8 เคล็ดลับสำคัญ ฝึกให้พี่น้องรู้จักการมอบความรัก ความเมตตา และให้อภัยกัน
คุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน หรือกำลังจะมีน้องเพิ่ม ทุกครอบครัวก็อยากที่จะให้ลูกรักกันใช่ไหมค่ะ แต่ก็ต้องมีบ้างล่ะค่ะ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องประสบพบเจอกับปัญหาพี่น้องทะเลาะกัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกครอบครัวต้องเจอ เพราะลูกแต่ละคนก็มีลักษณะนิสัย และความชอบที่แตกต่างกันนั้นเอง
เพราะฉะนั้นวันนี้จึงอยากจะมาแนะนำวิธีเลี้ยงลูกที่จะทำให้ลูกๆ ที่เป็นพี่น้องกันรักกันมากขึ้น ถือว่าเป็นแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับคุณพ่อคุณแม่ละกันนะคะ จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย
1. ก่อนอื่นเลยคนที่เป็นพี่ต้องรับรู้ก่อนว่า “คุณแม่กำลังจะมีน้องเพิ่ม” อีกคน
เพราะการบอกลูกคนพี่ก่อนนั้น ถือเป็นการเตรียมพร้อมให้ลูกรับรู้เสียก่อนเพื่อแก้ปัญหาพี่อิจฉาน้องนั้นเอง เพราะพี่คนโตมักจะคิดว่า หากมีน้องมาเพิ่มแล้วคุณพ่อคุณแม่จะไม่รักเขาแล้วไปรักแต่น้อง ยังไงคุณพ่อคุณแม่ก็หาวิธีบอกลูกคนโต และสอนให้เขาเข้าใจว่าเป็นพี่แล้วต้องทำอะไรบ้าง และต้องรักน้องยังไง และต้องบอกว่าน้องอยู่ในนี้นะ พร้อมกับชี้ท้องของคุณแม่ให้พี่คนโตดูด้วยค่ะ
2. เมื่อน้องออกมาจากท้องแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องบอกเขาว่านี่คือน้อง และให้เขาได้สัมผัสตัวน้องโดยมีคุณพ่อคุณแม่อยู่ข้างๆ
ทันทีที่ได้เห็นน้องครั้งแรก คุณพ่อคุณแม่ต้องบอกกับพี่คนโตว่า น้องออกมาจากท้องแล้วนะคะ ให้เขามาอยู่ใกล้ๆ น้อง ให้ลองสัมผัสตัวน้อง โดยมีพ่อแม่อยู่ใกล้ๆ และบอกกับเขาว่าต้องช่วยแม่ดูแลน้องนะคะ
3. หากิจกรรมที่ทำให้พี่น้องรักกัน
เช่น เมื่อมีของเล่น หรือขนมต่าง ๆ คุณพ่อคุณแม่ก็ค่อยๆ สอนให้พี่รู้จักการแบ่งปันให้กับน้องและค่อยๆ บอกเขาว่าเป็นพี่น้องกัน ต้องรู้จักแบ่งปันสิ่งของซึ่งกันและกัน แต่ในความเป็นจริงอาจจะสอนยากหน่อย เพราะด้วยความเป็นเด็กอาจจะมีการแย่งของกันระหว่างพี่กับน้องเกิดขึ้น แต่ยังไงก็อยากให้คุณพ่อคุณแม่ค่อยๆ สอนเขาทีละเล็กทีละน้อยนะคะ
4. พยายามให้เวลาพี่คนโตให้ดีเหมือนเดิม
หากคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่มีลูกสองคน แล้วลูกคนที่สองยังเป็นลูกที่เป็นเด็กเล็ก ๆ อยู่ ยังไงก็อยากให้พยายามดูแลพี่คนโตให้ดีเหมือนเดิม แบ่งเวลาให้เขาบ้างไม่ใช่เอาเวลาไปดูลูกคนเล็กเสียหมด อาจจะให้คุณพ่อดูแลคนเล็กแทนไปก่อนในบางเวลา เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ไม่สนใจเขา เขาก็จะรู้สึกว่าโดนทอดทิ้งและไม่มีใครรักเขาเหมือนเดิมแล้ว เพราะฉะนั้นอาจจะต้องแบ่งเวลามาดูลูกคนโตเหมือนที่เคยดูแลบ้าง อย่าให้ความรู้สึกว่ามีน้องแล้วพ่อแม่ก็จะรักน้องมากกว่ารักพี่
5. สอนให้พี่ช่วยเลี้ยงน้องคนเล็ก
คุณพ่อคุณแม่อาจจะชวนพี่ที่เป็นพี่คนโตช่วยเลี้ยงน้องโดยการช่วยหยิบขวดนมให้น้อง หยิบของเล่นให้น้อง หยิบผ้าอ้อมให้แม่ ช่วยเป็นพี่เลี้ยงดูแลน้อง ปกป้องน้อง เหมือนเป็นการเลี้ยงลูกให้พี่น้องรักกัน ฝึกให้ลูกทั้งสองคนดูแลกันตั้งแต่ยังเด็ก ทำแบบนี้จะทำให้คนที่เป็นพี่รู้สึกผูกพันกับน้องและรักน้องมาก ๆ เลยนะคะ
6. พยายามหากิจกรรมที่ทำให้พี่และน้องมีส่วนร่วมด้วยกัน
ไม่ว่าจะไปไหนหรือทำอะไรคุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะให้ทั้งสองคนได้มีส่วนร่วมช่วยกันคิดช่วยกันทำ ช่วยกันแก้ปัญหา อาจจะทะเลาะกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดาระหว่างพี่น้องที่อายุต่างกัน และนิสัยใจคอต่างกัน แต่คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะคอยดูอยู่ห่างๆ คอยสอนและคอยอธิบายเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องมาเล่นด้วยกันและรู้จักแบ่งปันกัน อีกอย่างการเล่นด้วยกันก็ดีกว่าการเล่นคนเดียวจริงไหมคะ ทำแบบนี้ไปนาน ๆ เดี๋ยวเขาก็จะเล่นด้วยกันและสามัคคีกันรักกันอย่างกลมเกลียวแน่นอน
7. ลูกแต่ละคนต้องถูกเลี้ยงอย่างเท่าเทียมกัน
ไม่ว่าใครจะเป็นพี่หรือน้อง ทุกคนก็มีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ไม่ได้แปลว่าน้องจะมีสิทธิพิเศษอะไรไปมากกว่าพี่ เป็นพี่ก็ไม่ได้จำเป็นจะต้องยอมรับผิดแทนน้องไปเสียทุกอย่าง คุณพ่อคุณแม่ควรเลี้ยงลูกและควรพิจารณาว่าลูกแต่ละคนควรจะได้รับสิ่งที่สมควรจะได้รับตามสิทธิของการเป็นลูกอย่างไรบ้าง เช่นนี้ก็จะทำให้พี่คนโตและน้องคนเล็กรู้สึกว่าพ่อแม่รักเราทั้งสองคนเท่ากัน ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างพี่น้อง และที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ยังไม่ควรเลี้ยงลูกด้วยการมักเปรียบเทียบพวกเขาว่าใครดีกว่าใครอีกด้วย
8. เลี้ยงลูกให้พี่น้องรักกัน รู้จักการใช้จิตวิทยาพี่น้อง
การเลี้ยงลูกหลายคนไม่ใช่เรื่องง่าย และหลาย ๆ ครั้ง ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระบวนการในการเติบโตมาร่วมกันของบรรดาพี่น้องนั้น มีความซับซ้อนมากกว่าที่คุณพ่อคุณแม่สามารถคาดคิดมาก บางครั้ง เราคิดว่าเราได้มอบความรัก ความเอาใจใส่ให้กับลูก ๆ ทุกคนอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว เลี้ยงลูกให้พี่น้องรักกันอย่างดีที่สุดแล้ว แต่หลาย ๆ ครั้ง ก็ดูเหมือนทุกสิ่งที่เราทำผิดไปจากที่คาดหวังหรือตั้งใจหมดเลย ปัญหาอันแสนน่าเศร้าและยากเย็นเหล่านี้จริง ๆ แล้วมีการศึกษาและได้รับการนำเสนอ แนะนำแนวทางไว้มากมายโดยบรรดาจิตแพทย์ดัง ๆ ทั่วโลก จิตวิทยาพี่น้องได้รับการศึกษาและมีการปูแนวทางการเลี้ยงพี่น้องให้รักกันหรืออย่างน้อยที่สุดก็มีความเข้าใจกันอย่างง่ายๆ มากมายที่คุณพ่อคุณแม่สามารถลองหยิบมาใช้หรือทำตามได้ไม่ยากเลยค่ะ ตัวอย่างจิตวิทยาหนึ่งที่ได้รับความนิยมก็คือ 12 เทคนิคการเลี้ยงลูกพี่น้องจาก ดร. แม็กดาลีน่า แบตเทิลส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก ที่ประกอบไปด้วยเทคนิคการสอนและการค่อย ๆ ปลูกฝังให้ลูก ๆ รู้จักรักและให้อภัยกันอย่างง่าย ๆ มากมาย เช่น ศิลปะการขออภัย, ศิลปะการให้อภัย, การหมั่นบอกรักกัน ไปจนถึงบทบาทของพ่อแม่เองในการฝึกสร้างทักษะแก้ไขความขัดแย้งให้กับลูก ๆ
คุณพ่อคุณแม่อาจไม่จำเป็นต้องเป็นถึงขั้นนักจิตวิทยา หรือผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาพี่น้องขั้นสูงเพื่อเลี้ยงลูก ๆ พี่น้องให้รักกันที่สุด แต่การค่อย ๆ เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ทีละเล็กทีละน้อยและการค่อย ๆ ทดลองนำมาปรับใช้กับบรรดาเจ้าตัวแสบของเรา Starfish Labz เชื่อว่าจะต้องให้สักผลลัพธ์หนึ่งที่มหัศจรรย์ อย่างที่คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนแน่นอนค่ะ
ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ความเป็นพี่น้องยังไงเราก็ต้องรักกันอยู่แล้วใช่ไหมคะ อาจจะมีการทะเลาะเบาะแว้งบ้างในบางที แต่เชื่อได้เลยว่าทั้งสองคนหากถูกสอน และอบรมมาเป็นอย่างดีจากคุณพ่อคุณแม่ ไม่มีทางที่จะทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรงแน่นอน การทะเลาะกันก็ไม่ได้มีข้อเสียไปเสียทุกอย่างนะคะ เพราะมันจะทำให้ทั้งสองคนรักกันมากขึ้นเสียมากกว่า ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่สู้ กับการเลี้ยงลูกทั้งสองคนนะคะ
อ้างอิง
Related Courses
เรียนรู้และเข้าใจเด็กแอลดี
เด็ก LD คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ การรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม อาจช่วยให้ผู้ป่วยพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ได้อย่างเต็ม ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...