เหยื่อการถูกลวนลามออนไลน์ แม่ๆต้องสอนลูกสาวให้รู้ตัวและไหวตัวทัน
ขณะที่โลกกำลังตื่นเต้นกับการก้าวเข้าสู่ยุค Metaverse เมื่อบริษัทโซเชียล เน็ตเวิร์ก ยักษ์ใหญ่อย่างเฟสบุ๊คส์ โดยมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคโลกเสมือนจริงอย่างเต็มตัว แต่กระนั้น แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกล แต่จิตใจของมนุษย์บางกลุ่มก็ยังเปรียบเสมือนหลุมดำ ที่คอยจ้องหาโอกาสใช้เทคโนโลยี ทำร้ายผู้คน โดย
เฉพาะเด็กๆ ผู้เยาว์ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำให้พาลตกเป็นเหยื่อ สิ่งที่พ่อแม่ยุคนี้ต้องระวังจึงไม่ใช่เพียงแค่ภัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในชีวิตจริงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภัยคุกคามที่มาในโลกออนไลน์ โดยที่เราอาจไม่เคยพบเจอคนร้ายเลยก็ตาม
แบบไหนจัดเป็นภัยคุกคามทางเพศ
ภัยคุกคามทางเพศ (Sexual Harrasment) หมายถึง การกระทำที่มีเจตนาไม่ดีต่อบุคคลอื่นในทางเพศโดยอีกฝ่ายไม่ยินยอม ซึ่งการคุกคามทางเพศอาจแสดงออกได้หลายทาง ได้แก่
ทางคำพูด เช่น พูดเกี่ยวกับเรื่องเพศ ล่วงเกิน พูดถึงสัดส่วนของร่างกาย ซึ่งการใช้คำพูดคุกคามอาจมาในรูปแบบของการหยอกล้อ แซว หรือพูดล้อเล่นก็ได้
ทางสายตา เช่น การจ้องมองด้วยสายตาแทะโลม จ้องมองส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ผู้ถูกมองรู้สึกอึดอัดใจ
ทางการสัมผัสร่างกาย เช่น การพยายามใกล้ชิดโดยไม่จำเป็น โอบกอด แตะเนื้อต้องตัว เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันที่โซเชียลมีเดีย เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ภัยคุกคามทางเพศ อาจเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ได้ ผ่านการคอมเมนต์ด้วยข้อความอนาจาร วิจารณ์รูปร่างหน้าตา ส่วนต่างๆ ของร่างกาย พิมพ์ข้อความในเชิงส่อไปทางเพศ นำรูปภาพของผู้ที่ไม่ยินยอม ไปตัดต่อโดยไม่เหมาะสม รวมทั้งการแชร์หรือส่งภาพอนาจารของตนเองให้ผู้อื่น โดยที่ผู้รับไม่ได้ต้องการ ก็จัดเป็นภัยคุกคามทางเพศเช่นเดียวกัน
คนใกล้ตัว vs คนแปลกหน้า ที่มาของความเสี่ยง
ภัยคุกคามทางเพศในยุคนี้ เกิดขึ้นได้แม้จะไม่เคยพบกันเลยก็ตาม กระนั้น ข้อมูลจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้ทำการรวบรวมข่าวการละเมิดทางเพศ พบว่า 45.9% เกิดขึ้นจากคนแปลกหน้า คนที่ไม่รู้จักกัน ขณะที่ 45.6% เกิดจากคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นครู เพื่อน หรือกระทั่งคนในครอบครัว และอีก 8.5% เกิดขึ้นจากคนที่รู้จักกันผ่านโซเชียล มีเดีย
จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นว่า ระหว่างคนแปลกหน้ากับคนใกล้ตัว มีเปอร์เซ็นต์การก่อเหตุคุกคามทางเพศใกล้เคียงกันมาก ต่างกันแค่เพียง 0.3% เท่านั้น การป้องกันลูกหลาน จึงไม่เพียงสอนให้ระวังคนแปลกหน้าเท่านั้น แต่อาจหมายถึงการ “ระวังทุกคน” ผ่านการสังเกตและสัญชาตญาณ
สอนลูกอย่างไรระวังภัยคุกคาม
การสอนลูกระวังภัยคุกคามทางเพศ สามารถสอนด้วยการสอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวัน และการปฏิบัติตัวของพ่อแม่ต่อเด็กๆ ก็มีส่วนช่วยให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับพื้นที่ส่วนตัวในร่างกายได้ด้วย ลองมาดูวิธีที่ใช้สอนเด็กๆ กันค่ะ
- เรียกชื่ออวัยวะให้เหมาะสม สอนให้ลูกรู้จักชื่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกายทำได้ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ รวมถึงอวัยวะที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่น จู๋ จิ๋ม ก้น หน้าอก หัวนม นม ทั้งนี้ควรใช้คำง่ายๆ เพื่อให้ลูกสื่อสารกับพ่อแม่ได้ เมื่อเกิดสิ่งที่ไม่ปกติกับร่างกายของลูก ไม่ควรใช้คำเรียกเฉพาะที่คนอื่นไม่เข้าใจเพราะอาจทำให้เกิดความสับสน เมื่อต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น
- เคารพร่างกายของลูก แม้พ่อแม่จะเป็นผู้ให้กำเนิด แต่พ่อแม่ไม่ได้มีสิทธิเหนือร่างกายของลูก ก่อนกอด หอม หรือสัมผัสตัวลูก ควรขอนุญาตเด็กๆ ก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่า ร่างกายของเขา เขามีสิทธิตัดสินใจอนุญาตหรือไม่ก็ได้ หากเด็กๆปฏิเสธ ควรเคารพและไม่ถือมาเป็นเรื่องขุ่นข้องหมองใจ เพราะเมื่อไรที่ลูกรู้สึกสบายใจกับเราพวกเขาก็จะเข้ามากอดมาหอมเราเอง รวมถึงไม่บังคับให้ลูกกอด หอม คนอื่นๆ แม้กระทั่งคนในครอบครัวหากลูกไม่ต้องการ
- พื้นที่ต้องห้าม สอนลูกว่าพื้นที่ภายในร่มผ้า บริเวณที่เสื้อผ้าปกปิด เป็นพื้นที่ส่วนตัวต้องห้าม ไม่ควรเปิดเผยให้ใครและและห้ามไม่ให้ใครสัมผัส หากมีใครสัมผัส ขอดู ขอถ่ายรูป หรือมีใครมาให้ลูกจับหรือให้ดูบริเวณพื้นที่ต้องห้าม ต้องปฏิเสธ หนีออกมาให้ไกล และบอกพ่อแม่ทันที
- แยกแยะสัมผัสที่ปลอดภัย สำหรับเด็กๆ ที่ยังไม่เข้าสู่วัยรุ่น อาจมีบางครั้งที่พ่อแม่ต้องช่วยเหลือดูแลร่างกาย เช่น อาบน้ำ ล้างก้น บอกให้เด็กๆ เข้าใจว่า พ่อแม่หรือผู้ดูแลหลัก จะสัมผัสร่างกายเมื่อมีเหตุผลจำเป็นเท่านั้น หากเป็นคนอื่นนอกเหนือจากคนที่เคยดูแล มาขอสัมผัสไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตามต้องบอกพ่อแม่ก่อนทุกครั้ง
ลวนลามออนไลน์ เรื่องที่พ่อแม่ยุคใหม่ต้องระวัง
การคุกคามทางเพศออนไลน์ (Online Sexaul Harrasment) คือ การกระทำใด ๆ ในโลกออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศต่อคนอื่น ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าถูกละเมิด หรือผู้ถูกกระทำ ไม่ต้องการ ไม่ยินยอม และส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้ถูกกระทำ
โดยการคุกคามทางเพศออนไลน์ อาจมีทั้งรูปแบบเป็นข้อความ เช่น คอมเม้นต์ หรือส่งข้อความในเชิงคุกคามทางเพศ หรือเป็นการแซว ล้อเล่น แต่ส่อไปในทางเพศ การใช้ Emoji ปิดบนรูปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย แล้วโพสต์หรือส่งต่อ หรือการสื่อสารโดยตรง เช่น ส่งอีเมล์คลิปอนาจาร ข้อความไม่เหมาะสมให้กับผู้รับโดยที่ผู้รับไม่ได้ต้องการ
ทั้งนี้มักพบว่า การคุกคามทางเพศออนไลน์ กับ การคุกคามทางเพศในโลกจริงมีจุดเชื่อมโยงกัน เช่น การคุกคามที่เกิดขึ้นในบ้าน ในโรงเรียน อาจมีการส่งคลิปต่อในโลกออนไลน์ หรือการคุกคามออนไลน์ เช่น การนำภาพของเหยื่อไปตัดต่อ อาจส่งผลกระทบต่อเหยื่อในชีวิตจริง เป็นต้น
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเพื่อปกป้องลูกจากภัยคุกคามทางเพศออนไลน์คือ สอนให้ลูกป้องกันตนเองในโลกออนไลน์เบื้องต้น เช่น ไม่ส่งรูปภาพให้คนที่ไม่รู้จักหรือเพิ่งรู้จักกัน หรือหากมีใครส่งรูปภาพหรือข้อความที่ไม่เหมาะสม ควรบอกให้พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ไว้ใจทราบ สิ่งสำคัญคือ สอนให้ลูกเชื่อสัญชาตญาณของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารออนไลน์ หรือการพบเจอคนในชีวิตจริง หากรู้สึกอึดอัด แปลกๆ ไม่สบายใจ ควรพาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้น ไม่ต้องกลัวเสียมารยาท หรือกลัวถูกทำโทษ หากเกิดขึ้นออนไลน์ควรบล๊อคและเลิกติดต่อกับคนๆ นั้น เน้นย้ำกับลูกว่าความปลอดภัยของลูกสำคัญที่สุด
อย่างไรก็ตาม การคุกคามออนไลน์อาจเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดในชีวิตจริง กรณีลูกวัยรุ่น มีความสัมพันธ์กับแฟนโดยสมัครใจแต่ถูกนำคลิปไปเผยแพร่ออนไลน์ พ่อแม่ควรสอนลูกให้ระวังตัว ด้วยการไม่ถ่ายคลิปหรือภาพถ่ายที่อาจถูกนำไปใช้สร้างความเสียหายในอนาคตได้ แม้ว่าอีกฝ่ายจะอ้างอย่างไร ก็ไม่ควรยินยอมและไม่ควรไว้ใจ เพราะรูปภาพและคลิปต่างๆ อาจกลายเป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายไปตลอดชีวิตของลูกได้
นอกจากนี้ พ่อแม่ควรสังเกตความเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมของลูก กรณีที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ อาจมีร่องรอยฟกช้ำตามร่างกาย มีอาการหวาดกลัว ตกใจง่าย นอนไม่หลับ เก็บตัว พูดน้อยลง เหม่อ ซึมเศร้า มีความหวาดระแวงคนแปลกหน้าหรือกลุ่มคนมากกว่าปกติ กลัวสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ซึ่งอาจเป็นสถานที่ที่ถูกทำร้าย เช่น โรงเรียน ห้องน้ำ ฯลฯ หากพบว่าลูกมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ควรพูดคุยซักถามลูกอย่างใจเย็น ไม่ตำหนิ คาดคั้น เพื่อหาทางออกร่วมกัน
สุดท้าย พ่อแม่อาจต้องปรับทัศนคติว่า เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องต้องห้าม แต่เป็นเรื่องที่สามารถพูดคุยกันด้วยตามหลักความเป็นจริงและด้วยเหตุผล เพื่อสอนให้ลูกรู้จักป้องกันตนเองจากภัยคุกคามรอบตัว
Related Courses
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
การซ่อมแซมของใช้ในชีวิตประจำวัน
อุปกรณ์ของใช้ในบ้านเมื่อใช้ไประยะหนึ่งอาจชำรุดเสียหายได้ ถ้าเรารู้จักวิธีซ่อมแซมจะทำให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกซึ่งเป็นการประหยั ...
พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร
เรียนรู้ความสำคัญ ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย แนวทางการจัดประสบการณ์และการประเมินพัฒนาการด้านร่า ...