พ่อแม่ปวดหัว ลูกเรียนออนไลน์แบบไม่มีกำหนด
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลากยาวมาอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับเด็กวัยเรียนโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ที่จะสามารถมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนออนไลน์จากที่บ้านได้เหมือนกับการเรียนตามปกติที่โรงเรียน และด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ คงหนีไม่พ้นพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องทำหน้าที่ไม่ต่างจากคุณครู และต้องตกอยู่ในภาวะสองขั้วโดยปริยาย ในด้านหนึ่ง พ่อแม่ต้องเข้าใจความยากลำบากของลูกในการเรียนออนไลน์ และในทางกลับกันก็ยังต้องทำหน้าที่เหมือนเป็นคุณครูที่เข้มงวดเพื่อช่วยให้เด็กๆ มีสมาธิในการเรียนรู้แบบเดียวกับที่เคยทำในห้องเรียนจริงในโรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายคนเป็นพ่อแม่ไม่ใช่น้อย วันนี้เราจะมาพูดถึงปัญหาสุดปวดหัวเมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์แบบไม่มีกำหนดกันค่ะ
1.ลูกหลุดโฟกัสจากการเรียน
การบ้านในภาวะโควิด-19 ไม่ใช่การบ้านอีกต่อไป แต่กลายเป็นเหมือนงานส่วนรวมงานของครอบครัวอย่างปฏิเสธไม่ได้ นอกจากนี้ผู้ปกครองอาจมีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการพยายามทำให้ลูกๆ มีสมาธิจดจ่ออยู่กับบทเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองต้องแน่ใจว่าลูก ๆ มุ่งความสนใจไปที่งานของโรงเรียน เพื่อลดปัญหาที่เกิดจากการขาดความเอาใจใส่
วิธีแก้ปัญหา ทางที่ดีผู้ปกครองอาจจำเป็นต้องเข้าเรียนบางชั้นเรียนไปพร้อมกับลูกๆให้ได้มากที่สุด เพื่อควบคุมทิศทางการเรียน และสมาธิและการจดจ่อของเด็กๆ ให้อยู่ในลู่ทางที่เหมาะสม
2.ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต
สภาพของเด็กแต่ละบ้านไม่เหมือนกัน ไม่ใช่นักเรียนทุกคนในชั้นเรียนเดียวกันที่จะมี มือถือ ไอแพด แล็ปท็อป หรือ แม้แต่อินเทอร์เน็ต ที่ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน
วิธีแก้ปัญหา การเข้าเรียนในชั้นเรียนของลูกอาจจำเป็นจะต้องพึ่งพาอุปกรณ์ของผู้ปกครอง พ่อแม่ที่ทำงานจากที่บ้าน (WFH) อาจต้องแก้ปัญหาด้วยการทำงานตอนกลางคืนหลังจากลูกๆ หลับแล้วแทน หรือทางเลือกสุดท้าย ในเมื่อรูปแบบการเรียนออนไลน์อาจต้องอยู่ไปอีกนาน คือ ลงทุนซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆ ให้ลูกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับบ้านที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ทางเลือกในการใช้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบ Hot Spot ผ่านมือถือ เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้ไม่ต้องใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบบรายเดือน แต่อย่างไรก็ตามอาจจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายค่าโทรศัพท์ในส่วนของอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ซึ่งวิธีแก้ทั้งหมดเป็นเพียงการหาทางออกชั่วคราว ที่แต่ละบ้านต้องหาทางปรับตัวกันไปตามสถานการณ์ และความเหมาะสม ตราบที่อินเทอร์เน็ตยังไม่ได้กลายเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานทางสังคมในประเทศไทย
3.มีลูกหลายคนต้องเรียนออนไลน์พร้อมกัน
มีลูกคนเดียวแล้วต้องเรียนออนไลน์ก็ว่าเหนื่อยแล้ว บ้านไหนมีลูกสองคนหรือสามคน คงเหนื่อยหนักเข้าไปอีก ไหนจะอุปกรณ์ที่ต้องใช้ ถ้าลูกต้องเรียนพร้อมกัน ก็จำเป็นต้องมีของใครของมัน นอกจากนี้พ่อแม่อาจต้องเหนื่อยในการจัดสรรแบ่งเวลาในการช่วยดูแลการเรียนของลูกแต่ละคน แต่ถ้าพ่อแม่ต้องทำงานไปด้วยก็คงเป็นเรื่องที่ชวนปวดหัวไม่เบา
วิธีแก้ปัญหา บ้านที่พ่อแม่อยู่บ้าน หรือ ทำงานที่บ้าน พ่อแม่อาจต้องสลับกันดูแลลูก หรือช่วยกันประกบลูกแต่ละคน นอกจากนี้ การบันทึกวีดีโอการสอนแล้วนำกลับมาเปิดดูพร้อมกันกับลูกอีกครั้ง จะช่วยทำความเข้าใจในบทเรียนย้อนหลังไปพร้อมกับพ่อแม่ได้เป็นอย่างดี
4.ลูกเรียนรู้ได้น้อยกว่าไปโรงเรียน
การเรียนออนไลน์ได้เปลี่ยนครรลองของการศึกษาในเชิงวิชาการไปอย่างสิ้นเชิง และข้อเสียเปรียบของการเรียนออนไลน์ เมื่อเทียบกับการไปเรียนที่โรงเรียน คือ เด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างจำกัด และมีอุปสรรค ต้องยอมรับว่าการเรียนออนไลน์มีข้อจำกัดสำหรับเด็กบางคน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอาจไม่เหมือนกับอยู่ที่โรงเรียนนอกจากนี้ ในห้องเรียนแบบดั้งเดิม ครูผู้สอนสามารถให้ความคิดเห็นแบบตัวต่อตัวกับนักเรียนได้ทันที นักเรียนที่กำลังประสบปัญหาไม่เข้าใจในหลักสูตรก็สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และตรงจุด คำติชมส่วนบุคคลมีผลกระทบเชิงบวกต่อนักเรียน เนื่องจากจะช่วยให้กระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ง่ายขึ้น สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และมีความสำคัญมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ยกระดับแรงจูงใจของนักเรียนด้วย
วิธีแก้ปัญหา คือ พ่อแม่อาจต้องมีส่วนร่วมกับลูกอย่างจริงจัง เมื่อติดปัญหาใดๆ ก็ตามในการเรียน และทำหน้าที่คล้ายกับครูอย่างที่กล่าวไปข้างต้น สำหรับเด็กเล็ก พ่อแม่อาจต้องใช้เวลากับลูกมากขึ้น จัดสถานที่ให้สมาธิกับการเรียนหากเป็นไปได้ ช่วยให้บุตรหลานทำความเข้าใจแพลตฟอร์มต่างๆ ทำการบ้านไปกับลูก และอธิบายในจุดที่ลูกอาจไม่เข้าใจให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เรียกได้ว่าพ่อแม่อาจต้องหาความรู้มากขึ้นกับสถานการณ์ที่แตกต่างออกไปในช่วงนี้
5.ลูกมีปฎิสัมพันธ์กับเพื่อนน้อยลง
ในฐานะผู้ปกครอง แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดจากโรคระบาดครั้งนี้ทำให้เรากังวลไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องความเป็นอยู่และความสุขของลูก เราทุกคนต้องการให้ลูกๆมีความสุข เรารู้ว่าความสุข และความสนุกของเด็กมีไว้เพื่อแบ่งปันกับเพื่อนฝูง เพราะเด็กก็ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ที่ยังต้องการสังคม มิตรภาพกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนมีความสำคัญต่อลูก ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมจะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของเด็ก เพิ่มแรงจูงใจ และลดความเครียดให้เด็กๆ แต่สถานการณ์ปัจจุบันเป็นที่น่าเสียดายที่เด็กจำนวนมาก ถูกแยกออกจากเพื่อนเนื่องจากต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ไม่ได้พบเจอและเล่นกับเพื่อนๆ เหมือนเช่นเคย
วิธีแก้ปัญหา แม้ว่าการให้ลูกได้พบเจอเพื่อนๆ อาจเป็นเรื่องยากในช่วงโควิด-19 แต่ก็มีตัวเลือกของเทคโนโลยีให้ลูกๆ ได้มีโอกาสทักทายเพื่อนๆ ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้ง Zoom, Skype, Facetime, Line หรือแพลตฟอร์มวิดีโอแชท อื่น ๆ แม้ว่าการจำกัดเวลาอยู่หน้าจอเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็อาจคุ้มค่าที่จะ “ยืดเวลา” ทั้งนี้ก็เพื่อรองรับ และสนับสนุนให้ลูกได้มีการเชื่อมต่อทางสังคม
สำหรับหลายๆบ้าน ที่ต้องเจอกับสถานการณ์ยากลำบากแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน การได้แชร์ประสบการณ์กับคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นๆ ที่เผชิญสถานการณ์เดียวกันจะช่วยให้เรามีมุมมองทางเลือก และทางออกในการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น ต้องยอมรับว่าผลกระทบของโรคระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยน และจำเป็นต้องยืดหยุ่นกันไปตามสถานการณ์ที่ทุกบ้านที่มีลูกๆ วัยเรียนคงต้องเจอไม่ต่างกัน ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนผ่านพ้นอุปสรรค และปัญหาต่างๆ ไปได้อย่างราบรื่นค่ะ
Related Courses
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...