อัปเดตใหม่ 2564 แผนหลักสูตรฐานสมรรถนะ 6 ด้านจากศธ. ที่คุณครูต้องรู้
จากการเปิดโครงการนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา เป็นที่แน่นอนแล้วว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคของการผลักดันการใช้งาน หลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-based Curriculum) ในโรงเรียนทั่วประเทศอย่างจริงจัง หลังเป็นเพียงแค่ข้อเสนอแนะ และข้อถกเถียงในหมู่นักวิชาการ และนักการสอนในตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่แผนหลักสูตรฐานสมรรถนะ 6 ด้านฉบับใหม่ล่าสุดที่มีสมรรถนะด้านใดบ้าง? จะเริ่มใช้งานเมื่อไหร่? และโรงเรียนใดจะเริ่มใช้กันบ้าง? วันนี้ Starfish Labz รวบรวมทุกคำตอบมาให้แล้ว จะมีข้อสำคัญใดที่คุณครูทุกคนควรรู้กันบ้าง มาเริ่มกันเลย
1. หลักสูตรฐานสมรรถนะ 6 ด้าน มีด้านใดกันบ้าง?
(ขอบคุณรูปภาพจาก ศธ. 360 องศา)
แผนหลักสูตรฐานสมรรถนะใหม่ถูกปรับเพิ่มจากเดิม 5 ด้าน ให้มี 6 ด้าน ได้แก่
- การจัดการตนเองอย่างมีสุขภาวะ
- การคิดขั้นสูงและการเรียนรู้
- การสื่อสารด้วยภาษา
- การจัดการและการทำงานเป็นทีม
- การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง
- การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน
ซึ่งด้านที่เพิ่มเข้ามาก็คือด้าน “การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน” ด้วยความมุ่งหวังให้เด็กไทยมีสมรรถนะทางด้านวิทยาศาสตร์ รู้เท่าทันเทคโนโลยีในยุคใหม่ และในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
2. แผนหลักสูตรสมรรถนะ 6 ด้านจะเริ่มใช้เมื่อไหร่และกับโรงเรียนใดบ้าง?
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) วางแผนนำหลักสูตรฐานสมรรถนะมาใช้ในกรอบเวลา 3 ปี คือ
- ปีการศึกษา 2565 – เริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับระดับประถมศึกษา เฉพาะในโรงเรียนที่มีความพร้อม
- ปีการศึกษา 2566 – เริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ระดับมัธยมศึกษา เฉพาะในโรงเรียนที่มีความพร้อม และทุกโรงเรียนในระดับประถมศึกษา
- ปีการศึกษา 2567 – เริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในทุกโรงเรียนทั่วประเทศ
โดยแผนกรอบเวลา 3 ปีนี้ เป็นแผนที่ได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบันแล้ว คือขยายระยะเวลาการทดลองให้กับโรงเรียนมากกว่าเดิม ให้เวลาคุณครูในการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเตรียมสอนมากขึ้น ตลอดจนให้เวลานักเรียนในการค่อย ๆ โดยเมื่อเริ่มนำร่องทดลองใช้หลักสูตรแล้ว ทางศธ. จะทยอยเผยแพร่คู่มือ หลักสูตรที่มีตัวอย่างสถานการณ์และกิจกรรมการเรียนรู้ที่ปรับใช้ในพื้นที่ และในรูปแบบการสอนออนไลน์ได้
โดยจากการดำเนินการรับสมัครโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มีความสมัครใจพบว่ามีโรงเรียนที่พร้อมเข้าร่วมการทดลองใช้หลักสูตรรวมทั้งสิ้น 265 โรงเรียน ใน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 226 โรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 17 โรงเรียน และ สังกัดสำนักงานการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 22 โรงเรียน
3. หลักสูตรฐานสมรรถนะใหม่แตกต่างจากเดิมอย่างไรอีก?
นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงจากระบบการเน้นเนื้อหา (content) มาเป็นเน้นสมรรถนะ (competency) แล้ว แน่นอนว่าอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจกลางของหลักสูตรฐานสมรรถนะก็คือเรื่องของการลดเวลาการเรียน โดยในหลักสูตรฐานสมรรถนะใหม่นี้ ระยะเวลาการเรียนในแต่ละระดับชั้นจะแตกต่างจากเดิม เช่น ช่วงชั้นประถมศึกษาตอนต้น หรือชั้น ป.1-ป.3 เวลาเรียนลดลงจาก 1,000 ชั่วโมงเป็น 800 ชั่วโมง และจาก 7 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ก็จะกลายเป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็นต้น
4. แนวทางการสอนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะ
ข้อมูลจากศธ. สรุปโดยสังเขปว่าแนวทางการสอนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะ 6 ด้าน จะเน้นแนวทาง ดังนี้
(ขอบคุณรูปภาพจาก ศธ. 360 องศา)
- ต่อยอดเพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะ
- ใช้ทักษะและตัวชี้วัดมาออกแบบการสอนร่วมกัน
- ใช้ความรู้และทักษะได้ในสถานการณ์จริง
- ผสมหลายสมรรถนะให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิชา
- วิเคราะห์เชื่อมโยงให้เกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์
- นำสมรรถนะมาใช้ในชีวิตประจำวัน
5. บุคคลธรรมดาหรือบุคลากรของโรงเรียน หากอยากมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง
สามารถทำได้ โดยในกรอบการพัฒนาปัจจุบัน ศธ. ได้เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องผ่าน 4 ช่องทางหลัก คือ
- การจัดเวทีระดมสมอง ในประเด็นที่สำคัญและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง โดยจะจัดรวมทั้งสิ้น 12 ครั้ง ซึ่งปัจจุบันมีดำเนินการไปแล้วจำนวนโดยรวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง
- การจัดเวทีตามประเด็น ได้แก่ เป้าหมายของหลักสูตร แนวทางการจัดการเรียนรู้ การผลิตและพัฒนาครูให้พร้อมสำหรับหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นต้น
- การจัดเวทีตามกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง กลุ่มภาคเอกชน กลุ่มครู กลุ่มผู้บริหารโรงเรียน กลุ่มอาจารย์ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์
- การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผ่านเว็บไซต์หลักสูตรฐานสมรรถนะ CBE Thailand
โดยสำหรับการเข้าร่วมเวทีการนำเสนอ, รับฟัง, และแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรใหม่ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสาร วันเวลา และรายละเอียดการเข้าร่วมได้ที่แฟนเพจ Facebook CBE Thailand
6. ยังไม่ใช่บุคลากรในโรงเรียนที่เริ่มนำร่อง แต่อยากเริ่มทำความเข้าใจและเรียนรู้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ควรทำอย่างไร?
บุคลากรในโรงเรียนที่ยังไม่ได้เริ่มการทำลองนำร่อง สามารถเริ่มต้นเรียนรู้และทำความเข้าใจหลักสูตรฐานสมรรถนะอย่างถูกต้องได้ง่าย ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ของศธ. ตลอดจน CBE Thailand รวมทั้งผ่านบทความช่วยทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรฐานสมรรถนะมากมายยอดฮิตจาก Starfish Labz แหล่งเรียนรู้และชุมชนออนไลน์แห่งแรกของประเทศสำหรับนักการศึกษาและผู้ปกครอง อาทิ
- ชวนมารู้จัก “หลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-based Curriculum)” ฉบับเข้าใจง่าย
- 6 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหลักสูตรฐานสมรรถนะที่คุณครูต้องรู้
- "เทคนิคพ่อแม่ในการค้นหาสมรรถนะของลูก" โดย Starfish Education
อ้างอิง
Related Courses
เจาะลึกการทำข้อตกลงพัฒนางาน (วPA) ฉบับคุณครู
ทำความรู้จักข้อตกลงการพัฒนางาน (วPA) แบบเจาะลึก เพื่อสร้างความเข้าใจการทำข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตราฐานตำแหน่ง ...
เจาะลึกการทำข้อตกลงพัฒนางาน (วPA) ฉบับคุณครู
ห้องเรียนสมรรถนะวิชาภาษาไทย โรงเรียนบ้านปลาดาว
เรียนรู้ไอเดียการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบห้องเรียนสมรรถนะวิชาภาษาไทย ฉบับโรงเรียนบ้านปลาดาว ทำความเข้าใจลักษณะห้ ...
ก้าวสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ (CBE)
หลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นหลักสูตรที่เน้นการวัดผลแบบสมรรถนะแทนการท่องจำเนื้อหาเพียงเพื่อนำมาสอบ หลักสูตรฐานสมรรถนะยังเป็ ...
การประเมินเพื่อขอ เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู”
เรียนรู้ ทำความเข้าใจภาพรวมของการประเมินเพื่อขอมี / เลื่อนวิทยฐานะใหม่ “ตำแหน่งครู” (วPA)