ทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษในวัยเรียน : ร่วมด้วยช่วยกัน
จากคราวที่แล้วผมได้แนะนำผู้ปกครองให้สังเกตบุตรหลานหลังจากที่ได้รับข้อมูลจากโรงเรียน ดังนี้ 1) เปิดใจรับฟัง 2) สังเกตพฤติกรรมเพิ่มเติม 3) ทดสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ 4) ตัดสินใจและเปิดใจยอมรับ และ 5) หาแนวทางช่วยเหลือทางการศึกษาร่วมกับครู และนักสหวิชาชีพ หลังจากที่ผู้ปกครองได้พาบุตรหลานไปทดสอบโดยผู้เชี่ยวชาญแล้วจะทราบข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น แบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ
1. สำหรับเด็กที่ไม่พบความบกพร่องในด้านต่าง ๆ (ไม่ใช่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ) ผู้ปกครองและครูประจำชั้นร่วมกันสังเกตพฤติกรรมเด็กต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง อาจเป็นไปได้ว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือพฤติกรรมการเรียนบางอย่าง รวมถึงการจัดการเรียนการสอนของครู ส่งผลต่อปัญหาในการเรียนของเด็กโดยตรง
2. สำหรับเด็กที่ไม่พบความบกพร่องในด้านต่าง ๆ (ไม่ใช่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ) แต่มีความยากในการเรียน เช่น นักเรียนที่ไอคิวปกติ เรียนรู้ปกติ แต่มีความช้าในการอ่าน การเขียน เป็นต้น เด็กกลุ่มนี้ ผู้ปกครอง และครูควรร่วมมือกันในการหาวิธีสอนที่ช่วยกระตุ้นการอ่าน และการเขียน หรือกระตุ้นทักษะในการเรียนให้กับเด็ก และร่วมมือกันปฏิบัติแนวทางที่ตกลงใช้ร่วมกันทั้งทางโรงเรียน และทางบ้าน โดยผู้ปกครองอย่าลืมที่จะติดต่อสอบถามพฤติกรรมของบุตรหลานกับคุณครูเป็นประจำชั้น และให้ข้อมูลย้อนกลับกับทางโรงเรียนด้วย
3. สำหรับเด็กที่พบความบกพร่องในด้านใดด้านหนึ่ง (พบว่าเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ) ผู้ปกครองต้องเปิดใจยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ และบอกข้อมูลต่าง ๆ กับทุกคนในครอบครัวเพื่อให้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นร่วมกัน นอกจากนี้ให้ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ และคุณครูในการให้การช่วยเหลือ การกระตุ้น การฝึกปฏิบัติ โดยส่วนมากแล้วคุณครูในโรงเรียนจะเน้นการฝึกด้านวิชาการ โดยเฉพาะทักษะการอ่าน การเขียน และการคำนวณ ถ้าเด็กมีความบกพร่องในระดับที่รุนแรง ชัดเจน ผู้ปกครอง และโรงเรียนควรร่วมกันจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) โดยไม่นำผลการสอนไปวัด และประเมินผลแข่งขันกับเพื่อนในชั้นเรียน แต่สร้างขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเด็กให้เต็มที่ตามศักยภาพของตัวเด็กเอง แต่ถ้าเด็กมีความบกพร่องในระดับที่ไม่รุนแรง คุณครูอาจปรับวิธีการสอน การวัด และประเมินผล สื่อการสอน และการดูแลในชั้นเรียนให้เหมาะสมต่อการเรียนรู้และข้อจำกัดในการเรียนของเด็กแต่ละคน ในส่วนนี้ผมอยากให้ผู้ปกครองหันมาให้เวลาในการดูบุตรหลานเพิ่มมากขึ้น สังเกตพฤติกรรมเพิ่มมากขึ้น ใช้วิธีการช่วยเหลือหรือพัฒนาบุตรหลานในทิศทางเดียวกันกับคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ และโรงเรียน
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การช่วยเหลือ และพัฒนาเด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากการร่วมมือจากตัวผู้ปกครองเองแล้วบุคคลอื่นในบ้านควรมองไปในทิศทางเดียวกัน จะยิ่งช่วยให้การปรับพฤติกรรมในการปรับตัว การใช้วิธีการต่าง ๆ ประสบผลได้ดียิ่งขึ้น อีกประการหนึ่งที่สำคัญต้องไม่แปลกแยกเด็กออกจากเพื่อน ครอบครัว และสังคม เด็กยังต้องใช้ชีวิตตามปกติ เพียงแค่เพิ่มการฝึก หรือการปรับพฤติกรรมเท่านั้น การให้กำลังใจ การเสริมแรง การกระตุ้นเตือน เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องทำอยู่เสมอ ทำให้เด็กภูมิใจในสิ่งที่ตนทำได้ดีและมีความสุขกับการพัฒนาตนเอง
ในบทความนี้ผมเขียนจากประสบการณ์ในการเป็นครูในโรงเรียนมาก่อน ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย การพัฒนาเด็กจะเห็นได้อย่างชัดเจน และทำให้ทุกฝ่ายมีกำลังใจในการพัฒนาเด็ก ในบทความถัดไป จะได้พูดถึงการให้คำปรึกษาผู้ปกครองโดยครู ทุกท่านสามารถติดตามต่อไปได้ครับ
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
เรียนรู้และเข้าใจเด็กแอลดี
เด็ก LD คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ การรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม อาจช่วยให้ผู้ป่วยพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ได้อย่างเต็ม ...
แนวทางลดการบูลลี่ในสถานศึกษา
การถูกรังแก ล้อเลียน ดูหมิ่น เหยียดหยามผู้อื่นส่งผลให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวลทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ปัญหาเหล่านี้จ ...
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...