นต้น
ลองพูดคุย สอบถามลูกว่าเขาจะดึงผมเวลาไหน เพราะถ้าหากทำไปโดยไม่รู้ตัว ก่อนอื่นก็ต้องให้ลูกรู้ตัวก่อนว่าเป็นโรคชอบดึงผม แล้วอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อน ด้วยการตักเตือน ไม่ห้ามหรือดุด่าว่ากล่าว เพราะจะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกผิด เครียด และทำให้อาการหนักขึ้น จากผมก็อาจจะเพิ่มเป็นไปดึงขนส่วนอื่นๆของร่างกายได้
เราแนะนำ 3 ขั้นตอนในการใช้พฤติกรรมบำบัดกับลูก เพื่อลดการดึงผมกันค่ะ
1.หากิจกรรมทำ
หากว่าลูกดึงผมแบบไม่รู้ตัว และมักจะดึงในช่วงที่ทำกิจกรรมเพลินๆ เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ลองเพิ่มงานที่ต้องบีบ หรือของเล่นที่ให้ใช้มือจับบีบคลายเครียดแทน เพื่อให้มือไม่ว่าง หรือลองแนะนำกิจกรรมอื่นที่ใช้มือเป็นหลัก อย่างเช่นการวาดรูป เย็บปักถักร้อย ปั้นดินน้ำมัน ฯลฯ เพื่อให้ลูกลดการใช้มืออย่างไร้จุดหมาย
2.คอยอยู่เคียงข้างลูก
ลองใช้เวลากับลูกให้มากขึ้น เพื่อจะคอยสังเกตพฤติกรรม และตักเตือนลูกได้เมื่อลูกกลับมาดึงผมอีกครั้ง แต่เราแนะนำว่าไม่ควรดุว่าลูก แต่ควรใช้วิธีพูดเตือนจะดีกว่า
3.คุณหมอช่วยได้
หากว่าการดึงผม หรือถอนผมของลูกนั้นเป็นบ่อย และหนักจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน หรือลูกต้องทรมานกับพฤติกรรมนั้น ที่เขาไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ นี่อาจจะเกินกว่าการใช้พฤติกรรมบำบัดแล้วค่ะ อาจจะต้องพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างจริงจังแล้ว เพราะบางครั้งการดึงผมนี้ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของภาวะวิตกกังวลประเภทย้ำคิดย้ำทำ หรือการเป็นโรคซึมเศร้า ก็เป็นได้การที่ลูกทำพฤติกรรมใดก็ตามกับร่างกาย แล้วส่งผลให้เจ็บป่วย แบบนี้อาจจะเป็นสัญญาณที่แสดงออกมา จากการที่ลูกสะสมเอาความเครียดไว้ในจิตใจมากขึ้น ก็เป็นได้ บางครั้งเมื่อเด็กรู้สึกเครียด และสับสน เขาไม่รู้จะจัดการกับอารมณ์นั้นอย่างไร ก็แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่ทำแล้วเขารู้สึกสบายใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำร้ายร่างกายไปโดยไม่รู้ตัว
เพราะฉะนั้น สิ่งนี้อาจจะสะท้อนถึงการเลี้ยงดูและการใช้เวลากับลูกที่ไม่เพียงพอของคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นได้ค่ะ ดังนั้นจึงควรจัดเวลาใหม่ ให้คุณได้ใช้เวลากับลูกได้มากขึ้น เราเชื่อว่านอกจากการใช้ยา และการบำบัดพฤติกรรมแล้ว ความรักความใส่ใจของคุณพ่อคุณแม่ ก็จะช่วยให้ลูกหยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์นี้ได้ค่ะ
Related Courses
หนึ่งวันกับการดูแลตนเอง (Self Care)
เมื่อเราพบเจอปัญหาที่ส่งผลต่อตัวเราในแต่ละวัน ให้บอกตัวเองด้วยคำพูดดีๆ และหากิจกรรมสุดโปรดสำหรับการดูแลและใส่ใจตัวเอง ( ...
แนวทางลดการบูลลี่ในสถานศึกษา
การถูกรังแก ล้อเลียน ดูหมิ่น เหยียดหยามผู้อื่นส่งผลให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวลทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ปัญหาเหล่านี้จ ...
การพัฒนาสุขภาวะกาย
คอร์สนี้จะทำให้ได้เรียนรู้ถึงและเข้าใจการสร้างสุขภาพกายที่ดีสำหรับเด็กประถมศึกษา เพราะสุขภาพกายมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ
Collaborative classroom design
เรียนรู้ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) หลักการออกแบบกิ ...