พลังของแม่ผู้อยู่เบื้องหลังสมุดบันทึก 'เรไรรายวัน' ฝึกลูกมีความคิดอ่านจากการเขียน

Starfish Academy
Starfish Academy 3469 views • 2 ปีที่แล้ว
พลังของแม่ผู้อยู่เบื้องหลังสมุดบันทึก 'เรไรรายวัน' ฝึกลูกมีความคิดอ่านจากการเขียน

เรื่องเล่าของเรไรตัวน้อย กับจุดเริ่มต้นเล็กๆ สู่บันทึกในรูปแบบดิจิทัลที่มีผู้ติดตามถึง 4.6 แสนคน ในเพจ ‘เรไรรายวัน’ https://www.facebook.com/RayRaiRaiwan จนหลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมจู่ๆ เด็กอายุไม่ถึง 6 ขวบคนหนึ่ง ถึงได้ลงมือจับดินสอมาขีดเขียนลงกระดาษ จนกลายเป็นสมุดเล่มหนา และได้ตีพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือ สาวน้อยนักเขียนของเราเดินมาถึงจุดนี้ได้ยังไงกันนะ

ในวันนี้ Strafish Labz จะมาคลายข้อสงสัยไปกับผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเล็กๆ ของลูกๆ ทั้ง 3 คน ซึ่งก็คือ คุณแม่จั่น ‘ชนิดา สุวีรานนท์' คุณแม่ของน้องต้นหลิว หรือ ‘เรไร’ กับน้องฝาแฝด ‘สายลม’ และ ‘ก้อนเมฆ’ ที่จะมาเล่าเรื่องราวการผจญภัยผ่านตัวหนังสือของเด็กๆ แบบหมดเปลือก รวมถึงฮาวทูสอนลูกให้กล้าคิดกล้าเลือกจะเป็นตัวของตัวเองด้วยค่ะ

นิสัย ‘รักการอ่าน' ที่ถูกส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น

ตัวคุณแม่เองชอบการอ่าน การเขียน การแปล มาแต่เด็ก จนเลือกเรียนด้าน 'ภาษาและวรรณคดีอังกฤษ' จบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังได้มาร่วมชีวิตกับคุณพ่อของลูกๆ ซึ่งเขาก็เป็น ‘นักเขียน’ เราจึงเห็นพ้องต้องกันเรื่องเลี้ยงลูกให้เป็นไปในทิศทางนี้

ทุกอย่างจึงเริ่มขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ด้วยบ้านเราเต็มไปด้วยหนังสือ และเราสองคนคงเป็นแบบอย่างทำให้ลูกสนใจอยากอ่านอยากเขียนตามพ่อแม่

เราจะพาเขาไปเลือกหนังสือเล่มโปรดด้วยตัวของเขาเอง อาจโน้มน้าวชี้ชวนเขาว่าเล่มนี้มีเนื้อหาน่าสนใจอย่างไรบ้าง เขาน่าจะชอบนะ แต่จะไม่บังคับกะเกณฑ์ให้เขาอ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้เลย

พ่อแม่อย่างเราเพียงช่วยคัดกรองดูเนื้อหาว่าเหมาะกับวัยของเขาไหมเท่านั้น เราไม่เคยคาดหวังว่าจะเล่านิทานเพื่อขัดเกลาสั่งสอนลูก หรือต้องอ่านแต่ตำราความรู้ที่เป็นประโยชน์เท่านั้น 

เพิ่มความพร้อมในการอ่านการเขียนให้ลูก

พ่อกับแม่เชื่อว่าเราต้องค่อยๆ ปลูกฝังเรื่องการอ่านและการเขียนให้เด็กๆ มีความพร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ 

บ้านเราจะอ่านนิทานก่อนนอนกันทุกคืน และก่อนน้องต้นหลิวเข้าโรงเรียน แม่จะค่อยๆ ฝึกเขาจับดินสอและระบายสี เพื่อฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ 

เวลาเขาเขียนคล่องแล้ว เวลาไปโรงเรียนก็จะเป็นเรื่องง่าย เมื่อมีประสบการณ์ที่ดีเวลาเขียน เขาจะมีกำลังใจและตั้งใจเรียนรู้มากขึ้น 

เมื่อมือ ใจ สมอง พร้อมเคลื่อนไปด้วยกัน เด็กๆ จะรู้สึกแฮปปี้ที่ทำสำเร็จ เวลาเราชวนเขาเขียน เขาจะนึกสนุกอยากเขียน และมีความสุขที่เขียนได้จนจบประโยค

จรดดินสอเขียนบันทึกบทแรก

ช่วงที่น้องต้นหลิวอยู่ ป.1 - ป.2 สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เปิดรับสมัครเด็กเข้า ‘โครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์’ 

แม่อยากหาจุดเริ่มต้นชวนลูกเขียน ก็เลยลองสมัครให้เขา ตอนนั้นใกล้จะหมดเขตแล้ว จึงมาชวนต้นหลิวให้เขาลองดู

ต้นหลิวเห็นแม่ว่าดีก็เลยค่อยๆ เปิดใจลองตั้งใจเขียนบันทึกในสมุดบันทึกวัยเยาว์เล่มที่ได้รับมา

ให้สัญญาว่าจะเขียนบันทึกเล่มนี้ทุกวัน

เมื่อเปิดหน้าแรกของสมุดบันทึก ที่หน้าแรกเขาจะมีพื้นที่ให้เราลงชื่อเป็นเจ้าของสมุดบันทึกเล่มนี้ และให้คำมั่นสัญญา “ข้าพเจ้าขอสัญญาว่าจะเขียนบันทึกเล่มนี้ทุกวัน”

แม่ก็ถามน้องต้นหลิวก่อนว่า “เขาให้หนูบันทึกทุกวันนะ จะให้สัญญาได้ไหมคะ?” ลูกก็รับปากเป็นมั่นเหมาะว่า “หนูทำได้ค่ะ” แล้วจึงเซ็นลายมือชื่อของเขาลงไป และนี่คือด้ายแดงเชื่อมใจเด็กๆ เข้ากับสมุดบันทึกของพวกเขา

ทำอย่างไรให้ลูกอยากเขียนทุกวัน

ต้องบอกก่อนว่า ทั้งพ่อและแม่สมัยรุ่นๆ เราก็เขียนบันทึกกันมาก่อน โดยเฉพาะคุณพ่อจะชอบเขียนบันทึกประจำวันตลอด แต่พอชีวิตมีแต่เรื่องซ้ำๆ เดิมๆ ออกจะน่าเบื่อจำเจสักหน่อยก็เลยไม่ได้เขียนทุกวัน

ส่วนคุณแม่ก็จะชอบเขียนบันทึกเวลามีความรักสมัยนั้นเราไปแอบปิ๊งใครบ้างก็จะบันทึกเก็บไว้หมด จนเลิกเขียนไปเพราะกลัวความลับแตก เวลาใครมาเปิดอ่านเจอเราก็คงเขินที่มีมุมอะไรแบบนี้

แม่ก็เลยบอกกับพ่อว่า ถ้าเราให้ลูกเขียนไปเรื่อยเปื่อยนะ วันนึงลูกก็คงเลิกเขียนไปเองแบบเรา ถ้าอย่างนั้น ต้องหาเรื่องราวที่พอจะเก็บไว้เป็นความประทับใจในแต่ละวันได้ดีกว่า 

เรื่องที่ใครจะมาอ่านก็ได้ ไม่เป็นความลับส่วนตัว เวลาเราย้อนกลับมาอ่านโมเมนต์นั้นใหม่ เราก็จะนึกถึงภาพวันนั้นได้แจ่มชัดขึ้น และมีความสุขหรือซาบซึ้งใจอีกครั้ง

ซึ่งต้นหลิวเองก็มีความคิดว่า เขาไม่อยากเขียนเรื่องพาเศร้า เพราะถ้าเขาต้องกลับมาอ่าน ก็อาจจะรู้สึกดาวน์ เขาเลยเลือกเขียนแต่เรื่องราวแห่งความสุขที่เขาสังเกตเห็นรอบตัว แต่ไม่ใช่ว่าลูกเราจะไม่เขียนถึงวันหม่นๆ เลยนะ แค่สัดส่วนจะน้อยกว่ามาก เขาจะสามารถพลิกมุมมองต่อเรื่องนั้นให้กลับมาเป็นพลังบวกได้เสมอ

ถือคติ ‘เล่นก่อนแล้วค่อยเริ่มเขียน’

แรกๆ น้องต้นหลิวเขาก็จะมาปรึกษาแม่ว่า “แล้วเราจะเริ่มต้นเขียนอะไรดี?”

แม่ก็บอกกับเขาว่า “ไม่ยากเลยลูก เขียนเหมือนสิ่งที่หนูมาเล่าให้แม่ฟังทุกวันไงคะ” 

ให้เขาค่อยๆ แปลงเรื่องเล่าปากเปล่าเป็นตัวหนังสือ อาจไม่ต้องใส่ทุกเหตุการณ์ทั้งหมดในหนึ่งวัน เพราะสมุดคงไม่พอแน่ๆ 

เราก็เลือกเรื่องที่ลูกรู้สึกชอบใจที่สุด เขียนให้กระชับ เข้าใจง่าย ไม่ต้องเยิ่นเย้อ เพราะเด็กๆ เขาก็ไม่ชอบเขียนอะไรยาวๆ อยู่แล้ว เขาอยากรีบไปเล่นเร็วๆ ก็เลยฝึกเล่าให้จบภายในหนึ่งหน้ากระดาษ

ซึ่งแม่ว่าเป็นเรื่องดีที่ช่วยฝึกทักษะให้เขาโฟกัสเฉพาะเรื่องสำคัญๆ แล้วได้นั่งทบทวนด้วยว่า เรื่องราวที่เขาพบเจอในวันนี้เป็นอย่างไร เขาชอบหรือไม่ชอบอะไร ทำให้เราได้ติดตามพัฒนาการทางความคิดของลูกในทุกช่วงวัย

ขั้นตอนแปลงเรื่องเล่าเป็นตัวหนังสือ

หลังจากต้นหลิวเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ในวันนั้นให้แม่ฟังหลังกลับจากโรงเรียน เขาก็จะเขียนลงบนกระดานไวต์บอร์ดก่อน (ซึ่งเขาโน้มน้าวให้แม่ซื้อมา เพราะเขียนตัวใหญ่ๆ ได้ มองเห็นได้ชัดกว่า แล้วจะได้ไม่ต้องเสียดายหน้ากระดาษด้วย) 

เขาจะค่อยๆ ใช้แปรงลบกระดานมาลบคำฟุ่มเฟือยที่ทำให้เรื่องยาวเฟื้อยออก เช่น คำว่า 'แล้วก็' หรือคำเชื่อมและคำที่ใช้ซ้ำบ่อยๆ เขาก็จะตัดออก ถ้าไม่ทำให้ความหมายที่อยากสื่อเปลี่ยนไป 

เขาจะสนุกอยู่กับการตัดคำบนกระดานมากๆ เหมือนเป็นความท้าทายเล็กๆ ของเขาที่จะทำให้เรื่องสั้นได้ใจความ นำมาเขียนจริงได้จบในหนึ่งหน้ากระดาษพอดี

ซึ่งแม่จะสอนเขาว่า สิ่งสำคัญในการเขียน คือ ลูกต้องอ่านทวนแล้วเข้าใจ ถ้าลูกเล่าตกหล่น ไม่รู้เรื่องราวเป็นมายังไง คนอ่านเขาก็จะไม่เข้าใจไปกับเรา จึงต้องเขียนให้เขาเห็นภาพ เช่น ทำยังไงก็ได้ให้เเม่รู้สึกเหมือนเกาะบ่าต้นหลิวไปโรงเรียนด้วย ทั้งๆ ที่แม่ไม่ได้ไป แต่เมื่อเเม่อ่านบันทึกแล้วจะรู้เรื่อง เหมือนแม่ได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นกับต้นหลิวด้วย

ก็ถือเป็นการฝึกทั้งทักษะการเขียน และการอ่านทบทวนเรื่องให้เกิดความเชื่อมโยงสอดคล้องกัน และได้พาผู้อ่านไปยังเป้าหมายที่เราตั้งใจ

สิ่งที่ลูกได้จากการเขียนบันทึก

เราจะบอกเทคนิคแก่ลูกว่า ก่อนจะมีเรื่องมาเขียนได้ ต้องอาศัย ‘ความช่างสังเกต’ ถ้าลูกไม่เก็บรายละเอียดของเรื่องราวเลย ลูกก็จะไม่มีเนื้อหามาอธิบายให้ผู้อ่านรู้สึกแบบเรา และเห็นภาพเดียวกับเรา 

แล้วเราจะค่อยๆ สอดแทรกให้ลูกได้รู้จักการใช้สำนวนเปรียบเปรย เพื่อทำให้ผู้อ่านได้เข้าถึงเรื่องราวแบบสมจริงมากขึ้น เช่น “ดอกไม้ดอกนี้มีสีแดงเหมือนปีกของแมลงเต่าทอง” หรือ “รักคุณพ่อเท่าฟ้า” เป็นต้น 

ทำให้งานเขียนของเขาค่อยๆ พัฒนาขึ้น เมื่อฝึกเขียนทุกวันจนเป็นนิสัย เขาก็จะเริ่มมีสไตล์การเล่าเป็นของตัวเอง 

หัวใจของการฝึกลูกคิด อ่าน เขียนคือ ‘เวลาคุณภาพ’ ของพ่อแม่

เวลาของคุณพ่อคุณแม่ที่มีให้ลูกสักหนึ่งชั่วโมงต่อวันในกิจกรรมการจดบันทึกนั้น มีส่วนสำคัญอย่างมาก หน้าที่ของเราคือ คอยนั่งรับฟังลูกด้วยความสนอกสนใจ คอยชวนเขาคุย ถามไถ่ ชวนเขาคิดต่อ 

เราต้องใช้ความอดทน ไม่ใจร้อนกับเขา เวลาเห็นลูกยังติดขัด อธิบายไม่ถูก ก็ต้องคอยให้กำลังใจอยู่ข้างๆ หาทางทำให้เขามีความสุขกับการเล่าเรื่อง

พ่อแม่ไม่ควรพลาดสร้างช่วงเวลาใจฟูแบบนี้กับลูกในทุกๆ วัน เวลาทั้งครอบครัวมาอยู่พร้อมหน้าเพื่อให้กำลังใจเด็กๆ เขาจะรู้สึกถึงพลังงานบวกเวลาทำกิจกรรมนี้ และเฝ้ารอให้ถึงช่วงเวลานี้ของวัน 

เพราะการจดบันทึกสำหรับเด็กเล็กๆ เขาอาจไม่สามารถจดเองได้โดยลำพัง ลูกๆ จะรู้สึกอุ่นใจกว่าถ้ามีเราอยู่ด้วย แต่ต้องไม่ทำให้เขารู้สึกทรมานเหมือนถูกพ่อแม่บังคับจ้ำจี้จ้ำไชให้เขาทำโดยเด็ดขาด

จุดเริ่มต้นของเพจ 'เรไรรายวัน'

ย้อนกลับไป เมื่อตอนที่น้องต้นหลิวเพิ่งเริ่มเขียนบันทึกมาได้สักพัก แม่ก็ลองอัปโหลดลง Facebook ส่วนตัวของแม่เอง 

พอได้รับฟีดแบ็กจากญาติๆ และเพื่อนของแม่กับพ่อ พวกเขาอ่านแล้วชอบใจกันมาก จึงแนะนำว่าให้สร้างเพจเพื่อจะได้ติดตามอ่านบันทึกของหลานโดยเฉพาะ

แม่จึงเริ่มศึกษาและลงมือสร้าง Facebook Page ขึ้นมาเองเลย และที่ตั้งชื่อเพจว่า 'เรไรรายวัน' ก็เพราะน้องต้นหลิวต้องเขียนบันทึกทุกวันนั่นเองค่ะ

ไปๆ มาๆ เพจก็เติบโต มีผู้ติดตามกว่า 475,000 คน ในปัจจุบัน

บันทึกของสายลมและก้อนเมฆ

ไม่ใช่เพียงแค่ต้นหลิว พี่สาวคนโตของบ้านเท่านั้นที่เขียนบันทึกร้อยเรียงเรื่องราวออกมาได้อย่างเรียบง่ายและงดงาม น้องแฝดทั้ง 2 คน ‘ก้อนเมฆ’ และ ‘สายลม’ ก็เขียนได้ดีตามประสาเด็กเช่นกัน

เมื่อพี่สาวชวนน้องมาเขียนบันทึกด้วย พวกเขาก็ตอบตกลงง่ายๆ เพราะเห็นพี่สาวเขียนมาตลอด และคิดว่าไม่ใช่เรื่องยาก แถมยังรู้สึกสนุกด้วยซ้ำ

วิธีสอนลูกแฝดจดบันทึกเนี่ย แม่ใช้วิธีที่ต่างจากสมัยน้องต้นหลิว โดยจะวานให้คุณพ่อนำหนังสือนิทานอีสปไปให้คุณยายอ่านให้ก้อนเมฆและสายลมฟังทุกคืน แล้วค่อยให้เด็กๆ มาเล่าสรุปให้แม่ฟังตอนนั่งรถไปโรงเรียนทุกเช้า 

เชื่อไหมว่า เขาจับใจความได้เก่งมากๆ เลย แล้วประโยคที่เขาเล่าให้แม่ฟังก็ไม่ใช่ประโยคที่เอามาจากในหนังสือ แต่ผ่านกระบวนการคิด และสรุปมาเป็นคำพูดของเขาเอง แถมเสริมเพิ่มมุมมองแบบเด็กๆ ของเขา ให้คุณแม่สนุกตามไปด้วย

และยังมีการเล่าบันทึกปากเปล่าว่าวันนี้ได้ทำอะไร ไปเจออะไรมาบ้าง โดยจะอัดเป็นคลิปวิดีโอสั้นๆ ไว้ก่อน พอถึงวันที่เขาเริ่มเขียนบันทึกแบบจริงจัง เขาจึงฟังเรื่องราวนั้นอีกครั้ง แล้วจับประเด็นมาเขียนให้เป็นประโยคสั้นกระชับ และกินใจคนอ่านมากขึ้น

บุคลิกที่แตกต่างของลูกๆ สัมผัสได้จากการเขียน

เราจะเห็นว่าต้นหลิวเป็นสาวน้อยช่างสังเกต ชอบเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และมีความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนมาก บางเรื่องแม่ไม่คิดว่าเขาจะจำได้ขนาดนั้น

ต้นหลิวจะสามารถขุดลึกลงไปในเรื่องที่พบเจอหยิบประเด็นน่าคิดออกมาได้น่าสนใจ คนจะชมว่าเขียนได้เก่งมาก ส่วนใหญ่เขาก็จะเขียนเป็นความเรียงยาวจบใน 1 หน้ากระดาษ มีวาดภาพประกอบเรื่องราวบ้าง

สำหรับน้องก้อนเมฆ เป็นพี่คนกลางที่อบอุ่น เขาจะรักพี่รักน้อง คอยห่วงใยทุกคน และขี้อ้อน สไตล์การเขียนของเขาจะเน้นไปที่ความรู้สึกของผู้คน ความสัมพันธ์ระหว่างกัน เป็นคนชอบเขียนแบบอธิบายมากกว่ามีภาพประกอบ

ส่วนน้องสายลมจะใช้อารมณ์ความรู้สึกในการเขียนเสียเป็นส่วนใหญ่ ออกจะเป็นคนตรงๆ ลุยๆ ตามแต่ความคิดในเวลานั้น สายลมจะวูบวาบสมชื่อ มีความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างสูง เขาจะชอบตั้งคำถามว่า ทำไมถึงเกิดแบบนี้? ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? 

เมื่อมีคนไม่เชื่อว่าเด็กๆ เป็นคนเขียน

ในช่วงแรกๆ ก็มีคนไม่เชื่อว่าลูกเราเขียนเอง

แม่จึงมักจะบอกกับลูกๆ เสมอว่า เราทำอะไรจริงไม่จริง เรารู้ตัวเราดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องไปคอยแก้ต่างหรือไปพิสูจน์ต้ว ถ้าไม่เชื่อเรื่องผิดบาป

ใครเขาจะคิดยังไงมันก็เป็นเรื่องของเขา เพราะเราไปห้ามความคิด หรือไปบังคับเขาให้เชื่อเราไม่ได้

เพราะสุดท้ายถ้าลูกไม่ใช่คนเขียนบันทึกเอง ลูกก็จะไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง และไม่ได้ทักษะที่ทำให้ลูกเป็นคนมีความคิดอ่านอย่างทุกวันนี้

โอกาสที่มาพร้อมการเขียนไดอารี่

การเขียนบันทึก 7 ปี ที่น้องต้นหลิวได้ทำต่อเนื่องทุกวันตามสัญญา ทำให้เขาได้รับโอกาสมากมายในชีวิต รวมทั้งสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ตัวเขาเองและครอบครัวเรา 

นอกจากนี้ ยังทำให้ได้รู้ว่าคนที่เขียนหนังสือ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเขียนเต็มตัวเสมอไป ลูกอาจจะเป็นคุณหมอที่เขียนหนังสือได้ ลูกอาจจะเป็นแม่ค้าออนไลน์ที่เขียนหนังสือไปด้วย

เพราะฉะนั้น การเขียนสามารถเป็นงานอดิเรกที่สร้างรายได้ให้เราอีกทาง และยังเป็นสะพานให้ลูกชื่นชอบด้านภาษาและสนใจที่จะศึกษาภาษาอื่นๆ เพิ่มเติม

ในอนาคต เขาไม่จำเป็นต้องทำอาชีพนักเขียน แม่พร้อมให้อิสระเขาเลือกอาชีพในเส้นทางของเขาเอง

ความพิเศษที่ไม่ธรรมดาของการเขียนบันทึก

แม่มองว่า การเขียนเป็นกิจกรรมที่ทำให้ครอบครัวเรามีอะไรทำร่วมกัน ถ้าเราไม่มีบันทึก ทุกคนก็อาจจะแยกย้ายไปทำสิ่งที่ตัวเองชอบและสนใจส่วนตัวมากกว่า 

แต่พอมีภารกิจการเขียนบันทึกของโครงการนี้เข้ามา ทั้งครอบครัวจีงได้มาร่วมวงใช้ชีวิตร่วมกัน พูดคุยกันมากขึ้น สนุกสนานกับเรื่องเล่าของเด็กๆ ทำให้เราสนิทกัน เข้าใจกัน จับอารมณ์ความรู้สึกของกันได้ไวมากขึ้น

ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยสานสัมพันธ์ในครอบครัว ช่วยเติมเต็มระยะห่างระหว่างวัย พร้อมๆ กับได้จดจำบุคคลในบันทึก เป็นความหลังชั้นเยี่ยมที่ทำให้เราได้คิดถึงความทรงจำดีๆ เหล่านั้น ทุกครั้งที่กลับมาเปิดอ่านไดอารี่เหล่านี้ในอนาคต

ก้าวต่อไปของเด็กๆ ทั้งสาม

แม่มองว่านี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น เพราะเด็กๆ ยังอายุน้อยกันอยู่เลย และยังไม่รู้ว่าอนาคตเขาอยากจะเติบโตไปในทิศทางไหน 

สิ่งหนึ่งที่แม่ได้เตรียมความพร้อมให้เขาไว้แล้ว ก็คือ ฝึกเขาคิดวิเคราะห์แยกแยะได้เอง เข้าใจความคิดความรู้สึกของตนเอง รู้จักเห็นใจ เข้าอกเข้าใจผู้อื่น และกล้าแสดงออกทางความคิดเห็นผ่านเรื่องเล่า 

แค่เขารู้ความต้องการจากใจจริงของตัวเอง อย่างน้อยๆ เขาจะรู้ดีว่าเขาไม่อยากทำอะไร และเขาชอบทำอะไร วันข้างหน้าเมื่อโตเป็นวัยรุ่นเขาจะค้นหาตัวเองเจอได้เร็วขึ้น ไม่รู้สึกเคว้งคว้าง

รวมไปถึงเพจ 'เรไรรายวัน' ที่ถ้าวันหนึ่งลูกบอกแม่ว่าไม่อยากทำอีกต่อไปแล้ว ก็ขอยกเลิกได้เสมอ ถ้าในวันหนึ่งที่ลูกอยากแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่น เพราะนี่ไม่ใช่โซ่ตรวนความฝันของลูก หรือเป็นสิ่งที่ลูกต้องแบกเอาไว้ตลอดไป 

ถ้าเขาเริ่มไม่โอเคเมื่อไหร่ สามารถเลิกทำได้ทันที เพราะแม่อยากให้เขาได้เลือกชีวิตที่เป็นของเขาเอง จึงให้อิสระทางความคิดกับเขาตรงนี้มากๆ พร้อมจะคอยเป็นแรงสนับสนุนให้เขาทำทุกสิ่งที่เขาชอบในอนาคต

อยากให้แนะนำหนังสือที่เด็กๆ ควรอ่าน

พวกเราขอแนะนำวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง, วินนี่ เดอะ พูห์, และหนังสือชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่ 

คุณพ่อคุณแม่สามารถอ่านให้ฟังก่อนนอนได้ หรือสลับให้ลูกหัดอ่านให้พ่อแม่ฟังได้นะคะ

ฝากถึงคุณพ่อคุณแม่บ้านอื่น



คุณพ่อคุณแม่บางท่านชอบกลัวว่าเราไม่ใช่นักอ่าน ไม่ค่อยมีเวลา ไม่มีความรู้ 

เราแค่เริ่มจากเรื่องเล็กๆ เท่าที่เราทำได้ก่อน เช่น คอยให้กำลังใจลูก ชื่นชมเขาเมื่อเขาทำเรื่องดีๆ เขาไปเจออะไรบ้างในแต่ละวัน หรืออ่านอะไรมา ให้เขาเล่าให้เราฟัง

เราต้องคอยสังเกตลูกเราตลอด แต่เราไม่จำเป็นต้องคอยสอนเขาในทุกเรื่อง ให้เขาได้ลองคิด ลองอธิบายเหตุผลกับเรา และลองทำเองดูบ้าง โดยมีพ่อแม่เป็นผู้ช่วยเขาอยู่ข้างๆ 

ขอให้เรามีเวลาเสมอที่จะรับฟังลูก แนะนำทางเลือกให้ลูกไปตัดสินใจเลือกของเขาเอง ว่าจะต้องเจออุปสรรคอะไรบ้าง และดีไม่ดีอย่างไร แต่หลายๆ เรื่องก็ไม่จำเป็นต้องทดสอบกับตัวเอง เพราะมีบทเรียนจากคนอื่นให้เราเรียนรู้บทสรุปของเรื่องนั้นเป็นอย่างดีแล้ว

การมีรากฐานความคิดที่ดีจากการอ่านหนังสือเยอะ และตกผลึกผ่านการเขียน หรือเล่าเรื่องได้ดี จะส่งเสริมให้ลูกเราเป็นนักสื่อสารความคิด รู้จักตรึกตรองชีวิตอย่างถี่ถ้วน ทบทวนตัวเองก่อนตัดสินใจเลือกเส้นทางเดินต่อไปในแต่ละช่วงชีวิตของเขา

ในระหว่างที่เรากำลังทำความเข้าใจตัวละครในหนังสือ ก็ทำให้เรารู้จักตัวเองดีขึ้น และยังทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้นด้วย ซึ่งเก็บตรงนี้ไปใช้ในโลกความเป็นจริงได้ 

เราก็จะวางใจได้ที่ลูกเราคิดเองเป็น และมั่นใจที่ได้เป็นตัวของตัวเอง เชื่อว่าเขาจะอ่านชีวิตของตัวเองขาดค่ะ

มาร่วมเรียนรู้กับ Starfish Labz

แหล่งเรียนรู้และชุมชนออนไลน์เพื่อนักการศึกษาและผู้ปกครอง

ลงทะเบียน

Related Courses

การเลี้ยงลูกที่มีความต้องการพิเศษ
ด้านความสัมพันธ์ การรู้จักตนเอง การบริหารจัดการตนเอง การรู้จักสังคม
basic
2:00 ชั่วโมง

ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก

ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...

Starfish Academy
Starfish Academy
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
Starfish Academy

ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก

Starfish Academy
3088 ผู้เรียน
เครื่องมือผู้ปกครอง
ด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา
basic
2:00 ชั่วโมง

จะทำอย่างไร ถ้าลูกโกหก

การโกหกของเด็กเกิดจากการไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่างความจริงกับความฝัน และการโกหกในแต่ละวัยมีความแตกต่างกัน คุณพ่อ ...

Starfish Academy
Starfish Academy
จะทำอย่างไร  ถ้าลูกโกหก
Starfish Academy

จะทำอย่างไร ถ้าลูกโกหก

Starfish Academy
1311 ผู้เรียน
การดูแลสุขภาพกายและจิตใจ
ด้านการสื่อสาร สารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ ด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา
basic
2:00 ชั่วโมง

ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19

โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...

Starfish Academy
Starfish Academy
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
Starfish Academy

ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19

Starfish Academy
7765 ผู้เรียน
การดูแลสุขภาพกายและจิตใจ
ด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา
basic
2:00 ชั่วโมง

ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน

ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...

Starfish Academy
Starfish Academy
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
Starfish Academy

ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน

Starfish Academy
1213 ผู้เรียน

Related Videos

Starfish Trend Talk | EP.2 | : คำพูดกดทับที่ครูและผู้ปกครองไม่ควรใช้กับเด็ก
41:00
Starfish Academy

Starfish Trend Talk | EP.2 | : คำพูดกดทับที่ครูและผู้ปกครองไม่ควรใช้กับเด็ก

Starfish Academy
177 views • 2 ปีที่แล้ว
Starfish Trend Talk | EP.2 | : คำพูดกดทับที่ครูและผู้ปกครองไม่ควรใช้กับเด็ก
การเดินทางของแม่ เมื่อฉันเป็น “พื้นที่ปลอดภัยของบ้าน”
30:16
Starfish Academy

การเดินทางของแม่ เมื่อฉันเป็น “พื้นที่ปลอดภัยของบ้าน”

Starfish Academy
80 views • 2 ปีที่แล้ว
การเดินทางของแม่ เมื่อฉันเป็น “พื้นที่ปลอดภัยของบ้าน”
สอนลูกรู้จักรักและเคารพสิทธิของตนเอง
08:32
Starfish Academy

สอนลูกรู้จักรักและเคารพสิทธิของตนเอง

Starfish Academy
375 views • 2 ปีที่แล้ว
สอนลูกรู้จักรักและเคารพสิทธิของตนเอง
เลี้ยงลูกแบบไหน ไม่ทำให้พี่น้องทะเลาะกัน
34:03
Starfish Academy

เลี้ยงลูกแบบไหน ไม่ทำให้พี่น้องทะเลาะกัน

Starfish Academy
34 views • 1 ปีที่แล้ว
เลี้ยงลูกแบบไหน ไม่ทำให้พี่น้องทะเลาะกัน