ทำอย่างไรเมื่อลูกเป็น Learning Disabilities (LD)
เมื่อเด็ก ๆ มีปัญหาด้านการเรียน เช่น อ่านไม่คล่อง งานไม่เสร็จ เรียนช้า คะแนนน้อย ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้อาจจะไม่ได้มาจากการไม่ตั้งใจเรียน หรือความขี้เกียจของเด็ก ๆ เสมอไป แต่เป็นสัญญาณที่พ่อแม่ควรสังเกตลูกว่ามีความผิดปกติด้านความบกพร่องในการเรียนรู้ หรือ Learning Disabilities (LD) หรือไม่ เพราะถ้าเด็ก ๆ มีความบกพร่องในการเรียนรู้ (LD) การตำหนิ และกดดันให้เขาขยันมากขึ้น พยายามมากขึ้น นอกจากจะบั่นทอนความมั่นใจ และการนับถือตนเอง (self-esteem) ของพวกเขาแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดอีกต่างหาก เพราะ LD ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการขาดแรงจูงใจในการเรียน แต่มาจากความผิดปกติของร่างกายและสมอง ซึ่งควรจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมโดยเฉพาะช่วงก่อนวัยเรียน เพื่อให้เด็ก ๆ เตรียมพร้อมเข้าสู่วัยเรียนได้ดียิ่งขึ้น
รู้จัก “ความบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ Learning Disabilities (LD)”
Learning Disabilities หรือ Leaning Disorder (LD) คือ กลุ่มอาการที่ขาดทักษะ หรือมีปัญหาด้านการเรียนรู้ อาจเป็นการอ่าน เขียนและการคำนวณ โดยคาดว่ามีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ ความผิดปกติของโครโมโซม หรือการทำงานของสมองบางตำแหน่ง (ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอเรียกสั้น ๆ ว่า LD เพื่อความกระชับ และเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น) แต่ขอบอกก่อนว่า LD มีอาการคนละอย่างกับโรคสมาธิสั้น (ADHD) เพียงแต่จะพบสองอย่างนี้ควบคู่กันได้บ่อย ๆ นอกจากนี้ LD ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความฉลาด หรือความสามารถในการดูแลจัดการชีวิตตัวเอง เพราะเด็กที่เป็น LD ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เพียงแต่มีอุปสรรคด้านการเรียนรู้ มองเห็น ได้ยิน หรือเข้าใจบางอย่างแตกต่างจากเด็กทั่วไป ซึ่งหลัก ๆ จะมีความผิดปกติในด้านต่อไปนี้
- ความบกพร่องด้านการอ่าน (Reading disability) หรือ Dyslexia ถ้าใครที่เคยดูเพอร์ซีย์ แจ็กสัน น่าจะนึกภาพได้ง่ายขึ้นเพราะเพอร์ซีย์ ก็มีความผิดปกติด้านนี้เช่นกัน โดยเด็กที่เป็น Dyslexia จะมีทักษะการอ่านที่ช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน เข่น อ่านไม่คล่อง มีปัญหาเรื่องหลักภาษา ไม่สามารถเข้าใจเรื่องที่อ่านได้ เป็นต้น
- ความบกพร่องด้านคณิตศาสตร์ (Math disability) หรือ Dyscalculia โดยเด็กที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการคำนวณ อย่างการบวกลบคูณหาร หลักคณิตศาสตร์ การแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้ช้าและ ยากลำบากกว่าเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน
- ความบกพร่องด้านการเขียน (Writing disability) หรือ Dysgraphia ซึ่งอาจเป็นความผิดปกติในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กในการเขียน ทำให้ใช้เวลานานในการประมวลผลสิ่งที่คิดออกมาเป็นตัวอักษร และมีปัญหาเรื่องการสะกดคำรวมทั้งการเขียนให้ถูกต้อง
จะเห็นได้ว่า LD ไม่ได้มีอาการที่บอกได้ชัดเจน หรือมีรูปแบบเหมือนกันซะทั้งหมด ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องสังเกตอาการเบื้องต้นของลูก เช่น จดจำ และเขียนชื่อตัวเองได้ยาก มักจะสะกดผิด และอ่านช้า ไม่เข้าใจคำสัมผัส หรือคำคล้องจอง เข้าใจเรื่องการนับวัน/เวลาได้ยาก เป็นต้น ก่อนจะพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่ามีความบกพร่องทางการเรียนรู้หรือไม่
ขอบคุณภาพจาก https://bit.ly/3iWC6Sm
เข้าใจเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD)
เมื่อเด็ก ๆ ไม่สามารถเข้าใจ หรือเรียนตามเพื่อนวัยเดียวกันได้ทัน อาจจะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกหงุดหงิด หรือรู้สึกแย่ที่ตนเองทำไม่ได้ เลยพยายามหลีกเลี่ยง ปฏิเสธการอ่าน เขียน หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง มักจะตอบว่า “หนูไม่รู้” หรือ “ไม่เอา ผมทำไม่ได้” ทำงานช้า ทำการบ้านไม่เสร็จ หรือลอกการบ้านเพื่อนมากกว่าทำเอง เพราะถ้าเป็นการลอก เด็กที่เป็น LD จะยังขียนได้เร็วปกติ เนื่องจากไม่ได้มีปัญหาด้านการทำงานของมือ และสายตา แต่จะมีปัญหาเรื่องการเรียบเรียงคำ การสะกด หรือสื่อความหมายผ่านการเขียน ทำให้เขาทำการบ้านเองได้ช้ากว่าเมื่อเทียบกับการลอก ผู้ใหญ่บางคนเลยเข้าใจผิดไปว่าเด็กคนนั้นขี้เกียจ ดื้อ ก้าวร้าว และไม่พยายาม ยิ่งถ้าพ่อแม่กดดันให้เรียนพิเศษเยอะ ๆ หรือดุลูกว่าทำไมไม่เก่ง ไม่รับผิดชอบ ก็ยิ่งเป็นการสร้างปมด้อย ตอกย้ำให้เขารู้สึกแย่ และมีการนับถือตนเอง ( self-esteem) ต่ำลง
ดังนั้น ผู้ปกครอง คุณครู หรือแม้แต่คนทั่วไปจึงควรจะทำความเข้าใจข้อจำกัดของเด็กที่เป็น LD ไม่ต่อว่า หรือตอกย้ำให้เด็กรู้สึกมีปมด้อย ไม่บังคับให้เขาทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ มากจนเกินไป แต่ค่อย ๆ หาวิธีที่เหมาะสมให้เด็ก ๆ ได้ฝึกฝน และเรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งเปลี่ยนจากความคาดหวังในตัวเขา มาเป็นการให้กำลังใจ และเชื่อมั่นในตัวเขา ซึ่งการเชื่อมั่นในที่นี้ ไม่ใช่การสปอยล์ หรือปลอบใจเด็ก ๆ แต่เป็นความเชื่อว่าเขาจะค่อย ๆ เรียนรู้ และพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้ในแบบของเขาเอง
วิธีดูแลลูกเมื่อมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD)
จริง ๆ แล้วการดูแลเด็ก LD ควรอาศัยความร่วมมือจากแพทย์ โรงเรียน และครอบครัวร่วมกัน ซึ่งในแง่ของครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถดูแลเด็ก ๆ ที่เป็น LD ได้ดังนี้
- ปรึกษาแพทย์ หากมีอาการหรือโรคอื่นร่วมด้วย เช่น สมาธิสั้น ซึมเศร้า เพื่อหาวิธีบำบัดรักษา
- พูดคุยกับคุณครู เพื่อหาวิธีการประเมินผลเด็ก ๆ ที่อาจจะแตกต่างจากเด็กคนอื่น หรือวิธีการเรียนการสอนที่เหมาะสม เช่น ให้เวลาทำข้อสอบเพิ่มมากขึ้น มีคลาสเรียนเล็ก ๆ เพิ่มเติมแต่ละสัปดาห์ สำหรับเรียนอ่านเขียนโดยเฉพาะ
- พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ อธิบายให้เขาเข้าใจข้อจำกัดของตัวเอง พร้อมกับให้ความเชื่อมั่นกับเด็ก ๆ ว่าเขาจะสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ เพื่อไม่ให้เด็ก ๆ ตีความว่าข้อจำกัดนี้เป็นปมด้อยของตัวเอง
ขอบคุณภาพจาก https://bit.ly/30XtYuX
- หากิจกรรมอื่น ๆ ให้เขา ได้เรียนรู้ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เพื่อให้ลูกได้ลองหาความถนัดด้านอื่น ๆ ของตัวเอง
- สังเกตว่าลูกสนใจอะไร เพื่อจะได้หาสื่อการสอนที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของเขา แล้วค่อย ๆ ฝึกอ่าน เขียน หรือคำนวณจากสิ่งที่สนใจ เพื่อลดความรู้สึกต่อต้าน และเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรู้
- ใส่ใจ ติดตาม และถามไถ่อยู่เสมอ ซึ่งไม่ใช่การจี้ถาม หรือพยามบังคับให้ทำเสร็จ แต่เป็นการกระตุ้นให้เขาฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ แม้จะใช้เวลานานหน่อย แต่ถ้ามีพ่อแม่ผู้ปกครองคอยอยู่ข้าง ๆ เขาจะไม่รู้สึกว่าถูกทิ้งให้พยายามอย่างโดดเดี่ยว
สุดท้ายนี้ผู้เขียนเชื่อว่า สิ่งสำคัญของการดูแลเด็กที่เป็น LD หรือแม้แต่เด็กทั่วไป คือ การไม่ตัดสินคุณค่าของเด็กจากความเก่ง หรือความสามารถทางวิชาการ แต่เปลี่ยนมาเป็นความเข้าใจเงื่อนไข ข้อจำกัด รวมทั้งจุดแข็งของเด็กแต่ละคน แล้วหาวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเด็กคนนั้น เพื่อให้เขาไม่รู้สึกว่าตัวเองปมด้อย หรือแปลกแยกไปจากสังคม รวมทั้งภูมิใจที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในแบบของตัวเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20161215143257.pdf
https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generaldoctor/09042014-1230
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
Collaborative classroom design
เรียนรู้ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) หลักการออกแบบกิ ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...