Starfish Future Labz แนะแนวทักษะชีวิต 5 เคล็ดลับ ช่วยลูกพัฒนาสมาธิ พร้อมจดจ่อในทุกสถานการณ์
เมื่อคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองเริ่มมีบุตรหลานตัวน้อยอยู่ในความดูแล ทุกคนย่อมเกิดความสงสัยว่าเราจะเลี้ยงดูพวกเขาอย่างไรให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพ โดยปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าพัฒนาการของเด็ก ๆ ควรมาพร้อมกับ ทักษะชีวิต ที่หลากหลายเพราะทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ในยุคที่เทคโนโลยีขับเคลื่อนโลกไปอย่างรวดเร็วเช่นทุกวันนี้ การมีสมาธิดีย่อมเป็นทักษะที่สำคัญไม่น้อยไปกว่า ทักษะชีวิตอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กและเยาวชน เพราะเป็น การพัฒนาความตั้งใจจดจ่อ ต่อหน้าที่หรือสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ช่วยให้สมองปลอดโปร่งพร้อมรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองทุกคนสามารถ เลี้ยงลูก ให้เป็นผู้มีสมาธิดีได้ โดยวันนี้ Starfish Future Labz ขอแนะนำ 5 วิธีการฝึกให้ลูกมีสมาธิ เพื่อสนับสนุนบทบาทการดูแลเด็ก ๆ ให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ ดังนี้
1. มั่นใจ เชื่อใจในตัวลูก
ในขณะที่ลูกกำลังเล่นสนุกหรือทำกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ตามประสาเด็ก แม้ผู้ใหญ่อย่างเราอาจรู้สึกอยากมีส่วนร่วม เพื่อคอยดูแลสนับสนุนลูก ๆ อย่างใกล้ชิด แต่หากกิจกรรมนั้น ไม่เป็นอันตราย ควรปล่อยให้เด็ก ๆ ตั้งใจทำกิจกรรมนั้นด้วยตนเองจนสำเร็จ โดยไม่เข้าไปช่วยหรือรบกวน เพราะการดูแลแบบห่าง ๆ (อย่างห่วง ๆ) นอกจากจะเป็นการส่งเสริม ทักษะชีวิต ด้านความจดจ่อให้เด็กทำกิจกรรมต่อจนสำเร็จแล้ว ยังเป็นการสร้างเสริมความมั่นใจส่วนตัวของพวกเขา ในยามที่ต้องเผชิญกับความท้าทายภายในกิจกรรมอีกด้วย
2. อยู่เคียงข้าง พร้อมยื่นมือเข้าประคองทุกเมื่อที่ลูกต้องการ
การที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองดูแลเด็ก ๆ แบบห่าง ๆ ในขณะทำกิจกรรมนั้น ไม่ได้เท่ากับการหันเหความสนใจจากตัวลูกน้อยไปเสียทีเดียว เพราะบางครั้งเด็ก ๆ ยังต้องการ คำปรึกษาและกำลังใจเมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายในกิจกรรม การแสดงออกให้พวกเขารับรู้ว่า ยังมีผู้ใหญ่ที่พร้อมให้คำแนะนำและส่งแรงใจยังทำให้เด็กมีพลังในการแก้ไขปัญหา อันจะนำไปสู่การพัฒนาความตั้งใจจดจ่อในการก้าวข้ามอุปสรรคตรงหน้าจนประสบความสำเร็จ
3. ชวนทำกิจกรรมสร้างเสริมสมาธิ ภายในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
อีกหนึ่งวิธีการฝึกให้ลูกมีสมาธิโดยตรงคือการจัดให้เด็ก ๆ ทำกิจกรรมแสนสนุกที่มีการจดจ่อเป็นส่วนสำคัญ กิจกรรมดังกล่าว เช่น งานศิลปะ งานประดิดประดอย บทบาทสมมติ และการเคลื่อนไหวตามจินตนาการ เป็นต้น ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง ควรจัดหาของเล่นหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ นิทานภาพสี่สี ของเล่นมีเสียง ภาพจิ๊กซอว์ และไม้บล็อก กับจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับกิจกรรม และหากสะดวกเข้าร่วมกิจกรรมกับลูก ๆ ด้วย จะยิ่งเป็นการดี เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างสมาธิให้แก่เด็กแล้วยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัวผ่านการเลี้ยงลูกอีกด้วย
4. กำหนดเป้าหมายของแต่ละกิจกรรมและตารางชีวิต
ในขณะที่ลูกยังอยู่ในวัยอนุบาลหรือประถมศึกษาตอนต้น คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง ควรร่วมกับเด็ก ๆ กำหนดตารางชีวิตแบบคร่าว ๆ ว่าในแต่ละวันพวกเขามีกิจวัตรหน้าที่อย่างไรบ้าง จุดประสงค์ของการกำหนดตารางนี้คือ เพื่อให้เด็ก ๆ คุ้นเคยกับชีวิตในโรงเรียนซึ่งมีการจัดตารางเวลาให้ เมื่อลูก ๆ คุ้นเคยกับการมีตารางชีวิตแล้วพวกเขาจะเริ่มเข้าใจว่า กิจกรรมแต่ละอย่าง มีเป้าหมายที่ควรจะบรรลุ ซึ่งก่อนที่พวกเขาจะเป็นผู้กำหนดเป้าหมายของกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง เมื่อโตขึ้น ผู้ใหญ่ในครอบครัวอาจกำหนดเป้าหมายดังกล่าวร่วมกับเด็ก ๆ เพื่อให้พวกเขาเห็นสิ่งที่เปรียบเสมือนเส้นชัยของแต่ละกิจกรรม อันจะนำไปสู่การจดจ่อกับสิ่งที่ควรทำ เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น ซึ่งเป็นการสร้างเสริมสมาธิในเด็กนั่นเอง
5. หากลูก ๆ ไม่มีสมาธิอยู่เสมอ ควรรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเด็ก
เมื่อคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองสังเกตว่าลูก ๆ หรือเด็ก ๆ ที่อยู่ในความดูแล ไม่อยู่นิ่งเลยแม้จะจัดให้ทำกิจกรรมเสริมสร้างสมาธิหลากหลายรูปแบบ และจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการจดจ่อในกิจกรรมนั้น ๆ เป็นระยะเวลาพอสมควร อาจเป็นสัญญาณเตือนให้พาเด็กไปพบกุมารแพทย์ (หมอเด็ก) หรือนักจิตวิทยาเด็ก เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการดังกล่าวและหาทางพัฒนาสมาธิ ทั้งนี้ การไม่อยู่นิ่งของเด็ก อาจไม่จำเป็นต้องมีความเชื่อมโยงกับโรคสมาธิสั้นเสมอไป แต่การรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเด็ก นอกจากจะทำให้สามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้แต่เนิ่น ๆ แล้ว ยังก่อให้เกิดความสบายใจหากพฤติกรรมความไม่นิ่งของลูก ๆ เหล่านั้นเป็นพฤติกรรมปกติของเด็กในวัยเดียวกันอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าการมีสมาธิดีในเด็กนั้นเป็น ทักษะชีวิต ที่มีประโยชน์หลายประการ ทั้งความตั้งใจ จดจ่อทำกิจวัตรประจำวันหรือกิจกรรมต่าง ๆ ให้ประสบผลสำเร็จ การพร้อมรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ ในการเลี้ยงลูก คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองอาจนำ วิธีการฝึกให้ลูกมีสมาธิ ทั้ง 5 วิธี ที่ Starfish Labz นำมาฝากข้างต้นไปประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาพฤติกรรมของเด็ก ๆ ให้สามารถจดจ่อกับสิ่งดี ๆ หรือสิ่งที่ควรทำตรงหน้าได้อย่างมีความสุข ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วพวกเขาจะเป็นผู้มีวินัยในตนเอง และประสบความสำเร็จในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ทั้งในและนอกห้องเรียนต่อไป
อ้างอิง
Related Courses
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอการเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ การปฐมพยา ...