10 ข้อต้องห้าม ถ้าพ่อแม่เผลอทำ ลูกอาจงอนหรือไม่ไว้ใจเราอีกเลย

Starfish Academy
Starfish Academy 85533 views • 2 ปีที่แล้ว
10 ข้อต้องห้าม ถ้าพ่อแม่เผลอทำ ลูกอาจงอนหรือไม่ไว้ใจเราอีกเลย

การเลี้ยงดูลูกที่เติบโตขึ้นทุกวัน สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการให้ความรักและการดูแลเอาใจใส่ก็คือ พ่อแม่จำเป็นต้องปรับตัวให้เติบโตไปพร้อมๆ กับลูกด้วย บ่อยครั้งด้วยภาระหน้าที่มากมาย อาจทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ ครอบครัว หลงลืมไปว่า การดูแลลูกวัยอนุบาล ประถม จนกระทั่งวัยรุ่นนั้น บทบาทของพ่อแม่ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนไปตามวัยที่เปลี่ยนไปของลูกด้วย 

โดยเฉพาะเมื่อลูกย่างเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่ที่ชินกับการดูแลประคบประหงม ให้ความช่วยเหลือลูกอย่างใกล้ชิด เมื่อลูกเป็นวัยรุ่น ก็อาจรู้สึกว่าพ่อแม่จ้ำจี้จ้ำไชมากเกินไป ใกล้ชิดจนทำให้ลูกรู้สึกขาดพื้นที่ส่วนตัว หากพ่อแม่ไม่เข้าใจธรรมชาติตามวัยของลูก ก็อาจเกิดความขัดแย้งในครอบครัวได้ 

ลองมาดูกันดีกว่าว่า หากต้องการพิชิตใจลูกวัยรุ่น มีอะไรบ้างที่พ่อแม่ห้ามทำ ไม่อย่างนั้นอาจสูญเสียความไว้ใจที่ลูกมีให้เราตลอดไป

1. อย่ารู้สึกแทนลูก

ลูกเจ็บพ่อแม่ย่อมเจ็บด้วย อาจจะจริง แต่เมื่อลูกเริ่มเติบโต เป็นตัวของตัวเอง พ่อแม่ควรระวังที่จะไม่ยัดเยียดความรู้สึกนึกคิด ไปจนถึงวิธีรับมือกับปัญหาของตัวเองไปให้ลูก แม้พ่อแม่เป็นห่วงและให้คำแนะนำลูกได้ แต่พ่อแม่ไม่สามารถรู้สึกแทนลูก หรือบังคับให้ลูกรู้สึกเหมือนตนเองได้ ยิ่งคุณบังคับลูกมากเท่าไร ลูกวัยรุ่นก็อาจยิ่งตีตัวออกห่างออกไปทุกที

2. อย่าถือสามากเกินไป

บางวันพ่อแม่อาจรู้สึกว่า ลูกวัยรุ่น ไม่เห็นคุณค่าของเราเลย ลูกอาจแสดงพฤติกรรมต่อต้าน เย็นชา ไม่พูดด้วย ซึ่งอาจมาจากการที่วัยรุ่นกำลังหมกมุ่นกับปัญหาบางอย่าง หรือพยายามรับมือกับอารมณ์แปรปรวนของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของวัยนี้ และสาเหตุที่ลูกเลือกแสดงพฤติกรรมไม่น่ารักเหล่านี้กับพ่อแม่ ก็เพราะว่าพ่อแม่คือพื้นที่ปลอดภัยของพวกเขา 

วัยรุ่นรู้ว่าไม่ว่าจะทำอะไร พ่อแม่ก็ยังรักพวกเขาเช่นเดิม พ่อแม่จึงไม่ควรเก็บเรื่องต่างๆ มาคิดเล็กคิดน้อย ทำให้เรื่องบานปลายกลายเป็นความบาดหมางใจกัน นอกจากว่าลูกแสดงพฤติกรรมหยาบคาย ไม่เคารพ ก็จะจำเป็นต้องพูดคุยแนะนำเป็นกรณีไป

3. อย่าทำนายอนาคตลูก

การใช้พฤติกรรมในวันนี้เป็นตัวทำนายอนาคตลูกว่าจะเป็นอย่างไร นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้วยังอาจทำลายความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ กับลูกวัยรุ่นได้ ความกังวลว่าลูกที่ไม่เคยทำความสะอาดห้องของตัวเอง จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างไร หรือ ที่ลูกไม่ค่อยรักษาเวลา ต้องมีปัญหาในวัยทำงานแน่ๆ เป็นความคิดที่ไม่ได้อิงอยู่กับข้อเท็จจริงของลูกสักเท่าไร แต่เป็นเรื่องความกังวลของพ่อแม่เองต่างหาก จะว่าไปแล้วเด็กๆ กังวลเรื่องอนาคตของพวกเขามากกว่าที่เราคิด และสิ่งที่พวกเขาต้องการจากพ่อแม่ก็คือกำลังใจ คงจะดีหากพ่อแม่บอกกับลูกว่า 

“พ่อแม่รู้ว่าในที่สุดลูกจะเรียนรู้ และหาทางจัดการสิ่งต่างๆ ให้ลงตัวได้” รวมถึงให้คำแนะนำสิ่งที่ควรทำ อธิบายให้ลูกฟังว่าการรักษาวินัยมีความสำคัญ และช่วยให้ประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างไร เพราะบ่อยครั้งด้วยเวลาที่จำกัดหรือปัญหาในการสื่อสาร พ่อแม่มักด่วนสรุปพฤติกรรมเฉพาะหน้าของลูกซึ่งนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้วยังบั่นทอนจิตใจเด็กๆ ด้วย 

4. อย่าปรี๊ดแตกใส่ลูก

ทางกายภาพ วัยรุ่นอาจดูเหมือนผู้ใหญ่ทุกประการ แต่ความจริงแล้วในบางมุม ลูกวัยรุ่นยังคงมีจิตใจของเด็กวัยเตาะแตะ ที่โวยวายอาละวาดเมื่อไม่ได้ดั่งใจ เพราะสมองส่วนระบบลิมบิกในวัยรุ่น พัฒนาเร็วมากในช่วงอายุอายุ 10 - 12 ปี สมองส่วนลิมบิกนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ พฤติกรรม และการตอบสนองต่อรางวัลและการถูกทำโทษ ขณะที่สมองส่วนหน้าที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับเหตุผลและการคิดอย่างเป็นระบบนั้นจะยังพัฒนาไม่สมบูรณ์จนกระทั่งอายุ 20 ปี ด้วยเหตุนี้

พฤติกรรมต่างๆ ของวัยรุ่นจึงดูเหมือนเด็กเอาแต่ใจ หากพ่อแม่เข้าใจความจริงข้อนี้ ก็จะรับมือกับพฤติกรรมโวยวายของลูก เมื่อพวกเขาตะโกนอย่างหัวเสียว่ามันไม่ยุติธรรมเลยที่คุณไม่อนุญาตให้เขาไปต่างจังหวัดกับเพื่อนๆ หรือที่เขาต้องทำงานบ้านก่อนจะได้เล่นเกม สำหรับพ่อแม่ นอกจากสอนด้วยวาจาแล้ว การเป็นตัวอย่างที่ดีก็สำคัญ หากลูกระเบิดอารมณ์ใส่ วิธีที่คุณจะช่วยให้ลูกเรียนรู้การควบคุมอารมณ์ได้ดีที่สุดคือ ทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง รับมือลูกอย่างมีสติ การสื่อสารแบบ Kind but Firm น้ำเสียงหนักแน่นแต่อ่อนโยน ใช้ได้ผลเสมอไม่ว่ากับลูกวัยใดก็ตาม

5. อย่าเล่นเกมอำนาจ

วัยรุ่นพร้อมเสมอที่จะเล่นเกมอำนาจกับพ่อแม่ เพราะเป็นวิธีที่พวกเขาใช้ทดสอบความเป็นอิสระ และทำให้รู้สึกว่าตัวเองโตเป็นผู้ใหญ่ 

ดังนั้น พ่อแม่ควรรู้ทัน และหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเกมชิงอำนาจขึ้น แทนการสั่งว่า “ลูกห้ามไปเที่ยวกับเพื่อนสุดสัปดาห์นี้ แต่ต้องไปบ้านคุณยายกับแม่” ลองเปลี่ยนเป็นเสนอทางเลือก เช่น ลูกจะไปบ้านคุณยายสัปดาห์นี้ แล้วค่อยไปกับเพื่อนสัปดาห์หน้า หรือว่า จะไปกับเพื่อนสัปดาห์นี้แต่อาทิตย์หน้าต้องอยู่บ้านห้ามออกไปไหน 

อาจฟังดูเหมือนเป็นทางเลือกแกมบังคับ แต่อย่างน้อยเด็กๆ จะได้ชั่งน้ำหนักว่า หากการได้ไปกับเพื่อนสำคัญมากจนเขายอมถูกจำกัดบริเวณสัปดาห์หน้า นั่นก็เป็นทางเลือกของเขาเอง 

6. อย่าละเมิดความเป็นส่วนตัว

ไม่มีอะไรสำคัญกับวัยรุ่น มากกว่าความเป็นส่วนตัวอีกแล้ว หากลูกวัยรุ่นค้นพบว่าพ่อแม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของเขา เช่น แอบอ่านข้อความในโทรศัพท์ แอบเปิดกระเป๋าสตางค์ หรือค้นข้าวของเครื่องใช้ ลูกอาจไม่ไว้ใจพ่อแม่อีกต่อไป และหากพวกเขาแอบทำอะไรต้องห้ามจริงๆ การที่รู้ว่าพ่อแม่แอบค้นข้าวของ ก็จะยิ่งทำให้พวกเขาหาวิธีหลบซ่อนอย่างแนบเนียนขึ้นไปอีก 

ดังนั้น ก่อนจะละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูก ต้องมั่นใจว่ามีเหตุผลที่เหมาะสม เช่น รู้สึกว่าลูกมีพฤติกรรมผิดปกติที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวเอง หรือลูกอาจข้องเกี่ยวกับยาเสพติด แต่ทั้งนี้ต้องมั่นใจมากพอว่ามีเหตุให้สงสัยจริงๆ ไม่ใช่พ่อแม่วิตกกังวลไปเอง

7. อย่าพูด หากลูกต้องการให้คุณฟัง

สิ่งสำคัญที่ทำให้ลูกวัยรุ่นเชื่อใจพ่อแม่ คือ การที่พวกเขารู้สึกว่าเสียงของตนเองมีคนรับฟัง บ่อยครั้งพ่อแม่มักติดพฤติกรรมสอนหรือให้คำแนะนำตลอดเวลาโดยที่ไม่รู้ตัว เพียงแค่ลูกเกริ่นประโยคแรก พ่อแม่ก็พูดต่อเสียยาว ยังไม่ทันฟังลูกให้จบ หากเป็นเช่นนี้บ่อยเข้า ลูกอาจไม่อยากเล่าอะไรให้ฟังอีกเลย การฟัง ช่วยให้พ่อแม่เข้าใจมุมมอง และสถานการณ์ของลูกโดยไม่ด่วนตัดสิน หากฟังลูกจนจบ พ่อแม่อาจให้คำแนะนำที่ดีขึ้นได้ 

ลองเริ่มคำถามด้วยคำว่า “อะไร” หรือ “อย่างไร” แทนการใช้คำว่า “ทำไม” ซึ่งอาจทำให้ลูกรู้สึกถูกตัดสิน ลองเปรียบเทียบระหว่างการถามว่า “อะไรที่ทำให้ลูกสอบตกวิชานี้” หรือ “ลูกสอบตกวิชานี้ได้อย่างไร” กับ “ทำไมลูกถึงสอบตกวิชานี้”

จะพบว่า คำว่า “อะไร” หรือ “อย่างไร” ช่วยเปิดโอกาสให้เด็กได้อธิบายเหตุผลมากกว่า ในขณะที่การตอบคำถามว่า “ทำไม” อาจทำให้เด็กๆ รู้สึกเหมือนถูกสอบสวนเพราะสงสัยว่าพวกเขาเป็นคนผิด

8. อย่าใกล้ชิดต่อหน้าเพื่อนๆ

แม้ว่าอยู่บ้านคุณและลูกจะกอดรัดฟัดเหวี่ยง หอมแก้มกันเป็นกิจวัตร แต่ต้องไม่ใช่ต่อหน้าเพื่อนๆ ของลูก เพราะการทำอย่างนั้น ทำให้ลูกรู้สึกเหมือนเป็นเด็กที่ยังไม่โต อาจทำให้ถูกเพื่อนๆ ล้อได้ว่าเป็น “ลูกแหง่” 

ซึ่งสำหรับวัยรุ่นบางคน ที่กำลังต้องการการยอมรับจากเพื่อน อาจทำให้เขามีพฤติกรรมตีตัวออกห่าได้ พ่อแม่ควรทำความเข้าใจและความเคารพพื้นที่ส่วนตัวของลูกด้วย

บ่อยครั้งลูกอาจต้องการแสดงให้คนอื่นเห็นว่าพวกเขาโตพอแล้ว พ่อแม่ควรให้เกียรติลูกเมื่ออยู่ต่อหน้าคนอื่นๆ ไม่เฉพาะแต่เพื่อนๆ ของลูกเท่านั้น ปฏิบัติต่อลูกวัยรุ่นเหมือนกับเขาเป็นผู้ใหญ่ ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ลูกได้ แต่หากเผลอทำเหมือนลูกยังเป็นเด็กๆ ต่อหน้าคนอื่น ลูกอาจงอนและไม่อยากไปไหนกับพ่อแม่อีกเลย

9. อย่าช่วยในสิ่งที่ลูกทำเองได้

บ่อยครั้งพฤติกรรมของพ่อแม่เองที่ทำให้ลูก ไม่รู้จักโต และไม่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ พ่อแม่ที่เผลอช่วยลูกทุกอย่างตั้งแต่งานบ้านที่ลูกควรทำเอง เช่น ล้างจาน เก็บผ้า พับผ้า ไปจนถึงปัญหาที่โรงเรียน หรือปัญหาความขัดแย้งกับเพื่อน 

หากพ่อแม่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาตลอด แม้ว่าลูกทำเองได้ เท่ากับว่าคุณไม่ได้ฝึกให้ลูกรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง ซึ่งเป็นผลเสียมากกว่าผลดีเมื่อพวกเขาโตขึ้น การเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองแก้ปัญหา ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่คือบทเรียนชีวิตที่สำคัญสำหรับวัยรุ่น และหากลูกสามารถจัดการปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงได้ด้วยตัวเอง ไม่เพียงเด็กๆ จะภูมิใจในตัวเองเท่านั้น แต่พ่อแม่ก็จะภูมิใจในตัวลูกและมั่นใจว่าพวกเขาจะรับมือปัญหาในชีวิตได้เป็นอย่างดี 

10. อย่าล้อเลียนพฤติกรรมของลูกวัยรุ่น

ไม่ว่าจะสนิทกับลูกขนาดไหนก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่อ่อนไหวง่าย แม้ภายนอกจะแสดงว่าตัวเองโตแล้ว ทำอะไรได้เอง แต่ลึกๆ ภายในจิตใจอาจเต็มไปด้วยความไม่มั่นใจ 

เพราะฉะนั้น หากพ่อแม่เผลอล้อพฤติกรรมของลูก เช่น ล้อเลียนท่าเคร่งขรึมของลูกเมื่ออยู่ต่อหน้าคนที่เขาชอบ หรือร้องเพลงของศิลปินที่ลูกชอบเพื่อล้อเลียน แม้พ่อแม่อาจมองเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่อาจเป็นเรื่องใหญ่ในวัยของเขา จึงควรระวังที่จะไม่มองว่ามันเป็นเพียงแค่เรื่อง “ล้อเล่น” หรือต่อว่าลูกว่า “เล่นนิดหน่อยก็ไม่ได้” เพราะอาจทำให้วัยรุ่นยิ่งโกรธมากกว่าเดิม

สุดท้ายแล้ว สิ่งต่างๆ ที่พ่อแม่ “ไม่ควรเผลอทำ” ล้วนตั้งอยู่บนหลักเกณฑ์ของการ “ให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน” 

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ แนะนำไว้ในเพจของท่านว่า...

พ่อแม่ควรหยุดบ่นและสั่งสอน อะไรที่พูดซ้ำเกิน 2 ครั้ง คือ “บ่น” การสั่งสอนคือ “ไม่ไว้ใจ” และ “ไม่ให้เกียรติ” สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ ยอมรับว่าเราแพ้ เมื่อยอมรับแล้ว พ่อแม่ควรหยุดพูดและหยุดทำ เป็นผู้ฟังที่ดี เพื่อรักษาสายสัมพันธ์ในระยะยาว

มองลูกวัยรุ่น ในฐานะที่เขาเป็นบุคคลคนหนึ่งที่เท่าเทียมกับเรา ไม่มองว่าเขาด้อยกว่า หรือมีอำนาจน้อยกว่า ไม่มองว่าพ่อแม่ต้องเป็นผู้ควบคุม แต่เป็นโค้ชที่ให้คำแนะนำเมื่อลูกต้องการ หากทำได้เช่นนี้ ก็อาจช่วยป้องกันพฤติกรรมเผลอๆ ของพ่อแม่ที่อาจทำลายความสัมพันธ์ระหว่างลูกวัยรุ่นได้

มาร่วมเรียนรู้กับ Starfish Labz

แหล่งเรียนรู้และชุมชนออนไลน์เพื่อนักการศึกษาและผู้ปกครอง

ลงทะเบียน

Related Courses

การเลี้ยงลูกที่มีความต้องการพิเศษ
การรู้จักตนเอง การบริหารจัดการตนเอง
basic
2:00 ชั่วโมง

การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก

เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้

Starfish Academy
Starfish Academy
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
Starfish Academy

การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก

Starfish Academy
1394 ผู้เรียน
การเลี้ยงลูกที่มีความต้องการพิเศษ
ด้านความสัมพันธ์ การรู้จักตนเอง การบริหารจัดการตนเอง การรู้จักสังคม
basic
2:00 ชั่วโมง

ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก

ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...

Starfish Academy
Starfish Academy
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
Starfish Academy

ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก

Starfish Academy
3083 ผู้เรียน
คุณธรรมและจริยธรรม
ด้านการสื่อสาร สารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ ด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ด้านความสัมพันธ์ การรู้จักสังคม
basic
2:00 ชั่วโมง

สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้

คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...

ดร.วรวุฒิ แสงเฟือง
ดร.วรวุฒิ แสงเฟือง
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
ดร.วรวุฒิ แสงเฟือง

สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้

ดร.วรวุฒิ แสงเฟือง
การดูแลสุขภาพกายและจิตใจ
ด้านการสื่อสาร สารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ ด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา
basic
2:00 ชั่วโมง

ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19

โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...

Starfish Academy
Starfish Academy
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
Starfish Academy

ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19

Starfish Academy
7762 ผู้เรียน

Related Videos

สอนลูกรู้จักรักและเคารพสิทธิของตนเอง
08:32
Starfish Academy

สอนลูกรู้จักรักและเคารพสิทธิของตนเอง

Starfish Academy
367 views • 2 ปีที่แล้ว
สอนลูกรู้จักรักและเคารพสิทธิของตนเอง
ออนไลน์ ไม่อ่อนใจ พ่อแม่ลูกต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน
23:01
Starfish Academy

ออนไลน์ ไม่อ่อนใจ พ่อแม่ลูกต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน

Starfish Academy
100 views • 2 ปีที่แล้ว
ออนไลน์ ไม่อ่อนใจ พ่อแม่ลูกต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน
การเดินทางของแม่ เมื่อฉันเป็น “พื้นที่ปลอดภัยของบ้าน”
30:16
Starfish Academy

การเดินทางของแม่ เมื่อฉันเป็น “พื้นที่ปลอดภัยของบ้าน”

Starfish Academy
77 views • 2 ปีที่แล้ว
การเดินทางของแม่ เมื่อฉันเป็น “พื้นที่ปลอดภัยของบ้าน”
Starfish Trend Talk | EP.2 | : คำพูดกดทับที่ครูและผู้ปกครองไม่ควรใช้กับเด็ก
41:00
Starfish Academy

Starfish Trend Talk | EP.2 | : คำพูดกดทับที่ครูและผู้ปกครองไม่ควรใช้กับเด็ก

Starfish Academy
175 views • 2 ปีที่แล้ว
Starfish Trend Talk | EP.2 | : คำพูดกดทับที่ครูและผู้ปกครองไม่ควรใช้กับเด็ก