คุยกับลูกเรื่องเพศ เรื่องยากๆ ที่ไม่อยากให้เลี่ยง
สิ่งหนึ่งที่สร้างความกังวลใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเข้าสู่วัยรุ่นก็คือ การตอบคำถามหรือให้คำแนะนำเรื่องเพศกับเด็กๆ ค่ะ ซึ่งหากเป็นเมื่อหลายสิบปีก่อน พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ หรือกระทั่งเด็กๆ เอง อาจกลัวที่จะพูดเรื่องเหล่านี้ เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งต้องห้าม แต่เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิตอล เรื่องลับที่เคยถูกปิดกั้นก็อาจไม่ใช่เรื่องลับอีกต่อไป หนำซ้ำยังกลายเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” ที่ต้องให้ความรู้และทำความเข้าใจ เพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ นั่นเอง
จำเป็นแค่ไหน คุยกับวัยใสเรื่องเพศ
หากคุณอยากมั่นใจว่าลูกได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องเพศ การพูดคุยกับเด็กๆ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นและมีประโยชน์ค่ะ โดยเฉพาะสังคมสมัยใหม่ที่การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป และก็ใช่ว่าทุกข้อมูลที่ลูกเข้าถึงจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง การพูดคุยและให้คำแนะนำลูกในเรื่องเพศ เมื่อถึงวัยที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ และให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษค่ะ
อย่างไรก็ตาม พ่อแม่อาจรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่จะเริ่มบทสนทนา ดังนั้นก่อนคุยกับลูก พ่อแม่อาจลองปรับทัศนคติ และมุมมองเรื่องเพศของตนเองก่อน ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องสกปรกลามก เป็นวิถีชีวิตของผู้คน ที่เด็กๆ ก็จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ไม่ต่างจากมารยาทการเข้าสังคมอื่นๆ หากปรับมุมมองได้ตามนี้ก็น่าจะทำให้การพูดคุยกับลูกเรื่องเพศเป็นเรื่องง่ายขึ้น
เริ่มคุยจากเรื่องง่ายใกล้ตัว
เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วง Pre-teen คืออายุประมาณ 9-12 ปี เด็กแต่ละคนจะมีความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น ในเด็กหญิงอาจเริ่มมีหน้าอก เด็กชายอาจเริ่มมีหนวด มีขนหน้าแข้ง ฯ ผู้ใหญ่ควรชวนเด็กพูดคุยเรื่องความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย โดยอธิบายถึงความเหมือน และความต่างระหว่างเพศหญิง และเพศชาย รวมทั้งให้คำแนะนำในการดูแลตัวเอง นอกจากนี้ อาจชวนเด็กๆ ให้ฉุกคิดประเด็นต่างๆ เช่น จำเป็นไหมที่ผู้ชายต้องไว้ผมสั้นตลอดเวลา หรือลูกคิดยังไงถ้าผู้หญิงใส่เชิ้ตผูกเนคไท หมั่นกระตุ้นให้เกิดการคิด และพูดคุยด้วยเหตุผล เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกมีทัศนคติแบบเหมารวม (steryotype) ที่จำกัด หรือมองคนเพียงแค่รูปลักษณ์ภายนอก
เด็กหญิงอาจเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายชัดเจนกว่าเด็กชาย พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรถามหมั่นถามและรับฟังความรู้สึกของเด็กๆ ว่าพวกเขามีปัญหาหรือมีความรู้สึกอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง ผู้ใหญ่ควรหลีกเลี่ยงการล้อเลียนหรือพูดถึงรูปร่างหน้าตาให้เด็กๆ รู้สึกอับอาย (Body Shaming) เช่น โตมาแล้วไม่น่ารักเหมือนตอนเล็กๆ หรือ ตัวสูงยังกับยักษ์ บางครั้งผู้ใหญ่พูดอาจไม่คิดอะไร แต่สำหรับเด็กๆ วัยนี้อาจกลายเป็นปมในใจทำให้พวกเขามีทัศนคติเชิงลบต่อร่างกายตนเองได้
Safe Sex มากกว่าความรักคือความปลอดภัย
เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น สิ่งที่จำเป็นต้องคุยคือ การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย พ่อแม่บางครอบครัวคิดว่ายิ่งคุยก็อาจเป็นการชี้โพรงให้กระรอก แต่ในทางกลับกันยิ่งลูกมีข้อมูลที่ถูกต้องมาเพียงใด พวกเขาก็ยิ่งมีทางเลือกที่จะดูแลป้องกันตนเองได้มากเท่านั้น
ก่อนคุยกับลูกเรื่อง Safe Sex พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรหาข้อมูลสักนิดก่อนว่าลูกของเรามีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้มากแค่ไหน ในโรงเรียนสอนอะไรบ้าง เพราะบางทีเด็กๆ อาจรู้มากกว่าที่เราคิดก็ได้ หาโอกาสที่จะพูดเรื่องเหล่านี้ เช่น เมื่อลูกเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ หรือเมื่อในโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ กำลังมีประเด็นเรื่องเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ หรือกระทั่งเมื่อเข้าร้านสะดวกซื้อกับลูกแล้วเดินผ่านชั้นวางถุงยางอนามัย คุณสามารถใช้โอกาสเหล่านี้ในการเริ่มคุยกับลูกได้ทั้งสิ้น หากลูกมีท่าทางต่อต้านหรือไม่อยากคุยด้วย คุณควรบอกให้เขาเข้าใจว่าบทสนทนานี้เกิดขึ้นเพราะคุณความเป็นห่วง และคุณอยากรู้ว่าลูกมีความรู้ และเข้าใจเรื่องเซ็กส์ที่ปลอดภัยมากน้อยเพียงใด หากลูกไม่อยากให้คุณพูด คุณอาจเสนอให้ลูกพูดให้คุณฟังว่าพวกเขามีความเข้าใจอย่างไรบ้างก็ได้เช่นกัน
เมื่อลูกยอมเปิดใจคุย ควรเคารพมุมมองของลูก และไม่ตัดสิน คุณอาจเสนอคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมเพิ่มเติมรวมทั้งอธิบายให้ลูกฟังว่า ความรัก ต้องมาพร้อมกับความปลอดภัย หากอีกฝ่ายอ้างคำว่ารักเพื่อที่จะไม่ป้องกัน นั่นเท่ากับว่าเขาไม่รับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและต่อลูก ลูกมีสิทธิปฏิเสธและไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิด
ตอบคำถามยากๆ อย่างพ่อแม่มือโปร
ในครั้งหากเด็กๆ มีปัญหา มีคำถามที่หาคำตอบไม่ได้ พวกเขาอาจเดินเข้ามาขอคำแนะนำจากผู้ใหญ่อย่างเราๆ โดยที่เราคาดไม่ถึง ว่าแล้วลองมาเตรียมพร้อมตอบคำถามยากๆ อย่างพ่อแม่มือโปรกันหน่อยค่ะ
ถาม : จะรู้ได้อย่างไรว่าพร้อมมีเพศสัมพันธ์แล้ว?
ตอบ : ความพร้อมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อยากทำตามเพื่อน ทำเพราะความอยากรู้อยากลอง หรือทำไปเพราะความเหงา ฯลฯ แต่เหนือสิ่งอื่นใดความพร้อมมีเพศสัมพันธ์มาพร้อมความที่จะรับผิดชอบ ถึงแม้จะป้องกันและไม่ตั้งครรภ์ก็ตาม แต่ทั้งสองฝ่ายก็ต้องรับผิดชอบความรู้สึกตัวเอง หากเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เพราะชีวิตของลูกเพิ่งเริ่มต้น และสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องรีบร้อน จริงๆ แล้วยังมีการแสดงความรักอีกหลายวิธีที่ทำให้รู้สึกใกล้ชิดกัน เช่น การพูดคุยอย่างเปิดใจ เดินจูงมือ ใช้เวลาร่วมกัน ให้กำลังใจกันและกัน
ถาม : ทำอย่างไรหากแฟนต้องการมีเพศสัมพันธ์ แต่เรายังไม่พร้อม?
ตอบ : อธิบายให้ลูกฟังว่า เซ็กส์ที่ถูกต้อง จะต้องไม่เกิดจากความรู้สึกถูกบังคับหรือความกลัว เช่น กลัวว่าอีกฝ่ายจะทอดทิ้งหากเราไม่ยอมมีอะไรด้วย การมีเพศสัมพันธ์โดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม เรียกได้ว่าเป็นการข่มขืนแม้จะเกิดจากคนที่เรากำลังคบหาอยู่ก็ตาม เน้นย้ำให้ลูกเข้าใจว่า คำว่าไม่ ก็คือ ไม่ การบังคับไม่ใช่ความรัก สอนให้ลูกระวังหากมีการใช้สารเสพติดหรือดื่มเหล้า อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้การบังคับขืนใจเกิดขึ้นได้
ถาม : ทำอย่างไรหากรู้สึกว่าชอบเพศเดียวกัน
ตอบ : เป็นเรื่องธรรมดาของวัยรุ่นที่อาจจะสงสัยตัวเองว่าเราชอบอะไรกันแน่ เพราะช่วงนี้คือช่วงค้นหาตัวตน เมื่อเติบโตขึ้นลูกก็จะค่อยๆ ชัดเจนเอง ซึ่งไม่ว่าลูกจะชอบอะไรแบบไหน ก็เป็นสิทธิของลูกและพ่อแม่ยอมรับในการตัดสินใจนั้น การมีปฏิกริยาเชิงลบกับคำถามนี้ของลูก อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจและตัวตนของลูก ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า ทำร้ายตัวเอง หรือมีปัญหาบุคลิกภาพได้ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ การยอมรับจากครอบครัว
สุดท้ายคงต้องยอมรับว่าเราอยู่ในโลกยุคใหม่ ที่การเลี้ยงลูกแบบเดิมอาจไม่ได้ผลอีกต่อไป แทนที่จะปิดกั้น หลีกเลี่ยง ควรเปิดใจ ให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับลูก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เขาเติบโตอยู่ในโลกใบนี้ได้อย่างปลอดภัย
Related Courses
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...