สอนลูกรักษาความสัมพันธ์ด้วยการรักษาคำพูด
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน โดยมีภาษาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร แต่เคยสังเกตหรือไม่ว่า บางครั้งเราก็ใช้ภาษาเป็นอาวุธทำร้ายกันบางครั้งเราก็ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือหลอกลวงกันโดยที่ไม่ได้แตะต้องร่างกายแต่คนเราสามารถใช้คำพูดทำร้ายหลอกลวงอีกฝ่ายได้อย่างเจ็บปวดที่สุด
การไม่รักษาสัญญา ไม่ทำตามคำพูดอาจดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรแต่ในความเป็นจริงแล้ว ในสังคมที่เราต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นและต้องสร้างสัมพันธ์ระหว่างกันการเป็นคนไม่รักษาสัญญาหลอกลวงคำอื่นด้วยคำพูดไม่ว่าจะเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง หรือเพื่อความสนุกสนานล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพราะจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากการพูดโกหก
ยิ่งในสังคมที่ให้คุณค่ากับภาพลักษณ์ความสำเร็จที่โพสต์โชว์บนโซเชียลมีเดียได้ หากเด็กๆ ไม่ได้รับการปลูกฝังเรื่องการรักษาคำพูดพวกเขาก็อาจทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการโดยไม่ได้สนใจว่ากำลังทำลายความสัมพันธ์ดีๆ ในชีวิตไปหรือเปล่า
สอนลูกรู้จักคำกล่าว “คำพูดเป็นนายเรา”
หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า ก่อนพูดเราเป็นนายคำพูด แต่เมื่อพูดไปแล้วคำพูดจะเป็นนายเราสอนให้ลูกเข้าใจคำกล่าวนี้เพื่อชี้ให้เขาเห็นว่าคำพูดมีความสำคัญอย่างไร เช่น ยกตัวอย่างให้ลูกเข้าใจว่า หากแม่รับปากว่าจะพาไปเที่ยวแต่ไม่เคยพาไปสักทีลูกจะรู้สึกอย่างไร แล้วหากแม่รับปากลูกอีกลูกจะยังเชื่อถือคำพูดของแม่อยู่หรือไม่
อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าคำพูดมีความสำคัญเพราะเป็นสิ่งที่จะบ่งชี้คุณค่าของตัวเราได้ หากเราพูดและทำตามที่พูดเสมอ ผู้คนย่อมให้ความเคารพเชื่อถือแต่หากเราพร่ำพูดมากมายแต่ไม่เคยทำได้จริงผู้คนก็จะไม่ให้ค่าคำพูดของเราทำให้เรากลายเป็นคนไม่น่าเชื่อถือในที่สุดยิ่งกับคนใกล้ชิด การไม่รักษาคำพูดไม่เพียงลดความน่าเชื่อถือของเราเท่านั้น แต่ยังทำลายความสัมพันธ์ดีๆ ด้วยเหมือนกับตัวอย่างที่แม่รับปากว่าจะพาไปเที่ยว แต่ไม่เคยทำได้จริง ย่อมส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก ทำให้ลูกรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสำคัญสำหรับแม่เพราะแม่ไม่เคยรักษาคำพูดได้เลย กับเพื่อนก็เช่นเดียวกันหากรับปากว่าจะช่วยติวหนังสือให้เพื่อน แต่ขอเลื่อนทุกครั้งโดยไม่มีเหตุผลเพื่อนก็อาจเสียความรู้สึกกลายเป็นรอยร้าวในมิตรภาพได้ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ควรสอนลูกว่าก่อนรับปากหรือสัญญาอะไรกับใครควรมั่นใจว่าจะทำได้จริงๆ เพราะเมื่อพูดออกไปแล้ว หากทำไม่ได้ตามนั้นคำพูดจะเป็นนายเราและเราเองคือคนที่ต้องชดใช้ด้วยความสัมพันธ์กับผู้คนในชีวิต
5 วิธีสอนลูกรักษาคำพูด
เพื่อให้ลูกเรียนรู้เรื่องการรักษาคำพูด พ่อแม่สามารถนำคำแนะนำต่อไปนี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อให้ลูกเห็นความสำคัญของการรักษาคำพูดได้
1.รักษาสัญญากับลูกเสมอ: คำกล่าวว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นยังคงใช้ได้อยู่เสมอการเรียนรู้ของลูก 100% มาจากการเฝ้าดูพฤติกรรมของพ่อแม่เพราะฉะนั้นหากต้องการให้ลูกรักษาคำพูดพ่อแม่ควรรักษาสัญญากับลูกให้ได้เสมอหากไม่มั่นใจว่าจะทำได้ไม่ควรรีบรับปากหรือให้คำมั่นสัญญา การบอกลูกว่า “พ่อขอคิดดูก่อน” หรือ “เดี๋ยวแม่ลองวางแผนก่อนนะ” ก็ไม่ได้แย่เกินไปนักเพียงแต่ว่าอย่าลืมอัปเดตรายละเอียดให้ลูกรับรู้ด้วยว่าคุณตัดสินใจอย่างไร
2.หาโอกาสที่จะสอน: ไม่ว่าจะจากการอ่านข่าว เหตุการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองหรือจากประเด็น Talk of the Town ต่างๆ ลองชี้ให้ลูกเห็นว่าเหตุการณ์นั้นๆ มีปัญหาตรงไหนการไม่รักษาคำพูดส่งผลอย่างไรใครได้รับผลกระทบบ้าง เป็นต้น
3.พูดคุยกับลูกสม่ำเสมอ: การพูดคุย รับฟัง และให้ความสนิทสนม คุ้นเคยกับเรื่องราวต่างๆในชีวิตของลูกจะทำให้พ่อแม่อยู่ในตำแหน่งที่สามารถช่วยเหลือให้กำลังใจและให้คำแนะนำเมื่อลูกเผชิญปัญหาความสัมพันธ์ในชีวิตได้
4.ปล่อยให้ลูกเผชิญผลลัพธ์: บางครั้งการปล่อยให้ลูกได้เผชิญผลลัพธ์จากการไม่รักษาคำพูดของตนเองก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ลูกได้เข้าใจจากประสบการณ์จริง เช่น หากลูกรับปากว่าจะไปหาเพื่อนตอน 5 โมงเย็น แต่ 4.30 ยังนั่งเล่นเกมติดพันอยู่ที่บ้าน แทนที่จะคอยเตือน ลองปล่อยให้ลูกเผชิญกับผลลัพธ์ว่าการผิดนัด ผิดเวลา จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์อย่างไร ไม่ต้องรีบเข้าไปช่วยลูกแก้ปัญหาลองให้เขารับมือด้วยตนเอง
5.ไม่รักษาคำพูด = โกหก: คำว่าไม่รักษาคำพูดบางครั้งอาจฟังดูเบาไปแต่หากบอกว่าการไม่รักษาคำพูดคือการโกหกและการโกหกคือพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์ที่ไม่ต่างจากการโกงก็อาจทำให้ลูกเข้าใจและเห็นภาพชัดขึ้นหากการโกงข้อสอบเป็นสิ่งไม่ดีที่ไม่ควรทำการโกหกก็เป็นความผิดในระดับเดียวกันจัดเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรได้รับการยอมรับเช่นเดียวกัน
สุดท้ายแล้วมนุษย์เราจะอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขได้ย่อมเกิดจากการมีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบตัวซึ่งความสัมพันธ์อันดีนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากคนเราไม่ซื่อสัตย์ไม่จริงใจต่อกันวัยรุ่นอาจค่อยๆเรียนรู้ ลองผิดลองถูก กระทบกระทั่งในความสัมพันธ์หากพ่อแม่เป็นเสาหลักที่คอยชี้แนวทางที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้ลูกกลับมาอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องและพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัวได้ในที่สุด
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
Related Courses
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
การดูแลสุขภาพใจเด็กประถมศึกษา
ในคอร์สนี้เป็นการดูแลสุขภาพใจของเด็ก เพราะการมีสุขภาพใจที่ดีนั้นส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ทำให้อารมณ์ดี สามารถจัดการภาวะอาร ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ