PLC Happy Hour Live Online ครั้งที่ 7 “การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ”
กิจกรรม PLC Happy Hour Live Online ในครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยน พูดคุย เรียนรู้ร่วมกันในการพัฒนานวัตกรรมของโรงเรียน หัวข้อ “การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ” โดยผู้อำนวยการและครูที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการจัดทำหลักสูตร และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ฐานสมรรถนะจากโรงเรียนพร้าวบูรพา
จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เริ่มมีการปรับตัวในทุกๆ ด้านมากขึ้นโดยเฉพาะด้านการศึกษาที่ต้องมีการปรับ เปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้หน่วยงานการศึกษาได้มีการนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ และโรงเรียนพร้าวบูรพาได้เล็งเห็นความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ จึงได้พัฒนากระบวนการ เทคนิค วิธีการเรียนรู้ต่างๆ จากการ PLC ร่วมกันระหว่างทีมผู้บริหารและครูในการจัดการเรียนรู้เพื่อตอบสนองการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยเน้นการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งมีการกำหนดกระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน หรือเรียกว่า 5 Steps เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและเชื่อมโยงกับการพัฒนาสมรรถนะ 6 ด้าน รวมถึงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (3R8C) ทั้งนี้ โมเดลความเชื่อมโยงสมรรถนะของผู้เรียนได้มีการนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ ซึ่งนำไปสู่การสร้างหลักสูตรของโรงเรียน
สำหรับการเริ่มต้นในการทำนวัตกรรมของโรงเรียนพร้าวบูรพา เริ่มจากการที่ผู้อำนวยการเข้าร่วมโครงการกับมูลนิธิสตาร์ฟิช หลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรมจึงได้มีการประชุม PLC ภายในโรงเรียนในการวางแผนการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ และการจัดกิจกรรมสู่การเรียนการสอนของผู้เรียนอย่างไรที่เน้นให้เกิดประโยชน์กับผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในการวางแผนการดำเนินงานได้มีการคำนึงถึงจุดเด่นและจุดที่ควรพัฒนาของบุคลากรและนักเรียน หลังจากนั้น จึงนำไปสู่การวางแผนการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะที่ไม่กระทบต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยการจัดทำค่ายกิจกรรมที่แยกจากโครงสร้างวิชาเรียน
สำหรับแนวทางการดำเนินงานการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยโรงเรียนได้เข้าพบ ปรึกษาหารือประชุมร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดถึงการใช้หลักสูตร เมื่อหน่วยงานต้นสังกัดรับทราบ จึงได้หาหน่วยงานที่ปรึกษา ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย หรือองค์กรต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัย เป็นที่ปรึกษาถึงแนวทางการดำเนินงาน การวัดและประเมินผล หลังจากนั้น โรงเรียนได้นำครูทุกคนเข้าร่วมอบรมการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ เมื่อจัดทำหลักสูตรแล้ว จึงได้มีการสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning by 5 Steps ซึ่งประกอบด้วย
1) เรียนรู้ปูพื้นฐาน (Fundamental Knowledge)
2) ประสานความสนใจ (Motivate and Search) การกระตุ้นความสนใจและแสวงหาความรู้
3) ใฝ่เรียนรู้สู่การปฏิบัติ (Practice)
4) เด่นชัดในผลงาน (Present)
5) สร้างสรรค์สู่บทเรียน (Conclude and Apply) การสรุปและประยุกต์ใช้บทเรียนทั้ง 8 กลุ่มสาระหลักและค่ายพัฒนาทักษะ ทั้งนี้ ได้มีการนำนวัตกรรมเข้าสู่หลักสูตรสถานศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 โดยการสอดแทรกคำอธิบายรายวิชาบูรณาการทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ การกำหนดรูปแบบและเวลาในการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตรนวัตกรรม การวัดและประเมินผลตามสภาพจริงอย่างเป็นระบบ และการจัดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งในการจัดทำตารางการเรียนการสอนสิ่งที่โดดเด่น คือ การใช้สมรรถนะในห้องเรียนทั้ง 8 กลุ่มสาระหลัก และเพิ่มเติมชั่วโมงลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ จากกิจกรรมทั้งหมด 3 ค่ายการเรียนรู้ คือ ค่าย STEM Education ค่าย Languages Camp และค่ายรักษ์เชียงใหม่
สำหรับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน พบว่า การพัฒนาด้านหลักสูตรอิงฐานสมรรถนะที่เป็นหลักสูตรจุดเน้นของโรงเรียน ส่งผลให้โรงเรียนในเครือข่ายและโรงเรียนที่มีความสนใจกระบวนการพัฒนานวัตกรรมเข้ามาเยี่ยมชม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่โรงเรียน อีกทั้งโรงเรียนยังได้มีการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน ส่งผลให้การดำเนินการด้านการพัฒนาผู้เรียนเป็นไปอย่างมีคุณภาพ สำหรับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับครู พบว่า ครูได้มีกิจกรรมการเรียนการสอนที่แปลกใหม่ การคิดค้นนวัตกรรมการเรียนการสอนที่แตกต่างจากหลักสูตรเดิมโดยครูเป็นผู้นำนักเรียน การจัดกิจกรรมของครูเปลี่ยนจากการเป็นครูผู้สอนบรรยายในห้องเรียนเป็นครูที่ปรึกษา ชี้แนะแนวทางกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียน โดยนักเรียนเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมด้วยตนเองได้ผ่านการจัดการเรียนรู้ Active Learning ครูสามารถรายงานผลการจัดกิจกรรมและการนำเสนอ เผยแพร่ผลงานต่อผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงานได้ สำหรับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน พบว่า นักเรียนเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข กระตือรือร้นในการเรียนรู้ มีทักษะในการทำงาน การแก้ปัญหา มีความคิดสร้างสรรค์ สิ่งที่สำคัญคือ ผลสะท้อนกลับที่ดีจากผู้ปกครอง
ด้านปัญหาที่พบระหว่างการดำเนินงานการจัดกิจกรรมหลักสูตรฐานสมรรถนะ เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างไม่เต็มที่และไม่ต่อเนื่อง ซึ่งโรงเรียนได้ดำเนินการโดยการประสานกับนักเรียนผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์และมอบกล่องการเรียนรู้ Learning Box ให้กับนักเรียน และให้นักเรียนมาพบปะกับครูที่โรงเรียนประมาณอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อติดตามความก้าวหน้าของนักเรียน อีกทั้งการดำเนินงานหลักสูตรฐานสมรรถนะเป็นสิ่งใหม่ทั้งครูและนักเรียน ทำให้อุปกรณ์การเรียนการสอนไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้เรียน จึงได้มีการหารือร่วมกันในการหาอุปกรณ์ที่มีในท้องถิ่น และการจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อลดปริมาณอุปกรณ์ วัสดุต่างๆ
เห็นได้ว่า จากการดำเนินงานนวัตกรรมของโรงเรียนพร้าวบูรพายังคงต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นด้านหลักสูตร ด้านการจัดการเรียนรู้ที่เป็นหัวใจของการพัฒนานักเรียน ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีบริบทที่เป็นจุดเด่นของตนเอง โดยเฉพาะผู้บริหารและครูที่มีพลังอย่างสูงสุดในการเริ่มต้นคิดค้นนวัตกรรม เพื่อเป้าหมายหลักของการจัดการศึกษาที่ต้องการพัฒนาเยาวชนของชาติให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์และตอบสนองต่อการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ต่อไป ทั้งนี้ สามารถรับฟังเพิ่มเติมได้ที่
www.facebook.com/StarfishAcademy2019/videos/563977024941596/
ผอ.ประทิน ตั้งใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนพร้าวบูรพา
ครูเพียงเพ็ญ เชาว์ประเสริฐ
ครูจีรนันท์ โปธาสิริทรัพย์
Related Courses
How to สอบอย่างไรให้เด็กสนุก ไม่มีลืม
การทดสอบเป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้ ว่าเรามีความเข้าใจในเนื้อหาการเรียนมากน้อยแค่ไหน และการสอบนั้นอาจเป็นเรื่องที่น่าเบื่ ...
ห้องเรียนสมรรถนะวิชาภาษาไทย โรงเรียนบ้านปลาดาว
เรียนรู้ไอเดียการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบห้องเรียนสมรรถนะวิชาภาษาไทย ฉบับโรงเรียนบ้านปลาดาว ทำความเข้าใจลักษณะห้ ...
ก้าวสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ (CBE)
หลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นหลักสูตรที่เน้นการวัดผลแบบสมรรถนะแทนการท่องจำเนื้อหาเพียงเพื่อนำมาสอบ หลักสูตรฐานสมรรถนะยังเป็ ...
สร้าง Self-Esteem เสริมคุณค่าให้กับนักเรียนอย่างไร
Self-Esteem หรือ การเคารพและเห็นคุณค่าของตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญในการดำเนินชีวิต เพื่อให้สามารถรับมือกับอารมณ์และสถานการ ...