วิธีวางตัวกับเพื่อนลูก ให้ได้ใจลูก
ว่ากันว่าเลี้ยงลูกยุคใหม่ต้องลดความเป็นพ่อเป็นแม่ แต่ต้องเพิ่มความเป็นเพื่อนเข้าไปด้วย เพราะวัยรุ่นนั้น เรื่องเพื่อนถือเป็นเรื่องใหญ่ จะทำอย่างไรเมื่อต้องอยู่กับกลุ่มเพื่อนลูกให้ได้ใจทั้งแก๊งค์ วันนี้เรามีเคล็ดลับดีๆ มาบอกค่ะ
เราคือทีมเดียวกัน
ต้องเข้าใจก่อนว่าวัยรุ่นนั้น มีพัฒนาการทางสังคมที่ค่อนข้างชัด การติดเพื่อนก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น ตามพัฒนาการตามวัยของเขา คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจเสียก่อนว่าลูกไม่ค่อยสนใจ และเอาแต่ขลุกอยู่กับเพื่อนๆ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือให้ลูกรู้สึกว่าเราเป็นทีมเดียวกัน ให้ความสำคัญกับการที่เขาจะไปอยู่กับเพื่อน เพื่อเว้นระยะห่าง ระหว่างโลกของคุณนั่นคือ “บ้าน” และโลกของลูกนั่นคือ “เพื่อนและโรงเรียน” ให้เขาได้มีพื้นที่ส่วนตัว การสนับสนุนและสังเกตอยู่ห่างๆ นั้นจะทำให้เขารู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้หายไปไหน และนอกจากเพื่อนแล้ว บ้านยังคงเป็นที่สำหรับเขาเสมอ
อย่าด่วนตัดสิน
บางครั้งเมื่อลูกมีเพื่อน คุณพ่อคุณแม่มักตัดสินเด็กๆ เหล่านี้จากพื้นฐานของที่บ้านและสังคม ซึ่งก็ไม่แปลกค่ะ ถ้านั่นเป็นเพียงข้อมูลที่เรามี แต่อย่าไปแสดงออกว่าไม่ยอมรับเพื่อนคนนั้นของลูกอย่างออกหน้าออกตา เราแนะนำให้คอยเฝ้าดู และรวบรวมข้อมูล อาจจะตักเตือน หรือแสดงความเห็นบ้างเป็นบางครั้ง แต่อย่าแรงเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้าน เมื่อเวลาผ่านไปความเป็นผู้ใหญ่ก็จะทำให้มองออกค่ะว่า เด็กคนนี้จะทำให้ลูกเราไปในทางที่ไม่ดีหรือไม่
เข้าไปในโลกของลูกบ้าง
ลองหัดทำกิจกรรมที่เขาชอบ หรือถ้ามันผาดโผน และแตกต่างจากตัวตนของคุณมากเกินไป ลองเปิดใจและสนับสนุนในสิ่งที่เขาชอบ หรือเป็นกิจกรรมที่วัยรุ่นมักทำกัน เช่น ติ่งดารา, เต้นโคเวอร์เกาหลี, เล่นเซิร์ฟสเก็ต ฯลฯ พาเขาไปงานมีตติ้ง หรือให้พื้นที่จัดงานที่บ้านได้ อาจจะไม่ต้องถึงขนาดว่าคุยกับลูกและเพื่อนๆ ลูกในทุกเรื่อง หรือเปลี่ยนมาใช้คำแสลงในวัยของเขา เพราะมันอาจจะดูแปลกที่จู่ๆ พ่อแม่ก็ลุกขึ้นมาพูดศัพท์วัยรุ่นกับเขาและเพื่อนๆ แต่อาจจะแค่ไม่ต่อต้านและตัดสินในสิ่งที่เขาทำ คุณอาจจะส่งเสริมในเรื่องที่เขาจะทำแล้วมีความสุข เช่น ลงคอร์สเรียนเต้นให้ พาเขาและเพื่อนๆ ไปประกวด หรือเข้าไปเป็นสปอนเซอร์ในงานนั้นๆ
รักเพื่อนลูกให้เหมือนลูกอีกคนหนึ่ง
อย่าลืมว่าเวลาของลูกนั้นอยู่กับเพื่อนเสียส่วนมาก กลุ่มเพื่อนๆจึงมีอิทธิพลกับเขา การที่คุณเอาใจใส่ รวมถึงสนับสนุนเพื่อนๆของลูกไม่ต่างจากลูก ย่อมทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าคุณเป็นที่พึ่งที่ดี และสามารถเปิดใจเข้าหาได้ง่าย ความรักไม่ใช่การตามใจนะคะ ทุกอย่างควรมีขอบเขต เช่น อาจจะให้ความช่วยเหลือหากเพื่อนลูกมีปัญหาบางอย่าง ขอให้คิดอยู่เสมอว่าสนับสนุนเพื่อนๆของลูกในสิ่งที่พวกเขาทำแล้วมีความสุข ลูกเราก็จะมีคววามสุขไปด้วย ที่สำคัญห้ามบ่นมากกว่าทำ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่วัยรุ่นมักจะต่อต้านมากที่สุด
รู้จักครอบครัวเพื่อนลูกให้มาก
การสร้างเครือข่ายผู้ปกครอง เป็นอีกหนึ่งหนทางที่เราจะสามารถสังเกตพฤติกรรมลูกๆ ได้โดยไม่ไปก้าวก่ายพื้นที่ส่วนตัวของเขามากนักค่ะ ที่สำคัญยังทำให้เราได้รับข่าวสาร หรือข้อสังเกตถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น จากคุณพ่อคุณแม่บ้านอื่นๆได้ด้วย บางอย่างรู้เร็ว ก็แก้ได้ไว และยังช่วยกันสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมดีๆได้ง่ายอีกด้วย เรื่องบางเรื่องสองหัวดีกว่าหัวเดียวค่ะ สองครอบครัว หรือมากกว่านั้นย่อมดีกว่า
การเลี้ยงลูกอยู่บ้านเดียวเป็นไหนๆ แต่ก็ต้องใช้สติในการคัดกรองเรื่องราวด้วยนะคะ
คบคนอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
เราไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าไปแทรกถามตรงๆว่าคบใครอยู่บ้าง คนนี้เป็นใคร ครอบครัวเค้าทำอะไร? ลองเปลี่ยนเป็นแบบพูดคุยในแบบสบายๆ ให้ลูกลองเล่าเรื่องเพื่อนให้ฟังหน่อยว่าเพื่อนสนิทลูกคือใครบ้าง? แต่ละคนนิสัยเป็นยังไง ใครมีเรื่องราวน่าสนใจอย่างไรบ้าง? แล้วทำไมลูกถึงชอบเขา? เพราะการคบเพื่อนก็เป็นพัฒนาการทางสังคม ที่เด็กวัยรุ่นต้องมี และการที่เราได้รู้ข้อมูลเพื่อนๆลูกไว้บ้าง ก็เหมือนเราได้เห็นภาพร่างในโลกของเรา ได้เข้าไปรับรู้การมีอยู่ของสังคมเพื่อนของเขาโดยไม่ทำให้เขาอึดอัดเพราะเพื่อน คือกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อลูกมากกว่าที่คิด การวางตัวที่ดีที่สุดสำหรับเพื่อนๆของลูก ก็คือเป็นพ่อแม่ของเขาอีกคนนั่นเอง ที่นอกจากจะได้ใจเพื่อนลูกแล้ว ก็ยังได้ใจลูกของคุณเองด้วยเช่นกัน
Related Courses
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...