Child Grooming ตีสนิทเด็กๆ เพื่อหลอกใช้เรื่องใหญ่ที่พ่อแม่ต้องระวัง
ในโลกยุคดิจิทัลทุกวันนี้ เรื่องความปลอดภัยของเด็กๆ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งกว่ายุคใดๆ ที่ผ่านมา เพราะโลกที่กว้างขึ้น ย่อมเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้พบเจอผู้คนหลากหลาย เข้าถึงข้อมูลมากมายได้อย่างไม่จำกัด ประเด็นเรื่อง Child Grooming จึงมักถูกหยิบยกมาพูดถึง แม้ว่าหลายคนในสังคมจะเพิ่งเคยได้ยินคำนี้ แต่พฤติกรรมที่เข้าข่าย Child Grooming นั้นมีมานานแล้ว แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้เท่าทันในบทความนี้ StarfishLabz ชวนพ่อแม่ รวมถึงเด็กๆ มาทำความเข้าใจพฤติกรรมที่เรียกว่า Child Grooming เพื่อเด็กๆ จะได้ป้องกันตนเอง และผู้ปกครองก็รู้เท่าทันเพื่อช่วยป้องกันบุตรหลาน
Child Grooming ตีสนิท คิดไม่ซื่อ
“เดินไปเรียนคนเดียวน่ากลัวนะ วันหลังบอกจะเดินเป็นเพื่อน” หรือ “แต่งตัวแบบนี้สวยจัง ใส่มาบ่อยๆ นะ” คำพูดที่ดูเหมือนห่วงใย เป็นคำชมที่ไม่มีพิษมีภัยเหล่านี้ หากเกิดขึ้นกับคนที่มีเจตนาไม่ดี ก็อาจเข้าข่าย Child Grooming ที่ตีสนิทกับเด็กๆ โดยมีเจตนาไม่ดีอยู่เบื้องหลัง
โดยทั่วไปคนเหล่านี้มักทำตัวเป็นมิตร สนิทสนม ทำให้เด็กๆ เชื่อใจ ด้วยวิธีต่างๆ ทั้ง กล่าวคำชม ให้คำแนะนำ ทำตัวเป็นที่ปรึกษา แต่แอบให้คำแนะนำแบบผิดๆ เช่น เมื่อเด็กเล่าให้ฟังว่าแม่บ่นเรื่องออกไปเที่ยว ก็อาจทำเป็นเห็นอกเห็นใจ แล้วแนะนำให้หนีเที่ยวตอนเรียนพิเศษเพื่อไม่ให้แม่จับได้ ซึ่งวัตถุประสงค์การตีสนิทก็เพื่อจะหลอกใช้ และสุดท้ายอาจนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศในที่สุดสิ่งที่น่ากลัวคือ เมื่ออยู่ในโลกออนไลน์ การ Grooming อาจทำได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งกว่า ผ่านการพูดคุยผ่านแชต ผ่านเกม อาจแลกรูปโปรไฟล์กัน แบ่งปันกิจวัตรประจำวันผ่านฟีดของโซเชียลมีเดีย กว่าจะรู้ตัวเด็กๆ ก็อาจถูก Grooming จนหลงเชื่อไปแล้ว
พฤติกรรมแบบไหนเข้าข่าย Child Grooming
Child Grooming อาจมาในหลายรูปแบบ เพราะฉะนั้นการสังเกตสัญญาณต่างๆ และใช้สัญชาตญาณประกอบ ก็อาจช่วยให้จับพิรุธได้เร็วขึ้น เช่น บางคนอาจพยายามตีสนิทอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะออนไลน์หรือในชีวิตจริง ชวนให้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยอาจนำของหรือข้อเสนอที่น่าสนใจมาล่อ ส่งรูปภาพหรือโชว์สิ่งที่เด็กๆ ไม่ควรเห็นให้ดู และมักทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าการทำผิดเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่เห็นมีอะไรต้องกังวล บางรายอาจเสนอตัวว่าจะช่วยรับผิดแทน เป็นต้น สิ่งหนึ่งที่ผู้มีพฤติกรรม Child Grooming มักทำเหมือนๆ กัน คือ การพยายามบอกให้เด็กๆ มีความลับกับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง นี่อาจเป็นสัญญาณที่จับสังเกตได้ง่ายที่สุด
เราอาจแบ่งขั้นตอนการ Grooming ให้เห็นชัดขึ้นเป็น 7 ลำดับ ดังนี้
1.หาเป้าหมาย มักเป็นเด็กที่ไม่ค่อยมีเพื่อน อยู่หอพัก หรือเด็กที่ขัดแย้งกับครอบครัว
2.เติมสิ่งที่ขาด เช่น เด็กๆ ที่ไม่ค่อยมีเพื่อน ก็จะทำตัวเป็นเพื่อนสนิท เด็กที่ทะเลาะกับพ่อแม่ก็จะทำตัวเป็นที่ปรึกษา หรือเด็กต้องการสิ่งใดก็มักจะหามาให้ง่ายๆ ในช่วงแรก
3.แยกเด็กออกจากกลุ่ม หากพบกันในเกมออนไลน์ ก็อาจชวนเด็กมาคุยในแชตส่วนตัว หรือในชีวิตจริง ก็อาจนัดพบโดยบอกให้เด็กมาตามลำพัง
4.ชวนคุยเรื่องเพศ
5.ล่วงละเมิดทางเพศ
6.ถ่ายรูประหว่างการละเมิด
7.ข่มขู่ เพื่อล่วงละเมิดซ้ำ หรือบังคับให้เด็กทำสิ่งที่ต้องการ
ลูกเราเสี่ยงแค่ไหนกับ Child Grooming
สิ่งที่ทำให้ Child Grooming เป็นเรื่องใกล้ตัวพ่อแม่ทุกคนก็คือ บ่อยครั้งผู้ที่พยายาม Groom เด็ก มักเป็นคนที่พ่อแม่เองก็ไว้ใจ อาจเป็นคนสนิทของครอบครัว หรือคนกระทั่งคนในครอบครัวเอง ไปจนถึงครูที่โรงเรียนโลกออนไลน์ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กๆ มีความเสี่ยงจากการถูก Groom ยิ่งขึ้น โดยผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2565 ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 9 – 18 ปี จำนวน 31,965 คน พบว่า 36% มีประสบการณ์ถูกจีบในโลกออนไลน์ ซึ่งคนร้ายอาจพยายามทำให้เด็กเชื่อว่าตกหลุมรัก อยากคบหาเป็นแฟน แถมเด็กที่อายุประมาณ 10 ขวบ ถึง 12% ก็เคยผ่านประสบการณ์ล่อลวงมาก่อน
สอนลูกป้องกันภัย Child Grooming
เป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกในประเด็นนี้ เด็กๆ ควรเข้าใจว่าพฤติกรรมแบบใดเป็นสัญญาณอันตราย เช่น หากใครมาตีสนิท แต่มีพฤติกรรมลับๆ ล่อๆ ขอให้เก็บความลับ ส่วนใหญ่แล้วคนเหล่านี้มักมีเจตนาที่ไม่ดี เพราะคนทำดีย่อมไม่หลบๆ ซ่อนๆ หรือหากใครมาชวนทำอะไร ที่เด็กๆ รู้สึกว่าขัดกับความถูกต้อง ควรเล่าให้พ่อแม่ฟังทันทีแม้ว่าจะเป็นเพียงความรู้สึกแปลกๆ ก็ตาม
ต่อไปนี้เป็น 5 ข้อ ที่เด็กๆ ควรรู้เพื่อป้องกันตนเองจาก Child Grooming
1.ใช้โลกออนไลน์อย่างปลอดภัย เด็กๆ ควรเรียนรู้เรื่อง Digital Footprint ว่าสิ่งที่เข้าสู่โลกออนไลน์จะคงอยู่ตลอดไป จึงต้องระมัดระวังก่อนแชร์หรือโพสต์อะไรก็ตาม
2.สังเกตสิ่งแปลกๆ หากเพื่อนในโลกออนไลน์เริ่มถามคำถามแปลกๆ ที่ทำให้รู้สึกอึดอัด เด็กๆ ควรรู้ว่าพวกเขามีสิทธิที่จะปฏิเสธ หรือเลิกคุยกับคนเหล่านั้น
3.มีที่ปรึกษา ควรมีใครสักคนที่ไว้ใจได้และเด็กๆ เชื่อใจ อาจเป็นพ่อแม่ พี่น้อง ที่รับฟังเรื่องราวแปลกๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในโลกออนไลน์และชีวิตจริง
4.เชื่อสัญชาตญาณ เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกไม่ถูกต้อง แม้คนอื่นจะบอกว่าถูกก็ตาม เด็กๆ ควรเชื่อสัญชาตญาณของตนเองและขอความช่วยเหลือ
5.รู้จักขอบเขต เด็กๆ ควรรู้ว่าพวกเขามีสิทธิที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัว และมีสิทธิบอกปฏิเสธสิ่งที่ทำให้พวกเขารู้สึกอึดอัดไม่ว่าจะออนไลน์หรือออฟไลน์ และใครที่ข้ามเส้นแบ่งเขตเหล่านั้นมาโดยที่ไม่ยินยอม ย่อมไม่โอเคและควรแจ้งให้ผู้ใหญ่รับรู้
สุดท้ายแล้วแม้ Child Grooming จะเป็นภัยแอบแฝงที่ดูน่ากลัว แต่ด้วยการทำความเข้าใจ ตระหนักรู้ และสอนลูกให้พร้อมรับมือ ด้วยการให้ความรู้อย่างเหมาะสมควบคู่ไปกับการมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับลูก พ่อแม่ก็จะสามารถสร้างเกราะป้องกันภัยรอบด้านให้เด็กๆ ในวันนี้เติบโตอย่างปลอดภัยได้
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
● Grooming: an expert explains what it is and how to identify it
บทความใกล้เคียง
เปิดห้องสำหรับพ่อแม่ สอนเรื่องเพศศึกษาให้ลูก
5 คอร์สเรียนออนไลน์สำหรับคุณพ่อคุณแม่ สร้างชีวิต เสริมทักษะ พูนความสุขให้ลูกอย่างถูกวิธี
Starfish Future Labz แนะแนวทักษะชีวิต 5 เคล็ดลับ ช่วยลูกพัฒนาสมาธิ พร้อมจดจ่อในทุกสถานการณ์
Related Courses
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
ปลุกพลังนวัตกรรุ่นใหม่ สร้างสังคมเมืองปลอดภัยและมีสุข
ผู้เรียนในช่วงอายุ 13-18 ปีสามารถใช้กระบวนการ STEAM Design Process ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันอย่างมีค ...