เข้าใจไม่ติติง เมื่อลูกเป็นติ่งไอดอล
บ้านไหนมีลูกหลานวัยรุ่น คงเคยเห็นอาการคลั่งไคล้ศิลปินของเด็ก ๆ หรือที่สมัยนี้เรียกว่าการเป็นติ่ง ไม่ว่าจะติ่ง Blackpink ติ่ง NCT ติ่ง BTS ติ่ง EXO ติ่งไบร์ท-วิน ติ่งมิว-กลัฟ สารพัดความคลั่งไคล้คนดัง ที่บางครั้งพ่อแม่ก็มองว่า มากเกินไป และไกลเกินกว่าที่ผู้ใหญ่จะเข้าใจได้ ทั้งความทุ่มเท แรงกาย แรงใจ ไปจนถึงทุนทรัพย์ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือเปล่า ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครองเราควรรับมืออย่างไร ลองมาทำความเข้าใจพฤติกรรมติ่งของเด็กยุคใหม่กันค่ะ
เข้าใจความติ่ง...จริงจังกว่าที่คิด
สำหรับผู้ใหญ่ การที่ลูกวัยรุ่นเป็นติ่งศิลปิน อาจเป็นเรื่องเล่น ๆ แต่หากสำรวจลงในใจของเด็ก ๆ แล้ว ความติ่งของพวกเขาอาจจริงจังกว่าที่คิด
เพราะความชื่นชอบ จนถึงขั้นคอยติดตามรับรู้ทุกความเคลื่อนไหว เปรียบเสมือนเป็นติ่งที่ติดสอยห้อยตามศิลปินไปทุกที่นั้น ในทางจิตวิทยาอาจเรียกได้ว่าเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ (attachment) ที่แม้จะเป็นความสัมพันธ์แบบด้านเดียว คือ มีเพียงฝ่ายติ่งเท่านั้นที่รับรู้การมีอยู่ของศิลปินที่ตนเองคลั่งไคล้ แต่สายสัมพันธ์นี้ก็ทำให้เกิดความผูกพัน การผูกตัวเองเข้ากับคนดัง หรือไอดอลทำให้ผู้ที่เป็นติ่งรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า บางรายอาจเป็นการเพิ่ม self-esteem หรือการเห็นคุณค่าในตนเองได้ ซึ่งอารมณ์เช่นนี้มักเกิดบ่อยในช่วงวัยรุ่นที่ต้องการเป็นที่ยอมรับ และต้องการมีคุณค่า
อีกทั้ง วัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังค้นหาตัวตน มักเบื่อหน่ายชีวิตที่จำเจ การได้ชื่นชมติดตามชีวิตไอดอลคนโปรด ช่วยให้พวกเขาหลุดออกจากโลกที่มองว่าน่าเบื่อ และมีความสุขกับชีวิตศิลปินที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์แบบทุกอย่าง นอกจากนี้ ความต้องการเป็นที่ยอมรับจากเพื่อนฝูง ก็อาจเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมความคลั่งไคล้ศิลปินของเด็ก ๆ ด้วย เช่น เมื่อเพื่อนส่วนใหญ่เป็นติ่งศิลปินคนไหน เด็กคนอื่น ๆ ก็จะเริ่มให้ความสนใจศิลปินคนนั้น จนกลายเป็นติ่งไอดอลคนเดียวกับเพื่อน ๆ ในที่สุด
ดูแล ห่วงใย เข้าใจความติ่ง
เมื่อรู้แล้วว่าอาการติ่งนั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในวัยรุ่น สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ เพื่อรับมืออาการติ่งของลูกคือ
- เคารพตัวตนของลูก ให้เกียรติคนที่ลูกชื่นชอบ ถึงแม้คุณจะไม่ชอบศิลปินคนโปรดของลูก แต่ก็ไม่ควรแสดงความคิดเห็น วิจารณ์ไอดอลของลูกในเชิงลบ หลีกเลี่ยงคำพูด ประมาณว่า “เนี้ยหล่อแล้วเหรอ” หรือ “เพลงอะไรฟังไม่รู้เรื่อง” การพูดเช่นนี้จะยิ่งทำให้ลูกปิดบัง และสร้างกำแพงกั้นคุณให้ออกจากโลกของเขา ซึ่งอาจจะทำให้พ่อแม่ต้องกังวลมากกว่าเดิม
- พร้อมรับฟัง หากลูกเล่าเรื่องไอดอลคนโปรดให้คุณฟัง เปิดใจ และฟังอย่างไม่ตัดสิน การฟังจะช่วยทำให้คุณเข้าใจความคิด และพฤติกรรมของลูกมากขึ้น รวมทั้ง หากคุณต้องการแนะนำ หรือตักเตือนลูกในภายหลังก็จะทำได้ง่าย เพราะการฟังจะช่วยเปิดใจเด็ก ๆ ให้รับฟังพ่อแม่ด้วยเช่นกัน
- ดูอยู่ห่างๆ ความเป็นส่วนตัวถือเป็นเรื่องใหญ่ของวัยรุ่น แม้คุณจะห่วงใย แต่ก็ไม่ควรก้าวก่ายชีวิตลูก คอยเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ หากลูกจัดการตัวเองได้ดี เป็นติ่งโดยไม่เสียการเรียน รู้จักเก็บเงินเองเพื่อสนับสนุนไอดอลที่เขารัก โดยไม่กระทบส่วนอื่น ๆ ของชีวิต ก็ควรปล่อยให้ลูกทำ
- เตือน และชวนลูกหาวิธีแก้ไข หากรู้สึกว่าระดับการติ่งของลูกเริ่มมากเกินไป ควรพูดกับลูกตรง ๆ ระบุปัญหาชัดเจน และชวนลูกคิดหาทางแก้ไข เช่น แม่คิดว่าไม่เหมาะที่ลูกใช้เงินมากขนาดนี้ ลองบอกแม่ได้ไหมว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร การพูดเช่นนี้ทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณเคารพความคิดของพวกเขา ซึ่งน่าจะได้ผลดีกว่าการบ่นตำหนิลอย ๆ โดยไม่ได้หาวิธีแก้ใด ๆ
- ชื่นชมบ้างก็ได้ หากเห็นว่าลูกจัดการชีวิตตนเองได้ดี แม้จะเป็นติ่งตัวยง ลองเอ่ยชมลูกบ้าง อาจบอกว่า แม่ภูมิใจนะที่ลูกแบ่งเวลาได้ดี ไม่เสียการเรียน หรือลูกเก่งมากที่เก็บเงินได้ขนาดนี้ มีวิธียังไงเล่าให้ฟังได้ไหม ไม่แน่ว่าการได้รับฟังวิธีคิดของลูกอาจทำให้คุณทึ่งกับความคิดที่โตขึ้นของลูกก็เป็นได้
ติ่งแบบไหน มากเกินไปไม่พอดี
หากการเป็นติ่งของลูกยังอยู่ในขั้นที่ควบคุมได้ กล่าวคือ ลูกยังทำหน้าของตนเองได้ไม่บกพร่อง ยังคงมีใช้เวลากับครอบครัวเป็นปกติ และไม่ใช้จ่ายเกินเบอร์กับการเป็นแฟนคลับจนทำเกิดปัญหา ก็ถือว่าอาการติ่งของลูกอยู่ในระดับปกติค่ะ แต่หากสังเกตว่าลูกเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป หมกมุ่นกับการติดตามข่าวศิลปิน จนไม่เป็นอันกินอันนอน กระทบการเรียน และไม่สามารถควบคุมอาการคลั่งไคล้ของตนเองได้ ก็อาจเป็นสัญญาณว่าลูกอาจมีภาวะ Celebrity Worship Syndrome (CWS) ความผิดปกติทางจิต ที่จะคลั่งไคล้ เสพติด และหมกมุ่นกับชีวิตศิลปิน ดารา หรือบุคคลที่ชื่นชอบอย่างสุดโต่ง ไม่สามารถหยุดนึกถึงได้ จนส่งผลเสียต่อชีวิตประจำวัน
ระดับอาการของ CWS นั้นมีตั้งแต่มีอาการเล็กน้อย เช่น ใช้เวลาวันละหลาย ๆ ชั่วโมงค้นเรื่องราวของศิลปินที่ชอบออนไลน์ ไม่กินไม่นอน พูดถึงแต่ไอดอลคนโปรด อาการระดับกลาง ๆ เช่น นำไอดอลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เมื่อรู้ว่าไอดอลชอบคนที่แต่งตัวสไตล์ไหน ก็เปลี่ยนการแต่งตัวไปตามนั้น หรือพยายามหาจุดเชื่อมโยงตนเองกับศิลปินที่ชอบตลอดเวลา หากทำไม่ได้อาจมีอาการกังวล เครียด สุดท้ายคืออาการขั้นรุนแรง ไม่สามารถแยกชีวิตจริงกับความคลั่งไคล้ได้ สร้างจินตนาการ และใช้ชีวิตในจินตนาการนั้น ทุ่มเงินอย่างไม่สมเหตุสมผล ซึ่งอาการเหล่านี้อาจต้องได้รับการดูแลจากจิตแพทย์
สุดท้ายแล้วการเป็นติ่ง เป็นสิ่งที่ไม่เข้าใครออกใครค่ะ คุณแม่บางบ้านก็อาจเป็นติ่งซีรี่ย์เกาหลี คุณพ่อเป็นติ่งนักฟุตบอลทีมโปรด คงไม่แปลกที่เด็ก ๆ จะมีใครสักคนที่พวกเขาชื่นชอบได้เช่นกัน เพียงแต่ว่าการชอบในยุคสมัยนี้ ก้าวไปอีกขั้น เพราะโลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทเชื่อมโยงให้เรารู้สึกใกล้ชิดศิลปินได้มากกว่าเดิม และกลุ่มแฟนคลับก็รวมตัวได้ง่ายขึ้นในโลกออนไลน์ ระดับการติ่งของลูกจึงดูเหมือนว่าจะ extream กว่าในยุคพ่อแม่ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของยุคสมัยที่พ่อแม่ที่เราอาจต้องทำความเข้าใจและปรับตัวให้ทันลูกค่ะ
Related Courses
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
พัฒนาการด้านอารมณ์สำคัญอย่างไรกับเด็กปฐมวัย
บทเรียนนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ความสำคัญของพัฒนาการ สมรรถนะตามวัย กิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์ เน้นการทำกิจกรร ...
สิ่งเล็กๆที่สร้างลูกคุณ
การจะเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยากเสมอไป ลูกๆ ต้องการแค่แบบอย่างที่ดี เพราะพ่อแม่คือต้นแบบในการดำเนินชี ...