สิทธิเหนือร่างกาย สอนลูกง่ายๆ ได้อย่างไร
ข่าวคราวเด็กๆ ถูกล่วงละเมิดจากผู้ใหญ่ที่ควรไว้ใจได้ มีมาให้ได้ยินไม่ขาดระยะ จนน่าจะทำให้คนเป็นพ่อแม่เกิดความวิตกกังวลใจไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อผู้กระทำนั้น เป็นผู้ที่เด็กๆ มักรู้สึกว่าพวกเขามี “อำนาจเหนือกว่า” ไม่ว่าจะเป็นครู หรือญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิด สิ่งเดียวที่จะป้องกันเรื่องร้ายๆ เหล่านี้ได้ คือ การสอนให้เด็กๆ รู้ว่าพวกเขามีสิทธิเหนือร่างกายของตนเอง และไม่ว่าใคร ไม่ว่าจะมีอำนาจขนาดไหนก็ไม่สามารถละเมิดร่างกายของเราได้
ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นเรื่องยากนะคะ แต่เราสามารถสอนเรื่องนี้ได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวันค่ะ ลองดูนะคะ
เคารพคำพูดของลูก
บางทีผู้ใหญ่อย่างเราๆ ในฐานะที่เป็นคนดูแลเด็กๆ ก็มักจะลืมว่า เด็กๆ ก็มีชิวิตจิตใจ และมีความคิดเป็นของตัวเอง ในช่วงขวบปีแรกๆ เราอาจอุ้ม กอด หอม ได้ตามต้องการ แต่เมื่อเด็กๆ เริ่มโตและรู้เรื่องมากขึ้น การกอด หอมหรือใกล้ชิดมากเกินไปอาจทำให้เด็กๆ รู้สึกอึดอัด ไม่ต่างจากตัวเรา หากนั่งอยู่ดีๆ มีใครก็ไม่รู้มากอด เราก็คงไม่โอเค ดังนั้น เมื่อเด็กเริ่มสื่อสารได้ พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรขออนุญาตเด็กๆ ก่อนจะกอดหรือหอม อาจฟังดูเหมือนเว่อร์นะคะ แต่การทำอย่างนี้ จะช่วยให้เด็กๆ รู้ว่าพวกเขามีสิทธิในร่างกายของตนเอง ที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ วิธีพูดก็ไม่ต้องเป็นทางการค่ะ แค่สั้นๆ ว่า “แม่ขอหอมหน่อยนะ” ถ้าลูกโอเคก็หอม หรือถ้าลูกบอกว่าไม่ หรือบิดตัวหนี ก็อย่าโกรธ และอย่าพูดทำนองว่า “ไม่รักแม่แล้วเหรอ” ขอให้ฟังและเคารพคำพูดของลูก เพื่อให้พวกเขาเรียนรู้ว่า การปฏิเสธเป็นเรื่องที่ทำได้ และร่างกายของฉันเป็นสิทธิของฉัน ไม่เกี่ยวว่ารักหรือไม่รัก ซึ่งจะช่วยป้องกันเด็กๆ จากการถูกล่วงละเมิดได้มากทีเดียว
ไม่บังคับลูกให้กอดหรือหอมใคร
เมื่อมีญาติผู้ใหญ่ หรือเพื่อนๆ มาหาที่บ้าน พวกเขาอาจอยากกอดหรือหอมหลานให้หายคิดถึง สิ่งที่ควรทำคือ ขออนุญาตเด็กๆ ก่อนทุกครั้งค่ะ หากเด็กไม่สะดวกใจ ก็ไม่ควรบังคับ พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรพร้อมที่จะแสดงความปกป้องลูก แทนที่จะรู้สึกเสียหน้า เมื่อถูกวิจารณ์ว่าทำไมลูกเล่นตัวจัง ฯลฯ อาจชี้แจงให้ญาติหรือเพื่อนๆ เข้าใจว่า นี่เป็นกฎของบ้าน ตัวคุณเองก็ต้องขออนุญาตลูกเหมือนกัน หรือหากจำเป็น อาจใช้วิธีบอกว่าลูกไม่ค่อยสบาย อยากให้อยู่ห่างๆ ไปก่อน การแสดงให้เด็กๆ เห็นว่าคุณปกป้องเขาได้ ก็จะเพิ่มความไว้วางใจ เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นเด็กๆ ก็จะกล้าเล่าให้เราฟัง
อธิบายถึงพื้นที่ต้องห้าม
เด็กๆ ควรรู้ว่าบริเวณของร่างกายที่มีเสื้อผ้าปกปิด คือพื้นที่ต้องห้าม ไม่ให้ใครสัมผัส และไม่ควรสัมผัสของคนอื่นเช่นกัน หากไม่รู้จะเริ่มสอนอย่างไร อาจชวนลูกเล่นระบายสีภาพต่างๆ ที่เด็กๆ มีความสนใจ เช่น บาร์บี้ เจ้าหญิง ตำรวจ พนักงานดับเพลิง ฯลฯ และชวนคุยว่า บริเวณใต้เสื้อผ้าเหล่านี้ เป็นพื้นที่ส่วนตัว ห้ามไม่ให้ใครแตะต้องเด็ดขาด หากมีใครละเมิดต้องบอกพ่อหรือแม่ทันที สอนเด็กๆ ว่าหากมีใครกระทำสิ่งเหล่านี้ แล้วบอกหรือขู่เด็กๆ ว่าห้ามบอกผู้ใหญ่ แม้ว่าพวกเขาจะให้เหตุผลต่างๆ นานา แต่สิ่งนั้นไม่ถูกต้อง เด็กๆ จำเป็นต้องบอกพ่อแม่หรือคนที่ไว้ใจให้รับรู้เรื่องราวโดยเร็วที่สุด
รับฟัง ไม่ตัดสิน
เด็กๆ จะกล้าเล่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตให้เราฟัง หากผู้ใหญ่ตั้งใจฟังและไม่ตัดสินการกระทำของพวกเขา ดังนั้น ในแต่ละวันควรหาเวลาถามไถ่ความเป็นไปในชีวิตของเด็กๆ เมื่อพวกเขาเล่าอะไรให้ฟัง ก็ควรฟังอย่างตั้งใจ วางมือสิ่งที่กำลังทำ และหันไปคุย ให้เด็กๆ เห็นว่าเราสนใจพวกเขาจริงๆ อย่าตัดสินการกระทำหรือเรื่องราวต่างๆ แค่ฟังและอาจถามคำถามบ้าง บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่เคยชินที่จะให้คำแนะนำก่อนที่เด็กๆ จะร้องขอ ควรระมัดระวังในข้อนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวัยรุ่น เพราะพวกเขาอาจรู้สึกว่ากำลังถูกสอนอยู่ตลอดเวลา จนไม่อยากเล่าอะไรให้เราฟังอีก เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองแสดงให้เด็กๆ เห็นว่าคุณพร้อมจะรับฟังทุกเรื่องราวอย่างไม่ตัดสิน คุณก็จะเป็นคนแรกที่พวกเขานึกถึงเมื่อต้องการคำปรึกษาเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นในชีวิต
Tips & Tricks ชวนเรื่องคุยเรื่องยากอย่างง่ายๆ
ในชีวิตประจำวันเราคงไม่พูดคุยถึงการล่วงละเมิดทางเพศบ่อยนัก ยิ่งหากเราต้องเป็นผู้เปิดประเด็นเพื่อสอนและสร้างความเข้าใจให้เด็กๆ ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ต้องห่วงค่ะ เรามี tricks ที่จะทำให้การคุยเรื่องนี้กับเด็กๆ ไม่ยากจนเกินไปมากฝากกัน
- ควบคุมสติให้ดี แสดงอาการสงบและมั่นคงตลอดการสนทนา หากคุณตื่นตระหนก เด็กๆ อาจคิดว่ามีบางอย่างผิดปกติเกี่ยวกับตัวเขาหรือตัวคุณ ซึ่งอาจทำให้ความน่าเชื่อถือของคุณลดลงได้
- ถามเด็กๆ ว่าเคยได้ยินคำว่า ล่วงละเมิดทางเพศ หรือไม่ หากเด็กๆ ตอบว่าเคยได้ยิน ถามต่อว่า รู้ไหมว่าหมายความว่าอย่างไร เตรียมพร้อมรับคำตอบให้ดี เพราะเด็กๆ อาจรู้และเข้าใจเรื่องนี้มากกว่าที่คุณคิด
- ไม่ว่าคำตอบของเด็กๆ จะเป็นอย่างไร คุณจำเป็นต้องอธิบายสองสิ่งนี้ให้พวกเขาฟัง เรื่องแรกคือ คุณพร้อมและเปิดใจรับฟังเรื่องเหล่านี้เสมอหากลูกต้องการคำปรึกษา และสอง คุณให้ความสำคัญการที่แต่ละคนปฏิบัติต่อกันอย่างเคารพและให้เกียรติ
- อาจใช้ประเด็นเรื่องการบูลลี่ เพื่อเปิดบทสนทนา เด็กส่วนใหญ่เข้าใจความหมายของการบูลลี่ อาจยกตัวอย่างว่าการล่วงละเมิดก็คือการบูลลี่รูปแบบหนึ่ง
- อาจใช้ประโยคเหล่านี้เพื่อพูดคุยกับเด็กๆ ได้ค่ะ “การล่วงละเมิดทางเพศ ก็คล้ายๆ กับการบูลลี่ ที่ผู้กระทำแสดงความคิดเห็นเชิงลบเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตา เสื้อผ้า หรืออวัยวะต่างๆ จนทำให้ผู้ที่ถูกกระทำรู้สึกอับอาย โกรธ หรือเสียใจ บางครั้งผู้ละเมิดก็สัมผัสอวัยวะส่วนตัวของผู้ถูกละเมิด โดยที่ผู้ถูกละเมิดไม่เต็มใจ ซึ่งการกระทำนี้ไม่ถูกต้อง หากเกิดขึ้นลูกต้องบอกแม่ แม่จะไม่ตำหนิหรือทำโทษแต่แม่จะช่วยเหลือลูกอย่างเต็มที่”
- คุณอาจกลัวว่าสิ่งที่คุณคุย จะทำให้เด็กๆ กังวลหรือเปล่า ในทางกลับกันลองคิดว่าจะน่ากลัวกว่าไหม หากเด็กๆ ไม่รู้ความหมายของสิ่งเหล่านี้แล้วไปคิดหาคำตอบเอาเอง
สุดท้ายแล้ว การพูดคุยเรื่องนี้กับเด็กๆ ตั้งแต่เนิ่นๆ จะยิ่งทำให้การคุยประเด็นอื่นๆ ในชีวิตง่ายขึ้นด้วย การที่คุณเปิดใจกับลูก รับฟังโดยไม่ตัดสิน จะช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและเด็กๆ ก็จะนึกถึงคุณเป็นที่พึ่งคนแรก เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในชีวิต
Related Courses
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
สิ่งเล็กๆที่สร้างลูกคุณ
การจะเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยากเสมอไป ลูกๆ ต้องการแค่แบบอย่างที่ดี เพราะพ่อแม่คือต้นแบบในการดำเนินชี ...
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...
การซ่อมแซมของใช้ในชีวิตประจำวัน
อุปกรณ์ของใช้ในบ้านเมื่อใช้ไประยะหนึ่งอาจชำรุดเสียหายได้ ถ้าเรารู้จักวิธีซ่อมแซมจะทำให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกซึ่งเป็นการประหยั ...