เลี้ยงลูกให้รู้สึกผิดตลอดเวลาพ่อแม่ Gaslight ใช่เราหรือเปล่า?
คำกล่าวว่าการเลี้ยงลูกไม่มีวิธีที่ถูกต้องที่สุดเพราะแต่ละครอบครัวก็มีแนวทางของตนเอง เป็นคำกล่าวที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย แต่บ่อยครั้งในฐานะพ่อแม่ก็อาจเผลอใช้อำนาจที่มีมากกว่า และความคาดหวังที่มีต่อลูก ใช้คำหรือแสดงพฤติกรรมบางอย่างให้ลูกรู้สึกผิดเพื่อให้ลูกยอมทำในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ซึ่งการกระทำหรือคำพูดที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิด หรือสงสัยในคุณค่าของตัวเองนั้น ก็คือ Gaslighting นั่นเอง
พจนานุกรม Merriam-Webster นิยามคำว่า Gaslighting ว่าหมายถึง การบงการทางจิตใจของบุคคลเป็นระยะเวลานาน ทำให้เหยื่อตั้งคำถามถึงความถูกต้องของความคิดการรับรู้ความเป็นจริง หรือความทรงจำ ของตนเองและโดยทั่วไปจะนำไปสู่ความสับสนสูญเสียความมั่นใจและความภาคภูมิใจในตนเองเกิดความไม่แน่นอนของอารมณ์หรือความไม่มั่นคงทางจิตใจหากจะว่าไปแล้วพฤติกรรม Gaslighting อาจจัดเป็นความรุนแรงประเภทหนึ่งที่แม้จะไม่เห็นบาดแผลเหมือนกับความรุนแรงที่เกิดกับร่างกายแต่การ Gaslight ก็สร้างแผลใจที่มองไม่เห็นและอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของลูกในระยะยาว
พ่อแม่ Gashlight ใช่เราหรือเปล่า
พ่อแม่ที่ใช้วิธี Gaslighting เพื่อบงการให้ลูกทำสิ่งต่างๆ ตามที่ตนต้องการมักเริ่มจากการทำร้ายจิตใจเล็กๆ น้อยๆ ด้วยคำพูดหรือการกระทำที่ละเลยความต้องการขั้นพื้นฐานของลูกซึ่งหากมองจากภายนอกอาจดูเหมือนว่าเป็นคำพูดธรรมดาหรือการกระทำปกติทั่วไป เช่น การพูดว่า
“ทำแบบนี้ไม่รักแม่เหรอ” หรือ “เพราะลูกกินเยอะแม่ถึงต้องทำงานหนัก” ไปจนถึงการกระทำ เช่น วางตัวเฉยเมยเมื่อลูกไม่ได้ดั่งใจไม่พูดกับลูกโดยที่ลูกไม่รู้ว่าผิดอะไรสิ่งเหล่านี้แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องปกติแต่จริงๆ แล้วจัดเป็นพฤติกรรม Gaslignting ด้วย
พฤติกรรมที่เข้าข่าย Gaslingting ของพ่อแม่ได้แก่
- กล่าวโทษลูกพ่อแม่ที่ชอบบงการมักกล่าวโทษลูก แม้ว่าตัวเองจะเป็นต้นตอของความผิดนั้นก็ตามการกล่าวโทษอาจมีตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่น แม่ที่ถือแก้วน้ำมาให้ลูกแต่ตนเองทำแก้วหลุดมือตกแตกแทนที่จะมองว่าเป็นอุบัติเหตุที่ตนเองไม่ทันระวังกลับบอกว่าเพราะลูกไม่ลุกมาหยิบเอง แก้วน้ำจึงตกแตก หรือเรื่องใหญ่ๆ เช่น พ่อที่ขับรถชนท้ายรถคันข้างหน้าแต่กลับโทษลูกว่าเป็นเพราะเปิดเพลงฟังในรถทำให้ไม่มีสมาธิ ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้บ่มเพาะความรู้สึกผิดลงในใจลูกทำให้เด็กๆ โทษตัวเองสับสนและเครียด
- ขอโทษไม่เป็นนอกจากชอบกล่าวโทษแล้วพ่อแม่ Gaslight ก็ยังขอโทษไม่เป็นอีกด้วยแทนที่จะเรียนรู้ข้อผิดพลาดแล้วกล่าวขอโทษพวกเขามักจะปฏิเสธความผิดทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ไม่พูดถึงความผิดของตัวเองแม้ความผิดนั้นจะส่งผลกระทบต่อคนอื่นหรือส่งผลกระทบต่อลูกก็ตามเมื่อเกิดขึ้นบ่อยเข้าทำให้เด็กๆ เติบโตมากับความรู้สึก ไร้คุณค่าถูกปฏิเสธและไม่ได้รับการสนับสนุน
- ไม่ยินดีกับความสำเร็จไม่ว่าลูกจะพยายามสักเท่าไรหรือความสำเร็จนั้นจะมีความหมายมากแค่ไหนสำหรับลูก พ่อแม่ Gashlight มักไม่ยินดียินร้ายไม่ให้ค่ากับความพยายามหรือความสำเร็จของลูกทำให้เด็กๆ สงสัยในตัวเองและสูญเสียความมั่นใจ
- รู้ดีที่สุด พ่อแม่ Gaslighting มักแสดงพฤติกรรมว่าตนเองรู้ดีที่สุดจริงอยู่ที่พ่อแม่มีประสบการณ์ชีวิตมากกว่าลูกและสามารถแนะนำสิ่งที่เหมาะสมให้กับลูกๆ ได้แต่สำหรับพ่อแม่ Gaslight นอกจากไม่ฟังความคิดเห็นของลูกแล้วก็ยังเพิกเฉยต่อความต้องการของลูกด้วยเด็กๆ มักขาดอิสระที่จะคิดพูดหรือรู้สึกหากแสดงความต้องการของตนเองก็มักถูกพ่อแม่ด้อยค่าจนไม่เหลือการเห็นคุณค่าในตนเอง
- บิดเบือนความจริงเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองพ่อแม่อาจสร้างเรื่องว่าตุ๊กตาตัวโปรดของลูกถูกขโมยทั้งที่ความจริงพ่อแม่เองที่ลืมไว้นอกบ้านหรือสร้างเรื่องว่าตัวเองไม่สบายเพื่อให้ลูกไม่ออกไปหาเพื่อนโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาปล่อยเด็กๆ สับสนในความจำของตัวเองและงุนงงกับความจริงที่บิดเบือน
- ไม่ให้ค่าหรือละเลยความรู้สึกเด็กๆ ที่เติบโตมากับพ่อแม่ที่ไม่สนใจความรู้สึกละเลยความต้องการของพวกเขาจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง พ่อแม่ Gaslight จำนวนมากที่คิดว่าสภาวะอารมณ์และจิตใจของเด็กๆ เป็นเรื่องไม่สำคัญบางรายอาจมองว่าเด็กๆ เรียกร้องความสนใจ หากพ่อแม่ตอบสนองเด็กๆ ก็จะเรียกร้องไม่หยุดทั้งที่ความจริงแล้วเด็กๆ รับรู้ว่าพ่อแม่ไม่ให้ค่ากับสภาพอารมณ์และจิตใจของพวกเขามักจะไม่เรียกร้องและสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองเพราะพวกเขาเห็นคุณค่าในตัวเอง
- ทำให้ขายหน้าในที่สาธารณะพฤติกรรมที่พบบ่อยในพ่อแม่ Gaslight คือทำให้ลูกอับอายในที่สาธารณะ เช่น เล่าเรื่องน่าอายของลูกให้ญาติๆ ฟังในวงสนทนาหรือแสดงพฤติกรรมข่มลูกไม่ให้เกียรติลูกเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ
- รับบทถูกกระทำพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบ Gaslight มักรับบทถูกกระทำโดยเฉพาะหากเกิดความขัดแย้งกับลูกพวกเขามักสร้างเรื่องเล่าให้คนอื่นฟังว่าตนเองถูกลูกๆ ทำร้ายจิตใจ ไม่เชื่อฟัง ไม่เคารพแสดงบทเหยื่อเสียใจ ร้องห่มร้องไห้ ทั้งที่ความจริงแล้วเรื่องราวอาจไม่ได้ใหญ่โตขนาดนั้นแต่เพราะต้องการบงการลูกจึงใช้วิธีรับบทเหยื่อเพื่อหาความชอบธรรมให้ตนเองและให้ลูกต้องยอมทำตามด้วยความรู้สึกผิดต่อพ่อแม่
- ควบคุมบงการการกระทำทั้งหมดข้างต้นของพ่อแม่ Gaslight สุดท้ายก็เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์เดียวคือการควบคุมบงการชีวิตลูกพวกเขาทำให้เด็กๆ สงสัยคุณค่าของตัวเอง ทำให้เด็กๆ อึดอัด ตัดสินใจเองไม่ได้ส่งผลให้เมื่อเป็นผู้ใหญ่มักมีปัญหาต้องพึ่งพิงผู้อื่น ไม่เป็นตัวของตัวเอง
รู้เท่าทันหยุดพฤติกรรม Gaslighter
จุดเริ่มต้นสำหรับพ่อแม่เพื่อให้รู้เท่าทันพฤติกรรมของตัวเองว่าเข้าข่าย Gaslighting หรือไม่คือการถามตัวเองว่าเราพยายามขีดเขียนเส้นทางชีวิตให้ลูกอยู่หรือไม่เพราะพ่อแม่ที่มีสายสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับลูกมักจะไม่กะเกณฑ์เส้นทางชีวิตของลูกหรือพยายามทำให้ลูกรู้สึกว่าสิ่งที่ลูกเลือกเองนั้นผิดปกติหรือไม่ถูกต้อง หากคุณกำลังสงสัยว่าการเลี้ยงลูกที่ผ่านมาเข้าข่าย Gaslighting นี่อาจเป็นสัญญาณที่ดีในการก้าวออกจากปัญหานี้ก่อนที่จะสายเกินไป
- ตรวจสอบว่าเราให้ความสำคัญกับความรู้สึกของตัวเองมากกว่าความถูกต้องหรือเปล่า
- สังเกตตัวเองว่าที่ผ่านมามีพฤติกรรมใดที่เข้าข่าย Gaslighting กับลูกและคนรอบตัวหรือไม่
- หากมีพฤติกรรม Gaslighting ลองมองหาว่าสถานการณ์หรือสิ่งใดที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมนั้นขึ้น เช่น ทุกครั้งที่ลูกจะขอไปเที่ยวกับเพื่อนแม่มักจะแกล้งป่วยเพื่อไม่ให้ลูกไปหรือทุกครั้งที่ลูกประสบความสำเร็จพ่อทำเป็นละเลยไม่สนใจเพราะกลัวว่าลูกจะเหลิงแล้วไม่พยายาม เป็นต้น
- เข้าใจเรื่องอำนาจควบคุมพ่อแม่ในแง่หนึ่งย่อมมีอำนาจมากกว่าลูกแต่ควรเข้าใจว่าอำนาจนี้มีไว้เพื่อปกป้องดูแลในช่วงเวลาที่ลูกยังเล็กไม่ใช่มีไว้เพื่อควบคุมบงการเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่นอำนาจการดูแลของพ่อแม่ค่อยๆ ลดลง การเข้าใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยลดโอกาสเกิดพฤติกรรม Gaslight ได้
- หยุด คิด เฝ้าดูลมหายใจบางครั้งพ่อแม่ที่รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจเหนือลูกมักโต้ตอบอย่างทันทีทันใดโดยไม่ได้สังเกตอารมณ์ตัวเองเพราะฉะนั้นการตอบสนองช้าลงสักนิด อาจช่วยลดความรุนแรงของสถานการณ์ได้เมื่อโกรธ ขัดใจ หงุดหงิด ลองหยุดดูอารมณ์ตนเอง คิดว่าความรู้สึกนี้มาจากไหนหายใจเข้าออกลึกๆ ก่อนตอบโต้อะไรออกไปหรือหากยังควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้การเดินออกจากสถานการณ์รอให้ใจเย็นแล้วค่อยสื่อสารก็ยังไม่สายเกินไป
ไม่มีมนุษย์คนใดสมบูรณ์แบบพ่อแม่ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งก็เช่นกัน เราอาจมีข้อบกพร่องมีปมในใจจากประสบการณ์ในชีวิต ซึ่งบทบาทพ่อแม่คือการเปิดโอกาสให้เราสลายปมในชีวิตเหล่านั้นด้วยการเข้าใจมองเห็นและยอมรับตัวตนของลูก (แม้ว่าเราจะไม่เคยได้รับสิ่งเหล่านั้นในวัยเด็ก) เพราะเมื่อเรารู้แล้วว่าความเจ็บปวดจากการถูก Gaslight เป็นอย่างไรพ่อแม่ที่หวังดีกับลูกอย่างจริงใจ ก็คงไม่ต้องการให้ลูกเติบโตมากับการถูก Gaslight เช่นกัน
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
Related Courses
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ