8 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกัญชาสไตล์หมอยา
กลายเป็นประเด็นสุดร้อนชั่วโมงนี้ หลังกระทรวงสาธารณสุข ได้ปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ส่งผลให้กระแสเรื่องกัญชา กลายเป็นเรื่องที่กำลังเป็นที่สนใจในสังคมอย่างมาก มีการถกเถียงถึงคุณและโทษ รวมถึง "ความเหมาะสม" ในการนำมาใช้ตามวัตถุประสงค์ต่างๆ ในมุมมองหนึ่ง "กัญชา" ถือว่า เป็นสมุนไพรมีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่หากใช้ไม่ถูกต้องหรือใช้เกินความจำเป็นก็อาจเป็นอันตรายได้เช่นกันใ นวันนี้ Starfish Labz จึงมีบทความดีๆจาก ผศ.ภญ.เรวดี เจนร่วมจิต สังกัดภาควิชาบริบาลเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาให้ความรู้ในเรื่องของ “กัญชา” สไตล์หมอยา ว่า 8 เรื่องที่เราควรรู้เกี่ยวกับกัญชานั้นมีอะไรบ้างไปติดตาม ดังนี้ค่ะ
1. กัญชา มีสารออกฤทธิ์สำคัญ ได้แก่
- สารที่ออกฤทธิ์ทางจิต delta-9-tetrahydrocannabinol (THC) หรือ ทีเอชซี
- สารที่ไม่ออกฤทธิ์ทางจิต cannabidiol (CBD) หรือ ซีบีดี
- ทั้งสองสารสำคัญออกฤทธิ์ต่อตัวรับ CB1 ที่อยู่ระบบประสาทส่วนกลางเป็นหลัก และ CB2 อยู่ที่ระบบภูมิคุ้มกันเป็นหลัก โดยออกฤทธิ์ตรงข้ามกัน
2. กัญชามีทั้งรูปแบบ พืชกัญชา หรือ สารสกัด ซึ่งมีความแตกต่างของสัดส่วน THC/CBD เช่น
- ในดอกกัญชาจะมี THC ปริมาณสูงมากกว่าใบมาก
- การปลูกพื้นที่ต่างกันอาจทำให้ปริมาณ THC ต่างกัน
- ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัดที่ ไม่ได้รับมาตรฐานทางการแพทย์ หรือ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากไม่ทราบปริมาณ THC/CBD
3. THC สามารถผ่านรก และ น้ำนมได้ โดยจะทำให้ทารกมีปริมาณ THC ในเลือดได้สูงถึง 10-30% ของปริมาณในเลือดมารดา นอกจากนี้ยังสะสมปริมาณเพิ่มเรื่อย ๆ หากใช้เป็นเวลานาน
4. สาร THC ขจัดออกจากร่างกายต้องใช้เวลา 3-7 วัน แต่อาการไม่พึงประสงค์ทางจิตมีโอกาสจะคงอยู่ได้นานมากกว่านั้นหากใช้เรื้อรัง
5. ห้าม กัญชาในบุคคลต่อไปนี้ ผู้ที่แพ้ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ผู้ที่เป็นโรคจิต อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี
6. การใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัด THC/CBD จำเป็นต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรอง ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาท ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ที่มีน้ำหนักตัวน้อย การเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง โดยไม่แนะนําให้ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาเป็นการรักษาเริ่มต้น
7. อาการไม่พึงประสงค์ที่สำคัญจาก THC และ ขึ้นกับขนาดที่ได้รับ ได้แก่ อารมณ์แปรปรวน ขี้กังวล ไวต่อสิ่งกระตุ้น ประสาทหลอน ความจำแย่ลง สูญเสียการตัดสินใจ ไม่มีสมาธิ ความสามารถในการขับรถ หรือทำงานกับเครื่องจักรลดลง หัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ตาแดง ปากแห้ง
8. กัญชาตีกับยาต่าง ๆ ได้ เช่น
- ระดับยากันเลือดแข็ง warfarin สูงขึ้น จนเกิดเลือดออกได้
- ยาต้านเศร้า fluoxetine ทำให้เกิดพิษจากกัญชาได้
- ยาปฏิชีวนะ clarithromycin ทำให้เกิดพิษจากกัญชาได้
- การใช้ร่วมกับยานอนหลับ (benzodiazepines) หรือ ยาแก้ปวด (opioids) หรือ แอลกอฮอล์ ทำให้กดประสาท หลับมากเกินไป
- การใช้ร่วมกับยาที่กระตุ้นการเต้นของหัวใจ เช่น ยาสมาธิสั้น (methylphenidate) อะดรีนาลีน (adrenaline) หรือ ยาต้านเศร้า (amitriptyline) ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
ทุกท่านก็ได้รู้กันแล้วว่ากัญชามีประโยชน์อย่างไร ในขณะเดียวกันก็มีผลข้างเคียงจากการใช้กัญชาที่พบเห็นได้บ้าง และถึงกัญชาจะมีประโยชน์ที่ให้สรรพคุณบรรเทาอาการต่างๆได้มากมาย และมีความเชื่อว่ากัญชารักษาโรคได้หลายชนิด แต่การขึ้นทะเบียนตีตราว่าเป็นยารักษาโรคได้จริงยังต้องใช้เวลาค้นคว้าถึงผลกระทบไปอีกนานหลายปี เช่นเดียวกับการผลิตยาชนิดอื่นๆ ก่อนเลือกใช้ควรศึกษาอย่างถี่ถ้วน และขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกันก่อนด้วยค่ะ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง เรวดี เจนร่วมจิต
สังกัดภาควิชาบริบาลเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Related Courses
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอการเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ การปฐมพยา ...
เจลล้างมือมีความจำเป็นอย่างไร
การเรียนรู้ 7 ขั้นตอนล้างมือด้วยสบู่เมื่อเด็กๆอยู่ที่บ้าน ความจำเป็นที่ต้องใช้เจลล้างมือ ขั้นตอนการผลิตเจลล้างมือแบบง่ายๆ และประ ...
แนะนำหลักสูตร well being
คอร์สเรียนนี้จะชวนให้ทุกคน กลับมาดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็กๆ กันนะคะ เพราะทั้งสองเรื่องนี้ จะเป็นประโยชน์โดยตรง ...
ออกกำลังกายอย่างไรดีต่อสุขภาพ
การเรียนรู้เรื่องการออกกำลังกายอย่างไรดีต่อสุขภาพจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ เริ่มต้นออกกำลังอย่างไรให้ถูกต้อง ประเภทการออกกำลังกา ...