เด็กออทิสติก เรียนได้ถึงระดับไหน
ต้องอุตสาหะขนาดไหน ถึงจะเรียนจบ
เมื่อเรามีลูกเป็นเด็กพิเศษ แน่นอนค่ะว่า เราคงมีสิ่งมีคาใจเราว่า “แล้วลูกเราจะเรียนได้ถึงระดับไหนกันนะ”
สำหรับเรื่องราวของน้องชายนีท ตอนแรกๆ เราก็สงสัยค่ะ ว่าเขาจะเรียนได้ถึงระดับไหน เพื่อให้เรามาวางแผนชีวิตกันว่า ถ้าเขาเรียนระดับสูงไม่ได้ เราจะทำอะไรเพื่อช่วยเขาดี เช่น เปิดร้านให้เขาค้าขาย เป็นต้น
ความสงสัยเช่นนี้ คนตอบคำถามเราได้คือคุณหมอประจำตัวน้องค่ะ นีทจำไม่ได้จริงๆว่า ที่บ้านคุยอย่างไรกับคุณหมอ แต่เท่าที่จำได้คือ คุณหมอบอกว่า “ลองให้น้องชายไปวัด IQ ดูหน่อย หมออยากรู้ว่า IQ เขาเท่าไร”
หลังจากที่คุณหมอบอก พี่พยาบาลหน้าห้องก็พาน้องชายไปพบผู้ประเมิน IQ ซึ่งน้องชายก็เข้าไปวัด IQ ในห้องๆหนึ่งค่ะ พอน้องชายออกมาจากห้องนั้น เราก็รอกันอยู่สักพัก แล้วก็กลับมาพบคุณหมออีกครั้ง
คุณหมอบอกประมาณว่า IQ น้องไม่แย่ อยู่เกณฑ์ที่โอเคเลยค่ะ (ตอนนั้น ก็นานแล้วเลยจำไม่ได้ทุกคำที่คุณหมอพูด นีทยังจำไม่ได้เลยว่า IQ น้องชายเท่าไร) แต่โดยสรุปใจความสำคัญก็คือ หมอบอกว่าน้องชายเรียนได้เหมือนเด็กปกติ และน่าจะเรียนจบปริญญาตรีน้า นีทคิดว่า IQ ที่น้องมีนั้น มันเหมือน “ลิขิตฟ้า”
แต่เส้นทางที่กว่าน้องชายจะจบปริญญาตรีนั้น มันคือ “ลิขิตตน” เพราะนีท และตัวน้องต้องช่วยกันผ่าฟันกับอุปสรรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การเรียนที่ยากขึ้น การทำข้อสอบอัตนัย การเลือกสาย การเลือกคณะ เป็นต้น
ความยากนั้นเริ่มตั้งแต่การเลือกสาย ตอนม.4 เลยค่ะ ที่โรงเรียนของน้องนั้น จากม.ต้น 10 กว่าห้อง เหลือม.ปลายแค่ 5 ห้อง ซึ่งหมายความว่า มีเด็กเกินครึ่งที่ไม่ได้ต่อที่นี้ โดยระบบเกณฑ์คัดเลือกคือ ใครที่มีเกรดเฉลี่ยเกินที่กำหนด สามารถเข้าเรียนต่อได้เลย แต่ใครที่เกรดเฉลี่ยนไม่ถึงและอยากเรียนต่อ ต้องทำการสอบเข้า โดนการสอบเข้าของเขานั้นมี 2 รอบ ก่อนจะไปถึงการสอบคือ การเลือกสาย บอกตามตรงว่า เราไม่ได้เลือกตามหลักของการค้นหาตนเองว่า ใครชอบอะไรก็ต้องเรียนสิ่งนั้น เพราะตอนนั้นน้องชายก็ยังไม่รู้ว่าชอบอะไร กับ คุณต้องสอบเข้าเรียนให้ได้ และด้วยความที่ว่า สายศิลป์คำนวณ มีคู่แข่งน้อยที่สุด น้องจึงเลือกสอบในสายนั้น พอน้องชายสอบติด ก็เข้าสู่ชีวิตม.ปลาย ในสายตาของคนทั่วไป นีทมักจะกลายเป็นตัวร้ายว่าเป็นคนชอบบังคับน้องชาย ให้เรียนให้เก่ง แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ นีทมองแค่ว่า ถ้าน้องชายจะเรียนเพื่อไปมหาวิทยาลัย น้องต้องได้เกรดเฉลี่ยเบื้องต้นเพื่อรับตรง หรือมีเกรดที่พอโอเค เพื่อช่วยให้คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เยอะขึ้น ดังนั้นเกณฑ์ที่นีทตั้งกับน้องชาย คือ ในแต่ละเทอมคุณต้องได้เกรดเฉลี่ย 3 ขึ้นไปนะ
นีทประเมินว่า สำหรับน้องชายนีทมันไม่ยากขนาดนั้น เพราะมันมีคะแนนเก็บ งานกลุ่ม สอบย่อย เต็มไปหมด เพียงแค่น้อง ต้องบังคับตนเองให้อ่านหนังสือ ซึ่งน้องชายก็ทำได้ แต่มีอยู่วิชาหนึ่งที่นีทคิดว่าแปลก คือ วิชาคณิตศาสตร์เพิ่มเติม (เป็นวิชาที่เด็กสายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เขาเรียนกัน) เป็นช่วงประมาณ ม. 4 และม. 5 ต้นๆ ที่น้องชายไม่ค่อยได้วิชานี้ ทั้งๆ ที่อ่านหนังสือเยอะ นีทเลยไปค้นว่าเกิดอะไรขึ้น สรุปคือ น้องไม่ได้ทำโจทย์เยอะเท่าที่ควร จึงทำไม่ค่อยได้ นีททำง่ายมากคือ ซื้อหนังสือที่มีโจทย์เยอะๆมาให้ทำ ตัวนีทไม่เคยมองเลยว่า ต้องไม่จริงจังกับน้องเพราะเขาเป็น “เด็กพิเศษ” นีทแค่รู้สึกว่า เมื่อน้องชายเข้าสู่โลกความเป็นจริง เข้าสู่สนามรบของการเรียน การเข้ามหาวิทยาลัย นี้คือเรื่องปกติ และสิ่งที่นีทสอนน้องไว้ คือ ตั้งเป้าหมายไว้ ทำให้เต็มที่ ถ้าไม่ได้จริงๆ ค่อยลดเป้าหมาย สำหรับการเข้ามหาวิทยาลัย รอบนี้ นีทว่าชีวิตเขามีอิสระมากขึ้น และมีเวลา 3 ปีช่วงม.ปลายที่ได้เริ่มค้นหาตนเอง..... เราจึงมาค่อยๆ เลือกมหาวิทยาลัย และคณะที่เหมาะกับน้องชาย น้องชายเป็นคนชอบความเป็นญี่ปุ่น ชอบการ์ตูน หนังหนัง ชอบเกม (แต่สมัยม.ปลายไม่ได้เล่นเลย เพราะเคยติดเกมมาก่อน จึงโดนควบคุมไม่ให้เล่นเกม) การเรียนระดับกลางๆ อยากเป็นอะไรไม่แน่ชัด แต่เจ้าตัวอยากเป็นนักเขียนนิยาย ลักษณะที่เห็นคือ น่าจะต้องไปอักษร หรือ นิเทศน์ แต่ 2 คณะนี้เป็นคณะที่เข้ายาก และน้องชายมีโจทย์ที่สำคัญยิ่งคือ ต้องเรียนในกรุงเทพเท่านั้น และต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่กลับบ้านได้ เพราะน้องชายจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของเรา นีทนั่งคิดว่าทำยังไงดี มันเหมือนว่าตัวเลือกมันเยอะ แต่จริงๆ มีข้อจำกัด และนีทก็นึกขึ้นได้ว่า มีเพื่อนคนหนึ่งของนีท ที่สมัยป. 6 เขาเลือกอยากไปเรียนด้าน IT ที่สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เพราะเพื่อนชอบความเป็นญี่ปุ่นมาก และสนุกกับการใช้ชีวิตที่สถาบันนี้ เพราะได้อยู่กับวัฒนธรรมของญี่ปุ่น เราเลยเริ่มรู้สึกว่า ลองให้น้องคิดถึงสิ่งๆ นี้ไหม เขาอยากจะสนุกกับความเป็นญี่ปุ่นที่สถาบันนี้ก็ได้ แต่คณะที่น้องสามารถเข้าได้ในสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น มีแค่คณะบริหาร ซึ่งมันอาจจะดูไม่ตรงกับความต้องการของน้องชายที่เคยพูดว่า “อยากเป็นนักเขียน”
เราเลยบอกเขาว่า การที่เราชอบดูหนัง ดูการ์ตูน ไม่ได้หมายความว่า น้องต้องเป็นคนสร้างเท่านั้น แต่น้องสามารถทำงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ชอบได้ เช่น ทำงานในบริษัทด้านหนังเป็นต้น เพราะนีทคิดว่า ถ้าเราเริ่มต้นจากความชอบ มันมีความเป็นไปได้เยอะแยะในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับความชอบ และถ้ายังอยากจะเขียนจริงๆ เขียนในเว็บไปก่อนก็ได้ ไม่มีใครว่า เพราะไม่มีใครทำลายฝันเรา นอกจากตัวเราเอง และเดี๋ยวนี้คนเรามีอาชีพเสริมเยอะมาก น้องอาจจะทำงานหลัก และนักเขียนเป็นงานเสริมก็ได้
ดังนั้น พอเคลียร์ใจเรื่องนี้ น้องจึงเลือกสอบเข้าคณะบริหารที่ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น แต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย มันก็ไม่ง่าย เพราะคณะบริหาร มันคือ การเรียนวิเคราะห์ และสอบข้อเขียนเยอะมาก ซึ่งน้องมักจะตกม้าตายกันตรงนี้ วิธีการแก้ไขของนีท เพื่อให้น้องชายเรียนได้คือ
1. สรุปบทเรียนมาให้พี่หน่อยผ่านการเขียน เพื่อดูภาษาการเขียน ว่าเขียนรู้เรื่องไหม
2. นีทพาน้องชายแก้ไขภาษาเขียนด้านทฤษฎีว่า เขียนแบบไหนให้คนอ่านเข้าใจ หรือเนื้อหาภาคทฤษฎีไม่มีใจความสำคัญ เรียกง่ายๆ ว่าตรวจการเขียน
3. นีทนำทฤษฎีที่น้องชายเขียนมาสร้างเป็นโจทย์ประยุกต์ให้น้องชายทำส่ง เช่น จงอธิบาย กลไกทางการตลาดของบริษัท...... เป็นต้น
4. นั่งแก้งานเขียนภาคประยุกต์ให้น้องชาย
ต้องบอกเลยค่ะว่าการเรียนจบมหาวิทยาลัยของน้องชาย แม้จะไม่ได้เกรดที่สูงมากนัก (น่าจะได้ 2 ปลายๆ หรือ 3 แบบน้อยมาก) แต่มันมาจากหยาดเหงื่อแรงกาย ทั้งของพี่และน้อง เพราะเราก็ทำงานหนักมากและน้องก็ทำการบ้านหนักมากเช่นกัน แต่มันคุ้มที่น้องชายจะได้พิสูจน์ว่า ทุกอย่างมันมาจาก ลิขิตฟ้าและมานะตน มันมาทั้งพรสวรรค์และพรแสวง ทั้งสองอย่างมันทำให้เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ให้สามารถเป็นไปได้
“หากเราสงสัยว่าลูกเราจะเรียนได้ถึงไหน สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกสุด คือให้ลองปรึกษาคุณหมอดูค่ะ เพราะท่านจะสามารถให้คำตอบเบื้องต้นกับเราได้ จากนั้นพวกเราจะได้มาวางแผนอนาคตของเขากันค่ะ เพราะการรู้ความจริง ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่มันจะทำให้เรากำหนดเป้าหมายได้ และหาวิธีสร้างเส้นทางที่จะไปถึงค่ะ”
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...