เมื่อพ่อแม่ต้องแท็กทีมเลี้ยงลูก เป้าหมายแบบนี้สิสำคัญ
“เลี้ยงลูกด้วยกันแบบง่ายๆ สไตล์สบาย สบาย ผู้ชายเลี้ยงลูก”
ในเมื่อบ้านต้องกลายเป็นโรงเรียน กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ในยุคโควิด-19 พ่อแม่ต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นครู พร้อมกับการทำงานแบบ Work from Home แล้วพ่อแม่จะจัดการเรียนรู้ยังไง และวันนี้เราจะมาพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ที่มีแนวทางในการเลี้ยงลูกที่น่าสนใจ พร้อมกับมาแบ่งปันเรื่องราวสไตล์สบาย สบาย ในแบบผู้ชายเลี้ยงลูก ที่กำลังเป็นที่น่าติดตามในขณะนี้
เจ้าของเพจ Tor Rungrojn ผู้ชายเลี้ยงลูก
คุณรุ่งโรจน์ สุวรรณธาดา (พ่อต่อ) ปัจจุบันทำธุรกิจร้านลูกโป่ง “บอลลูนนี่” และเป็นเจ้าของเพจ “Tor Rungrojn ผู้ชายเลี้ยงลูก” ที่มาของเพจผู้ชายเลี้ยงลูก เกิดจากการท้าทายของเพื่อนที่ว่า “น้ำหน้าอย่าง.....จะเลี้ยงลูกได้เหรอ” เลยตัดสินใจว่าจะทำให้ดู ซึ่งจะเป็นการบันทึกเรื่องราวทุกอย่างเกี่ยวกับลูก ตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง การฝากท้อง ไปจนถึงการเลี้ยงและดูแลลูก และคุณจามีพันธ์ สุวรรณธาดา (แม่เป้) คุณแม่สไตล์สบาย สบาย ที่พร้อมสนับสนุนทุกการเลี้ยงดูให้ลูกมีความสุข
มีแนวทางในการเลี้ยงลูกอย่างไร
พ่อต่อ – หลักๆ เลย มีแค่ 3 อย่าง คือ เขาอยากทำอะไรก็ปล่อยให้เขาทำ แล้วกลับมาดูสิ่งที่เขาทำจะต้อง “ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ผิดศีลธรรม”
แม่เป้ - ให้อิสระ อยู่ในกรอบ และไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
ความเหมือนหรือต่างกันในการเลี้ยงลูก
พ่อต่อ – ก่อนที่จะกำหนดเป้าหมาย เราสองคนต้องมีการหันหน้ามาคุยกัน แล้วเวลาที่คุยกัน คุยกันด้วยเหตุผล และอิงตามหลักการบ้าง เปิดใจรับฟังข้อมูลของทั้งสองฝ่ายและกำหนดทิศทางไปด้วยกัน ส่งผลให้เกิดปัญหาที่จะตามมาน้อยมาก
แม่เป้ - การให้เกียรติซึ่งกันและกันในความคิดเห็นในการเลี้ยงลูก บางครั้งเรารู้สึกไม่เห็นด้วย เราก็จะมองไม่ขัด แต่จะให้พ่อลูกได้ลองผิดลองถูก และเราเองก็จะคอยดูผลลัพธ์ว่าสุดท้ายแล้วจะส่งผลยังไง โดยยึดความสุขของลูกเป็นหลัก
มีการปรับแนวทางการเลี้ยงลูกมั้ย เมื่อความเป็นจริงไม่เป็นอย่างใจคิด
แม่เป้ - ไม่ได้ปรับอะไรเลย และปล่อยให้เขาอิสระ
พ่อต่อ – อาจจะมีการปรับบ้าง เช่น ช่วงนี้ลูกจะชอบขยำและโยนข้าว ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับช่วงวัยของลูก แต่ก็จะต้องปรับและทำความเข้าใจตามสถานการณ์
มีการแบ่งหน้าที่ในการเลี้ยงดูอย่างไรบ้าง
พ่อต่อ – มีการพูดคุยกัน ตกลงกันในการทำหน้าที่ เริ่มตั้งแต่วินาทีที่เขาคลอดออกมา หน้าที่ของแม่ คือ ให้นมเป็นหลัก ส่วนหน้าที่ของพ่อ คือ ตั้งแต่หลังกินนม อุ้มเรอ พาเดินเล่นจนหลับ พาเข้านอน ล้าง-นึ่งขวดนม รวมแล้วก็ดูแลทุกอย่าง
เมื่อต้องอยู่บ้าน รู้สึกอย่างไรเมื่อต้องเปลี่ยนหน้าที่การดูแลลูก
แม่เป้ - มีการเปลี่ยนหน้าที่ในการดูแลลูก คือ ทุกวินาทีเราต้องอยู่กับเขา ซึ่งก่อนหน้านี้เราทำงานยังพอมีเวลาพักบ้าง แต่พอ WFH ที่ต้องอยู่กับบ้าน เราทำทุกอย่าง ทำให้ไม่มีเวลาพัก ตอนแรกเครียดมาก แต่เมื่อผ่านไปได้สักพัก รู้สึกว่า โชคดีที่ได้อยู่พร้อมกัน พ่อ แม่ ลูก ไปไหนด้วยกัน เวลาที่เราใช้กับลูก ได้ใกล้ชิดลูก ในช่วง 3 ขวบแรก เป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะได้เห็นพัฒนาการของลูกมากขึ้น และเมื่ออยู่กับเขาจริงๆ ทำให้รู้สึกสนุก ถ้าถามว่า “ในความเหนื่อยมันก็ยังมีความสุขปนอยู่ด้วย” ถ้าหากไม่มีสถานการณ์โควิดเราก็ไม่สามารถอยู่กับเขาแบบนี้ได้เลย
พ่อต่อ - ดีครับ มีความสุข มีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้ทำในสิ่งที่ไม่ได้ทำ เยอะมาก เช่น มีเวลาตกแต่ง ดูแลต้นไม้ และภรรยาก็มีเวลาดูแลลูกมากขึ้น
ความชอบในการใช้ชีวิตเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
พ่อต่อ - ต่างกัน ตัวผมเองจะเป็นผู้ชายสายลุย ไม่ชอบความสบาย ง่ายๆ แนวนักเดินทาง ผจญภัย แต่ถ้าถามว่าชอบความเรียบหรู อยู่สบายมั้ย ก็ตอบได้เลยว่าไม่
แม่เป้ - ต่างกัน เพราะเราเป็นผู้หญิงรักความสบาย แต่ถ้าหากต้องมีกิจกรรมร่วมกันก็สามารถทำได้
มีวิธีการปรับเข้าหากันแบบไหน
พ่อต่อ - ถ้าหากไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน การที่จะปรับเข้าหากัน สิ่งสำคัญคือ การสื่อสาร การพูดคุยกัน และการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน
ความรู้สึกหมดไฟในการเลี้ยงลูกทำอย่างไร
พ่อต่อ - ถ้าบ้านไหนเลี้ยงลูกเอง แบบไม่มีพี่เลี้ยงหรือใครคอยช่วยดูแล ทำทุกอย่างในการดูแลบ้าน ดูแลลูกไปพร้อมๆกัน เชื่อว่า ทุกคนย่อมมีความรู้สึกหมดไฟในการเลี้ยงลูก ซึ่งการหมดไฟมีอยู่ 2 อย่าง คือ หมดไฟแล้วรู้ตัวเองก็ถือว่าดีที่รู้ตัว แต่ถ้าไม่รู้ตัวเองแล้วมีคนอื่นมาบอกจุดนี้ถือได้ว่าอันตราย ควรพบและปรึกษาจิตแพทย์ สำหรับวิธีหรือแนวทางแก้ไข คือ ทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ชอบ เพราะการที่เราเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน เราต้องอยู่กับเขาทั้ง 365 วัน และเมื่อเทียบกับการทำงานนอกบ้าน ถึงแม้จะได้รับการกดดันจากภายนอก ยังมีโอกาสได้พัก ผ่อนคลายและมีเวลาส่วนตัว ซึ่งการเลี้ยงลูกเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก แต่ก็มีความเหนื่อยได้ง่ายๆ เช่นกัน ทุกคนมีโอกาสหมดไฟในการเลี้ยงลูกเสมอ และแต่ละคนย่อมจะต้องมีวิธีในการจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง ที่สำคัญคือ คู่ชีวิตที่จะต้องเข้าใจความรู้สึก และช่วยดูแลลูกต่อในช่วงเวลานั้น
คำว่า “เป้าหมายในการเลี้ยงลูก คือ ลูกเป็นไข่ในหินไม่ได้” ทั้งสองท่านมีความคิดเห็นเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
พ่อต่อ - เหมือนกัน ซึ่งในมุมมองส่วนตัวแล้ว คำว่า ไข่ในหิน หมายถึง การประคบประหงม ลูกมากเกินไป ทำแบบนี้ไม่ได้ ทำอย่างนั้นไม่ได้ รู้สึกว่าการที่ลูกไม่ได้ลอง เหมือนกับว่าเป็นการใช้ชีวิตไม่คุ้ม งั้นก็ให้เขาได้ลองใช้ชีวิตให้คุ้มเลย อยากทำอะไรทำ อยากไปไหนก็พาไป อยากให้ได้ลอง ได้เรียนรู้ ได้เล่น สำหรับคำว่า ไข่ในหิน อยากให้นิยามว่า การบอกลูกทุกเรื่อง เช่น ว่าวันนี้จะทำอะไร จะไปที่ไหน วันนี้มีอะไร พุดคุยกับลูกเหมือนเขาเป็นผู้ใหญ่ บอกกล่าว แนะนำ ตักเตือน เมื่อไม่เชื่อก็ให้เขาได้เจอ ได้ลองหรือสัมผัสเอง และก็คอยดูแลอยู่ใกล้ๆ ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย และถ้าหากเป็นสถานที่ที่เสี่ยงต่ออันตราย เราก็จะพูดคุยกับลูกก่อนถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น ถ้าลูกยังยืนยันว่าจะไปต่อ สิ่งที่เราทำได้ ก็คือ ไปพร้อมกันกับลูก และสอนให้เขาเข้าใจ และเรียนรู้ด้วยตัวเอง
แม่เป้ - คิดว่า ถ้าหากกิจกรรมไม่ได้อันตรายมากเกินไป ก็ให้ลูกได้ลอง เขาจะได้รู้ ได้บริหารกล้ามเนื้อมือ เท้า บริหารสายตา
เรื่องที่เห็นว่าลูกมีพัฒนาการหรือทำแบบนี้แล้วดีกับลูกจริงๆ
พ่อต่อ - เรื่องของลูกติดจอ สำหรับตัวผมเอง ถ้าให้เลือกระหว่างจอโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือจอโทรทัศน์ ผมจะให้ลูกดูโทรทัศน์มากกว่า และถ้าลูกจับโทรศัพท์ เราจะใช้การพูดคุยกับเขา “ถ้าลูกดูเรื่องนี้จบ ให้พอนะครับ” หลังจากเขาดูจบ เขาก็จะยื่นโทรศัพท์คืนให้ทันที ซึ่งผมเห็นว่า การสื่อสารกับเด็กตั้งแต่เล็กๆ อย่าคิดว่าเด็กไม่รู้เรื่อง ในความเป็นจริงเด็กเขารู้เรื่องและจดจำได้ทุกอย่าง ซึ่งการสื่อสารกับลูกเพื่อให้เขาเป็นผู้ใหญ่กว่าเดิม “เราจะต้องไปเจออะไร เราจะทำอะไร แค่นี้พอนะ” หรือแม้แต่การพาลูกไปร้านอาหาร หรือว่าเล่นของเล่น แล้วเราพูดว่า “เราต้องกลับละนะ หมดเวลาละนะ” ทั้งนี้ก็จะมีการตั้งปลุกเวลาในโทรศัพท์ เพื่อให้ลูกรู้ว่าหมดเวลาแล้ว ซึ่งเราจะให้โอกาสเขาไม่เกิน 2 ครั้ง โดยที่เราจะไม่ไปแย่งของเล่นแต่จะให้เขาเล่นจนจบก่อน หลังจากนั้นเขาก็จะลุกทันที ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน การเลี้ยงดู ใช้การพูดคุยแบบผู้ใหญ่ การพูดความจริง พูดตรงๆให้เขารับรู้ เข้าใจ และคุ้นชินไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นนิสัย
สำหรับลูกเรื่องไหนที่พ่อและแม่เห็นตรงกันที่สุด
พ่อต่อ - เรื่องการศึกษา ก็จะมีการวางแผนไว้ แต่ไม่ได้ถามเขาว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” แต่จะถามเขาว่า “อยากทำอะไร อยากเล่นอะไร” อยากให้เขาเรียนรู้ผ่านการเล่นให้ได้มากที่สุด เรียนรู้ผ่านการมองเห็น เรียนรู้โดยผ่านการท่องเที่ยว เรื่องที่สอง คือ อยู่ในช่วงตัดสินใจระหว่างการเรียนแบบโฮมสคูล หรือเข้าสู่ระบบ และสำหรับอนาคตของเขาเมื่อโตขึ้นมา ก็ขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง
ในช่วงสถานการณ์โควิดมีการจัดการเรียนรู้ที่บ้านอย่างไร
พ่อต่อ - ดูคลิปวิดีโอต่างๆ ของต่างประเทศบ้าง ที่สามารถนำของในบ้านมาทำเป็นของเล่นได้ เรียนรู้และลงมือทำ เมื่อลูกเห็นเราทำของเล่นให้เขา เขาจะมีความสุข เล่นอย่างทะนุถนอม ระมัดระวัง และรักของเล่น และถ้าช่วงนี้ไม่มีเวลาทำของเล่นแล้ว ก็จะมีของเล่นชิ้นหนึ่งที่ลูกชอบมากแล้วเกิดความสนใจ การเรียนรู้ต่างๆ ก็จะตามมา
ฝากถึงผู้ปกครองที่ต้องทำหน้าที่หลายๆ อย่างพร้อมกัน และกำลังจะหมดไฟในการเลี้ยงลูก
พ่อต่อ - แต่ละครอบครัวมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน บางบ้านเข้าไปสู่การเรียนออนไลน์ บางบ้านก็ยังไม่ได้เข้าเรียน แต่ถามว่ามีถูกผิดมั้ย ไม่มีถูกผิด อยู่ที่ว่าเราคาดหวังอะไรกับเขา อีกเรื่องหนึ่ง คือ ลูกเขาจะเล่นเมื่อเขาพร้อม เขาจะเรียนเมื่อเขาพร้อม และเมื่อไหร่ที่เขาพร้อมที่จะเรียน จะเล่น เราก็ต้องพร้อมที่จะสอดแทรกความรู้ และจากปัญหาของแต่ละบ้าน อยากจะฝากว่า “ดูผมได้ ดูคนอื่นได้ เสพข้อมูลได้ แต่มันไม่สามารถเอาไปใช้กับลูกของทุกคนได้ทั้งหมด” เพราะว่า ลูกของเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นข้อมูลในครั้งนี้ ถือว่าเป็นสิ่งดีดีที่นำมาแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกัน หากนำมาใช้ประโยชน์ได้ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกครอบครัวนำไปปรับใช้
แม่เป้ - ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ที่สอนลูก รู้ว่ามันหนักจริงๆ แต่เดี๋ยวมันก็จะผ่านไปได้
สุดท้ายนี้ “การสื่อสารสำคัญที่สุด ถ้าหากว่ามีปัญหาอะไรให้รีบคุย ปรับความเข้าใจ ถ้าหากเราไม่สื่อสาร แล้วถึงจุดนึงที่ไม่สามารถพูดคุยกันได้ อาจจะส่งผลแย่ต่อชีวิตครอบครัว โดยเฉพาะลูกที่จะเป็นคนที่รับทุกอย่าง โดยที่เขาไม่ได้รับรู้เรื่องราวเลย”
Related Courses
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้