I Statement การสื่อสารที่ช่วยลดความบาดหมางในครอบครัว
“ลูกต้องหยุดเหวี่ยงร่มเดี๋ยวนี้”
“แม่กลัวร่มจะฟาดหน้า ทำให้ลูกเจ็บ แม่อยากให้ลูกหยุดเหวี่ยงร่มนะ”
คุณสัมผัสถึงความแตกต่างในสองประโยคข้างต้นไหมคะ ประโยคหนึ่ง แม่สื่อสารด้วยการบอกว่า ลูกต้องทำอะไร ขณะทีประโยคที่สอง แม่สื่อสารด้วยการบอกว่า แม่ต้องรู้สึกอย่างไร และอยากให้ลูกทำอะไร ความแตกต่างของสองประโยคนี้อยู่ที่ประธานในรูปประโยค ที่แค่ปรับเปลี่ยนเพียงนิดเดียว ก็ทำให้ความรู้สึกของคนฟังเปลี่ยนไปได้ วิธีนี้เรียกว่า I statment เป็นการสื่อสารเชิงบวก ที่เราอยากชวนพ่อแม่ผู้ปกครองมาลองฝึกกันค่ะ
I Statement เป็นเพราะฉัน ไม่ใช่เธอ
I statement คือการสื่อสารเชิงบวกแสดงความรู้สึก และความต้องการของเรา ว่าสิ่งที่อีกฝ่ายกระทำ ส่งผลให้เรารู้สึกอย่างไร และเราต้องการให้อีกฝ่ายทำอะไร ซึ่งวิธีนี้จะลดช่วยความรู้สึกว่าผู้ฟังกำลังถูกผู้พูตำหนิ หรือคุกคาม ยกตัวอย่างเช่น หากลูกกลับบ้านไม่ตรงเวลา โดยทั่วไปพ่อแม่มักถามว่า “ลูกไปไหน ทำไมกลับป่านนี้” แต่หากเปลี่ยนมาใช้ I statement พ่อแม่จะพูดว่า “แม่เป็นห่วงมากที่ลูกกลับดึก คราวหน้าแม่อยากให้ลูกโทรมาบอกด้วยนะ”
จากตัวอย่าง จะเห็นว่า I statement เป็นการพูดที่ใช้ความรู้สึกหรือความต้องการของผู้พูดเป็นหลัก เริ่มจากบอกว่าผู้พูดรู้สึกอย่างไร ตามด้วยการบอกว่าอยากให้อีกฝ่ายทำอะไร เป็นเพราะฉันรู้สึกแบบนี้ จึงอยากให้เธอทำอย่างนี้ ทั้งหมดเกิดจากตัวฉัน นั่นก็คือผู้พูด ทำให้ผู้ฟัง ไม่รู้สึกว่าตนเองถูกคุกคาม ซึ่งจะช่วยลดการต่อต้านและความขัดแย้งในการสนทนาได้
You Statement เป็นเพราะเธอ
ในชีวิตประจำวันหากลองสังเกต อาจพบว่าเรามักขึ้นต้นประโยคด้วยการกระทำของผู้อื่นแทบจะทุกคำพูด ซึ่งการพูดในลักษณะนี้เรียกว่า You Statement เช่น เธอขับรถไม่ได้เรื่อง / ลูกไม่ตั้งใจเรียนเลยนะ / ลูกต้องทำความสะอาดห้องเดี๋ยวนี้ / เมื่อไรเธอจะฟังฉันสักที / ลูกดื้อจังเลยนะ / เธอทำให้ฉันโกรธ / เธอมาสายอีกแล้วนะ / ลูกไม่น่าทำอย่างนั้นเลย/ เธอต้องรับผิดชอบมากกว่านี้ / ทำไมลูกไม่ฟังแม่
การใช้ประโยคที่ขึ้นต้นด้วย You ที่ระบุการกระทำหรือพฤติกรรมของผู้สนทนา หากใช้บ่อยเกินไป อาจทำให้คู่สนทนา รู้สึกเหมือนว่าเรากำลังบ่น วิพากวิจารณ์ ตำหนิติเตียน ยิ่งหากเรานำมาใช้สื่อสารกับเด็กๆ โดยเฉพาะวัยรุ่น ก็อาจทำให้พวกเขารู้สึกว่า พ่อแม่ไม่เคยพูดดีๆ เอ่ยปากแต่ละทีก็มีแต่คำตัดสิน กล่าวโทษ ทำให้เด็กๆ เกิดพฤติกรรมต่อต้านและไม่เชื่อฟัง นอกจากนี้การใช้ You Statement มากเกินไป ยังทำให้คู่สนทนา ไม่เข้าใจความรู้สึกของผู้พูด ผู้ฟังรับรู้เพียงแค่ว่าตนเองกำลังถูกตำหนิ แทนที่การสื่อสารจะทำให้สองฝ่ายเข้าใจกันมากขึ้น กลับทำให้ต่างฝ่ายยิ่งห่างไกลกันว่าเดิม เมื่อพ่อแม่ใช้ You Statement สื่อสารกับลูกบ่อยๆ เด็กอาจไม่เข้าใจความรู้สึกของพ่อแม่ ทำให้พวกเขาละเลย เพิกเฉย ไม่ให้ความสำคัญ จนทำให้คุณรู้สึกว่าลูกๆ ไม่เคารพคุณ โดยหารู้ไม่ว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้อาจแก้ไขได้เพียงปรับวิธีการสื่อสาร
ทำไมต้องใช้ I statement
หากรู้สึกว่าการสื่อสารกับลูกหรือคนในครอบครัว มักจบลงด้วยความไม่เข้าใจ มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกหงุดหงิด เสียใจ หรือพูดอะไรไปลูกไม่ค่อยฟัง อาจเป็นเพราะรูปประโยคที่คุณใช้ ทำให้ผู้ฟังรู้สึกถูกตำหนิ ถูกคุกคาม จึงตามมาด้วยการต่อต้าน และกลายเป็นความบาดหมางในครอบครัวได้ค่ะ
I statement เป็นวิธีสื่อสารบอกความต้องการ ตั้งกฏเกณฑ์ และกำหนดขอบเขตต่างๆ ให้กับลูกได้ไม่ต่างจากประโยคคำสั่งที่เราเคยใช้ แต่มาในรูปแบบที่นุ่มนวล ชวนฟัง และเป็นมิตรมากกว่า โดยเริ่มสื่อสารด้วยการบอกความรู้สึกของตนเอง ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงความรู้สึกอย่างเหมาะสมโดยไม่ต้องขู่ หรือทำให้ผู้ฟังรู้สึกถูกกล่าวโทษ การสื่อสารด้วย I statement มีแนวโน้มที่จะช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกต่อต้านน้อยลงได้ เนื่องจาก
- ผู้ฟังไม่รู้สึกว่าตนเองถูกกล่าวโทษ
- เป็นการสื่อสารที่แสดงถึงการมีวุฒิภาวะ
- เป็นการสื่อสารที่ทำให้อีกฝ่ายเข้าใจความรู้สึกของผู้พูดในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
- เป็นการสื่อสารแบบเปิด ที่เปิดโอกาสให้ผู้ฟังแสดงความคิดเห็นได้
มาฝึกใช้ I Statement กันเถอะ
สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองบ้านไหน อยากลองใช้ I statement เป็นเครื่องมือการสื่อสาร ช่วยลดช่องว่างภายในครอบครัว อาจลองใช้รูปประโยคที่สื่อสารข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อด้านล่างนี้ค่ะ
- พูดถึงสิ่งที่เราเห็นหรือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
- แสดงความรู้สึกของเรา (I) ต่อสิ่งที่เห็นหรือสิ่งที่เกิดขึ้น
- บอกเหตุผลว่าทำไมจึงรู้สึกเช่นนั้น
- แสดงความห่วงใยหรือความใส่ใจ
- ให้โอกาสให้อีกฝ่ายพูดถึงความรู้สึกหรือวิธีที่จะใช้แก้ปัญหา
- บอกสิ่งที่คุณคาดหวังให้อีกฝ่ายทำ ในกรณีที่พวกเขาไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร
ตัวอย่างการใช้ I statement
- “แม่รู้สึกกังวล(บอกความรู้สึกของเรา) เวลาแม่เห็นลูกกดโทรศัพท์ขณะเดินบนทางเท้า(บอกสิ่งที่เห็น) เพราะว่าลูกอาจเจ็บตัวจากอุบัติเหตุ(เหตุผลที่รู้สึกอย่างนั้น) และแม่ไม่อยากให้ลูกต้องเจ็บตัวนะ” (แสดงความห่วงใย)
- “แม่ได้ยินลูกเปิดเพลงดังมาก (บอกสิ่งที่เกิดขึ้น) แม่รู้ว่านี่คือเพลงโปรดของลูก(แสดงความใส่ใจในสิ่งที่ลูกชอบ) แต่แม่กังวลว่า(บอกความรู้สึก) เสียงเพลงที่ดังเกินไปอาจทำให้คุณยายตกใจตื่นได้นะ” (บอกสาเหตุที่กังวล) เป็นต้น
Related Courses
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...