เปิดบ้าน ‘พ่อเหว่ง’ Little Monster เลี้ยงลูกสุขเป็นพิเศษกับ ‘วิชาภูมิคุ้มใจ 101’
Starfish Labz แอบแง้มห้องเรียนประจำบ้านผ่านคอลัมน์ชวนทอล์กสนุกๆ ฉบับ Learning Beyond School “เพราะการเรียนรู้ไม่จบแค่ในห้องเรียน” ที่จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปเปิดบ้านคนเก่งแวดวงต่างๆ หาไอเดียเลี้ยงลูกให้มีความสุข เหมาะๆ เฉพาะตัวแบบครอบครัว ‘Little Monster’
เริ่มกันที่ ‘พ่อเหว่ง’ ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ คุณพ่ออารมณ์ดี๊ดี ผู้ก่อตั้ง Little Monster เพจที่แชร์เรื่องราวแสนอบอุ่นใจของครอบครัวในมุมมองที่เข้าถึงใจพ่อแม่ทุกคน
พ่อเหว่งบอกกับเราว่า อยากเลี้ยงลูกสาวทั้ง 2 คน ‘พี่จิน’และ ‘น้องเรนนี่’ ให้มี ‘ภูมิคุ้มใจ’ คุณพ่อจะมีสไตล์การเลี้ยงลูกแบบไหน มาร่วมไขความลับไปพร้อมกัน
คำนิยาม ‘การเลี้ยงลูก’ สไตล์พ่อเหว่ง Little Monster
พี่ก็เลี้ยงลูกแบบ “สบายๆ” นะ คือสไตล์ตัวพี่เนี่ยก็เป็นคนแบบไร้ระเบียบหน่อยๆ 555 เพราะมันก็เกิดมาจากสภาพแวดล้อมครอบครัวของเราหล่อหลอมมา ทำให้เราโตมาเป็นคนประมาณนี้ เลยจะเน้นเรื่องความสุขเป็นหลัก
อะไรที่ลูกเราชอบและทำแล้วมีความสุข เราก็จะสนับสนุนเขาให้ได้ลองทำในทุกๆ ด้านก่อน แต่โดยปกติก็จะเน้นเล่นด้วยกัน แค่ ‘การเล่น’ ก็มีประโยชน์แล้ว เพราะมันทำให้เขาได้ฝึกทักษะอะไรหลายอย่าง อย่างเช่น จินตนาการและการสื่อสาร
สำหรับพี่ ลูกไม่ต้องเรียนได้เกรดดีเยี่ยม เก่งทุกวิชา แต่ควรจะพูด อ่าน เขียน ภาษาหลักๆ ได้ เช่น ภาษาไทย (ตัวสะกดวรรณยุกต์ต้องถูกต้อง) และภาษาอังกฤษ
คุยกฎกันยกบ้านก่อนเลี้ยงลูก
กฎของพี่ก็จะคุยกับตุ๊ก (ภรรยา) ตั้งกฎพื้นฐานในบ้านด้วยกันก่อน แล้วให้เขาคุมกฎ เพราะเขาทำได้ดีกว่าพี่ 555
สังเกตว่าหลายครอบครัวมักจะมีปัญหา พ่อพูดอีกอย่าง แม่บอกให้ทำอีกอย่างเสมอ จึงทำให้ลูกเกิดความสับสน ทำตัวไม่ถูก เพราะไม่รู้ว่าต้องเชื่อใครดี?
ปัญหาเล็กๆ แบบนี้ จึงมักลงเอยด้วยการเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมา โดยเฉพาะในครอบครัวขนาดใหญ่ เราต้องคุยเคลียร์กับปู่ย่าตายายให้เรียบร้อย
การตกลงเรื่องการเลี้ยงลูกร่วมกันก่อนเป็นสิ่งสำคัญ ว่าเราจะไปทิศทางไหน? เราจะเอาสบายแค่ไหน? ควรจะถือและไม่ถือเรื่องอะไรบ้าง?
พี่ก็จะคุยกัน ต้องตกลงกันให้ดี ออกกฎที่ถูกที่ควรทำมีอะไรบ้าง ต้องชัดเจน เช่น กินแล้วต้องเก็บจานนะ เก็บของเล่นเข้าที่ ไม่วางทิ้งไว้นะ
ถ้าตุ๊กกำลังดุลูก แล้วพี่เข้าไปโอ๋ลูกเลย ลูกก็จะมองว่า พ่อใจดีมากๆ ส่วนแม่ก็จะกลายเป็นนางมารร้ายในสายตาของลูกไปในทันที ซึ่งมันไม่ถูก เราต้องใช้เหตุผลคุยกับลูกตั้งแต่เนิ่นๆ เห็นพ้องตรงกันค่อยบอกต่อหน้าลูก
บทบาทของพ่อแม่อาจสลับกันใช้ไม้อ่อนไม้แข็งได้ ตกลงกันว่าให้ใครจัดการเรื่องไหนตามถนัด แต่เราทั้งคู่จะต้องอธิบายให้ลูกฟังได้ตรงกันว่าลูกกำลังทำผิดในเรื่องอะไรและเพราะอะไร แล้วให้เวลาลูกได้พยายาม ดูพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของเขาแล้วก็จะชื่นใจ
นิสัยที่เปลี่ยนไปหลังจากมีลูกตัวน้อย
หู้วว! มีเยอะเลยที่เปลี่ยน เช่น พี่ก็ไม่ได้เจอเพื่อนเลย คือ ไม่มีใครมาบังคับนะ แต่ตอนนั้นสภาพแวดล้อมของเราที่ทำให้ต้องทำงานหนักด้วย ก็เลยไม่ค่อยมีเวลาไปเจอเพื่อนๆ เหมือนแต่ก่อน เราก็ตัดเรื่องเกเรเถลไถลไปได้เยอะเลย
เปลี่ยนทั้งแนวคิดและอารมณ์ทั้งหมดเลย ทำให้เราต้องโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่ขึ้น มั่นคงขึ้น เมื่อก่อนอารมณ์ร้อนมาก เราไม่อยากให้ลูกซึมซับในด้านไม่ดีนี้ของเราไปก็ต้องค่อยๆ ลดลง
พี่จะคิดถึงครอบครัวและลูกเยอะมากๆ เวลาส่วนตัวก็ให้ครอบครัวหมดเลย เป้าหมายในชีวิตก็พุ่งไปอยู่ที่ลูก นั่งคิดละว่าเขาจะต้องมีรากฐานการใช้ชีวิตที่ดี เติบโตต่อไปยังไง หาทุนส่งให้เขาต่อยอดในอนาคต ไม่ใช่หาเงินมาสปอยลูกนะ เราเน้นเสริมทักษะชีวิต และสร้างทักษะจากความชอบของเขา เช่น เห็นแววเรื่องศิลปะก็ให้พื้นที่เขาแสดงออกเต็มที่
โมเมนต์ใจหายแว้บของ ‘พ่อเหว่ง’
ตอนนั้นเราย้ายมาอยู่ที่บ้านใหม่ เรนนี่ ลูกสาวคนเล็กเพิ่งอายุได้ 2-3 ขวบ เขาตื่นขึ้นมากลางดึก ไม่เห็นพ่อกับแม่ เห็นแต่จิน พี่สาวหลับอยู่ข้างๆ บนเตียงเดียวกันในห้องนอนใหม่ที่อยู่บนชั้นสองของบ้าน เขาก็ลุกเปิดประตูตามหาพ่อแม่ แต่ไม่กล้าลงบันได ก็เลยยืนร้องไห้จ้าอยู่ทางลงบันไดเสียงดังลั่นบ้าน พี่กับตุ๊กที่คุยงานกันอยู่ชั้นล่างได้ยินปั๊บก็รีบวิ่งแจ้นขึ้นมากอดปลอบเรนนี่ทันที มันเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในความห่วงใยลูกที่พี่ยังจำได้แม่น
เมื่อลูกต้องห่างอกเป็นครั้งแรก
ตอนจินไปโรงเรียนครั้งแรก พวกเราเป็นกังวลมากๆ เวลาส่งลูกเสร็จ แม่ก็นั่งร้องไห้ พ่อก็นั่งปลอบ นั่นคือสภาพของพ่อแม่ที่มีลูกคนแรก จะเป็นอย่างนี้กันแทบทุกราย
พี่ได้คุยกับจิตแพทย์ เขาบอกเทคนิคมาลดความกลัวของลูก จากเดิมที่ทั้งโลกเขามีแต่พ่อแม่ เขาต้องไปเผชิญโลกภายนอกแล้ว ต้องให้คำมั่นเขา ไม่ใช่หลอกล่อให้เขาตายใจนะ พอลูกเลิกเรียนปุ๊บพ่อแม่ก็จะมารอรับหนูตรงนี้ เราให้คำมั่นกับเขาไว้ยังไงก็ต้องทำให้ไ้ด้จริงๆ
พอเขาโผล่หน้ามา เขาต้องได้เห็นเรายืนรออยู่ตรงนี้ก่อนแล้ว ตามที่สัญญากันไว้เป๊ะ พี่ใช้วิธีนี้ตอนมีเรนนี่แล้ว ก็เบาใจลงและเห็นผลดีมาก พอเวลาผ่านไปสักพัก ลูกจะเริ่มปรับตัวได้เร็ว และอาจจะอยากอยู่เล่นสนุกกับเพื่อนเพลินจนลืมเวลากลับบ้านเลย
จะเปลี่ยนพฤติกรรมลูกได้ ต้องเริ่มแก้ที่ใจเรา และต้องรู้จริง
เด็กก็คือเด็ก เขายังไม่เข้าใจโลก เราต้องอาศัยใช้จิตวิทยาเด็กในการเลี้ยงลูก บ้านพี่ก็หาจิตแพทย์เด็กมาหลายหมอนะ เพราะถือคติ “พ่อแม่เปลี่ยน ลูกก็เปลี่ยนตาม” อะไรที่คุยๆ มาแล้วมันเหมาะกับบ้านเราก็นำมาใช้ บางเรื่องก็เก็บเป็นความรู้เตรียมตัวไว้ก่อน ถึงเวลาเกิดขึ้นจริงจะได้ไม่งง การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก จะทำให้เราได้เห็นภาพกว้างขึ้นอีกเยอะเลย
สร้างภูมิต้านทานให้ลูกในทุกๆ ด้าน
พี่ก็เลี้ยงลูกตามวัย เขาไม่มีภูมิต้านทานอะไรได้ในทันทีทันใดหรอก ลูกต้องมีด้านที่แข็งแกร่งและมีมุมที่อ่อนแออ่อนไหวได้เสมอ
ในทุกๆ วันที่เราคุยกับเขา วุฒิภาวะเขาก็จะโตตามตัว เรายังต่อล้อต่อเถียงกันทุกวัน ลองเอาเหตุผลของเเต่ละคนมาคุยกัน เพราะอะไรถึงไม่เห็นด้วย? สอนลูกให้พวกเขาคิดเป็น อธิบายได้ สื่อสารกัน รับรู้อารมณ์และเหตุผลของกันและกัน
พอเขาโตขึ้น เขาจะแยกแยะเป็น หัดคิดอย่างมีเหตุผล รับรู้อารมณ์ของตัวเองและเข้าใจคนอื่น กระบวนการแบบนี้แหละจะสร้างภูมิต้านทานให้เขาเอง
เลี้ยงลูกต้องได้ใจลูก ลูกถึงจะกล้าพูด กล้าบอกพ่อแม่
จะเห็นว่าครอบครัวพี่ถ้าลูกคิดอะไร ชอบอะไรก็จะกล้าบอกพ่อแม่ เขากล้าก็เพราะมีพื้นฐานจากเราไง ถ้าครอบครัวไหน พอลูกพูดอะไรไม่ได้ อธิบายก็หาว่าเถียง
จริงๆ พ่อแม่ต้องหัดขอโทษลูกให้เป็นด้วย เพราะพ่อแม่เองก็มีผิดพลาดได้ ไม่ต้องเพอร์เฟ็กต์ แต่ต้องรับฟังลูกจริงๆ ทำให้ลูกไว้ใจ อยากเล่านั่นนี่ให้เราฟัง แต่ถ้าฟังไม่เป็น หรือจ้องแต่จะจับผิดตำหนิสั่งสอน ไม่ว่าใครก็ไม่ชอบ ไม่มาขอคำปรึกษาคนที่รอแต่จะตัดสินและแก้ไขเราหรอก
ถ้าเผลอเลี้ยงแบบตามใจลูกไปแล้วจะแก้อย่างไร?
ถ้าพ่อแม่กลัวลูกลำบาก ลูกทำผิดแต่บอกไม่ผิด เพราะกลัวลูกเสียใจ จะเข้าตำรารักลูกไม่ถูกทาง แน่นอนว่าจะมีผลกระทบต่อตัวลูกตอนโตขึ้นมาแน่นอน ต่อไปลูกก็จะอยู่ในสังคมได้อย่างยากลำบาก เมื่อไม่เข้าใจชีวิต ไม่เข้าใจสังคม รู้แต่สิ่งที่พ่อแม่ป้อนให้ เด็กจะโตมาแบบไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์
เวลาลูกไม่พอใจอะไรก็จะกรีดร้องลั่น แปลว่าไม่ได้สอนลูกให้เข้าใจกฎของการอยู่ร่วมกันกับส่วนรวม อย่าทำให้เขากล้าไปละเมิดล้ำเส้นสิทธิพื้นฐานของคนอื่นแบบนี้จนเหิมเกริมไปจนโต
เด็กที่ไม่เข้าใจอารมณ์ของตนเอง และขาดการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เมื่อผิดหวังรุนแรงจะรับมือไม่ได้ ถ้าไม่ก้าวร้าวรุนแรงก็อาจทำร้ายตัวเองไปเลย จึงต้องหัดให้เขาล้มลุก หัดเสียใจให้เป็น
เข้าใจความรู้สึกของแต่ละอารมณ์ว่าอยู่ระดับไหน เขาจะได้รู้จักถอยมาดึงสติ ค่อยๆ คิดหาทางแก้ หาทางสมานแผลใจ เดี๋ยวแผลมันก็ค่อยๆ แห้งตกสะเก็ดไปเอง ไม่ใช่ไปหยุดกระบวนการไม่ให้เกิดขึ้นเลย มันเป็นไปไม่ได้ ผิดธรรมชาติของเด็ก มันต้องหาความพอดีในทุกๆ อย่าง
ถึงแม้บ้านไหนจะมีฐานะดี แต่ยังไงๆ ‘เงิน’ ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่แท้จริงได้ทุกเรื่อง ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันใจให้ลูกได้ เพราะเขาควรต้องได้รับรู้รสชาติชีวิตให้ครบรสเหมือนเด็กธรรมดาคนหนึ่งด้วยตัวเขาเอง
How to เลี้ยงลูกยังไง ให้เขารู้ว่าตัวเองชอบอะไรจริงๆ?
จริงๆ พ่อแม่อย่างพวกเราต้องหัดสังเกตลูกให้เป็น ง่ายๆ เลยครับดูตอนเขาเบื่อๆ ว่างๆ เขาทำอะไร วาดรูป เล่นตุ๊กตา เล่นขายของ ทำกับข้าว วิ่งไล่จับ เล่นซ่อนแอบ
แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าลูกชอบด้านไหน? อย่างพี่พี่รู้ว่าจินชอบวาดรูป และเขาทำได้เองจนเก่งด้วย ก็เพราะเขาตะบี้ตะบันวาดมันออกมาด้วยความหลงใหลไง แล้วเขาก็เอามาโชว์เรา ไม่ใช่วาดแล้วทิ้งขว้าง แต่เขาคิดต่อว่าจะวาดภาพอะไรต่อไปดี ท้าทายตัวเองลองวาดอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอด
ถามพ่อว่าถ้าจินอยากวาดอันนี้ต้องวาดยังไง เขาจะวาดซ้ำแล้วซ้ำอีก ใส่ใจเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ โดยที่เราไม่ทันต้องสอน
ส่วนเรนนี่เนี่ย ตอนแรกเขาชอบทำอาหาร อยากเป็นเชฟเพราะชอบกิน แต่พอตอนนี้ เรนนี่กำลังจะ 6 ขวบ ก็ไม่ได้คิดจะเป็นเชฟแล้ว เรนนี่ชอบการแต่งตัว ชอบมิกซ์แอนด์แมตช์ ชอบความสวยงามแบบที่เขาพอใจ คือเขาเป็นคนช่างเลือกใส่เสื้อผ้ามากกว่าจิน จะชอบถามแม่ว่า มีอาชีพอะไรที่ได้แต่งตัวสวยๆ แบบนี้บ้างไหม? คือเราก็ต้องช่างสังเกตเก็บรายละเอียดนิสัยใจคอและพฤติกรรมของลูกไว้ ให้เขาลองทำดูให้หมดจนกว่าจะรู้ว่าไม่ชอบไม่ใช่ เดี๋ยวเราก็จะเห็นความถนัดและเฉพาะตัวเขาฉายแววชัดออกมาเอง
จากความชอบสู่รายได้ จุดเริ่มต้นต่อยอดสร้างผลงานศิลปะ NFT
จริงๆ กระแส NFT ด้านศิลปะมีคนพูดถึงเยอะมากตั้งแต่ปีที่แล้ว พี่เองก็ไม่ค่อยเข้าใจอะไรเยอะหรอก แต่มีหลายคนที่อยู่ในวงการ NFT คริปโต แนะนำกันเข้ามา ตัวจินเองก็ยังไม่เข้าใจหรอกว่ามันคืออะไร พี่ก็เลยฝากตุ๊กกับนาวช่วยดูแลให้หน่อย เพราะเราอยากลองทำดู ก็ถือเป็นอีกช่องทางนึงของคนชอบศิลปะ สามารถสร้างสรรค์ผลงานตัวเองได้ และอาจสร้างรายได้ให้ตัวเองได้ด้วย พอได้เงินมาก็เอาเข้าบัญชีของจินเลย ถือเป็นเงินเก็บที่เขาหามาได้ด้วยตัวเอง
จะเลี้ยงลูกให้เขาปรับตัวได้และรู้เท่าทันสภาพสังคมในปัจจุบันได้อย่างไร?
พี่ก็เคยเป็นกังวลนะ ในแง่ที่ต่อไปเขาจะต้องไปเจออะไรบ้างในอนาคตข้างหน้า บางคนบอกว่าเอาลูกมาออกรายการ ให้อยู่ในโลกโซเชียลเยอะๆ แบบนี้มันจะดีต่อลูกเหรอ? มันก็ใช่ มันก็ถูกของเขา แต่ถ้าเกิดว่า เราเลี้ยงลูกแบบปิดกั้นจากโลกโซเชียล แล้วจู่ๆ วันหนึ่งเขาไปเปิดโลกนั้นด้วยตัวเอง เกิดโดนเพื่อนบูลลี่ผ่านโซเชียลจะทำอย่างไร? พอเขาไม่เคยมีเกราะป้องกันเลย ก็อาจเป็นแผลในใจไปตลอด
ประเด็นคือ วันนี้เขารับรู้เรื่องราวจากโซเชียลเยอะมาก มันทำให้เขาเข้าใจตัวเองมากขึ้น ดังนั้น เราต้องสร้างเกราะให้ลูกแกร่งด้วยตัวเขาเอง เลือกที่จะเก็บความสุข และปล่อยผ่านความคิดด้านลบของคนอื่น โดยยังสามารถเอาตัวรอดในอนาคตได้ตามวัยของเขาและในแบบของเขาเอง
เพราะเราไม่มีทางห้ามได้หรอก มันอยู่เหนือการควบคุมของเรา เหมือนที่เราห้ามโรคใหม่อุบัติไม่ได้ แต่เราฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายของเราได้
สิ่งที่พ่อแม่อย่างเราพอจะทำได้ก็คือ คอยเสริมความคิด ปรับมุมมองการมองโลกของลูกให้ตรงกับความเป็นจริง บอกเขาว่า… “จงมองเรื่องเสียใจในชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ให้กลายเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเจอ”
ฝากถึงคุณพ่อคุณแม่บ้านอื่น
ก่อนอื่นเลย พ่อแม่ต้องพักผ่อนให้เพียงพอก่อน 555 และจัดสรรเวลาดูแลความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดี พอมีลูกก็พากันทุ่มโฟกัสไปที่ลูกและทำงานหาเงินเสียหมด จนบางครั้งอาจเกิดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กันระหว่างคู่สามี-ภรรยา
เรื่องอารมณ์ความรู้สึกมีความหมายกับชีวิตคนเรา สำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นที่ผู้ใหญ่มักใช้อ้างกัน จริงๆ เราสามารถจัดการให้ลงตัวได้ ต้องรู้ตัว ยอมรับมัน แล้วพากันไปพบผู้เชี่ยวชาญ หาแนวทางปรับตัวกันใหม่ นัดจิตแพทย์ก็เหมือนนัดระบายทุกข์ให้เพื่อนฟัง ซึ่งเขาจะให้คำปรึกษาที่ใช้ได้จริงไม่มั่วซั่ว
ส่วนลูกก็เกิดมาเพื่อใช้ชีวิตของเขา เราหมั่นเติมความสุข สร้างโมเมนต์ที่น่าจดจำด้วยกันเยอะๆ ดีกว่า อย่าเอาลูกมาเป็นเครื่องมือพิสูจน์ความสำเร็จของพ่อแม่ เราต้องมองถึงความสุขของเขาเป็นหลัก มากกว่าความสุขของเราเอง เมื่อลูกมีความสุข เราถึงจะวางใจได้
จงเลี้ยงลูกให้จิตใจมีความสุข เลี้ยงลูกให้เขาเติบโตในแบบของเขา มองหาความสามารถและจุดเด่นของเขา แล้วสนับสนุนเขาไปให้ไกลเท่าที่ใจอยาก อย่าเอาปม หรือความทุกข์ ความเก็บกดของพ่อแม่ไปลงที่ลูก อย่าเอาความฝันของตัวเองไปให้ลูกแบก
เพราะถ้าวันนึง ลูกคิดว่าสิ่งที่พ่อแม่วางหมากชีวิตมาให้มันไม่ใช่ทางของเขา ต้องมาเสียเวลาใช้ชีวิตเป็นคนอื่นเพื่อให้สมใจพ่อแม่ ครอบครัวก็จะไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยหรือบ้านแห่งความสุขสำหรับลูก อย่าต้องให้สูญเสียสมาชิกครอบครัวไปเสียก่อนจะดีกว่า
Related Courses
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ