ตรวจสอบความมั่นคงทางจิตใจ ก่อนเป็นพ่อแม่ Homeschool
แม้ว่าการศึกษาแบบ Homeschool จะได้รับการพูดถึงมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าในสังคมไทยส่วนใหญ่ ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจการศึกษารูปแบบนี้ ครอบครัวที่ทำ Homeschool จึงมักถูกตั้งคำถาม และอาจมีความคิดเห็น หรือคำวิพากษ์วิจารณ์จากคนรอบตัว จนหลายครั้งอาจทำให้รู้สึกไขว้เขวในเส้นทางที่เลือก ความมั่นคงทางจิตใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้เด็กๆ ในระบบ Homeschool ประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลือกการเรียนรูปแบบ Homeschool ให้บุตรหลาน ลองมาตรวจความมั่นคงทางใจของตัวเราเองกันสักนิดค่ะ
ชัดเจนในเป้าหมายและวิธีการ
คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ มักตั้งเป้าหมายด้านการเรียนของเด็กๆ ไว้บ้าง บางครอบครัวอาจมีเป้าหมาย ลางๆ ที่พร้อมปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และความสนใจของบุตรหลาน บางครอบครัวอาจมีเป้าหมายเด่นชัดตั้งแต่ต้น ไม่ว่าเป้าหมายของคุณเป็นรูปแบบใด ก็ควรมั่นใจว่าวิธีการที่เลือกสอดคล้องกับเป้าหมายนั้น
ก่อนเลือก Homeschool เป็นคำตอบของครอบครัว พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกๆ ถึงความเป็นไปได้ เหตุผลที่เลือกทำ Homeschool เพราะอะไร และวิธีการนี้จะทำให้บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ของลูกได้หรือไม่ เมื่อทุกคนในครอบครัวมองภาพเดียวกัน ชัดเจนในเป้าหมาย และมั่นใจว่า Homeschool คือวิธีการบรรลุสู่เป้าหมายนั้นได้ ก็จะทำให้คุณพ่อคุณแม่มั่นใจในกระบวนการ Homeschool ไม่หวั่นแม้เผชิญกับคำถามหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ
ทุกเส้นทางล้วนมีอุปสรรค
เมื่อเริ่มเข้าสู่กระบวนการ Homeschool คุณอาจพบว่าหลายอย่างไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ การจัดตารางการเรียนรู้อาจเป็นเรื่องยุ่งยาก ไม่ลงตัว เด็กๆ อาจมีคำถามไม่หยุดหย่อน จนคุณไม่สามารถทำธุระต่างๆ ให้สำเร็จ หรือการเขียนแผนการเรียนรู้ ที่ต้องแก้ไม่จบสิ้น อุปสรรคที่เกิดขึ้น อาจทำให้คุณสงสัยว่า Homeschool เป็นทางเลือกที่ถูกต้องจริงหรือเปล่า? หากเริ่มมีความคิดเช่นนี้ คุณต้องไม่ลืมว่าทุกเส้นทางล้วนมีอุปสรรคแตกต่างกัน เด็กๆ ที่เรียนในโรงเรียน อาจมีการบ้านมากมาย จนทำไม่ทัน และคุณต้องคอยช่วย ไหนจะการเดินทางรับส่งลูกที่โรงเรียน ที่กินเวลาวันละหลายชั่วโมง ทุกทางเลือกล้วนมาพร้อมอุปสรรคให้ฟันฝ่าไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง
หากรู้สึกไม่มั่นใจในทางเลือกของตัวเอง คุณและลูก อาจหาเวลาพูดคุย ทบทวนเป้าหมาย เหตุผลที่เลือก Homeschool เพราะอะไร และวันนี้เป้าหมายยังเหมือนเดิมหรือไม่ หากพบว่าเป้าหมายเปลี่ยนไปแล้ว หรือ Homeschool ไม่ตอบโจทย์รูปแบบชีวิตของครอบครัวจริงๆ อาจมองหาทางเลือกอื่น แต่หากรู้สึกเพียงแค่เหนื่อยล้า อาจหยุดพักนิ่งๆ สัก 1-2 วันแล้ว ลองเริ่มใหม่ เพราะอย่างน้อยการทำ Homeschool ก็ทำให้คุณ และลูกมีโอกาสวางแผน เพื่อรับมือปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นได้มากกว่าการเรียนรู้รูปแบบอื่นๆ
พร้อมรับความแตกต่าง
ครอบครัว Homeschool มักมีกิจวัตรประจำวันที่แตกต่างจากครอบครัวที่ลูกไปโรงเรียนทั่วไป เช่น เด็กๆ ไม่ต้องรีบตื่นนอนตั้งแต่เช้ามืด มีเวลาไปทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงวันธรรมดา หรือไปเที่ยวต่างจังหวัดได้นานๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องวันเวลาเข้าเรียน เพราะการจัดสรรเวลาของครอบครัว Homeschool เป็นเรื่องที่ยืดหยุ่นได้ ขณะที่คนส่วนใหญ่ใช้เวลาเรียนและทำงานในช่วง 9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น แต่เด็ก Homeschool อาจเริ่มเรียนตอน 11 โมง แล้วพักเที่ยง ก่อนเข้าเรียนอีกทีตอนบ่าย 3 ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ตราบเท่าที่การเรียนรู้ของลูกบรรลุตามเป้าหมายอย่างเหมาะสม
แน่นอนว่าเมื่อมีความต่าง ก็ย่อมทำให้คนที่พบเห็นเกิดคำถาม เช่น หากคุณพาลูกออกไปตลาดในช่วงวันธรรมดา ก็มักเจอคำถามว่า ทำไมลูกไม่ไปโรงเรียน หรือ วันนี้โรงเรียนหยุดหรือ คุณจะพบคำถามเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขอให้เตรียมพร้อมรับมืออย่างใจเย็น และระลึกไว้เสมอว่า ความแตกต่างไม่ใช่สิ่งผิด
มีกฏเกณฑ์แต่ไม่ยึดติด
สิ่งที่จะทำให้การเรียนรู้แบบ Homeschool ประสบความสำเร็จได้ คือ กฏเกณฑ์และความสม่ำเสมอ ที่ทุกคนในครอบครัวร่วมมือกันค่ะ เพราะเด็กๆ และพ่อแม่ Homeschool ต้องจัดการเรียนรู้ วางแผนกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง ความมีวินัย และทำตามกฏเกณฑ์ร่วมกันจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังวางแผนให้ลูกเรียน Homeschool จึงควรเตรียมความพร้อม และตกลงกฏเกณฑ์ระหว่างกันให้ชัดเจน เช่น เด็กต้องรับผิดชอบดูแลตัวเองได้ แบ่งเวลาเรียนรู้และพักผ่อนได้อย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกัน ก็ต้องพร้อมรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าต่างๆ และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนหากพบว่าแนวทางที่ทำอยู่อาจไม่เหมาะกับครอบครัวของเรา เพราะการทำ Homeschool คือการเรียนรู้ไปพร้อมกันทั้งพ่อแม่ ซึ่งเป็นผู้จัดการเรียนการสอน และเด็กๆ ที่เป็นผู้เรียน เช่น หากวางแผนว่าต้องออกไปเข้ากลุ่มทำกิจกรรมนอกบ้านทุกสัปดาห์ แต่เมื่อลงมือทำจริงแล้ว พบว่ามีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป ก็อาจปรับเปลี่ยนหาแนวทางอื่นๆ มาทดแทน
พร้อมลงทุนเวลาให้กับลูก
เพราะพ่อแม่ผู้ปกครอง คือผู้จัดการเรียนรู้ในระบบ Homeschool คุณจึงต้องพร้อมลงทุนเวลา ให้กับลูก ถึงแม้ว่าเด็กๆ อาจจดทะเบียนเรียนกับสถาบันการศึกษา หรือ ฝากชื่อกับโรงเรียน แต่พ่อแม่ ก็เปรียบเสมือนผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ต้องคอยจัดสรร ช่วยวางแผน และให้คำแนะนำ รวมทั้งพาลูกไปทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งหากลูกอยู่ในระบบโรงเรียนทั่วไป โรงเรียนจะทำหน้าที่เหล่านี้แทน แต่เมื่อเป็นการจัดการเรียนรู้โดยครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องลงทุนเวลามากเป็นพิเศษ ดังนั้น หากตัดสินใจเลือกทำ Homeschool ให้ลูก ก็ควรมีผู้ปกครองหนึ่งคน ที่สามารถให้เวลาเด็กๆ ได้เต็มที่ หรืออย่างน้อยควรมีตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นเพื่อปรับเปลี่ยนให้เข้ากับรูปแบบการเรียนรู้ของลูกได้
การทำ Homeschool ก็เหมือนการเดินทางไกล ทุกคนที่ร่วมทางล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน ระหว่าง การเดินทางอาจพบเจออุปสรรค เกิดคำถาม ที่ทำให้จิตใจหวั่นไหวไปบ้าง แต่หากพ่อแม่ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นไกด์นำทาง มั่นคงและชัดเจนในเป้าหมาย ก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เด็กๆ ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้แบบ Homeschool ได้
Related Courses
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้