Verbal Abuse ระวังความรุนแรงทางคำพูด สร้างแผลในใจลูกตลอดกาล
เมื่อพูดถึงความรุนแรง หลายคนจะนึกถึงการทำร้ายร่างกาย ทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บ เกิดบาดแผลหรือถึงแก่ชีวิต แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีความรุนแรงอีกชนิดหนึ่ง นั่นก็คือ ความรุนแรงทางคำพูด ที่แม้จะมองไม่เห็น แต่หากเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ หรือเยาวชนแล้ว ก็อาจสร้างบาดแผลในใจพวกเขาได้ตลอดกาล
Verbal Abuse คือ การใช้ถ้อยคำเชิงลบในการตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ การกระทำหรือพฤติกรรมของอีกฝ่าย ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ผู้ฟังมักรู้สึกว่าถูกด้อยค่า รู้สึกว่าตนเองเป็นคนไม่ได้เรื่อง เป็นผู้ต้องแบกรับความผิดไว้คนเดียว สิ่งที่น่าตกใจก็คือ ความรุนแรงทางวาจานั้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นในครอบครัว และบ่อยครั้งผู้ที่กระทำความรุนแรงนั้นกลับไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองกำลังใช้คำพูดทำให้เด็ก ๆ มีบาดแผลที่มองไม่เห็นติดตัวพวกเขาไปจนโต
ความรุนแรงทางคำพูดในครอบครัว ใกล้ตัวกว่าที่คิด
“ทำตัวแบบนี้ แม่ไม่รักหรอก”
“วุ่นวาย ! สร้างแต่ปัญหาตลอด”
“สอนไม่รู้จักจำ โง่จริง ๆ”
“รู้ว่าโตมาแล้วเป็นแบบนี้ ตอนเล็ก ๆ น่าจะเอาไปทิ้งถังขยะ”
คุ้น ๆ กับคำพูดเหล่านี้ไหมคะ ฟังผ่าน ๆ อาจรู้สึกว่าก็เป็นแค่คำพูดตำหนิเด็กธรรมดา ไม่ได้มีคำหยาบคาย ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่คำพูดเหล่านี้ หากได้ยินได้ฟังบ่อย ๆ เข้า ผู้ฟังก็จะคิดว่าเขาเป็นอย่างนั้นจริง ๆ แม่ไม่รักเขาจริง ๆ เขาเป็นตัวปัญหา เขาเป็นเด็กโง่ เขาไม่มีค่าพอจะเติบโตขึ้นมา ซึ่งทั้งหมดนี้เอง คือความรุนแรงทางคำพูดที่เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ในครอบครัว คำพูดเหล่านี้อาจกลายเป็นปมในใจเด็ก ๆ ทำให้พวกเขาไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มที่ เพราะสิ่งที่เขาได้ยินบ่อย ๆ จากคนในครอบครัว ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอที่จะประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ คำพูดเปรียบเทียบ หรือวิจารณ์รูปลักษณ์ เช่น “ไม่เห็นเก่งเหมือนน้องเลย” “อ้วนยังกับตุ่มยังอยากจะเต้นโชว์” หรือประชดประชัน เช่น “ถ้าไม่เชื่อก็อย่ามาเรียกฉันว่าแม่” ก็เป็นความรุนแรงทางวาจาที่นอกจากไม่มีประโยชน์แล้ว ก็ยังบั่นทอนจิตใจ และทำร้ายความเชื่อมั่นของผู้ฟังด้วย ถึงแม้ว่าจะพูดในเชิงติดตลก หรือลงท้ายด้วยการบอกว่าล้อเล่น ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำค่ะ ยิ่งหากคำพูดเหล่านั้นมาจากคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูหลักของเด็ก ๆ ความรุนแรงของคำพูดที่กระทำต่อจิตใจของเด็ก ๆ ก็อาจเพิ่มขึ้นทวีคูณ
ผลกระทบระยะสั้นจากความรุนแรงทางวาจา
ถึงแม้ว่าความเจ็บปวดอันเกิดจากความรุนแรงทางวาจา มองไม่เห็นได้ด้วยตา แต่ก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจ บ่อยครั้งทำให้เด็ก ๆ ไม่อาจหลุดพ้นจากคำพูดตีตราเหล่านั้นได้ ซึ่งผลกระทบระยะสั้นที่สามารถเห็นได้ทันที มีดังนี้
- ซึมเศร้า เก็บตัว หากพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู ตะโกน ตะคอกใส่เด็ก ๆ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม อาจสังเกตเห็นได้ว่าเด็ก ๆ มีอาการซึม ไม่ร่าเริง และอาจเก็บตัวออกห่างจากสังคม หากมีอาการนานเข้าควรพาลูกพบจิตแพทย์
- ไม่มั่นใจในตนเอง ไม่ชอบร่วมกิจกรรม เด็ก ๆ ที่พ่อแม่คอยให้กำลังใจและอยู่เสมอว่า “ลูกทำได้” หรือแม้จะทำไม่สำเร็จพ่อแม่ก็ปลอบใจ และสนับสนุนให้พยายามต่อไป จะมีความมั่นใจในตัวเอง ไม่กลัวที่จะล้มเหลว พวกเขาจะชอบเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในทางกลับกัน เด็ก ๆ ที่พ่อแม่ผู้ปกครองแสดงท่าทีสงสัยในความสามารถของพวกเขา เช่น “จะทำได้เหรอ” “แม่ว่าลูกต้องแพ้แน่เลย” คำพูดที่อาจเอ่ยมาโดยไม่ตั้งใจเหล่านี้ ทำลายความมั่นใจในตัวเองของเด็ก ๆ ได้มาก ทำให้เด็ก ๆ มักไม่ค่อยอยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ
- เกิดปมด้อย เด็ก ๆ ที่พ่อแม่ตวาด ตะโกนใส่ด้วยถ้อยคำเชิงลบเป็นประจำ จะเกิดความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ เมื่อไปโรงเรียน เข้าสังคมกับกลุ่มเพื่อนก็จะเกิดปมในจิตใจว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น ดีไม่พอสำหรับสิ่งต่าง ๆ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า หรือพฤติกรรมความรุนแรงอื่น ๆ ตามมาได้
ผลกระทบระยะยาวจากความรุนแรงทางวาจา
เด็ก ๆ ที่ต้องอยู่กับผู้ใช้ความรุนแรงทางวาจาตั้งแต่เล็กจนโต เป็นระยะเวลานาน จะได้รับผลกระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต กลายเป็นปัญหาระยะยาวในชีวิตด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
- ปัญหาด้านสุขภาพ เด็ก ๆ ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงทางวาจา มักมีอาการซึมเศร้า และใช้การกินเพื่อบำบัดความเศร้าของตัวเอง ไม่ว่าจะกินน้อยเกินไป จนเป็นโรคขาดสารอาหาร หรือ กินมากเกินไป จนกลายเป็นโรคอ้วน ส่งผลต่อพัฒนาการโดยรวม โดยเฉพาะการเติบโตของกระดูก และกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- ขาดความมั่นใจในตนเอง ความเชื่อมั่น และมั่นใจในตนเอง เป็นคุณสมบัติที่จะทำให้คน ๆ หนึ่งประสบความสำเร็จในชีวิตได้ การขาดความมั่นใจในตนเอง เนื่องจากถูกคุกคามทางคำพูด มีพ่อแม่ที่พูดบั่นทอนกำลังใจตลอดเวลา ส่งผลให้โอกาสที่เด็ก ๆ จะเติบโตไปประสบความสำเร็จในชีวิตลดลง เพราะเมื่อพ่อแม่ไม่มั่นใจในตัวพวกเขา พวกเขาก็ไม่สามารถที่จะมั่นใจในตนเองได้
- มองโลกในแง่ร้าย เมื่อเด็ก ๆ ถูกกระทำให้ตัวเองรู้สึกด้อยค่าด้วยวาจาของพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูอยู่เสมอ ๆ พวกเขาก็ไม่อาจที่จะมองโลกในแง่ดี หรือมองสิ่งต่าง ๆ ในแง่บวกเพื่อสร้างความหวังหรือกำลังใจให้ตัวเองได้ ส่งผลให้เมื่อเจอปัญหา พวกเขาจะมองไม่เห็นความหวังจนอาจซึมเศร้า และทำร้ายตัวเอง ในแง่ความสัมพันธ์ ก็อาจไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนหรือคนรักได้
- ติดสารเสพติด ผู้ที่มีความมั่นใจในตนเอง ตั้งเป้าหมาย และมองหาความสำเร็จ จะมุ่งมั่นมองหาหนทางสู่ความสำเร็จนั้น ในทางกลับกัน ผู้ที่รู้สึกว่าโลกช่างโหดร้าย มืดมน และตนเองไม่มีค่ามากพอ ก็จะมองหาบางสิ่งที่ช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากโลกแห่งความเป็นจริง และส่วนใหญ่สิ่งที่ทำให้พวกเขารู้สึกเช่นนั้นได้ ก็คือยาเสพติดนั่นเอง
- กลายเป็นผู้สร้างความรุนแรง ผลกระทบที่น่ากังวลที่สุดของการเป็นเหยื่อความรุนแรงไม่ว่าจะทางกายหรือวาจาก็คือ เด็ก ๆ ที่เป็นเหยื่อของความรุนแรง เมื่อโตขึ้นพวกเขาก็จะเป็นผู้สร้างความรุนแรงเอง ไม่ว่าจะในรูปแบบอาชญากร หรือกลายเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ใช้ความรุนแรงกับลูก ๆ หรือคนในครอบครัว
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครอง การฝึกควบคุมสติ และอารมณ์ของตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ จริงอยู่ว่าการดำรงชีวิตทุกวันนี้เต็มไปด้วยความเครียด คุณอาจเผลอตวาดหรือพูดแรง ๆ กับลูกโดยไม่ตั้งใจ การกระทำเหล่านี้หากเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แล้วพ่อแม่รู้สึกตัวควบคุมไม่ให้พลั้งเผลออีก ก็อาจไม่ส่งผลมากนัก แต่หากเกิดขึ้นประจำจนกลายเป็นกิจวัตร แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก ๆ ค่ะ
ความรุนแรงทางวาจาอาจเกิดขึ้นในครอบครัวใดก็ได้ แต่ก็เป็นไปได้มากว่าครอบครัวที่เผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียด เช่น ครอบครัวที่เผชิญกับปัญหาทางการเงิน ครอบครัวที่พ่อแม่กำลังจะหย่าร้าง หรือพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ต้องรับผิดชอบลูกลำพัง ก็อาจมีความเครียดมากกว่าจนเผลอใช้ความรุนแรงทางวาจา หรือมีการกระทำที่ทำให้ลูกรู้สึกถูกละเลยทอดทิ้งได้
ดังนั้น ไม่ว่ากำลังเผชิญสถานการณ์อะไร สิ่งที่ควรย้ำกับลูกอย่างสม่ำเสมอก็คือ คุณรักพวกเขามากแค่ไหน หากคุณกำลังอยู่ในช่วงที่ยากลำบาก อาจบอกเด็ก ๆ อย่างจริงใจว่า “แม่กำลังมีปัญหา ถ้าแม่หงุดหงิดใส่ลูก แม่ขอโทษนะ” พร้อมกับกอดลูก ไม่เพียงเด็ก ๆ จะได้รับความรัก แต่คุณอาจได้พลังจากการกอดด้วย
Related Courses
เสริมสร้างความสุข สำหรับเด็กวัยเรียน (ประถมศึกษา)
เรามักคิดว่าเด็กจะมีความสุข และไม่เครียดอะไร ใครจะรู้ เด็กก็มีช่วงที่ไม่มีความสุขและมีปัญหาเหมือนกัน คอร์สนี้จะทำให้ผู้ใหญ่ ได้หั ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
Collaborative classroom design
เรียนรู้ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) หลักการออกแบบกิ ...
เรียนรู้และเข้าใจเด็กแอลดี
เด็ก LD คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ การรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม อาจช่วยให้ผู้ป่วยพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ได้อย่างเต็ม ...