บุหรี่ไฟฟ้า ภัยสุขภาพยุคใหม่ของเด็กวัยรุ่น
บุหรี่ไฟฟ้า หรือบางคนอาจเรียกว่า Vapor ที่มาจากคำว่า Vaporizer แม้ในประเทศไทยมีกฎหมายว่าผู้ใดนำเข้า ผลิต และขายถือว่ามีความผิด แต่กระนั้นการครอบครองเพื่อใช้ส่วนตัวก็อาจทำได้เพราะไม่มีข้อกฎหมายที่ห้ามโดยตรง ในปัจจุบันจึงพบว่า กระแสการใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น
และเนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าจัดได้ว่าเป็นสิ่งใหม่ ที่เพิ่งได้รับความนิยมไม่นาน ผู้ใช้และบุคคลทั่วไป จึงมักเข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย หรือ อันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป เนื่องจากไม่สร้างควันพิษ หนำซ้ำยังมีกลิ่นหอม มีรสชาติให้เลือกมากมาย บ้างก็ให้กลิ่นเหมือนลูกอม ขนมหวาน น้ำอัดลม ผลไม้ ทำให้สูบง่ายกว่าบุหรี่ทั่วไปจึงเข้าถึงวัยรุ่นง่ายกว่า
สิ่งที่น่ากังวลก็คือ การที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตรายหรืออันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไปนี่เอง จึงทำให้อาจละเลยเอาใจใส่เมื่อบุตรหลานอยากรู้อยากลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งที่ความจริงแล้วบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีอันตรายเข้าสู่ร่างกายได้ไม่ต่างจากบุหรี่ทั่วไปเลย
บทความนี้ StarfishLabz ชวนพ่อแม่ผู้ปกครองรู้ทันบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อดูแลสุขภาพของลูกวัยรุ่นกันค่ะ
บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร ทำงานอย่างไร?
บุหรี่ไฟฟ้า หรือที่ต่างประเทศนิยมเรียกกันว่า Vapor คือ การหายใจนำไอระเหยของสารเคมี นั่นคือ นิโคติน ที่อยู่ในรูปของเหลวเข้าสู่ร่างกาย คล้ายกับการสูบบุหรี่ทั่วไป ต่างกันเพียงบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการสูดไอระเหยจากของเหลว ส่วนบุหรี่ทั่วไปจะเป็นการสูดควันจากการเผาไหม้
ลักษณะของบุหรี่ไฟฟ้ามีหลายรูปแบบ บ้างก็คล้ายบุหรี่ทั่วไป คล้ายปากกา หรือคล้ายกับซิก้าร์ โดยบุหรี่ไฟฟ้าจะมีบริเวณที่ให้เติมน้ำยานิโคตินเหลวที่สกัดมาจากใบยาสูบ แล้วใช้แบตเตอรี่เพื่อทำให้เกิดความร้อน จนนิโคตินเหลวระเหยเป็นไอ ผู้ใช้ก็สูดไอระเหยเข้าไป
โดยน้ำยาที่ทำมาจากนิโคตินเหลวนี้ บางครั้งก็เรียกว่า e-liquid หรือ e-juice เพราะมีการแต่งกลิ่นและรสชาติให้เหมือนผลไม้ น้ำหวาน หมากฝรั่ง ลูกอม ฯลฯ ว่ากันว่าปัจจุบันนี้น้ำยาสำหรับบุหรี่ไฟฟ้า อาจมีมากถึง 2,000 รสชาติเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ จึงดึงดูดให้วัยรุ่นเสพติดได้ง่ายกว่าบุหรี่ทั่วไป เพราะรสชาติและกลิ่นหอมที่เย้ายวนนั้นเอง
บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไปจริงหรือ?
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าบุหรี่ไฟฟ้ากับบุหรี่ทั่วไป ต่างกันเพียงกระบวนการที่นิโคตินเข้าสู่ร่างกาย สำหรับบุหรี่ไฟฟ้าแม้จะไม่มีการเผาไหม้ จึงลดความเสี่ยงจากการสูดควันและสารที่เกิดจากการเผาไหม้อย่างน้ำมันดิน (Tar) และคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) ที่เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แต่อย่างไรก็ตามในน้ำยา e-juice ที่ใช้เติมในบุหรี่
ไฟฟ้าก็มีสารเคมีที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกายและยังอาจทำให้เสพติดอีกด้วย สารเคมีที่ร่างกายได้รับจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่
- นิโคติน แม้การสูบบุหรี่ไฟฟ้านิโคตินจะเข้าสู่ร่างกายช้ากว่าบุหรี่ทั่วไป กระนั้นเมื่อนิโคตินเข้าสู่ร่างกายแล้วก็ส่งผลไม่ต่างจากการสูบบุหรี่ทั่วไป คือ กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งปอด โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ นิโคตินกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด จึงเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานอีกด้วย
- โพรไพลีนไกลคอล เป็นส่วนประกอบในสารที่ช่วยทำให้เกิดไอระเหย ที่หากสูดดมเข้าไปอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง ดวงตา และปอด
- กลีเซอรีน แม้องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) รับรองว่ากลีเซอรีนปลอดภัยที่จะใช้ในอาหารและยา แต่สำหรับการนำมาเปลี่ยนรูปเป็นไอระเหยแล้วสูดดมนั้น ยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันได้ว่าจะปลอดภัยต่อร่างกายหรือไม่ ดังนั้น หากสูดดมเข้าไป ก็อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองอวัยวะที่สัมผัส เช่น ดวงตา ผิวหนัง ได้
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีสารเคมีอีกหลายชนิดที่ไม่ได้เป็นส่วนประกอบของน้ำยานิโคตินหรือบุหรี่ไฟฟ้าโดยตรง แต่อาจเป็นสารที่ตกค้างจากกระบวนการผลิต หรือการทำไอระเหย ที่อันตรายต่อร่างกาย ทั้งโลหะหนัก สารหนูและสารกลุ่มเบนซีน (Benzene) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง
ดังนั้น บุหรี่ไฟฟ้าแม้จะมีกลิ่นหอม ปราศจากควันแต่ก็ไม่ได้ปลอดภัยกว่าบุหรี่ทั่วไปเท่าใดนัก ทั้งยัง ไม่มีการศึกษาวิจัยที่ระบุถึงผลกระทบในระยะยาว เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งเป็นที่นิยมได้ไม่นาน การให้วัยรุ่นสูบบุหรี่ไฟฟ้า จึงไม่อาจการันตีได้ว่าจะปลอดภัยกว่าบุหรี่ทั่วไป
พ่อแม่รับมืออย่างไรเมื่อวัยรุ่นขอใช้บุหรี่ไฟฟ้า
ก่อนที่พ่อแม่จะพูดคุยกับลูกวัยรุ่นเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า สิ่งแรกที่ควรทำคือการหาความรู้เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าให้เข้าใจเสียก่อน เตรียมตัวสำหรับการพูดคุยและรับฟังลูกอย่างจริงใจ ควรเปิดใจสำหรับบทสนทนา ไม่ใช่การสั่งสอนหรือห้าม เพราะยิ่งทำให้วัยรุ่นต่อต้าน
อาจเริ่มบทสนทนาให้เหมือนการคุยเรื่องทั่วไป เช่น ถามว่า “เพื่อนๆ สูบบุหรี่ไฟฟ้ากันบ้างไหม” เมื่อลูกเปิดใจเล่าให้ฟังอาจถามความคิดเห็นหรือประสบการณ์ของลูกเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เช่น
“บุหรี่ไฟฟ้ามีกลิ่นอะไรบ้างนะ” หรือ “เวลาใช้แล้วจะรู้สึกอย่างไร” เพื่อสังเกตว่าลูกมีความรู้ ความเข้าใจ หรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้ามากแค่ไหน เพื่อที่จะได้แนะนำได้อย่างเหมาะสม และไม่ดูเป็นการสั่งสอนมากเกินไปหากลูกวัยรุ่น เดินเข้ามาขออนุญาตสูบบุหรี่ไฟฟ้า สิ่งที่พ่อแม่ทำได้คือ ชวนลูกคุย ฟังเหตุผลของลูก อย่ารีบตำหนิ ตัดสินหรือสั่งสอน ควรฟังลูกให้มากว่าพวกเขาคิดอย่างไร แล้วจึงค่อยๆ บอกลูกถึงอันตรายของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าสุดท้ายแล้ว สิ่งที่ดูไม่มีพิษมีภัย อย่างบุหรี่ไฟฟ้า มีกลิ่นหอม ไร้ควัน ก็อาจยิ่งทำให้วัยรุ่นเสพติดได้ง่ายกว่า ดังนั้นการป้องกันย่อมดีกว่าแก้ไขเมื่อสายเกินไปอย่างแน่นอน
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
- "บุหรี่ไฟฟ้า"กับกฎหมายประเทศไทย กับกฎหมายในประเทศไทยที่คุณควรรู้
- Teen Vaping: What You Need to Know
- บุหรี่ไฟฟ้า (ELECTRIC CIGARETTE)
Related Courses
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอการเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ การปฐมพยา ...
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
สารพัดวิธีรับมือ และเอาตัวรอดจากภัยธรรมชาติ
ความแปรปรวน ของสภาพอากาศโลกและภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้งที่มีความรุนแรงขึ้น จึงมีความจำเ ...
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...