5 วิธี สอนลูกบริหารเงินออม ให้เงินทำงานตั้งแต่วัยเรียน
เมื่อพูดถึงการบริหารเงินออม หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และเป็นเรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น ความจริงแล้ว พ่อแม่สามารถสอนให้ลูกๆ รู้จักวางแผนการเงินได้ โดยเฉพาะเมื่อลูกก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เด็กบางคนมีอาชีพเสริม สร้างรายได้ด้วยตัวเอง การสอนให้ลูกวางแผนเงินออม จึงถือป็นพื้นฐานการฝึกวินัยทางการเงินที่ดี ช่วยให้ลูกสามารถจัดการวางแผนการใช้เงินได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น
เริ่มต้นง่ายๆ สอนลูกออมเงิน
การสอนลูกให้รู้จักออมเงินนั้นเริ่มต้นได้ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ ด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดี ทำให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่มีวินัยทางการเงิน มีการวางแผน อดออม และใช้เงินอย่างรู้คุณค่า เมื่อลูกเริ่มมีค่าขนม อาจสอนให้ลูกแบ่งเงินที่ได้ มาเป็นเงินออม หรือเมื่อลูกต้องการซื้อสิ่งของมีราคา อาจสอนให้ลูกเก็บเงินเอง เพื่อให้เด็กๆ รู้คุณค่าของเงินว่าต้องแลกมาด้วยอะไรบางอย่างเสมอ
นอกจากนี้ สำหรับเด็กโตควรฝึกให้ลูกบริหารรายรับรายจ่ายของตัวเอง ด้วยการให้เงินเป็นรายเดือน เพื่อให้ลูกวางแผนใช้เงินให้พอภายใน 1 เดือนนั้น อาจสอนให้ลูกทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อดูว่าในแต่ละเดือนใช้เงินกับอะไรมากที่สุด และจะปรับเปลี่ยนเพื่อให้มีเงินออมมากขึ้นได้หรือไม่อย่างไร
การพาลูกเปิดบัญชีธนาคาร ก็เป็นวิธีเริ่มต้นบริหารการเงินที่ดี ยิ่งหากลูกทำอาชีพเสริมในวัยเรียน เมื่อได้ค่าตอบแทน อาจแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปฝากธนาคารเพื่อเป็นเงินเก็บ โดยพ่อแม่ควรสอนให้ลูกเปรียบเทียบดอกเบี้ยของบัญชีเงินฝากแต่ละประเภท แต่ละธนาคาร แล้วเลือกว่าบัญชีแบบใด ธนาคารใดให้ผลตอบแทนดีกว่ากัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นการวางแผนการเงินสำหรับอนาคตได้
5 วิธีสอนลูกเก็บเงินเพื่อลงทุนได้อย่างไร
เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ลูกอาจมีรายได้จากการทำอาชีพเสริมวัยเรียน เงินนี้ ถือเป็นเงินก้อนแรกๆ ในชีวิตของลูก ที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง ควรสอนลูกให้วางแผนเก็บเงินอย่างมีประสิทธิภาพ
หากเป็นไปได้ควรนำเงินไปต่อยอดสร้างรายได้ ซึ่งวิธีออมเงินเพื่อการลงทุน หรือต่อยอดสร้างรายได้ที่พ่อแม่สามารถสอนลูกได้ มีดังนี้
1. สอนบันทึกรายรับรายจ่าย
การบันทึกรายรับรายจ่าย เป็นวิธีเบื้องต้นที่ง่ายที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องการวางแผนทางการเงิน โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ ที่อาจเผลอใช้จ่ายโดยไม่รู้ตัว การจดบันทึกว่าใช้เงินไปกับอะไรบ้าง จะช่วยให้เราสามารถกลับมาทบทวนและประเมินตัวเองได้ว่า เราใช้เงินไปกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไปหรือไม่ ยิ่งปัจจุบันนี้มีแอปพลิเคชันสำหรับบันทึกรายรับรายจ่าย ก็ช่วยทำให้การจดบันทึกทำได้ง่ายขึ้น
2. แบ่งประเภทรายรับรายจ่าย
นอกจากการจดบันทึกแล้ว ควรสอนให้ลูกแบ่งประเภทรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือน โดยเริ่มจากดูว่ามีรายรับทางใดบ้าง เช่น รายรับจากพ่อแม่ รายรับจากอาชีพเสริม สำหรับรายจ่าย สอนให้ลูกรู้ว่า ในแต่ละเดือน พ่อแม่จะมีรายจ่ายประจำ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และรายจ่ายไม่ประจำ เช่น รายจ่ายเพื่อความบันเทิงต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เด็กๆ มักยังไม่มีรายจ่ายประจำ เพราะพ่อแม่ช่วยรับผิดชอบอยู่ แต่หากลูกมีรายได้มากพอ พ่อแม่อาจให้ลูกลองรับผิดชอบจ่ายค่าโทรศัพท์มือถือของตัวเองในแต่ละเดือน เพื่อฝึกวางแผนการเงินให้ลูกได้รู้ว่ารายรับกับรายจ่ายของตัวเองสัมพันธ์กันหรือไม่อย่างไร
3. วางแผนออมเงิน
เมื่อรู้ว่าแต่ละเดือนมีรายรับ รายจ่าย หักลบกันเหลือเงินเท่าไร ก็ควรเริ่มวางแผนออมเงิน โดยอาจออมเงิน 10% ของรายรับแต่ละเดือน เช่น หากได้เงินจากพ่อแม่เดือนละ 3,000 บาท และมีเงินจากรายได้เสริมอีก 2,000 บาท ก็ควรออมเงินอย่างน้อย 500 บาท โดยอาจเลือกฝากบัญชีธนาคารแบบฝากประจำเพราะได้ผลตอบแทนสูงกว่า สอนให้ลูกพยายามฝากเงินให้ครบตามกำหนด เพื่อนำเงินมาลงทุนในขั้นต่อไป
4. วางแผนสำรอง
สอนให้ลูกเข้าใจว่าชีวิตมีสิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ หากลูกมีรายได้แค่ทางเดียว แล้วมีเหตุฉุกเฉินทำให้ขาดรายได้ ก็อาจประสบปัญหาทางการเงินได้ ดังนั้น ควรหาช่องทางเพิ่มรายได้ หรือแบ่งเงินอีกส่วนหนึ่งเพื่อทำประกันชีวิตหรือประกันอุบัติเหตุิด้วย
5. หาช่องทางลงทุน
เมื่อลูกออมเงินในบัญชีเงินฝากประจำครบระยะที่กำหนด ทำให้มีเงินก้อนหนึ่งที่สามารถนำมาต่อยอดเพื่อลงทุนได้ ปัจจุบันมีช่องทางการลงทุนที่หลากหลาย เช่น กองทุนรวม หุ้น ทองคำ ซึ่งการลงทุนในกองทุนรวมบางชนิด แม้จะมีความเสี่ยง แต่ก็มีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น ลองศึกษาข้อมูลกองทุนหลายๆ ประเภท หรือกระจายความเสี่ยงไปหลายๆ กองทุน แต่ทั้งนี้ ก่อนที่ลูกจะลงทุนอะไร พ่อแม่ควรแนะนำลูกว่าต้องมั่นใจและเข้าใจประเภทการลงทุนอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น หากรู้สึกยังไม่มั่นใจ ยังไม่รู้อย่างแท้จริง อาจนำเงินเก็บมาลงทุนในการพัฒนาตนเอง หาหนังสือมาอ่าน สมัครคอร์สเรียนเกี่ยวกับการออมเงินหรือการลงทุนสำหรับผู้เริ่มต้นในสถาบันที่เชื่อถือได้ก็ถือเป็นการลงทุนระยะยาวที่ได้ความรู้ติดตัวตลอดไป
นอกจากนี้ ยังมีกระแสการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล อย่างคริปโตเคอร์เรนซี่ ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก การศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องสกุลเงินดิจิทัลรวมทั้งการลงทุนในคริปโตฯ ก็อาจมีประโยชน์ในอนาคต แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง จึงต้องใช้ความระมัดระวัง และค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะอยู่ในโลกยุคใหม่แต่บางครั้งการถือคติว่าช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม ก็อาจปลอดภัยกว่าการยึดคติว่าเก่งไม่กลัวแต่กลัวช้า เพราะไม่อย่างนั้นอาจสูญเสียอย่างน่าเสียดาย
Related Courses
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
สิ่งเล็กๆที่สร้างลูกคุณ
การจะเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยากเสมอไป ลูกๆ ต้องการแค่แบบอย่างที่ดี เพราะพ่อแม่คือต้นแบบในการดำเนินชี ...
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...