ชวนมาทำ Family Talk พูดอย่างเปิดใจ ปัญหาใหญ่แค่ไหนก็แก้ได้
นอกจากการฟังแล้ว การพูดนี่ล่ะค่ะ ที่ส่งผลต่อลูกได้มากไม่แพ้กัน โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยรุ่น การพูดกับลูกนั้น น้อยลงทุกวันเลยใช่ไหมคะ? อาจเป็นเพราะหน้าที่การงานของคุณพ่อคุณแม่ที่มากขึ้น และการที่ลูกนั้นมักจะมีโลกส่วนตัวสูงขึ้น หรือไม่ก็อยู่ติดกับเพื่อน ๆ เสมอ ๆ ทำให้เวลาที่เกิดปัญหา เด็ก ๆไม่ค่อยได้คุยกับคุณพ่อคุณแม่ แต่จะจับกลุ่มคุยกับเพื่อน ๆ มากกว่า
วันนี้เราจึงมาเสนอการพูดคุยที่เรียกว่า “Family Talk พูดอย่างเปิดใจ” ที่เราเชื่อว่าจะเป็นหนทางในการแก้ปัญหาก่อนที่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ หรือหากไม่มีปัญหาใด ๆ การได้พูดคุยกันนั้นก็ช่วยให้ Family Talk คุณพ่อคุณแม่ ได้เข้าใจลูกมากขึ้นค่ะ
Family Talk ควรทำตอนไหน?
Family Talk นั้นไม่จำเป็นต้องทำในตอนที่มีปัญหาแล้วนะคะ แต่สามารถเริ่มทำได้เลย เลือกเวลาที่ผ่อนคลาย สบาย ๆ อาจจะเป็นช่วงวันหยุดก็ได้ ในช่วงที่ไม่ต้องเร่งรีบ ที่สำคัญ ห้ามทำในช่วงที่ทะเลาะกันอยู่ เพราะอาจจะทำให้เกิดอคติ ทำให้การพูดคุยกัน ความถี่ในการทำนั้นตามแต่ทางครอบครัวจะสะดวก แต่จะต้องมีกรอบคร่าว ๆ เช่น สัปดาห์ละครั้ง เดือนละครั้ง แต่อาจจะไม่ต้องลงวัน เวลาที่ชัดเจน เพราะอาจทำให้เด็ก ๆ รู้สึกอึดอัด รู้สึกเหมือนถูกบังคับที่ต้องมาคุยกันตามเวลาเป๊ะ ๆ
Family Talk ต้องเริ่มอย่างไร?
เราเสนอให้เด็ก ๆได้พูดก่อนโดยคุณพ่อคุณแม่ อาจจะเปิดด้วยคำถามสบาย ๆ อย่างเช่น สัปดาห์นี้เป็นอย่างไรบ้าง? เดือนนี้มีอะไรที่อยากปรึกษาไหม? ไม่ควรตั้งใจเป็นผู้นำการสนทนาทั้งคู่ เพราะลูกจะรู้สึกเหมือนโดนรุม ควรให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อ หรือคุณแม่ โดยอีกคนคอยฟังอยู่ห่าง ๆ เสริมบ้างเมื่อจำเป็น
5 ข้อห้ามระหว่าง Family Talk
1. ห้ามใช้อารมณ์
บางครั้งปัญหาก็ทำให้คุณพ่อคุณแม่มีอารมณ์บ้าง เราเข้าใจดีค่ะ แต่การพูดด้วยความโกรธนั้นไม่ช่วยอะไร นอกจากจะไม่ทำให้ลูกเปิดใจแล้ว ยังสร้างปัญหาใหม่ และไม่สามารถแก้ปัญหาเดิมได้อีกด้วย
2. ห้ามบังคับ
หากลูกไม่อยากพูด ไม่พร้อมจะพูดหรือเล่า ไม่ว่าจะด้วยเพราะอะไร ก็ไม่ควรไปบังคับขู่เข็ญลูก เพราะการทำเช่นนั้นก็ยิ่งทำให้เขารู้สึกอึดอัดใจ และไม่กล้าที่จะเปิดใจเล่าปัญหาอีก
3. ห้ามพูดจาประชดประชัน เสียดสี
การพูดจาประชดประชันอาจจะทำให้คู่สนทนารู้สึกเจ็บใจ และทำให้คุณรู้สึกชนะก็จริง แต่กับคนในครอบครัวการทำเช่นนี้ไม่ช่วยอะไรเลยค่ะ เพราะนอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้ว ก็ทำให้ทะเลาะกันไปอีก
4. ห้ามทำอย่างอื่นไปด้วย
ช่วงเวลานี้คุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งใจ และใส่ใจฟังลูกค่ะ เพราถ้าหากเราเล่น social หรือทำงานไปด้วย ลูกจะรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่สนใจกับปัญหาของเขา ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องที่เขาจะเล่าเลย
5. ห้ามพูดประโยคคำสั่ง
สำหรับใครที่มีลูกวัยรุ่น คำว่า “ห้าม” และคำว่า “ไม่” เป็นคำต้องห้ามเลยก็ว่าได้ เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่ชอบความท้าทาย ไม่ชอบการสั่ง แต่พวกเขาจะทำตามในสิ่งที่พวกเขาต้องการทำเพื่อเป็นการแสดงความเป็นตัวเอง คุณพ่อคุณแม่จึงควรเปลี่ยนมาเป็นการให้คำแนะนำ แทนการสั่งห้ามไม่ให้ทำ
Family Talk ต้องฟังมากกว่าพูด
ถึงแม้เราจะบอกว่า Family Talk คือการพูดอย่างเปิดใจ แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ต้องเลือกที่จะ “ฟัง” มากกว่า “พูด” หรือฟังก่อนจะพูด เพราะหากจะให้เขาเปิดใจ เขาต้องการคนที่ฟังเขามากกว่า และการได้ฟังอย่างเปิดใจ คือเอาอคติ ความเชื่อความคิดต่าง ๆ รวมถึงหนทางในการแก้ปัญหาในแบบฉบับของคุณพ่อคุณแม่ ออกไปก่อน แล้วตั้งใจฟังจริง ๆ นั่นจะทำให้คุณได้เข้าใจเรื่องราว ความเป็นมาของปัญหาและแก้ไขได้อย่างถูกจุดมากกว่า
เราเชื่อแน่ค่ะว่า คุณพ่อคุณแม่ทุกคนอยากเป็นพ่อแม่ที่ดีในสายตาของลูก อยากให้ลูกรู้ว่าเรารัก มีความหวังดีที่เรามอบให้ สิ่งที่ต้องทำนอกจากจะรับฟัง ให้คำปรึกษาที่ดีแทนการดุด่าว่ากล่าว ใช้เหตุผลในการพูดคุยเป็นหลักเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ยังทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกอีกด้วย เพื่อให้รู้สึกมั่นใจว่าเราเป็นที่พึ่งของเขาได้เสมอค่ะ
Related Courses
สิ่งเล็กๆที่สร้างลูกคุณ
การจะเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยากเสมอไป ลูกๆ ต้องการแค่แบบอย่างที่ดี เพราะพ่อแม่คือต้นแบบในการดำเนินชี ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...
พัฒนาการด้านอารมณ์สำคัญอย่างไรกับเด็กปฐมวัย
บทเรียนนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ความสำคัญของพัฒนาการ สมรรถนะตามวัย กิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์ เน้นการทำกิจกรร ...