Soft Skills ที่ต้องมีสร้างลูกเป็นมืออาชีพทุกสายงาน
เมื่อพูดถึงคำว่า Skill หรือทักษะ หลายคนมักนึกถึงความสามารถด้านวิชาชีพ เช่น ทักษะการทำอาหาร ทักษะการคำนวณ ทักษะการอ่านเขียน ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็น Hard Skill คือสิ่งที่เราเรียนรู้จนเกิดความชำนาญ และนำไปต่อยอดประกอบอาชีพได้ แต่ยังมีทักษะอีกชนิดหนึ่งที่ไม่มีสอนในห้องเรียน นั่นก็คือ Soft Skill ซึ่งเป็นทักษะที่เกี่ยวข้อง กับการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน รวมถึงการเข้าใจอารมณ์ตนเอง ในโลกยุคใหม่ที่มีการแข่งขันสูง ทักษะด้านวิชาชีพอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เด็กๆ ควรมีโอกาสได้พัฒนา Soft Skill ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ Hard Skill เพื่อให้ทำให้พวกเขาเติบโตเป็นมืออาชีพได้ในทุกสายงาน
Soft Skill จำเป็นจริงหรือ?
รายงานจากสถาบันวิจัย Childrentrends.org ของสหรัฐฯ ทำการศึกษาคนรุ่นใหม่ที่อายุระหว่าง 15-29 ปี เกี่ยวกับการทำงาน พบว่า Soft Skill ที่เกี่ยวกับทัศนคติ ความสม่ำเสมอ ทักษะการเข้าสังคม มีผลต่อการประสบความสำเร็จในการทำงาน มีโอกาสได้รับการจ้างงานมากกว่า โดย Soft Skill สำคัญที่คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมี เพื่อความสำเร็จในการทำงาน ประกอบด้วย 5 ทักษะ คือ ทักษะการเข้าสังคม ทักษะการสื่อสาร ทักษะการควบคุมอารมณ์ ทักษะการคิดขั้นสูง และ ทัศนคติเชิงบวกต่อตนเอง เนื่องจากทักษะเหล่านี้ ช่วยให้สามารถปรับตัว ฝ่าฟัน รับมือกับปัญหา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
ทักษะการเข้าสังคม
ทักษะการเข้าสังคม เป็นทักษะที่ทำให้เราอยู่ร่วมกับผู้คนในสังคมได้อย่างสงบสุข ประกอบไปด้วย การเคารพซึ่งกันและกัน การรับมือกับความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งการรู้จักแสดงความขอบคุณอย่างเหมาะสม พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยให้ลูกมีทักษะสังคมที่ดีได้ ดังนี้
- ให้โอกาสเป็นตัวของตัวเอง : ส่งเสริมให้ลูกได้เป็นตัดสินใจด้วยตัวเองทุกครั้งเมื่อมีโอกาส เริ่มจากเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น อาจถามลูกว่า “ลูกจะกินข้าวต้มหรือแซนวิชด์เป็นอาหารเช้า” และไม่วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของลูก เมื่อพ่อแม่รับฟังลูก พวกเขาก็จะรับฟังคนอื่นๆ และมีความเชื่อมั่นเมื่อเข้าสังคมด้วยตัวเอง
- สอนความเห็นอกเห็นใจ : ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม เช่น เมื่อลูกเล่าว่าเพื่อนในห้องถูกแกล้ง ลองตั้งคำถามให้ลูกจินตนาการว่าหากตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นลูกจะรู้สึกอย่างไร ก่อนที่ลูกจะตัดสินใครจากการกระทำ อาจชวนให้ลูกคิดถึงความไปได้อื่นๆ เช่น เพื่อนที่ขาดเรียนบ่อยๆ อาจไม่ใช่เพราะเขาขี้เกียจ แต่อาจเป็นเพราะเขาไม่สบายมีโรคประจำตัว การฝึกให้เด็กๆ ไม่ด่วนตัดสินเรื่องต่างๆ อย่างฉาบฉวย จะค่อยๆ สร้างความเห็นอกเห็นใจให้เกิดขึ้นในใจลูกได้
- เคารพความแตกต่าง : เด็กๆ จำเป็นต้องเข้าใจว่าสิ่งที่แตกต่างจากเรา อาจไม่ใช่สิ่งผิดเสมอไป ทุกคนที่มีความคิดความเชื่อต่างกันสามารถอยู่รวมกันได้ภายใต้กฏเกณฑ์ที่สังคมยอมรับ การแสดงความคิดเห็น และโต้เถียงบนหลักการ และเหตุผลโดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ทำได้ และไม่จำเป็นว่าการแสดงความคิดเห็นต้องจบด้วยการเห็นตรงกันเสมอไป ถึงแม้จะคิดต่างกัน ก็ยังทำงานร่วมกัน อยู่ร่วมกันได้ เพราะความแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดาของสังคม
ทักษะการสื่อสาร
ทักษะการสื่อสาร ที่จำเป็นสำหรับการทำงาน คือ ความสามารถแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม สามารถตีความและถ่ายทอดความรู้หรือแนวคิดต่างๆ ออกมาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ซึ่งเราช่วยสร้างทักษะการสื่อสารให้ลูกได้ ดังนี้
- ฝึกจับใจความและเล่าเรื่อง : ให้ลูกเล่าเรื่องที่อ่านในหนังสือ หรือหลังจากดูหนังกับลูก ลองให้เด็กๆ เล่าเรื่องย่อให้ฟัง อาจฝึกให้ลูกเขียนเรื่องย่อหนังสั้นๆ เป็นการฝึกจับใจความ จัดลำดับความสำคัญ และถ่ายถอดออกมาให้คนอื่นเข้าใจได้
- สื่อสารด้วย Body Language : การสื่อสารที่ไม่ใช้คำพูด เช่น การสบตาคู่สนทนา การพยักหน้าขณะที่รับฟัง หรือการแสดงสีหน้าต่างๆ เด็กๆ เรียนรู้ได้จากพฤติกรรมของพ่อแม่คนใกล้ชิดที่สื่อสารกับพวกเขา ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรเป็นตัวอย่างที่ดี ด้วยการสบตาขณะสนทนากับลูก แสดงอารมณ์ผ่านสีหน้าท่าทางอย่างเหมาะสม และควบคุมอารมณ์เชิงลบขณะสนทนา
ทักษะการควบคุมอารมณ์
ในชีวิตการทำงาน ต้องเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันมากมาย ผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่ มักมองหาคุณสมบัติของพนักงานที่ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดีและมีวินัย เราสามารถปลูกฝังทักษะเหล่านี้ให้กับเด็กๆ ได้ ดังนี้
- หยุดและคิด : สอนลูกว่า เมื่อใดก็ตามที่ลูกเกิดความรู้สึกเชิงลบ ควรสอนลูกให้หยุดและคิด ก่อนจะพูดหรือตอบสนองออกมา บอกให้เขาเข้าใจว่าทุกการกระทำ ทุกคำพูด จะมีผลลัพธ์ตามมาเสมอ นอกจากนี้ พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านการควบคุมอารมณ์ให้ลูกเห็นด้วย
- เท่าทันอารมณ์ : ฝึกให้ลูกสังเกตอารมณ์ของตัวเอง เช่น เมื่อเห็นว่าลูกกำลังหงุดหงิด และเริ่มทำเสียงปึงปัง พ่อแม่ควรเตือนสติลูกว่า แม่รู้ว่าลูกกำลังหงุดหงิด แต่การทำข้าวของเสียงดังแบบนั้นไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น การช่วยลูกระบุอารมณ์ทุกครั้งที่มีโอกาส จะทำให้พวกเขาหัดสังเกตตัวเอง เมื่อเข้าใจว่าตนเองรู้สึกอย่างไร ก็จะควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น
- สอนรับมืออารมณ์เชิงลบ : อารมณ์เชิงลบต่างๆ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แทนที่จะบอกลูกว่าห้ามโกรธ ห้ามร้องไห้ ควรเปลี่ยนเป็นสอนให้ลูกรับมือกับอารมณ์เหล่านั้นอย่างเหมาะสม เช่น เมื่อโกรธ ลูกควรหายใจเข้า-ออกลึกๆ เมื่อเสียใจ อาจนั่งพักสงบสติอารมณ์เงียบๆ บอกให้ลูกเข้าใจว่าอารมณ์เป็นสิ่งชั่วคราว เกิดขึ้นแล้วผ่านไป และควรแยกแยะอารมณ์ส่วนตัวกับการทำงาน
ทักษะการคิดขั้นสูง(Higher-order Thinking)
เด็กๆ ที่เติบโตเข้าขึ้นในศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูง ซึ่งเป็นการคิดวิเคราะห์ที่มีความซับซ้อนมากกว่าแค่การใช้ความจำแล้วนำมาเล่า การคิดขั้นสูง คือ ความสามารถที่จะประมวลข้อมูลความรู้ วิเคราะห์ ทำความเข้าใจ และนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือนำมาสร้างสรรค์เป็นสิ่งใหม่ๆ ได้ เช่น เมื่อเด็กเรียนรู้ว่าน้ำจะไหลลงจากที่สูงลงสู่บริเวณที่ต่ำกว่า หากต้องการรองน้ำจากอ่างล้างจาน มายังกะละมังซึ่งอยู่ที่พื้น โดยไม่มีสายยาง เด็กที่มีทักษะการคิดขั้นสูง อาจประยุกต์ใช้ขวดน้ำตัดเป็นกรวยรองน้ำให้ไหลลงมาด้านล่าง โดยที่ไม่ต้องออกแรงมาก ขณะที่เด็กที่ขาดทักษะความคิดขั้นสูง แม้จะรู้ว่าน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำกว่า แต่อาจไม่สามารถประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เป็นต้น พ่อแม่ช่วยให้ลูกฝึกทักษะการคิดขั้นสูงได้ ดังนี้
- ไม่เบื่อคำถามของลูก : การตั้งคำถามของเด็กๆ ถือเป็นประตูไปสู่ทักษะการคิดขั้นสูงได้ ขอเพียงพ่อแม่ไม่เบื่อ และเมินหน้าหนีลูกๆ ไปเสียก่อน หากลูกสงสัยสิ่งต่างๆ แทนที่จะให้คำตอบลูกทันที อาจถามกลับว่า ลูกคิดว่าเป็นเพราะอะไร หรือ ชวนลูกไปหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วมาพูดคุยกันภายหลัง แม้ว่าพ่อแม่ต้องสละเวลาพูดคุย ให้คำตอบลูก แต่เชื่อเถอะค่ะว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าจริงๆ
- เชื่อมโยงคอนเซ็ปต์ : ฝึกให้ลูกคิดเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เช่น วันวาเลนไทน์ที่กำลังมาถึง ลองชวนให้ลูกคิดว่า วันนี้เกี่ยวข้องกับอะไรได้บ้าง ลูกอาจบอกว่าคิวปิด ลองให้ลูกค้นหาต่อ ก็จะพบว่าคิวปิดเป็นเทพเจ้าในตำนานกรีกโบราณ ลองให้ลูกค้นคว้าเรื่องประเทศกรีก ก็อาจนำไปสู่เรื่องสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่อยู่ในประเทศกรีก เพียงแค่เริ่มจากวันวาเลนไทน์ หากสามารถเชื่อมโยงคอนเซ็ปต์ ก็ต่อยอดความรู้ไปได้ไม่สิ้นสุด
ทัศนคติเชิงบวกต่อตนเอง
สร้างความรู้สึกให้ลูกเห็นคุณค่าในตนเอง และเชื่อว่าตนเองมีความสามารถที่จะรับมือสิ่งต่างๆ ได้ เป็นทักษะสำคัญต่อการทำงานในอนาคต เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าลองสิ่งใหม่ๆ กล้าตั้งเป้าหมายเพื่อไปสู่ความสำเร็จ พ่อแม่ช่วยให้ลูกมีทัศนคติเชิงบวกต่อตนเองได้ ดังนี้
- ระวังคำพูดที่ใช้กับลูก : ควรระมัดระวังไม่ใช้คำพูดตีตราเด็กๆ เช่น ขี้เกียจ โง่ ดื้อ เกเร ฯลฯ หากเด็กๆ มีพฤติกรรมเชิงลบ ควรอธิบายว่าสิ่งที่ลูกทำไม่ดีอย่างไร และคุณอยากให้ลูกทำอะไร เพราะการใช้คำพูดเชิงลบตีตราเด็กบ่อยๆ อาจทำให้พวกเขาเชื่อว่าเขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ
- สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก : พ่อแม่ที่ให้เวลา และมีสัมพันธ์ที่ดีกับลูก ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าตนเองเป็นที่รัก และมีความสำคัญ ซึ่งเป็นพื้นฐานต่อความภาคภูมิใจในตนเองได้
- ให้แรงเสริมทางบวก : เมื่อลูกทำดี ควรเอ่ยคำชมที่ความพยายามมากกว่าผลลัพธ์ เช่น เมื่อลูกสอบได้ที่ 1 แทนที่จะบอกว่าลูกเก่งมาก ลูกฉลาดมาก ควรพูดว่า ลูกพยายามมากเลยนะ หรือแม่รู้ว่าลูกตั้งใจเรียนมาก ดีใจด้วยนะ วิธีนี้ทำให้เด็กๆ เห็นว่าพ่อแม่ใส่ใจ และเห็นความตั้งใจ เป็นการสร้างทัศนคติที่ว่า “ฉันทำได้” ให้กับเด็กๆ
สุดท้ายแล้ว Soft Skill เหล่านี้ ไม่เพียงมีประโยชน์ต่อหน้าที่การงานของลูกในอนาคต แต่ยังช่วยให้เด็กๆ อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขอีกด้วย
Related Courses
นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!
วันนี้ Starfish Labz มีเคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยให้ครูผู้สอนได้เทคนิคการออกแบบกิจกรรมใน Booklet ให้มีความน่าสนใจ สร้างสรร ...
นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!
ต้องใช้ 100 เหรียญ
การพัฒนาทักษะการเขียน
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการสอนเขียนสำหรับผู้เรียนประถมศึกษา ระดับชั้น ป.1- ป.6 โดยได้ยกตัวอย่างปัญหาการเขียนข ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ
การสร้างรายได้จากสติกเกอร์ Line
เมื่อยุคเปลี่ยนไปการสื่อสารกันในชีวิตประจำวันเปลี่ยนตาม จากการพูดคุยกลายเป็นการพิมพ์คุยกัน การสร้างสติกเกอร์ไลน์จึงเป็นอาชีพ ...