งานเสวนา โรงเรียนเปลี่ยนใหม่ “ปิด GAP ห้องเรียนในยุคโควิด-19”
เครื่องมือหรือวิธีการปิด GAP ห้องเรียนในยุคโควิด-19
โรงเรียนวัดศิลามูล เป็นโรงเรียนรัฐบาลขนาดกลาง มีนักเรียนจำนวน 204 คน มีครูและบุคลากร 14 คน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้โรงเรียนได้มีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ปรากฎว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากพื้นฐานครอบครัว ผู้ปกครองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรและรับจ้าง ส่งผลให้ไม่มีความพร้อมทางด้านอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์
จากการสำรวจ พบว่ามีนักเรียนไม่ถึงร้อยละ 30 ที่มีความพร้อมของอุปกรณ์และพร้อมใช้ในการเรียนออนไลน์ซึ่งต้องใช้อินเทอร์เน็ต ทางโรงเรียนจึงได้ให้ความช่วยเหลือผู้ปกครอง โดยได้ขอความอนุเคราะห์ซิมเครือข่ายทรู จำนวน 50 อัน มอบให้กับผู้ปกครองนักเรียนได้นำไปใช้ แต่ก็ยังไม่สามารถนำไปใช้ได้ครอบคลุมทั้งหมด ทำให้การจัดการเรียนการสอนในช่วง 2 ภาคเรียนที่ผ่านมายังมีปัญหาอยู่มาก และจากการประชุมร่วมกับคณะครูได้ค้นพบว่า นักเรียนเกิดความถดถอยทางการเรียนรู้ค่อนข้างมาก
โดยเฉพาะนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จะพบปัญหามากที่สุดในด้านทักษะการอ่าน ทำให้การเรียนต่างๆ เกิดขึ้นได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งนี้เป็นผลพ่วงมาจากการที่นักเรียนไม่มีความพร้อม ด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการเรียนออนไลน์ ดังนั้น ครูและผู้บริหารโรงเรียนได้ประชุม หารือ PLC ร่วมกัน เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาการเรียนรู้ที่ถดถอยของนักเรียน โดยการใช้กล่อง Learning Box ในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ และจัดหารูปแบบกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งจะพิจารณาถึงขั้นตอนของการดำเนินงานที่จะให้นักเรียนทำอย่างไรได้บ้าง
โดยครูจะทำการวิเคราะห์หน่วยการเรียนรู้ในแต่ละรายวิชาที่มีความจำเป็นและเป็นตัวชี้วัดที่นักเรียนต้องรู้ เพื่อนำมาออกแบบกระบวนการจัดการเรียนการสอน โดยครูจะร่วมกันทำงานในการจัดทำ Booklet ซึ่งประกอบไปด้วย ใบความรู้ ใบงาน แบบประเมินการเรียนรู้ของนักเรียนและผู้ปกครอง ทั้งนี้ การประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน โรงเรียนจะประเมินใน 3 ส่วนหลักๆ คือ การประเมินตามสภาพจริงโดยให้นักเรียนประเมินตนเอง ผู้ปกครองประเมินนักเรียน และครูประจำวิชาประเมินผลงานนักเรียนว่ามีการพัฒนาในการเรียนรู้อย่างไร
หลังจากวางแผนเตรียมการเรียบร้อยแล้ว โรงเรียนดำเนินการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ตามตัวชี้วัดต่างๆ ที่นักเรียนต้องรู้ให้พร้อมมากที่สุดลงในกล่อง และทำการนัดหมายนักเรียนมารับกล่องที่โรงเรียนหรือจัดส่งที่บ้าน กรณีที่นักเรียนไม่ทราบวิธีการใช้กล่อง Learning Box ครูจะทำหน้าที่เป็นโค้ชให้กับนักเรียนและผู้ปกครองผู้ที่ใกล้ชิดกับนักเรียนและจะต้องกลายมาเป็นครูช่วยสอนนักเรียนที่บ้าน ถือได้ว่า ผู้ปกครองเป็นผู้ที่ลดช่องว่าง หรือ GAP ที่เกิดจากโควิด-19 ได้เป็นอย่างมาก หลังจากที่นักเรียนได้ปฏิบัติแล้ว ครูมีหน้าที่ในการติดตามการทำกิจกรรมของนักเรียน โดยการลงพื้นที่เข้าสำรวจการทำกิจกรรมของนักเรียนที่บ้านว่านักเรียนสามารถทำกิจกรรมจาก Booklet ได้ครบถ้วนหรือไม่ หรือเกิดปัญหาอย่างไร และจากการดำเนินงานก่อให้เกิดเป็นผลงานของนักเรียนซึ่งถือได้ว่า เป็นนวัตกรรมจากการเรียนรู้ของนักเรียนและเป็นสื่อในการจัดการเรียนการสอนในแต่ละวิชาได้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนและยังได้องค์ความรู้แบบฝังลึกนอกจากการอ่านแล้วนักเรียนยังได้ลงมือปฏิบัติอีกด้วย
สำหรับหน่วยการเรียนรู้อื่นๆ ทางโรงเรียนได้ให้ครูร่วมกันวางแผนในการจัดกิจกรรมต่างๆ ในหน่วยต่างๆ เพิ่มเติมในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ มีการใช้สื่อหรือนวัตกรรมอะไรที่จะช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้มากขึ้น ทั้งนี้ โรงเรียนได้เพิ่มพื้นที่ Makerspace ให้กับนักเรียน โดยการจัดห้องให้นักเรียนได้ใช้ความรู้หรือความสนใจในการทำกิจกรรม
ผลตอบรับจากการทำกิจกรรมของนักเรียน คือ นักเรียนให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม รู้สึกสนุกที่ได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองและมีความสุขกับการเรียนรู้โดยใช้กล่อง Learning Box มากกว่าการเรียนแบบออนไลน์ ในส่วนผลตอบรับจากผู้ปกครอง พบว่า ผู้ปกครองร้อยละ 90 พึงพอใจกับการจัดการเรียนรู้โดยใช้กล่อง Learning Box กิจกรรมในกล่อง Learning Box เป็นกิจกรรมที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตในการเรียน และผู้ปกครองสามารถช่วยสอนนักเรียนในเวลาว่าง ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา สำหรับข้อเสนอแนะทั้ง 3 ฝ่ายจากการเรียนรู้ผ่านกล่อง Learning Box พบว่า ด้านนักเรียนต้องการให้กล่อง Learning Box มีวัสดุอุปกรณ์ที่หลากหลาย ซึ่งโรงเรียนได้ทำการหารือร่วมกันในการสรรหางบประมาณในการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์เพิ่มเติม ด้านครูเพิ่มการบูรณาการในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ให้มีความหลากหลาย เพื่อให้สามารถประเมินผลการเรียนรู้ได้ครบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และด้านผู้ปกครองต้องการให้ลดการเรียนรู้แบบออนไลน์และเพิ่มกิจกรรมที่เน้นปฏิบัติให้หลากหลายมากขึ้น
โรงเรียนได้มีแผนในการการเพิ่มช่องทางของกล่อง Learning Box ให้มากขึ้น ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสาระวิชา เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงในรูปแบบ Active Learning ให้มากที่สุด เพื่อลด GAP หรือช่องว่างที่เกิดจากวิกฤติโควิด-19ให้ลดน้อยลงที่สุด
นายชำนาญ สังข์ทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดศิลามูล จ.นครปฐม
บทความใกล้เคียง
Related Courses
การออกแบบกล่องเพื่อการเรียนรู้ (Learning Box)
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...
การวางแผนโรงเรียนทั้งระบบ
ในการระบาดของโรคโควิด- 19 ทำให้ไม่สามารถเปิดเรียนแบบปกติได้จึงต้องมีการวางแผนโรงเรียนทั้งระบบ เพื่อช่วยฟื้นฟูการเรียน ...
การพัฒนาทักษะการอ่าน
หนังสือเปรียบเสมือนคลัง ที่รวบรวมเรื่องราวความรู้ต่างๆ มากมาย การพัฒนาทักษะและส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านจึงมีความสำคัญเป็น ...
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...