ในวันที่ลูกอยู่บนเส้นทางพิเศษ พ่อแม่ต้องเรียนรู้อะไรบ้าง
“สุดยอดวิธีการเลี้ยงลูกอย่างสร้างสรรค์ กับการพัฒนาศักยภาพของลูกที่มีความต้องการพิเศษ”
หากการเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่บนเส้นทางพิเศษจะทำอย่างไร ต้องเสริมพัฒนาการด้านไหน จะต้องดูแลอย่างไร และพ่อแม่ต้องเรียนรู้อะไรบ้าง คงเป็นคำถามที่คุณพ่อคุณแม่บางท่านต้องการคำตอบ โดยเฉพาะหากลูกของคุณเป็นเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ในครั้งนี้ทาง Starfish Labz ได้พูดคุยกับ คุณพ่อฤทธิ์ - ศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวซึ่งดูแลลูกที่มีภาวะอัลฟี่ซินโดรม และนักบำบัดในถาดทรายแห่งเพจ Sand Tray Play ก็ดี Therapy ก็ได้ ที่ได้แบ่งปันเรื่องราวประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ทั้งกับเด็ก คุณพ่อคุณแม่ และคนอื่นๆ ต่อไป
จากคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว สู่นักบำบัดแห่งถาดทราย เจ้าของเพจ Sand Tray Play ก็ดี Therapy ก็ได้
หลังจากที่เลี้ยงลูกเอง ประมาณ 5 เดือน ทราบว่า น้องมีพัฒนาการช้ารอบด้าน หรือที่เรียกว่า อัลฟี่ซินโดรม ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของซินโดรมที่หายากคู่ที่ 9 ถ้าเปรียบโครโมโซมก็จะมีลักษณะคล้ายกับปาท่องโก๋ ซึ่งมนุษย์ทั่วไปก็จะมีทั้งหมด 23 คู่ ซึ่งคู่ที่ 9 จะมีลักษณะไม่เท่ากับคนอื่นๆ ส่งผลให้น้องมีพัฒนาการช้ารอบด้าน มีกล้ามเนื้อนุ่มนิ่ม เดินไม่ได้และพูดสื่อสารไม่ได้ กะโหลกศรีษะผิดรูป และต้องทำการฝึกกายภาพตลอด ลูกเลยเป็นจุดเริ่มต้นในการให้ความสนใจและเริ่มที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับการบำบัดต่าง ๆ ซึ่งช่วงประมาณ 6-7 ปีที่ผ่านมา ได้ทำการศึกษา อบรมทางด้านมนุษยปรัชญาและอีกหลากหลายศาสตร์ จนเกิดความสนใจและตัดสินใจเรียนในด้านศิลปะบำบัด จนได้รับ “Professional Certificate in Creative Art Therapy” ซึ่งเป็นความร่วมมือของหน่วยงานจุฬาฯและมหาวิทยาลัยไฮปาร์ค อิสราเอล ระหว่างที่เรียนคอร์สหนึ่งที่เกี่ยวกับการใช้ถาดทรายมาช่วยในการดูแลทางด้านจิตใจ และส่งเสริมด้านพัฒนาการ โดยใช้การเล่นเข้ามาสอดแทรกให้มีคุณภาพชีวิต และคุณภาพจิตใจให้เจริญเติบโต จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเพจ Sand Tray Play ก็ดี Therapy ก็ได้ ขึ้นมา
“ความพิเศษของลูก เปลี่ยนคุณพ่อทำให้รู้ซึ้ง และเข้าใจความหมายของการมีชีวิตมากขึ้น”
ก่อนที่จะมีลูก ตัวเองใช้ชีวิตเหมือนคนทั่ว ๆไป แต่มีคำถามหนึ่งที่รู้สึกว่า “เราเกิดมาทำไม” และต้องถามตัวเองเรื่อยๆว่า “เราตื่นมาแล้ว เราจะทำงานไปตลอดหรือเปล่า” ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่ไม่ค่อยเติมเต็มความหมายที่จะมีชีวิต เหมือนไม่มีคุณค่ามากพอ พอได้เลี้ยงลูกเอง รับรู้ความต้องการพิเศษของลูก มันเปลี่ยนชีวิต ทำให้ได้คิดว่า บางทีสิ่งที่เฝ้าตามหา เพื่อที่จะได้ดูแลน้อง และนำสิ่งที่ได้ดูแลน้องมาช่วยเหลือคนที่มีความต้องการพิเศษ คนพิการ หรือคนที่มีความทุกข์ต่อไป
ช่วงที่ผ่านอะไรต่าง ๆ มากมาย คุณพ่อมีวิธีดูแลจิตใจอย่างไร
พอน้องอายุได้ 5 เดือนครึ่ง ทราบว่าน้องมีภาวะอัลฟี่ซินโดรม ความรู้สึกตอนนั้น คือ ช็อค สับสน จากนั้นเริ่มตั้งสติ อย่างแรกคือ ค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตถึงลักษณะของผู้ที่มีภาวะอัลฟี่ซินโดรม และได้มีคนแนะนำมูลนิธิเรนโบว์รูม ซึ่งทางมูลนิธิฯ ก็จะมีการสนับสนุนครอบครัว มีกิจกรรมที่เน้นพูดคุยกับครอบครัวเป็นหลัก หลังจากได้ไปติดต่อที่มูลนิธิฯ ก็ได้ตั้งคำถามว่า “คนที่เป็นดาวน์ซินโดรมจะทำอะไรได้บ้าง” และจากคำตอบที่ได้ ทำให้เปลี่ยนโลกเปลี่ยนความคิดว่า บุคคลที่มีพันธุกรรมพิเศษ (คนที่มีความต้องการพิเศษ) ก็สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ดังนั้น ถ้าเรามีความเชื่อว่า ทุกอย่างพัฒนาได้ เรียนรู้ได้ ฝึกฝนได้ ส่งเสริมพัฒนาการได้ สิ่งเหล่านี้จะสามารถช่วยให้ลูกมีพัฒนาการชีวิตที่ดีขึ้น
ช่วงสถานการณ์การเรียนออนไลน์ คุณพ่อดูแลเรื่องการเรียนอย่างไร
ในระบบการเรียนของน้องก่อนหน้านี้จะเป็นการเรียนแบบโฮมสคูล โดยการพาไปฝึกฝนพัฒนาการและนำเอาการบ้านจากครูมาฝึกฝนด้วย และเริ่มเข้าสู่การเรียนออนไลน์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิดทำให้ต้องอยู่บ้านมากขึ้น คุณพ่อก็มีการปรับเปลี่ยนอยู่พอสมควร โดยการประสานงานกับคุณครู พยายามตามงาน เนื่องจากในบางครั้งการร่วมทำกิจกรรมของน้องไม่เต็มที่เท่าที่ควร
การเล่นทรายดีอย่างไร
การเล่นทราย เป็นการเล่นที่แตกต่างจากการเล่นทั่วไป ซึ่งความพิเศษของการเล่นทราย คือ
1) ทรายมีความอิสระ ไม่มีรูปทรง
2) มีความปลอดภัย
3) สามารถเชื่อมต่อความรู้สึก
4) ทำให้ควบคุมสภาพแวดล้อมได้ เวลาที่คนเรามีความทุกข์ เนื่องจากไม่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ แต่ในถาดทรายเราสามารถสร้างสภาพแวดล้อม ควมคุม จัดการได้
5) ทรายปรับเปลี่ยนได้ อีกทั้งการเล่นทรายยังเป็นช่องทางหนึ่งที่ใช้สัญลักษณ์ในการถ่ายทอดเรื่องราว เป็นสื่อที่ทำให้รู้ว่ามีความรู้สึกอย่างไร ซึ่งเป็นการพัฒนาของสมองซีกขวาที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ด้านอารมณ์ ความรู้สึก เหมาะสำหรับคนที่พูดยาก และยังสามารถระบายความเครียดได้ดีอีกด้วย
การบำบัดด้วยถาดทราย ช่วยพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดีขึ้นอย่างไร
การบำบัดในถาดทราย เป็นกิจกรรมที่ใช้ทรายและวัตถุสัญลักษณ์ที่หลากหลาย เช่น ตุ๊กตา ต้นไม้ ดอกไม้ ของเล่น ฯลฯ มาสร้างเรื่องราวในถาดทราย ที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่อายุ 3 ขวบขึ้นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งพัฒนาการการเรียนรู้การบำบัดด้วยถาดทรายจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการเล่นของเด็กในแต่ละช่วงวัย โดยการเล่นบำบัดจะเป็นการเล่นที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม ช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เช่น การเล่นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน การเข้าห้องน้ำ การทำขนม การกินอาหาร การแปรงฟัน เป็นต้น ทำให้เกิดความคุ้นชินกับการใช้ชีวิตได้ เป็นการระบายความรู้สึกบางอย่างในจิตใจ ช่วยบรรเทาความเครียด ช่วยในการควบคุมอารมณ์ การจัดการอารมณ์ สำหรับเด็กที่มีอาการไฮเปอร์ จะช่วยให้เรียบเรียบเรื่องราวได้ดีขึ้น ในด้านทักษะการสื่อสาร การเข้าสังคมได้ พอช่วงวัยรุ่น เกิดความรู้สึกที่หลากหลาย การเล่นถาดทรายจะช่วยเรียบเรียบความคิด รวมไปถึงส่งเสริมเรื่องสายสัมพันธ์ภายในครอบครัวให้มีความชัดเจนมากขึ้น
ฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ คุณครูในการดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษเริ่มต้นอย่างไร
สำหรับการเล่นในบ้านของเด็กที่มีความต้องการพิเศษสามารถทำได้ โดยที่พ่อแม่หรือคุณครูอย่ายึดติดกับเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ แต่อยากให้ยึดหลักการ 2 ข้อ ที่สำคัญมาก ๆ คือ
1) การให้อิสระในการเล่น
2) การเล่นนั้นๆ ต้องมีความปลอดภัย
ดังนั้น ในบทบาทของผู้ปกครองที่ต้องดูแลอาจมีการกำหนดสถานที่ เวลา รวมไปถึงบุคคลที่จะเล่นด้วยที่เหมาะสม ให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระที่สุด ไม่มีถูกผิด และดูแล้วปลอดภัย ที่สำคัญที่สุด เด็กที่จะเล่นจะต้องมีพัฒนาการอยู่ในระดับนึงที่ไม่หยิบของเข้าปาก เข้าจมูก เนื่องจากของเล่นมีขนาดเล็ก สำหรับผู้ปกครองที่กังวลว่าจะเริ่มเล่นยังไง หลักการง่าย ๆ คือการนั่งเล่นข้าง ๆ ไปพร้อมกับลูก ถ้าหากเป็นการเล่นเฉพาะเจาะจง อยากให้ปรึกษากับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ จิตแพทย์ หรือติดต่อได้ที่ทางเพจ Sand Tray Play ก็ดี Therapy ก็ได้
ฝากถึงผู้ปกครองในการดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัวในช่วงสถานการณ์โควิด
ช่วงสถานการณ์โควิด อยากให้ผู้ปกครองประเมินกำลังของตัวเองในเรื่องของปากท้อง ความเป็นอยู่ การดูแลสุขภาพจิตของตนเอง คนในครอบครัวให้ดี ช่วยกันสลับสับเปลี่ยนในการดูแลลูก และหากมีกำลังทรัพย์เหลือพอ ค่อยทำการวางแผนเรื่องลูก ด้วยสถานการณ์อาจจะทำได้ยาก ขอให้พิจารณาว่า “ถ้าเราเหนื่อยก็พัก หนักก็วาง ง่วงก็นอน พักโซเซียลบ้าง เล่นเกมส์แต่พอดี ถ้าไม่ไหวอย่าฝืน ถ้าไหวก็ทำไป พยายามอย่าฝืน เน้นทำน้อยแต่ได้มาก” สำคัญอย่าให้ลูกติดหน้าจอมากเกินไป ให้ทำกิจกรรมกับเด็ก เน้นยิ้มหัวเราะด้วยกัน สุดท้ายถ้านึกอะไรไม่ออก ขอให้ขอบคุณตัวเองในทุกๆ วัน ยิ้มให้กับคนข้างๆ เยอะๆ และชมลูกบ่อยๆ ถึงความตั้งใจ ความพยายามเพื่อเป็นการหยอดกระปุกสิ่งดีดีในใจลูกเสมอ
Related Courses
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
สอนคุณธรรมให้ลูก พ่อแม่ก็ทำได้
คุณธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ นำไปสู่การกระทำที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็กพร้อมที่จะเผชิญโลก และสังคมปัจจุ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...