การให้คำปรึกษาผู้ปกครองเด็กที่มีความต้องการพิเศษ : คุณครูสื่อสารอย่างไรดี
คำกล่าวที่ว่า “ลูกของคุณเป็นเด็กพิเศษ” คงเป็นคำกล่าวที่ผู้ฟังรู้สึกไม่สบายเป็นอย่างมาก สับสน วกวน และไม่อยากที่จะยอมรับ พร้อมทั้งปฏิเสธทันที ถ้าบุคคลที่กล่าวนั้นมีความน่าเชื่อถือที่ไม่เพียงพอ ซึ่งหลายๆ กรณีที่มาปรึกษามักจะพบว่า บุคคลที่กล่าวนั้นคือ คุณครู จากบทความที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านั้น ผมได้ชี้ประเด็นไปที่การทำความเข้าใจ และเปิดใจยอมรับสำหรับผู้ปกครอง
ในบทความนี้ผมจะเน้นย้ำในเรื่องการให้คำปรึกษาผู้ปกครองเด็กที่มีความต้องการพิเศษโดยครู ก่อนอื่นคุณครูต้องเข้าใจก่อนว่า คุณครูไม่ใช่แพทย์ บทบาทในการตัดสินและวินิจฉัย จะเป็นบทบาทหน้าที่ของแพทย์ รวมถึงการตัดสินใจแทนผู้ปกครองว่าให้นักเรียนไปรับยาที่โรงพยาบาล ถึงแม้ว่าคุณครูจะเป็นบุคคลที่เห็นพฤติกรรมของนักเรียนมากที่สุดก็ตาม ดังนั้น หน้าที่หลักของคุณครู คือ เก็บรวบรวมข้อมูล สังเกตพฤติกรรม และจัดการเรียนการสอนที่เอื้อต่อความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยคุณครูควรตระหนักอยู่เสมอว่า การจะบอกกับผู้ปกครองถึงความเสี่ยงต่อความเป็นเด็กที่มีความต้องพิเศษของนักเรียนในชั้นเรียนนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และอ่อนไหวต่อผู้ปกครองมาก เพราะผู้ปกครองที่มองเห็นเพียงพัฒนาการในด้านดีของลูก และมองข้ามพัฒนาการที่ช้า เมื่อผู้ปกครองทราบว่าบุตรหลานของตนมีความบกพร่องทางด้านใดด้านหนึ่ง หรือเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษผู้ปกครองแต่ละท่านก็จะมีปฏิกิริยาที่ต่างกันไปแต่ส่วนใหญ่แล้วจะตกใจ และปฏิเสธ โดยที่ไม่ได้รับฟังเหตุผลถึงเรื่องที่จะชี้แจง และในช่วงนี้ถ้าครูยังพยายามยัดเยียดข้อมูลต่าง ๆ ให้ อาจทำให้รู้สึกโกรธ และไม่ให้ความร่วมมือ
อย่างไรก็ตามครูสามารถพยายามให้เห็นข้อมูลเชิงประจักษ์จะช่วยให้ผู้ปกครองเกิดการยอมรับได้ ผู้ปกครองอาจไม่ตอบสนองในสักระยะหนึ่ง แต่ในระหว่างนั้นผู้ปกครองเองจะเริ่มสังเกตลูก และเริ่มเก็บข้อมมูล เรียบเรียงความคิดของตนเอง และถ้าพบว่าลูกตนเองเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษจริง จะเริ่มเปิดใจยอมรับและหาทางออกร่วมกับครู
คำพูดนั้นมีผลต่อความรู้สึกและการกระทำ หากคุณครูพูดบวก การกระทำของคุณครูก็จะสร้างสรรค์ หลายครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครองที่มีลูกที่มีความต้องการพิเศษหมดหวัง หมดกำลังใจ ท้อแท้ จากคำพูดของคนรอบตัวที่ยังไม่มีความเข้าใจถูกต้อง การเริ่มต้นด้วยทัศนคติเชิงบวก จึงมีความจำเป็นอย่างมาก คุณครูควรเลือกใช้คำพูดที่เป็นเชิงบวก เพิ่มคุณค่า และให้เกียรติแก่บุคคลที่มีความต้องการพิเศษ เลิกใช้คำพูดที่เหมารวม หรือแบ่งแยก เพราะเราทุกคนแตกต่างในความเหมือน โดยมีหลักการสื่อสารกับผู้ปกครองเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ดังต่อไปนี้
- เด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรือมีความจำเป็นพิเศษก็คือ คน ๆ หนึ่ง ควรใช้คำศัพท์ที่พูดเหมือนที่คุณครูพูดกับนักเรียนปกติทั่วไป
- คุณครูควรหลีกเลี่ยงคำที่เป็นเพียงการวินิจฉัย คือ ไม่พูดเพียงเพราะต้องการจะตัดสินนักเรียนคน ๆ หนึ่งว่าเขาเป็นเด็กบกพร่องหรือมีความต้องการจำเป็นพิเศษ
- ภาวะความต้องการพิเศษไม่ใช่ “โรค” ยกตัวอย่าง ควรใช้คำว่า เขามีภาวะออทิสซึม ไม่ใช่ น้องออ เป็นต้น
- เน้นความสามารถของนักเรียน ไม่ใช้ข้อจำกัดที่นักเรียนมีมาเป็นตัวชี้วัด และกล่าวอ้าง เลี่ยงการใช้คำพูดที่มีความหมายในด้านลบ
- ความสำเร็จของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ น่าทึ่งตรงที่นักเรียนเหล่านั้น ใช้ความพยายาม และผ่านอุปสรรคเพื่อที่จะทำในสิ่งทั่วไปได้
- ส่งเสริมความเข้าใจ การให้ความเคารพ การให้เกียรติ และมุมมองในเชิงบวก
กล่าวโดยสรุปแล้ว การสื่อสารที่ดีกับผู้ปกครองเด็กที่มีความต้องการพิเศษไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าคุณครูมีความเข้าใจ มีข้อมูลเชิงประจักษ์ เลือกใช้คำพูด และมีทัศนคติในเชิงบวก จะช่วยให้ผู้ปกครองเปิดใจยอมรับ และคุณครูจะสามารถดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานักเรียนได้อีกทาง บทความนี้ต้องขอขอบคุณนางสาวอรัญญา ธาราวร ศึกษานิเทศก์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ที่เอื้อเฟื้อเอกสารประกอบในบทความ และในบทความถัดไปผมจะเน้นย้ำเรื่องเทคนิค หรือขั้นตอนในการให้คำปรึกษากับผู้ปกครองอีกครั้งหนึ่ง ถ้าคุณครู ผู้ปกครอง หรือท่านอื่น ๆ ที่สนใจสามารถติดตามในบทความถัดไปได้ครับ
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...