วัยรุ่นอกหัก ชวนลูกคุยเรื่องรักที่กลายเป็นบทเรียน
รักแรก มักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ รักครั้งแรกอาจเป็นความทรงจำที่ดี หรือสร้างบาดแผลที่เจ็บปวด ไม่ว่ารักแรกจะจบลงอย่างไร พ่อแม่สามารถช่วยให้ลูกเข้าใจชีวิต และมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ผ่านบทเรียนที่เรียกว่า ความรัก
เข้าใจรักในวัยเรียน
ถึงแม้ว่าผู้ใหญ่อย่างเราๆ อาจจะเคยผ่านรักในวัยเรียนมาแล้ว แต่เมื่อถึงคราวที่เราต้องเป็นผู้เฝ้าดูลูกหลานมีความรักครั้งแรก ก็อดที่จะเป็นห่วงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ควรเข้าใจว่า ความรักของวัยรุ่นเป็นเรื่องธรรมชาติ ทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคม อธิบายว่าวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เป็นช่วงของวิกฤติทางพัฒนาการ ที่บุคคลจะเริ่มแสวงหาความรัก จึงเป็นเรื่องธรรมชาติที่วัยรุ่นจะเริ่มมีความรักในช่วงนี้ ไม่ว่าจะแอบรัก รักเขาข้างเดียว หรือรักแรกที่แสนหวาน
เมื่อพูดว่า รักในวัยเรียน ผู้ใหญ่บางคนอาจรู้สึกว่าไม่เหมาะสม ยังเรียนอยู่แล้วจะมีความรักได้อย่างไร แต่ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ความรัก เป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในวัยรุ่น เป็นเรื่องธรรมดา พ่อแม่ผู้ปกครองอาจต้องยอมรับว่า ความรัก เป็นความรู้สึกพื้นฐานที่เกิดขึ้นมาก่อนค่านิยม ห้ามมีรักในวัยเรียน เสียอีก ดังนั้นการห้ามปราม หรือคัดค้านความรักของลูก อาจใช้ไม่ได้ผล พ่อแม่ผู้ปกครองควรเข้าใจว่า การมีความรักในวัยนี้ คือการพัฒนาตัวตนของลูก ทำให้ลูกวัยรุ่นรู้สึกว่า ตัวเองเป็นที่ยอมรับ ทำให้รู้สึกภูมิใจ เห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งเป็นพัฒนาการขั้นหนึ่ง
เมื่อรักร้าว ตัวตนถูกทำลาย?
การได้รับความรัก ทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า แล้วหากจู่ๆ รักแรกของลูกพังทลายลง ตัวตนของลูกจะถูกทำลายหรือเปล่า การอกหัก ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของวัยรุ่นอย่างไรบ้าง
เมื่อวัยรุ่นอกหัก สภาพอารมณ์ของลูกจะกระทบกระเทือนมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในความสัมพันธ์ และความรู้สึกที่มีต่อรักแรก วัยรุ่นชายอาจแสดงออกด้วยความโกรธ ขณะที่วัยรุ่นผู้หญิง มักรู้สึกเจ็บปวด และไร้ค่า ทางด้านร่างกาย พบว่าหลังจากอกหัก อัตราการเต้นของหัวใจจะช้าลง บางรายอาจมีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ปวดท้อง ปวดหัวจากความเครียด
ช่วยลูกรับมือเมื่อรักแรกเป็นรักร้าว
แน่นอนว่าบาดแผลจากรักครั้งแรก อาจเจ็บปวดและฝังใจ ไม่ว่าเหตุผลของการร้างลาคืออะไร สิ่งที่พ่อแม่ช่วยได้คือ ทำให้ลูกรู้สึกว่าเขามีความสำคัญ และมีคุณค่ามากพอสำหรับความรัก โดยเฉพาะความรักจากพ่อแม่และครอบครัว แต่ควรหลีกเลี่ยงคำพูดประมาณว่า “ไม่เห็นต้องเสียใจ ใครไม่รักพ่อแม่ก็รักนะ” หรือ “พ่อแม่รักลูกมากๆ แต่ลูกมัวแต่ร้องไห้เพราะคนอื่น” เพราะคำพูดเช่นนี้หมายความว่า คุณไม่ยอมรับการเสียใจของลูก ซึ่งอาจทำให้วัยรุ่นรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ และไม่ยอมรับความรู้สึกของพวกเขาอย่างแท้จริง สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ เพื่อช่วยรักษาอาการทางใจของลูกคือ
- พร้อมรับฟัง ไม่มีสิ่งใดจะทำให้คนเรารู้สึกมีคุณค่าและเป็นที่ยอมรับมากไปกว่า การมีใครสักคนที่ “ฟัง” ตั้งใจฟังเราอย่างจริงใจ ไม่ด่วนตัดสิน ไม่พูดแทรก ไม่สอน วิธีดีที่สุดที่ทำให้ลูกรับรู้ว่าเขาเป็นที่รัก ก็คือ การที่พ่อแม่พร้อมที่จะรับฟังลูกนั่นเอง
- สนับสนุนการตัดสินใจ เคารพในตัวตนและการตัดสินใจของลูก ไม่ตัดสินสิ่งที่ลูกทำ แต่ให้กำลังใจ หากมองเห็นว่าลูกได้ทำอะไรผิดพลาดไป อาจรอเวลาให้ลูกรู้สึกดีขึ้น แล้วค่อยชวนลูกคุย แทนการสอน อาจชวนลูกคิดว่า ความสัมพันธ์ที่จบลงไป ลูกคิดว่ามีปัญหาตรงไหน ครั้งต่อไปจะแก้ไขอย่างไร การชวนลูกคิด เป็นการฝึกให้ลูกมีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ อย่างเหมาะสม แทนการสอน ที่เป็นการนำความเราไปใส่สมองลูก ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่ได้ผล
- ระบุความรู้สึก บางครั้งเรื่องความรู้สึกก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับวัยรุ่น พวกเขาอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังโกรธ กำลังเศร้า หรืออิจฉากันแน่ เมื่อลูกเปิดใจเล่าเรื่องราวให้ฟัง อาจถามลูกว่า “ตอนนี้ลูกโกรธมากกว่าเสียใจหรือเปล่า” และถามว่าลูกจะรับมือกับความรู้สึกเหล่านี้ยังไง มีอะไรที่แม่พอช่วยได้ไหม และพร้อมยอมรับคำตอบของลูก
- ปล่อยให้รู้สึก ไม่ห้ามหากลูกจะร้องไห้ ไม่ตัดสินหากลูกจะรู้สึกเศร้า ยินดีกับลูกเมื่อลูกรู้สึกดีขึ้น และยอมรับหากลูกอาจจะยังรู้สึกเศร้าเป็นครั้งคราวไปอีกสักระยะ
- ใส่ใจอยู่เคียงข้าง ชวนลูกออกไปทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ออกไปซื้อกับข้าว หากลูกไม่ต้องการก็ไม่บังคับ อาจถามว่าลูกอยากกินอะไร ใส่ใจความเป็นไปในแต่ละวันของลูกมากขึ้นโดยไม่ล้ำเส้นความเป็นส่วนตัว เช่น จากที่พี่สาวไม่เคยซื้อขนมมาฝาก เมื่อน้องอกหัก ก็อาจซื้อขนมมาให้ หรือ พ่อที่ไม่เคยออกไปเดินเล่น ก็ไปเดินเล่นเป็นเพื่อนลูก เป็นต้น
หากพ่อแม่ช่วยลูกรับมือรักแรกที่กลายเป็นรักร้าวได้เหมาะสม ลูกวัยรุ่นจะค้นพบว่า ความรักที่พวกเขาตามหา แท้จริงแล้ว อยู่ไม่ไกล...แต่อยู่ในครอบครัวของเขานั่นเอง ลูกวัยรุ่นอาจเริ่มมองเห็นคุณค่าของคนใกล้ตัว ความรักของพ่อแม่ พี่น้อง และพวกเขาไม่ได้สูญเสียตัวตนให้กับความรัก แต่เป็นการละทิ้งตัวตนเก่าเพื่อเติบโตเป็นคนใหม่ที่มีจิตใจแข็งแรงกว่าเดิม
Related Courses
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
ทักษะชีวิตสำหรับเด็กออทิสติก
ออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อคว ...
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...