5 วิธีสำคัญสอนลูก ๆ ให้ระวังอันตราย ภัยร้ายและอุบัติเหตุรอบตัว
แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองคนไหนอยากให้เกิดขึ้น แต่ในหลายครั้ง บรรดาภัยร้าย อันตราย และอุบัติเหตุต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงและคาดเดาได้ ไม่ว่าจะเป็นการถูกหลอก ถูกชักจูง หรือการตกอยู่ในเหตุการณ์อันตรายหรืออุบัติเหตุต่าง ๆ ที่ไม่คาดฝัน คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองควรทำอย่างไรหรือจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อเลี้ยงลูกหรือสอนลูกของเราให้มีความเข้าใจ และมีความพร้อมในการรับมือกับบรรดาภัยอันตรายเหล่านี้ ในบทความนี้ ทีมงาน Starfish Labz ได้รวบรวม วิธีการสำคัญ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้เพื่อนสอนลูกน้อยของเราให้พร้อมต่ออันตราย ที่อาจเกิดขึ้นได้มาฝากแล้วค่ะ จะมีวิธีการใดบ้างที่สลักสำคัญ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถและควรเริ่มฝึกให้ลูกของเรากันได้แล้วตั้งแต่วันนี้ มาเริ่มดูกันไปทีละข้อกันเลยค่ะ
5 วิธีเลี้ยงลูกให้ระวังอันตราย เทคนิคสำคัญการป้องกันอุบัติเหตุในวัยเด็ก
1. สอนให้ลูกรู้จักและเข้าใจคำหรือภาพของเหตุการณ์ที่ “อันตราย”
ในการสอนลูกให้ระวังภัยร้ายหรืออันตรายรอบตัวต่าง ๆ คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจคิดว่าการหมั่นบอกลูกซ้ำ ๆ ว่า “ให้ระวังอันตราย” หรือ “ภัยร้าย” เหล่านั้นก็คงเพียงพอ เพราะลูกของเรา คงเข้าใจอยู่แล้วว่าคำว่า “อันตราย” หมายถึงอะไร แต่คุณพ่อคุณแม่รู้ไหมคะว่าจริง ๆ แล้ว สำหรับเด็กส่วนใหญ่ โดยเฉพาะยิ่งเด็กเล็กพวกเขาแทบไม่เข้าใจหรือนึกภาพไม่ออกเลยนะคะว่า “อันตราย” ที่คุณพ่อคุณแม่ว่าหมายถึงอะไร แม้การต้องมานั่งอธิบายลักษณะเหตุการณ์ที่อันตรายในสังคมให้เด็กน้อยฟัง อาจจะช่างดูแสนหดหู่และทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกกระอักกระอ่วนหรือกังวลใจอยู่พอสมควร แต่การกลั้นใจคุยกับลูกอย่างเฉพาะเจาะจงและอย่างที่จะช่วยทำให้ลูกเห็นภาพอย่างชัดเจนที่สุด ถือเป็นหนึ่งในก้าวแรกสำคัญในการค่อย ๆ ปลูกฝังความเข้าใจ และความพร้อมในการรับมือต่อภัยอันตรายของเขาเลยนะคะ
ไม่ว่าจะเป็นอันตรายเล็กน้อย ตั้งแต่การถูกเพื่อนแกล้งไปจนถึงอันตรายใหญ่ ๆ อย่างการถูกล่อลวงหรือล่วงละเมิดทางเพศ แม้อาจจะดูเป็นหัวข้อที่รุนแรงและไม่ควรเอ่ยให้ลูกฟังเลย แต่เด็กจะไม่มีวันเข้าใจ, เห็นภาพ, และที่สำคัญคือตระหนักรู้เมื่อมันเกิดขึ้นจริง หากปราศจากการอธิบายอย่างเฉพาะเจาะจงจากคุณพ่อคุณแม่ โดยหากกลัวว่าบทสนทนาจะฟังดูรุนแรงเกินไปสำหรับเด็ก ก็สามารถปรับใช้คำให้อ่อนลงมา และเหมาะสมกับวัยของพวกเขาได้ แต่ยังคงให้อยู่ในขอบเขตของการอธิบายที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจง เช่น การสัมผัสที่ไม่เหมาะสมคือตรงบริเวณใด, จุดไหนที่ไม่ควรให้ใครสัมผัส, อุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันนั้นมีอะไรบ้าง เป็นต้น
2. สอนให้ลูกมีสติ ตระหนักรู้ และสังเกตสิ่งรอบตัว
ในเหตุการณ์อันตรายฉับพลันหรือที่ไม่คาดคิด หลาย ๆ ครั้ง “การรู้” ก็ไม่ช่วยอะไรเลยหากบุคคลที่ตกอยู่ในสถานการณ์ โดยเฉพาะเด็กที่อาจจะตื่นกลัวง่าย ปราศจากสติ สมาธิ หรือความเข้าใจในความสำคัญของการต้องรีบสังเกตหาลู่ทาง หรือ วิธีการเอาตัวรอดในยามคับขัน แม้การคาดหวังให้เด็กตัวเล็ก ๆ สามารถหาวิธีเอาตัวรอดจากอันตรายเองได้ อาจจะดูหนักหนาหรือเกินศักยภาพของพวกเขาไปหน่อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะฝึกหรือสอนเขาไม่ได้เลย เด็กหลายคนมีไหวพริบเกินวัยของพวกเขามาก ตลอดจนทักษะในการสังเกต ตระหนักรู้ และการฝึกให้ตัวเองมีสติ ขอแค่คุณพ่อคุณแม่มีความตั้งใจ หมั่นฝึกและสอนลูก ไม่ว่าจะด้วยการพูดคุยกันหรือผ่านกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม ล้วนถือเป็นตัวกลางสำคัญในการ สร้างเสริมรากฐานความพร้อมและการมีสติตระหนักรู้ให้กับลูกทั้งสิ้น
3. สอนให้ลูกไม่อยู่ในที่ลับตาคนและรู้จักตะโกนขอความช่วยเหลือ
การเลี้ยงลูกให้เป็นคนที่มีสามารถดำรงอยู่อย่างอิสระ ไม่จำเป็นต้องคอยพึ่งพา ขอความช่วยเหลือ หรือติดกับใครอยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรและปรารถนาที่จะทำให้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดที่เราจะต้องสอนให้ลูกเข้าใจถึงความสำคัญของการอยู่ท่ามกลางผู้คน และขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็นควบคู่กันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเวลาเข้าห้องน้ำในช่วงเวลาที่มีคนอยู่, การขอให้เพื่อนไปเป็นเพื่อน, หรือเทคนิควิธีการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้พวกเขาไม่ตกอยู่ในสถานการณ์ลับตาคน นอกจากนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นจริง คุณพ่อคุณแม่ยังควรสอนให้ลูกรู้จักตะโกนขอความช่วยเหลือในทันที มีสติตระหนักรู้ และไม่จำเป็นต้องรู้สึกอาย ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนล้วนพร้อมให้ความช่วยเหลือ แม้อาจจะไม่ใช่พ่อแม่ พี่น้อง หรือคนในครอบครัวที่พวกเขารู้จักก็ตาม
4. สอนให้ลูกไม่ไว้ใจคนแปลกหน้า
นอกเหนือจากการสอนให้ลูกเลี่ยงการอยู่ในที่ลับตาคนและรู้จักตะโกนขอความช่วยเหลือ อีกหนึ่งสิ่งสำคัญแน่นอนว่าคือการสอนให้ลูกเข้าใจว่า “คนแปลกหน้า” ที่พวกเขาไม่ควรไว้ใจคือใคร ในรูปแบบใดที่ “คนแปลกหน้า” ดังกล่าวคือคน “แปลกหน้า” ที่พวกเขาไม่ควรไว้ใจ ในข้อนี้ แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ยาก อาชญากรหลาย ๆ คนล้วนย่อมมาในคราบของคนแปลกหน้าที่แสนดี แต่หากคุณพ่อคุณแม่ลองสอนให้เด็ก ๆ เข้าใจแล้ว ส่วนใหญ่ สัญชาตญาณและเหตุการณ์ตรงหน้าจะช่วยให้เด็กสามารถประเมินและตัดสินใจได้เอง โดยในข้อนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจอย่างชัดเจนว่า “คนแปลกหน้าที่ไม่น่าไว้ใจ” คือใคร เช่น คนแปลกที่ไม่น่าไว้ใจคือบุคคลที่เดินเข้ามาพูดคุย หรือชักจูงให้พวกเขาทำบางอย่างโดยที่พวกเขาไม่ได้ร้องขอ หรือขอให้มาช่วยเหลือใด ๆ เลย หรือหากคนแปลกหน้าคนดังกล่าวบอกว่ารู้จักกับพ่อแม่หรือครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรสอนให้ลูกหาทางเช็ก หรือโทรมาเช็กกับพ่อแม่ ก่อนเสมอ ก่อนที่จะตัดสินใจทำสิ่งใดตามที่ถูกบอก และหากเห็นว่าท่าไม่ดี ให้รีบขอความช่วยเหลือทันที หรือหาทางหนีออกมาจากสถานการณ์ตรงนั้นให้เร็วที่สุด
5. สอนให้ลูกรู้จักใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ ในการทิ้งพิกัดสุดท้าย หรือติดต่อคุณพ่อแม่อย่างเร่งด่วน เพื่อขอความช่วยเหลือ
ในข้อสุดท้าย นอกเหนือจากการพูดคุยหรือผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว อีกรูปแบบหนึ่งในการสอนให้เด็กรู้จักเอาตัวรอดก็คือผ่านบรรดาเทคโนโลยี หรือเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ นั่นเองค่ะ ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นมากกว่าเพียงแค่เครื่องมือในการติดต่อสื่อสารแล้ว มีฟีเจอร์มากมายในโทรศัพท์ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำมาใช้หรือสอนให้ลูกใช้เผื่อในกรณีที่เกิดสถานการณ์คับขัน ตัวอย่างฟีเจอร์ที่เป็นที่นิยม เช่น Find My Device บน Andriod หรือ Find My iPhone บน iOS ซึ่งเป็นแอปฯ สำหรับการตามติดตำแหน่งของเด็ก หรือคนในครอบครัว ที่หากเด็กเปิดให้คุณพ่อคุณแม่เข้าถึงได้ เมื่อเกิดสถานการณ์อันตรายใด ๆ แม้ไม่สามารถติดต่อกันได้ แต่ก็ยังสามารถรับรู้ตำแหน่งของพวกเขาได้ นอกเหนือจากบรรดาแอปฯ ต่าง ๆ ในสมาร์ทโฟนหลาย ๆ รุ่นเองในปัจจุบัน ยังมีฟีเจอร์การติดต่อฉุกเฉิน เช่น ฟีเจอร์การโทรแบบ SOS แบบฉุกเฉินทันทีบน iPhone ซึ่งจะอนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถกดโทรหาคนในรายชื่อติดต่อฉุกเฉิน หรือ สายต่อบริการฉุกเฉินได้อย่างทันทีในสถานการณ์คับขันโดยไม่ต้องปลดล็อกหน้าจอด้วยการเพียงแค่กดปุ่มด้านข้างและปุ่มปรับระดับเสียงพร้อมกัน ลากแถบเลื่อน SOS และโทรออก
และนี่ก็คือ 5 วิธีการป้องกันอุบัติเหตุในวัยเด็กที่วันนี้ Starfish Labz ได้นำมาฝากคุณพ่อคุณแม่กัน เป็น 5 เทคนิคการเลี้ยงลูกให้ระวังอันตรายอย่างง่าย ๆ ที่ Starfish Labz เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ย่อมสามารถทำได้และจะต้องเป็นหนึ่งในสิ่งที่มีความหมายและคุณค่าที่สุดที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองเคยทำหรือมอบให้กับลูก ๆ อย่างแน่นอน
อ้างอิง
Related Courses
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
“ความกตัญญู” สร้างคนดีให้สังคม
ความกตัญญูทำให้สถาบันครอบครัวและสังคมมั่นคง ซึ่งนับว่าเป็นหลักธรรมพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์รู้จักการกระทำหน้าที่อันเหมาะสมของตนเอง ...