ตั้งกฎก่อนเกมอย่าให้การเล่นเกมทำร้ายลูก
“ติดเกมหรือเปล่า” คือคำถามที่เรามักได้ยิน เมื่อมีข่าวคราวเกี่ยวกับพฤติกรรมรุนแรงของเด็กและเยาวชน แน่นอนว่าการหาสาเหตุหรือต้นตอของปัญหาเป็นเรื่องดี แต่การชี้นิ้วว่า “เกม” คือสาเหตุหลักของพฤติกรรมความรุนแรง อาจไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น หนำซ้ำยังอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเพราะพฤติกรรมความรุนแรงที่พบเห็นเป็นข่าวสะเทือนใจนั้น มักไม่ได้มีสาเหตุหลักสาเหตุเดียว แต่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยประกอบกัน และบางครั้งเรื่องราวเบื้องหลังพฤติกรรมรุนแรงเหล่านั้นก็อาจซับซ้อนเกินกว่าที่คนภายนอกจะเข้าใจได้อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าพ่อแม่ในฐานะผู้ปกครองย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตลูกและการเล่นเกมก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของพ่อแม่เช่นกัน
ปัจจุบันนี้รูปแบบการเล่นเกมพัฒนาไปมากมีทั้งการเล่นเกมออนไลน์ที่ผู้เล่นสามารถสนทนากับคนแปลกหน้าผ่านเกม หรือภาพและเสียงต่างๆ ที่พัฒนาให้มีความสมจริงยิ่งขึ้นพ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่ควรปล่อยให้ลูกเล่นเกมโดยปราศจากการดูแล แม้ว่าลูกจะเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว แต่ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ควรรู้ว่าลูกกำลังเล่นเกมอะไร อย่างไรและกับใคร
กฎกับเกมสองสิ่งที่ต้องมาคู่กัน
สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันเมื่อ พ่อแม่หยิบยื่นหน้าจอโทรศัพท์ให้กับเด็กเล็กเป็นครั้งแรก หรือซื้อวีดีโอเกมเครื่องแรกให้เป็นของขวัญลูกวัยรุ่น ก็คือ ทั้งสองสิ่งนี้หากลูกเสพติดแล้ว ย่อมยากที่จะทำให้พวกเขาลดละเลิกได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะหน้าจอมือถือ หรือการเล่นเกม ก่อนที่พ่อแม่จะหยิบยื่นหรืออนุญาตให้ลูกเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ ควรตั้งกฎเกณฑ์ให้ชัดเจน และคิดล่วงหน้าว่ามีวิธีใดบ้างที่จะทำให้ลูกไม่ใช่เวลาอยู่กับสิ่งเหล่านี้มากเกินไป
สำหรับวัยรุ่นการเล่นเกมอาจเป็นวิธีเดียวที่พวกเขาจะได้ใช้เวลากับเพื่อนๆ ผ่านเกมออนไลน์ เพราะใครๆ ก็เล่นกันแต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้างที่ลูกจะสามารถอยู่กับเกมได้ทั้งวัน หากเป็นไปได้ก่อนอนุญาตให้ลูกเล่นเกม “ครั้งแรก” พ่อแม่ควรนั่งลงพูดคุยกับลูกอย่างเป็นกิจลักษณะกำหนดขอบเขตและระยะเวลาการเล่น กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกสร้างข้อตกลงที่ชัดเจนในเรื่องต่างๆ ดังนี้
- ความโปร่งใส: พ่อแม่มีสิทธิ์ที่จะรู้ว่าลูกเล่นเกมอะไร เหมาะสมกับวัยหรือไม่ เนื้อหาและเรตของเกมเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้ลูกจำเป็นต้องบอกพ่อแม่ก่อนเล่นเกมใหม่ทุกครั้ง
- เวลา: ควรกำหนดกรอบเวลาให้ชัดว่าเล่นเกมได้สัปดาห์ละกี่วัน วันไหนบ้าง และเล่นเกมแต่ละครั้งระยะเวลากี่ชั่วโมง
- หน้าที่อื่น: ควรตั้งกฎว่าเพื่อแลกกับการเล่นเกม ลูกควรมีหน้าที่อื่นๆ ในบ้านที่ต้องรับผิดชอบด้วย เช่น ล้างจานให้เสร็จจึงเล่นเกมได้ หรือ ทำความสะอาดห้องนอนตนเองทุกวันเสาร์ รวมทั้งต้องทำการบ้าน อ่านหนังสือให้เสร็จก่อน หากทำไม่ได้ตามนี้ สัปดาห์นั้นๆ ก็จะต้องงดเล่นเกม เป็นต้น
- การใช้เวลาร่วมกัน: เมื่อพ่อแม่อนุญาตให้เล่นเกมได้ ลูกก็ควรจัดสรรเวลาที่จะใช้เวลาร่วมกับครอบครัวด้วย อาจกำหนดว่าทุกบ่ายวันอาทิตย์ เป็นเวลาของครอบครัวที่ทุกคนจะปิดหน้าจอและใช้เวลาร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกมทำลายสายสัมพันธ์อันดีที่ควรมีภายในครอบครัว
อย่างไรก็ตาม ครอบครัวส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งกฏเกณฑ์ไว้ตั้งแต่ครั้งแรก กว่าจะรู้ตัว ลูกก็เล่นเกมมากกว่าพูดคุยกับพ่อแม่เสียแล้ว หากเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรทำคือ
- สร้างคุณค่าให้เกม: ชวนลูกพูดคุยถามความคิดเห็นว่าการเล่นเกมมีประโยชน์กับลูกอย่างไร เด็กๆ อาจตอบว่าทำให้เขาได้ใช้เวลากับเพื่อน, ฝึกภาษาอังกฤษ หรือกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าคำตอบของลูกคืออะไรควรรับฟังและยอมรับพ่อแม่อาจแบ่งปันความคิดว่าตนเองเห็นว่าเกมที่ลูกเล่นมีประโยชน์อย่างไร เช่น ทำให้ลูกอยู่บ้านมากขึ้นหรือทำให้ลูกอ่านภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น ฯลฯ วิธีนี้ไม่เพียงทำให้วัยรุ่นมองเห็นข้อดีของเกม แต่ยังทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่เปิดใจและยอมรับการเล่นเกมของเขา ซึ่งสร้างความใกล้ชิดและความรู้สึกว่าพ่อแม่เป็น “พวกเดียวกัน” มากขึ้น
- คุยเรื่องบริหารเวลา: เปิดใจคุยกับลูกอย่างสงบและรักษาน้ำเสียงให้จริงจังแต่อ่อนโยน (Kind but Firm) ว่าการใช้เวลาว่างส่วนใหญ่หมดไปกับการเล่นเกมอาจทำให้ลูกพลาดโอกาสสร้างประสบการณ์ในชีวิตจริง ลองเสนอให้ลูกหากิจกรรมที่อยากทำนอกเหนือจากเล่นเกม และสนับสนุนกิจกรรมเหล่านั้น เช่น เรียนวาดรูปกับเพื่อน, เรียนทำอาหารกับแม่, วางแผนโปรเจกต์ทาสีรั้วบ้านใหม่กับพ่อ หรืออาจจะเป็นกิจกรรมที่ลูกอยากทำคนเดียว เช่น วิ่งจ๊อกกิ้ง, ปลูกแคคตัสขาย หรือต่อโมเดลตัวละครในเกม ฯลฯ ก็ได้เช่นกัน
- ให้กำลังใจ: เมื่อเห็นลูกพยายามปรับตัว ใช้เวลากับครอบครัวและทำกิจกรรมอื่นๆ มากขึ้นควรกล่าวชมและให้กำลังใจ ในวันหยุดที่อยู่พร้อมหน้ากันพ่อแม่ควรสร้างโอกาสที่จะทำกิจกรรมต่างๆ พร้อมกันทั้งครอบครัว เช่น ชวนกันไปดูหนัง, ชวนกันเก็บบ้านเอาของไปบริจาค ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้พ่อแม่ควรทำอย่างมีความสุข ไม่คาดคั้น คาดหวังให้ลูกต้องทำกิจกรรมอย่างสมบูรณ์แบบผู้ใหญ่ต้องเข้าใจว่าเป้าหมายของกิจกรรมเหล่านี้คือการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดี ให้ลูกรู้สึกว่าการใช้เวลากับพ่อแม่ก็มีสนุกไม่น้อยไปกว่าการเล่นเกมเมื่อโฟกัสที่เป้าหมายนี้อย่างชัดเจน วิธีการและแนวทางจะค่อยๆ ชัดขึ้นในที่สุด
ตรวจจับสัญญาณอาการติดเกม
แม้ว่าการเล่นเกม จะเป็นวิธีผ่อนคลายความเครียดจากการเรียน ทั้งยังได้สังสรรค์กับเพื่อนผ่านเกมออนไลน์แต่หากนานวันไปพ่อแม่เริ่มรู้สึกว่าลูกเล่นเกมแข่งขันเพื่อเอาชนะคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก นี่อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นว่าวัยรุ่นกำลังก้าวเข้าสู่วังวนของการติดเกมหนังสือเรื่อง Playstation Nation แนะนำเช็คลิสต์ที่พ่อแม่สามารถใช้ตรวจสอบสัญญาณการติดเกมของลูกได้ ดังนี้
- เล่นเกมเกือบทุกวันหรือไม่?
- เล่นเกมแต่ละครั้งนานกว่า 3-4 ชั่วโมง?
- เล่นเกมเพื่อความตื่นเต้น?
- รู้สึกหงุดหงิด อารมณ์เสียเมื่อไม่ได้เล่นเกม?
- สละเวลาเข้าสังคม เล่นกีฬา หรือการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เคยชอบเพื่อเล่นเกม?
- เล่นเกมแทนที่จะอ่านหนังสือหรือทำการบ้าน?
- แม้จะจำกัดเวลาการเล่นแล้วแต่ก็ยังไม่เป็นผล?
- ขาดความสนใจกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตจริง?
หากคำตอบส่วนใหญ่คือใช่ก็ถึงเวลาที่พ่อแม่ควรลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยลูกให้หลุดออกจากวงจรนี้ เช่น ลดจำนวนชั่วโมงในการเล่นถอดปลั๊กไปเก็บไว้เมื่อหมดเวลาอย่าลืมว่าเด็กๆ เล่นเกมผ่านคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนได้ ไม่จำเป็นต้องเล่นผ่านเครื่องเกมเท่านั้นเพราะฉะนั้นพ่อแม่ควรจำกัดเวลาการเล่นเกมบนเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของลูกด้วย
ติดเกมแล้ว ทำอย่างไรดี
คำกล่าวที่ว่า ป้องกันไว้ดีกว่าตามแก้ไขใช้ได้ดีกับกรณีเด็กติดเกมดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การตั้งกฎเกณฑ์ก่อนอนุญาตให้ลูกเล่นเกมครั้งแรก ย่อมทำให้การควบคุมทำได้ง่ายกว่าแต่หากรู้เมื่อสาย ลูกติดเกมไปแล้ว การแก้ไขแม้จะทำได้ยากกว่า แต่ก็ทำได้หากพ่อแม่เข้าใจและจริงจังก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า เด็กติดเกมมักไม่มองกว่าพฤติกรรมของเขามีปัญหาแต่มองว่าพ่อแม่ผู้ปกครองเองที่จู้จี้จุกจิกเมื่อเป็นเช่นนี้พ่อแม่จึงไม่ควรให้ลูกหยุดเล่นเกมโดยสิ้นเชิงเพราะจะยิ่งทำให้ลูกต่อต้าน สิ่งที่พ่อแม่ควรทำในกรณีนี้คือ
- กำหนดเวลา: เวลาเป็นเรื่องสำคัญเสมอ เพราะทุก 1 ชั่วโมงที่ลูกเล่นเกม เท่ากับว่าเขาเสียเวลา 1 ชั่วโมงในการออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิต เพราะฉะนั้น พ่อแม่ควรกำหนดเวลาว่าเล่นได้วันละกี่ชั่วโมง ข้อมูลจาก Common Sense Media สหรัฐฯ ระบุว่า 56% ของเด็กอายุ 13-17 ปี เล่นเกมเฉลี่ย 2.5 ชั่วโมงต่อวัน หากพ่อแม่กำหนดให้ลูกเล่นเกมวันละ 2 ชั่วโมง โดยตั้งเวลาไว้ ก็จะช่วยให้ลูกจัดการตัวเองได้ง่ายขึ้น
- ให้ความรู้: พ่อแม่ควรให้ความรู้เด็กๆ ว่าแม้เกมจะมีประโยชน์หลายด้าน แต่อะไรที่มากเกินไปย่อมมีผลเสีย ยกตัวอย่างให้ลูกเข้าใจ เช่น ด้านร่างกายเสียสายตา ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ด้านการเรียน ทำให้ไม่ได้อ่านหนังสือ ทำการบ้านไม่เสร็จ ด้านสังคม ทำให้พลาดโอกาสไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน เป็นต้น ลองสนับสนุนให้ลูกเปลี่ยนจากผู้เล่น เป็นผู้สร้าง ด้วยการฝึกเขียนเกม เขียนโปรแกรม จุดประกายความคิดให้ลูก เช่น “เกมนี้เขาสร้างยังไงนะ แม่รู้มาว่ามี AI เขียนเกมได้ ลูกอยากลองทำไหม” เป็นจุดเริ่มต้นให้ลูกเปลี่ยนจากการเล่นเกม ไปทำอย่างอื่นแต่ก็ยังมีความเชื่อมโยงกับเกมอยู่บ้าง
- ใช้เครื่องมือช่วย: หากการจับเวลาทั่วไปไม่ได้ผล อาจหาแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมที่ทำหน้าที่จับเวลา และจำกัดการเล่นเกมของลูก สำหรับเด็กที่เล่นเกมผ่านคอมพิวเตอร์ ลองดาวน์โหลดโปรแกรม Cold Turkey Blocker ที่จะบล็อกเกมหรือโซเชียล มีเดีย เมื่อถึงเวลาที่ตั้งไว้
แม้เกมจะทำให้เด็กๆ สนุก ผ่อนคลาย แต่เกม ก็ไม่อาจแทนที่ช่วงเวลาดีๆ ที่ลูกต้องการมีร่วมกับพ่อแม่ได้ แม้ว่าทุกวันนี้การหาเงินเลี้ยงปากท้องเป็นเรื่องสำคัญและเกมอาจทำให้ลูกคลายเหงาแทนพ่อแม่ได้แต่เชื่อเถอะว่า หากพ่อแม่ทุ่มเทสร้างเวลาคุณภาพให้ลูกอย่างแท้จริง เด็กๆ จะย่อมเลือกพ่อแม่มากกว่าเกม สุดท้ายแล้วสิ่งที่จะเอาชนะการติดเกมได้ จึงอาจไม่จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ใดๆ มีเพียงแต่ใจของพ่อแม่ที่พร้อมจะอยู่ตรงนั้นเพื่อรับฟังเข้าใจและให้เวลากับลูก…ก็เพียงพอ
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
Related Courses
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ