ตามเพื่อน ตามใจ แต่ทำไมลูกไม่ตามเรา
เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น สิ่งหนึ่งที่คนเป็นพ่อแม่สัมผัสได้ก็คือ ความห่างเหินที่เพิ่มขึ้นทุกวัน จากที่เคยเรียกหาพ่อแม่เป็นอันดับแรกๆ มาถึงวันนี้ พ่อแม่อาจกลายเป็นอันดับ 2-3 หรือกระทั่งอันดับท้ายๆ ที่ลูกจะนึกถึง หากไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ พ่อแม่อาจรู้สึกใจหาย หรือบางครอบครัวอาจรู้สึกว่าลูกต่อต้าน จนกลายเป็นความบาดหมางที่ยากจะสมานให้เหมือนเดิม
ความจริงแล้ว พฤติกรรมของวัยรุ่นที่เริ่มตีตัวห่างจากพ่อแม่นั้น ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นแทบทุกครอบครัว แต่อาจห่างมาก ห่างน้อย ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูในช่วงวัยเด็กเป็นส่วนประกอบด้วย บทความนี้ ชวนพ่อแม่มาทำความเข้าใจวัยรุ่นว่า เพราะเหตุใดพวกเขาถึงทำตามเพื่อน ทำตามใจตัวเอง มากว่าจะทำตามพ่อแม่อย่างเราเหมือนที่เคยเป็นมา
ไม่อยากตามใคร เพราะกำลังค้นใจตัวเอง
จะว่าไปแล้วความเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยรุ่นนั้น ถือ เป็นพัฒนาการขั้นหนึ่งที่พ่อแม่อาจนึกไม่ถึง เพราะเมื่อพูดถึงพัฒนาการ เรามักคิดถึงทารกแรกเกิดไปจนถึงวัยเตาะแตะ พัฒนาการเดิน การพูด การวิ่ง ซึ่งเป็นเรื่องทางกายภาพที่เห็นได้ชัด แต่สำหรับวัยรุ่นนั้น พัฒนาการของพวกเขาเป็นเรื่องของจิตใจและอารมณ์ ทำให้พ่อแม่อาจไม่ทันได้ตระหนักในเรื่องนี้ และคิดว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นเพราะลูกกำลังต่อต้านเรา
ในความเป็นจริง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นช่วงวัยรุ่น คือ การแสวงหาอัตลักษณ์ของตนเอง จากที่เคยพึ่งพาและเลียนแบบพ่อแม่ ก็เริ่มที่จะค้นว่าตัวตนของพวกเขาเป็นอย่างไร ชอบ ไม่ชอบอะไร คำกล่าวที่ว่าวัยรุ่นเป็นวัยลองผิดลองถูก นั่นก็เพราะว่า พวกเขากำลังเรียนรู้ว่าสิ่งใดที่เหมาะกับตนเอง บ่อยครั้งผู้ใหญ่มักพบว่าลูกวัยรุ่น อยากทำอะไรด้วยตนเองมากขึ้น นั่นก็เป็นเพราะพวกเขาอยากเรียนรู้และพิสูจน์ว่าตนเองก็มีความเป็นผู้ใหญ่มากพอ ซึ่งหากพ่อแม่ผู้ปกครอง ยอมรับ ไม่ซ้ำเติมเมื่อเกิดความผิดพลาด เด็กๆก็จะได้โอกาสเรียนรู้ กลายเป็นประสบการณ์ที่สั่งสมสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง ในทางตรงข้าม หากพ่อแม่คอยตำหนิ ตัดสิน ไม่ยอมให้ได้ทำอะไรเอง ก็อาจทำให้วัยรุ่นเกิดความสงสัยไม่มั่นใจ และไม่เชื่อว่าผู้อื่นจะยอมรับตัวตน กลายเป็นปมปัญหาในชีวิตได้
ตามเพื่อน ตามใจ เพราะอยากให้ใครๆ ยอมรับ
วัยรุ่น ถือ เป็นรอยต่อระหว่างความเป็นเด็กกับความเป็นผู้ใหญ่ สำหรับพ่อแม่มักมองว่าลูกเป็นเด็กอยู่เสมอ เมื่ออยู่กับลูกจึงมักคอยบอก คอยสั่ง ให้คำแนะนำในการทำสิ่งต่างๆ เหมือนกับสมัยที่ลูกยังเป็นเด็ก จึงอาจทำให้วัยรุ่นรู้สึกหงุดหงิด รำคาญใจ เพราะพวกเขาเชื่อว่าตนเองโตแล้ว ช่วยเหลือตัวเองได้ดีกว่าที่พ่อแม่คิด
วัยรุ่นมีความต้องการที่จะพึงพิงตัวเองสูง อยากเป็นอิสระ อยากทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง บ่อยครั้งจึงมักทำอะไรให้ผู้ใหญ่รู้สึกว่าเอาแต่ใจ ทั้งที่ในความเป็นจริง ความพยายามทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองนั้น เป็นพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจรูปแบบหนึ่ง ทำไปเพื่อแสวงหาการยอมรับ อยากให้พ่อแม่เห็นว่าพวกเขาก็ทำหลายอย่างได้แบบผู้ใหญ่ แม้อาจจะไม่ดีเท่า แต่หากได้รับโอกาส ก็จะพยายามให้ดีที่สุด
พฤติกรรมตามเพื่อน ติดเพื่อน ก็มีเหตุผลไม่ต่างจากการพยายามทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง นั่นก็คือ วัยรุ่นต้องการเป็นที่ยอมรับ ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ต้องการให้เพื่อนๆ รู้สึกประทับใจ ซึ่งการมีกลุ่มเพื่อน ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันถือป็นทักษะทางสัมคมที่สำคัญให้เด็กๆ นำไปใช้ในอนาคตต่อไปได้ การมีเพื่อนช่วยให้วัยรุ่นได้เรียนรู้เรื่องการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น นำไปสู่การพัฒนาวุฒิภาวะ รู้จักเป็นผู้ให้และผู้รับ หากความเปลี่ยนแปลงในช่วยนี้พ่อแม่ให้คำแนะนำอย่างเหมาะสม ก็จะเป็นพื้นฐานที่ดีต่อการพัฒนาอัตลักษณ์ของตนเองต่อไป
เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นตอนกลาง พวกเขาจะเริ่มมีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น กล้าแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากกลุ่มเพื่อน นี่ถือเป็นพัฒนการอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งการที่วัยรุ่นจะพัฒนาจนสามารถยืดหยัดความคิดของตัวเองได้นั้น จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ผู้ปกครอง เปิดโอกาสให้ลูกได้ทดลองทำสิ่งต่างๆ ได้แสดงความเห็น ทำให้ลูกได้เรียนรู้วิธีการทีละน้อย แต่ถ้าไม่เปิดโอกาสเลยอาจทำให้เกิดความเครียด พัฒนาการติดขัด หยุดชะงัก และมีปัญหาทางอารมณ์ตามมา
รับมืออย่างไร ให้ลูกทำตามใจอย่างเหมาะสม
แม้ว่าการทำตามเพื่อน ตามใจ ของวัยรุ่น จะเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการ แต่ในฐานะพ่อแม่ ก็จำเป็นต้องสร้างขอบเขตที่ชัดเจนอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางให้กับลูกด้วย สิ่งที่ท้าทายก็คือ พ่อแม่ควรทำอย่างไรที่จะไม่ให้วัยรุ่นรู้สึกว่ากำลังถูกบังคับ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ปล่อยปละจนมากเกินไป
สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำ เริ่มจากเข้าใจพฤติกรรม และธรรมชาติของวัยรุ่น เมื่อเข้าใจแล้วก็จะได้หาวิธีสื่อสารกับลูกอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ พ่อแม่ควรถามตัวเองว่าสิ่งใดที่เป็นเรื่องสำคัญที่ปล่อยไม่ได้ และเรื่องใดที่พอจะหยวนๆ ให้วัยรุ่นทำได้ด้วยตัวเอง เช่น หากลูกต้องการทำสีผม อาจอนุญาตให้ทำได้ในช่วงปิดเทอม แต่หากลูกต้องการสัก ระเบิดหู หรืออะไรที่จะติดอยู่กับร่างกายอย่างถาวร คงต้องพูดคุยกันว่า วัยของลูกอาจยังไม่เหมาะที่จะทำอะไรแบบนี้ คุยกับลูกวัยรุ่นว่าอะไรคือเหตุผลของการที่เขาอยากทำสิ่งต่างๆ และรับฟังอย่างจริงใจ ไม่ตัดสิน แต่ก็ยืนยันในกฏเกณฑ์ของตนเองด้วยวิธีอ่อนโยนแต่หนักแน่น (Kind but Firm)
นอกจากนี้ ควรตั้งกฏเกณฑ์เรื่องสำคัญต่างๆ อย่างชัดเจน และทำอย่างสม่ำเสมอ เช่น เรื่องการนอนของลูก ควรกำหนดให้ลูกเข้านอนเป็นเวลา เพราะการนอนสำคัญต่อการเจริญเติบโต และการเรียนรู้ในระหว่างวัน เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำตามกฏด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องคอยจ้ำจี้จ้ำไชบอกซ้ำๆ หากไม่แน่ใจว่าลูกจะทำ
ตามกฏหรือไม่ ควรรอสังเกตสักระยะก่อน หากเห็นว่าลูกไม่ทำ อาจใช้การเตือนก่อนถึงเวลา การที่พ่อแม่ไม่คอยบอกซ้ำๆ ช่วยทำให้วัยรุ่นรู้สึกว่าพ่อแม่เชื่อใจ ซึ่งจะทำให้พวกเขาทำตามโดยไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ
อีกทั้ง พ่อแม่ควรเคารพความเป็นส่วนตัวของลูก เพราะสำหรับวัยรุ่นความเป็นส่วนตัวถือเป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญที่สุด พ่อแม่ไม่ควรก้าวก่ายของใช้ของลูก ระวังที่จะไม่ซักไซ้ให้ลูกบอกทุกอย่าง หรือต้องคอยรายงานว่าทำอะไรตลอดเวลา แต่อาจตั้งกฏให้ลูกต้องบอกว่าจะไปไหน กับใคร กลับเมื่อไร โดยให้เหตุผลเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เมื่อเราเคารพความเป็นส่วนตัวของลูก พวกเขาก็จะเคารพกฏเกณฑ์ของเราเช่นกัน
การเลี้ยงดูทำความเข้าใจวัยรุ่นในยุคนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากพ่อแม่อย่างเราๆ ลองหวนนึกไปถึงเมื่อครั้งที่เราเป็นวัยรุ่น แล้วเอาใจเขาใส่ใจเรา ก็อาจจะเข้าใจความต้องการของลูกวัยนี้ได้ดีขึ้น
Related Courses
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
How to Play : กลเม็ดพิชิตใจเด็ก
“เล่นให้เด็กติดใจ”จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปถ้าหากเรารู้เคล็ดลับบทเรียนนี้จะช่วยให้คุณ “เป็นคนที่ เล่นอย่างสนุก”“เข้าใจวิธีการเ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...