ทำความเข้าใจหลักสูตรฐานสมรรถนะ 6 ด้าน เตรียมพร้อมก่อนใช้งานจริง
มนุษย์ทุกคนล้วนมีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งแฝงอยู่ในตัวเอง ความสามารถแต่ละอย่างล้วนมีส่วนส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จในด้านนั้น ๆ หากได้รับการกระตุ้นหรือส่งเสริมอย่างเหมาะสม
แม้ว่าสำหรับหลายคนแล้ว ความสามารถด้านต่าง ๆ เช่น ภาษา ตรรกะ มนุษยสัมพันธ์ มิติสัมพันธ์ ฯลฯ มีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนและดูเป็นไปได้ยากที่คน ๆ หนึ่งจะถนัดหลายด้าน (เช่น เก่งทั้งภาษาและคณิตศาสตร์ เป็นต้น) แต่สิ่งที่ความสามารถเหล่านี้มีร่วมกันอย่างหนึ่งก็คือเฉพาะตัวความสามารถเองไม่อาจทำให้มนุษย์สร้างผลงานที่โดดเด่นในด้านนั้น ๆ ได้ หากผู้ที่มีความสามารถขาดคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมหรือที่เรียกว่าการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ ทักษะหรือความสามารถ และคุณลักษณะอื่นเพื่อส่งเสริมความสามารถดังกล่าว คุณลักษณะเชิงพฤติกรรมนี้เรียกว่า “สมรรถนะ”
“หลักสูตรฐานสมรรถนะ” ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของโรงเรียนรัฐบาลส่วนใหญ่ในประเทศไทย คือหลักสูตรแกนกลางของการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อนุบาล 1 - มัธยมศึกษาปีที่ 6) ที่มุ่งเน้นการวัดผลแบบสมรรถนะหรือการประยุกต์ใช้สิ่งที่ผู้เรียนได้เรียนรู้แทนการท่องจำเนื้อหา โดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หลักสูตรฐานสมรรถนะนี้จะเริ่มโครงการนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใน 8 จังหวัดนำร่อง ครอบคลุม 265 โรงเรียนในสังกัดต่าง ๆ ในปี 2565 และจะใช้อย่างเป็นทางการในทุกโรงเรียนในปี 2567
หลักสูตรฐานสมรรถนะ 2565 ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ให้ผู้เรียนมีสมรรถนะหลัก 6 ด้าน ได้แก่
1. สมรรถนะการจัดการตนเอง
2. สมรรถนะการคิดขั้นสูง
3. สมรรถนะการสื่อสาร
4. สมรรถนะการรวมพลังทำงานเป็นทีม
5. สมรรถนะการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และ
6. สมรรถนะการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน
โดยสมรรถนะหลักเหล่านี้มีลักษณะไม่ขึ้นกับเนื้อหาของศาสตร์ใด ๆ แต่มีองค์ความรู้เชิงกระบวนการที่อาจประยุกต์ใช้กับศาสตร์หนึ่งหรือบูรณาการเข้ากับหลายศาสตร์เป็นองค์ประกอบสำคัญ
1. สมรรถนะการจัดการตนเอง หมายถึง การที่ผู้เรียนรักและเห็นคุณค่าในมนุษย์ทุกคนรู้จักการพัฒนาสติปัญญา ตั้งเป้าหมายชีวิต กำกับตนเองให้รู้จักจัดการอารมณ์ ปัญหา และภาวะวิกฤต จนสามารถเข้าสู่สภาวะสมดุล (Resilience) เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย อีกทั้งยังมีสุขภาพแข็งแรงและความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น จากความหมายนี้อาจกล่าวได้ว่าสมรรถนะการจัดการตนเองมีอยู่ 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
1) การเห็นคุณค่าของมนุษย์
2)การมีเป้าหมายในชีวิต
3) การจัดการอารมณ์
4) การจัดการปัญหาและภาวะวิกฤต
2. สมรรถนะการคิดขั้นสูง หมายถึง การที่ผู้เรียนสามารถคิด วิเคราะห์สังเคราะห์ และตัดสินใจอย่างมีวิจารญาณโดยใช้เหตุผลอย่างรอบด้าน มีคุณธรรมกำกับการตัดสินใจ ใช้ความเป็นเหตุเป็นผลที่ตั้งอยู่บนความเข้าใจในความเชื่อมโยงของสิ่งต่าง ๆ ใช้จินตนาการ และความรู้สร้างทางเลือกใหม่เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้อย่างมีเป้าหมาย ด้วยเหตุนี้ สมรรถนะการคิดขั้นสูงจึงมี 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
1) การคิดอย่างมีวิจารณญาณ
2) การคิดเชิงระบบ
3) การคิดสร้างสรรค์
4) การคิดแก้ปัญหา
3. สมรรถนะการสื่อสาร หมายถึง การที่ผู้เรียนสามารถรับรู้ รับฟัง ตีความ และส่งสารด้วยภาษาต่าง ๆ ทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา โดยใช้กระบวนการคิด จนเกิดการเรียนรู้และความเข้าใจในระบบคุณค่าและการแก้ปัญหาร่วมกันผ่านการสื่อสารอย่างฉลาดรู้ สร้างสรรค์ มีพลัง และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้น สมรรถนะการสื่อสารจึงมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ
1) การรับสารอย่างมีสติและตีความเพื่อให้เกิดความเข้าใจ
2)การรับส่งสารบนพื้นฐานของความเข้าใจและความเคารพในความแตกต่างทางความคิดและวัฒนธรรม
3)การเลือกใช้วิธีการสื่อสารอย่างเหมาะสมและตั้งอยู่บนความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการสื่อสาร
4. สมรรถนะการรวมพลังทำงานเป็นทีม หมายถึง การที่ผู้เรียนสามารถจัดระบบและกระบวนการทำงานทั้งด้วยตนเองและร่วมกับผู้อื่น โดยใช้การทำงานเป็นทีม มีการกำหนดแผนและขั้นตอน เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย มีภาวะผู้นำ มีความโปร่งใส มีการประสานความคิดเห็นที่แตกต่างสู่การตัดสินใจและแก้ปัญหาเป็นทีมอย่างรับผิดชอบร่วมกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีและจัดการความขัดแย้งภายใต้สถานการณ์ที่ยุ่งยากได้ จึงเป็นที่มาของ 3 องค์ประกอบหลักของสมรรถนะการรวมพลังทำงานเป็นทีม ได้แก่
1) การเป็นสมาชิกที่ดีของทีมและมีภาวะผู้นำ
2) การมีกระบวนการทำงานแบบร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ
3) การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและการจัดการความขัดแย้งระหว่างสมาชิกของทีม
5. สมรรถนะการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง หมายถึง การที่ผู้เรียนปฏิบัติตนอย่างรับผิดชอบทั้งในฐานะพลเมืองไทยและพลโลก เคารพสิทธิเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น เคารพในกฎกติกาและกฎหมาย มีส่วนร่วมทางสังคมอย่างมีวิจารณญาณ อยู่ร่วมกับผู้อื่นท่ามกลางความหลากหลาย เห็นคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีบทบาทในการตัดสินใจและสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยยึดมั่นในความเท่าเทียมเป็นธรรม ค่านิยมประชาธิปไตย และสันติวิธี เพราะฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า สมรรถนะการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งมี 4 องค์ประกอบหลักด้วยกัน ได้แก่
1) การเคารพสิทธิเสรีภาพของมนุษย์
2) การมีความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่
3) การมีส่วนร่วมอย่างมีวิจารณญาณ
4) การเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง
6. สมรรถนะการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน หมายถึง การที่ผู้เรียนมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของโลกและเอกภพ รวมถึงความสัมพันธ์ของคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และธรรมชาติในชีวิตประจำวัน สามารถใช้และรู้เท่าทันวิทยาการเทคโนโลยี มีความอยากรู้ อยากเห็น ช่างสังเกต เห็นคุณค่า สามารถแก้ปัญหา หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมได้เพื่อการดำรงชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน สรุปได้ว่า สมรรถนะการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืนมีทั้งสิ้น 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
1) การเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกและในเอกภพ
2)การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
3) การสร้าง ใช้ และรู้เท่าทันวิทยาการเทคโนโลยี
4) การมีคุณลักษณะทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพื่อเข้าใจระบบธรรมชาติและการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
จะเห็นได้ว่าสมรรถนะหลัก 6 ด้านตามหลักสูตรฐานสมรรถนะ 2565 ล้วนสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมความสามารถของผู้เรียนได้ ไม่ว่าความสามารถนั้นจะเป็นด้านใดก็ตาม แต่สำหรับรายละเอียดเชิงลึกของแนวทางการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน เราคงจะต้องติดตามกันต่อไปเพื่อให้หลักสูตรฐานสมรรถนะ 2565 ได้ทดลองประยุกต์ใช้จริงเสียก่อน เนื่องจากหลักสูตรนี้กำลังจะเริ่มในหลักสูตรใช้ในปี 2565 ที่จะถึงนี้
Sources
● Competency - based Education หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
● 6 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหลักสูตรฐานสมรรถนะที่คุณครูต้องรู้
Related Courses
ก้าวสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ (CBE)
หลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นหลักสูตรที่เน้นการวัดผลแบบสมรรถนะแทนการท่องจำเนื้อหาเพียงเพื่อนำมาสอบ หลักสูตรฐานสมรรถนะยังเป็ ...
ห้องเรียนสมรรถนะวิชาภาษาไทย โรงเรียนบ้านปลาดาว
เรียนรู้ไอเดียการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบห้องเรียนสมรรถนะวิชาภาษาไทย ฉบับโรงเรียนบ้านปลาดาว ทำความเข้าใจลักษณะห้ ...
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...
Micro Learning เทคนิคการจัดการเรียนการสอน 1
คุณภาพของผู้เรียนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบในตัวผู้เรียนเอง แล้วกระบวนการเรียนการสอนที่ครู จัดให้เป็นสิ่งสำคัญต่อผลสัม ...