พ่อแม่อย่าว้าวุ่น เมื่อลูกวัยรุ่นมีรักแรก
เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่ผู้ปกครองจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ค่ะ ลูกวัยรุ่นจะเริ่มมีมุมมองใหม่ๆ ต่อโลกและสิ่งต่างๆ รอบตัว จากเคยเชื่อฟัง อาจเริ่มโต้เถียงหรือแสดงเหตุผลของตนเอง อิทธิพลการใช้ชีวิตส่วนใหญ่ของวัยรุ่นคือเพื่อนๆ พวกเขาจะถูกชักนำได้ง่ายจากกลุ่มคนที่พวกเขาชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ศิลปินคนโปรด ไอดอล คนรัก ฯลฯ ด้วยเหตุนี้บางครั้งลูกวัยรุ่น จึงมักทำหูทวนลมต่อคำแนะนำของพ่อแม่ หรือไม่ก็แสดงอาการต่อต้านอย่างชัดเจน
แม้ความรักจะเป็นสิ่งที่สวยงาม แต่เมื่อเป็นรักในวัยเรียน คนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองก็คงจะอดห่วงไม่ได้อยู่ดีใช่ไหมคะ ลูกจะถูกหลอกหรือเปล่า ลูกดูแลตัวเองได้ไหม เราไว้ใจลูก แต่อีกฝ่ายไว้ใจได้หรือเปล่า นี่เป็นแค่รักหรือความหลงใหลแบบเด็กๆ เอาล่ะค่ะ อย่าเพิ่งว้าวุ่นไป ก่อนที่จะรับมือกับรักในวัยเรียนของลูก เรามาจัดการกับความคิดของตัวเองกันสักนิด เพื่อให้รับมือรักแรก(ของลูก) ได้อย่างถูกทางค่ะ
ตั้งสติและควบคุมอารมณ์
การได้รับรู้ว่าลูกกำลังมีความรัก อาจทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดความรู้สึกต่างๆ มากมายค่ะ เช่น โกรธเพราะรู้สึกว่าลูกช่างกล้าดีเหลือเกิน โดยเฉพาะหากคุณค้นพบความจริงนี้ด้วยตัวเอง รู้สึกอิจฉาที่ลูกมีคนสำคัญในชีวิตคนใหม่ ที่ไม่ใช่คุณอีกต่อไป รู้สึกกลัวที่ลูกอาจเสียใจจากความรัก หรือกระทั่งกลัวความจริงว่าลูกเริ่มโต และกำลังจะออกจากอ้อมกอดของคุณไปแล้ว ไม่ว่าคุณจะเผชิญกับความรู้สึกเช่นไรเมื่อได้รู้ข่าว ลองค่อย ๆ นั่งพิจารณาอารมณ์ตัวเอง ควบคุมอารมณ์ด้านลบ และเลือกใช้แต่ด้านที่เป็นประโยชน์ต่อลูกอย่างจริงใจ เพราะท้ายที่สุดแล้ว
การพูดคุยกับลูกอย่างสงบ หลังจากกลั่นกรองความคิดมาอย่างดีแล้ว น่าจะได้ผลดีที่สุดค่ะ
อย่าด่วนตัดสิน
แม้ประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาจะทำให้เรารู้สึกว่ารักแรกมักไม่ยั่งยืน แต่ก็อย่าด่วนตัดสินความสัมพันธ์ของลูกค่ะ เปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ด้วยตัวเอง และเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราสอนลูกมาดีพอ และลูกมีวุฒิภาวะมากพอที่จะเลือกสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตเองได้ เพราะนี่คือหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการเรียนรู้เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่ต้องเจอเรื่องราวหนัก ๆ กว่านี้อีกมากมายในชีวิตที่จะตามมา เพราะฉะนั้นระหว่างนี้ อดทนเก็บความคิดเห็นต่าง ๆ ของเราไว้ก่อน คอยเฝ้าดู ห่วงใย และให้กำลังใจอยู่ห่าง ๆ เพื่อที่ลูกจะได้ไม่รู้สึกว่าคุณกำลังขัดขวางความสัมพันธ์ ซึ่งอาจยิ่งทำให้ลูกห่างเหิน และปิดบังเรื่องต่าง ๆ จากพ่อแม่ก็เป็นได้
ย้อนวันวาน...ถึงวัยหวานของตัวเอง
ลองย้อนเวลากลับไปสมัยที่เราเป็นวัยรุ่นดูสิค่ะ ณ ช่วงเวลานั้น เรารู้สึกว่าเราเติบโตเต็มที่ รู้ดีว่าเรากำลังทำอะไร ต้องการอะไร และส่วนใหญ่เราเมื่อครั้งเยาว์วัย ก็มักไม่ชอบฟังคำวิจารณ์ตัดสิน หรือคำแนะนำจากผู้ที่อาวุโสกว่าเท่าไรนักใช่ไหมคะ เมื่อคิดได้อย่างนี้ เราก็น่าจะเข้าใจความรู้สึกของลูกหลานวัยรุ่น และเตรียมรับมือกับความรักของวัยนี้ได้ดีกว่าสมัยที่เราเคยถูกปฏิบัติมา
คุยเรื่องเพศสัมพันธ์
ไม่ว่าคุณจะคิดอย่างไร หรือมั่นใจในตัวลูกขนาดไหน ก็อย่าละเลยที่จะคุยเรื่องนี้ค่ะ แม้ว่าจะเป็นหัวข้อที่ยากจะพูดถึงโดยเฉพาะในสังคมไทย แต่ขอให้คิดว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ และการรู้วิธีที่ปลอดภัยจะช่วยป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาได้อีกมากสิ่งสำคัญคือ สอนลูกให้เคารพตัวเองมากพอที่จะกล้าปฏิเสธ หรือหากจะมีเพศสัมพันธ์ก็ให้ลูกรู้ว่าวิธีที่ปลอดภัยที่จะป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมและโรคติดต่อต่าง ๆ ควรทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่ลูกต้องรู้ หน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกวัยรุ่นคือ ช่วยพวกเขาให้เคารพตัวเอง และรู้จักการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย แทนการห้ามปราบโดยไม่ได้ให้คำแนะนำอะไรเลยค่ะ
ตั้งกฎเกณฑ์
แม้เราจะไม่ห้ามเรื่องความสัมพันธ์ของลูก แต่ทุกอย่างก็ต้องมีกฎเกณฑ์ค่ะ เมื่อพบว่าลูกกำลังมีความรัก อาจชวนลูกมานั่งคุย บอกลูกให้รู้ว่าพ่อแม่เข้าใจเรื่องความรักของวัยรุ่น และจะไม่ห้าม แต่ก็ต้องมีกฎเกณฑ์ในการคบหากัน เช่น ลูกต้องพาคนรักมาแนะนำให้พ่อแม่รู้จัก ลูกต้องรับผิดชอบเรื่องเรียน อย่าให้ความสัมพันธ์มีผลกระทบต่อการเรียน ไม่คุยหรือแชทเกินเวลานอนที่กำหนดไว้ เป็นต้น
ให้เกียรติความสัมพันธ์ของลูก
อย่าทำเหมือนกับว่าลูกยังเป็นเด็กเล็กๆ เมื่ออยู่ต่อหน้าคนรักของพวกเขา แม้คุณจะคิดว่าเป็นการล้อเล่นสนุกๆ ก็ตาม ไม่ควรทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด หรือทำให้พวกเขาคิดว่าคุณเห็นความสัมพันธ์ของพวกเขาเป็นเรื่องเด็กเล่น
ผ่อนคลาย...รักวัยเรียนไม่ใช่เรื่องใหญ่ (อย่างที่คิด)
ทุกคนเคยผ่านรักในวัยเรียน ทุกคนเคยอกหักเสียน้ำตาจนคิดว่าจะก้าวต่อไปไม่ไหว แต่เมื่อเวลาผันผ่านเราก็ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ สิ่งที่ต้องทำก็แค่ พูดคุยกับลูกเป็นประจำ ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ให้คำแนะนำเมื่อลูกต้องการ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องหมั่นสังเกต และคอยดูสัญญาณ หากสัญชาตญาณของคุณรู้สึกว่าความสัมพันธ์ของลูกเป็นเรื่องอันตรายหรือไม่ปกติ เช่น ลูกมีอาการซึมเศร้า หวาดกลัว มีร่องรอยถูกทำร้าย อย่ารีรอที่จะซักถาม และช่วยเหลือลูก ท้ายที่สุดไม่ว่าความสัมพันธ์ของลูกจะราบรื่นดีงามเพียงใด คุณก็ควรเตรียมพร้อมที่จะเก็บเศษเสี้ยวของหัวใจที่แตกสลาย ด้วยการเป็นผู้ฟังที่ดี ให้กำลังใจ ที่สำคัญอย่าพูดว่า
“แม่เตือนแล้ว” หรือ “พ่อบอกแล้ว” คำพูดนี้ อย่าทำเด็ดขาดนะคะ
สุดท้ายแล้ว คงไม่มีใครปฏิเสธว่าความรักเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และหลายครั้งบทเรียนจากความรักไม่ว่าจะสมหวังหรือผิดหวัง ก็มอบบทเรียนและหล่อหลอมให้เราเติบโตอย่างแข็งแรงขึ้น สิ่งสำคัญของชีวิตรักในวัยเรียน อาจไม่ใช่การกังวลว่าลูกจะอกหัก ผิดหวัง แต่เป็นการที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่า พ่อแม่ผู้ปกครองให้เกียรติและยอมรับการเลือกใช้ชีวิตของพวกเขา และหากผิดหวังเสียใจ ก็มีพ่อแม่ผู้ปกครองคอยให้กำลังใจ รับฟัง อยู่เคียงข้างและไม่ตัดสิน ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกถึงความห่วงใย เพื่อที่ว่าพวกเขาจะได้เรียนรู้ว่าความรักที่แท้จริงคืออะไร จากการกระทำของพ่อแม่ที่มีต่อพวกเขานั่นเองค่ะ
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...